สร้างเครื่องมือประเมินตนเองให้กลุ่มองค์กรการเงินฐานราก (ก้าว 1)


เราจะสร้างเครื่องมือประเมินตนเองให้กลุ่มองค์กรการเงินฐานราก ที่มีทั้งมิติการเงินและการพัฒนา

ไม่ได้เขียนบล็อกมาหลายเดือน ขอบคุณหลายๆท่านที่ยังเข้ามาทักทายและถามถึง  ขออภัยที่ไม่ได้ตอบบล็อกด้วยค่ะ

สกว.ไฟเขียวให้ทำงานเรื่ององค์กรการเงินชุมชน  งานนี้มีพรรคพวกนักวิชาการที่สนใจชาวบ้านเข้ามาร่วมทีมหลายคน เป็นทีมหนุ่มสาวไฟแรงทั้งสาขาการเงิน พัฒนา การคลังท้องถิ่น พัฒนาชุมชน  ประสบการณ์ตรงจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (เขมร การ์ตา)   จึงหวังว่า พอจะช่วยขยับองค์ความรู้และสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรการเงินชุมชนไปได้อีกระดับหนึ่ง

ขอบคุณ สกว.และผู้ประสานงานชุด platform องค์กรการเงินชุมชนและสวัสดิการชุมชน มา ณ ที่นี้ค่ะ

เราจะสร้างเครื่องมือประเมินตนเองให้กลุ่มองค์กรการเงินฐานราก ที่มีทั้งมิติการเงินและการพัฒนา

การเริ่มต้นงานศึกษานั้น  โจทย์ชัดวัตถุประสงค์ชัดไม่พอ วิธีคิดของนักวิจัยต้องชัดด้วย 

  • องค์กรการเงินฐานราก หมายถึงกลุ่มใดบ้าง
  • มิติการเงินคืออะไร 
  • มิติการพัฒนาคืออะไร

แค่มองสามคำถามนี้  เราก็ต้องเอาทุกอย่างมาดูว่าสถานการณ์จริงคืออะไร ชาวบ้านมีเครื่องมืออะไร ประสบการณ์ที่อื่นๆ เป็นอย่างไร  เครื่องมือในทางทฤษฎีมีอะไรอยู่บ้าง 

ได้ลองเข้าไป google (ขณะนี้ คำนี้เป็น verb ในภาษาอังกฤษไปเรียบร้อยแล้ว) ดูฐานข้อมูล http://www.sedb.org/show_Selectdata.php?

ของคุณพิพัฒน์  ยอดพฤติการณ์ กัลยาณมิตรแห่งสถาบันไทยพัฒน์  (ครั้งนั้น ปี 2004 เป็น ชื่อไทยดอทคอม)  เป็น web ที่สวย สะอาดตา  ใช้ง่าย (user friendly) ชอบ..

ดูเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ที่นครศรีฯ  พบว่ามี 43 กลุ่ม  จากจำนวนกลุ่มชาวบ้านทั้งหมด 92 กลุ่มที่มีอยู่ในฐานข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดปี 2004  (จริงๆจะมีมากกว่านี้)

ที่น่าสนใจคือ มีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม   เป็นกลุ่มออมทรัยพ์บ้าง กลุ่มแม่บ้านบ้าง กลุ่มไร่นาสวนผสมบ้าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้าง แต่เหล่านี้  แจ้งประเภทกิจกรรมว่า  เป็นการออมทรัพย์

ความสำเร็จและชื่อเสียงของกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวง ที่ฝ่าฟันวิกฤติช่วงพายุเก ปี 2531 มาได้  ประกอบกับความห่างไกลแหล่งเงินทุนในระบบและการเป็นเกษตรกรรายเล็กรายน้อยห่างไกลความสนใจของผู้คน (เพราะอดีตนครฯเป็นเมืองดุ  มีเขตสีแดง สีชุมพู มีเขาศูนย์ ฯ)   น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวมตัวพึ่งตนเอง  มีกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นมากมายที่นครศรีฯ  (ที่เขียนมานี่ เป็นการเอาสถานการณ์มาปะติดปะต่อเป็นภาพแบบเดาทั้งนั้น (เรียกเพราะๆว่าเป็นสมมติฐาน)...อย่าเพิ่งเชื่อ

บนฐานข้อมูลจาก website เดียวกัน กรณีของจังหวัดชัยนาท   มีกลุ่มออมทรัพย์ 5 กลุ่มจากกลุ่มชาวบ้าน 15 กลุ่ม   กลุ่มส่วนใหญ่เป็นธุรกิจชุมชน   

สถานการณ์ในพื้นที่ชนบทนั้นเปลี่ยนเร็วมาก (จากประสบการณ์)    ปัจจุบัน (4 ปีหลังจากการทำฐานข้อมูลชุดนั้น)  กลุ่มออมทรัพย์อาจเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจชุุมชนอาจลดลง หลังจากไม่มีการอัดฉีด OTOP โดยรัฐบาลทักษิณ (ประสบการณ์จากบางพื้นที่)

นครศรีฯ ต่างกับชัยนาทอย่างมากตรงที่ความหลากหลายของสภาพพื้นที่และฐานอาชีพเกษตร  สวน ไร่ นา  ประมง  เป็นเกษตรผสมผสาน ในขณะที่ชัยนาทเป็นเชิงเดี่ยวมากกว่า

แน่ๆที่นักวิจัยต้องช่วยกันคิด  คือ  เราจะกำหนดขอบเขตในการศึกษาอย่างไร    การจัดประเภทของกลุ่มอาจมีความจำเป็น   เราจะพิจารณาทุกกลุ่มในพื้นที่ศึกษา  และจะศึกษาพื้ันที่ที่ไม่ค่อยมีกลุ่มด้วย

หากเราลงพื้นที่แล้วกลุ่มยินดีให้ข้อมูลบัญชีประกอบการพูดคุยก็จะช่วยได้มาก   เราจึงจำเป็นต้องทำให้กลุ่มเห็นประโยชน์เพื่อเขาจะได้สมัครใจทำงานร่วมกับเราแบบเป็นเพื่อนร่วมงานกัน  ช่วยกันคิด..

ชาวบ้านรายครัวเรือนจะเป็นตัวต่อที่สำคัญที่จะสะท้อนผลของการเงินและการพัฒนา

หลับตานึกถึงพื้นที่แห่งหนึ่ง  ภาพของเครือข่าย ซ้อนทับด้วยภาพของกลุ่มที่หลากหลาย ทับอยู่บนสุด คือผู้คน ..กรรมการกลุ่ม  สมาชิกกลุ่ม  ผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม  อบต.อยู่ตรงนั้น  หน่วยงานภาครัฐเดินเข้าเดินออก  แต่ละคนมีบทบาทแตกต่างกันไป ตัดสินใจแตกต่างกันไป 

ที่ไม่มีขา แต่ไหลไปไหลมา และมีบทบาทมากที่สุดกลับเป็น "เงิน"

ก่อนจะสร้างเครื่องมือประเมินตนเองของกลุ่มได้  เราต้องลากเส้นทางเดินของเงินหนึ่งบาทและทำความเข้าใจอิทธิพลของเงินหนึ่งบาทในพื้นที่ก่อน  อย่าเพิ่งรีบสรุปว่า เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาคน  เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคม  เพราะนั่นอาจจะทำให้เรามองไม่เห็นหลายๆอย่างที่เป็นจริง

งานนี้คงสนุกค่ะ

หมายเลขบันทึก: 230984เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2008 05:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะน้อง

  • ครูอ้อย ไปประชุม สัมมนา ได้พบเพื่อนครู  และเพื่อนครูได้พูดถึง น้องค่ะ  ว่า ขอยืมเครื่องมือมาจากน้อง  ครูอ้อยก็ไม่ได้ถามว่าอะไร
  • น้องมีคุณูปการให้ชาวครูแล้วนะคะ

ครูอ้อยขอชื่นชมด้วยความจริงใจค่ะ

สวัสดีค่ะครูอ้อย

คณะเศรษฐศาสตร์จัดอบรมครูสังคมศาสตร์ทุกปี และตัวเองก็จะไปแนะแนวที่โรงเรียนต่างๆหลายจังหวัดด้วย คงมีโอกาสเจอคุณครูอาจารย์หลายท่าน

ไม่ว่าเครื่่องมือจะเป็นอะไร แต่หากเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ นำไปประยุกต์ใช้ได้ ก็น่ายินดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณปัทมวดี

องค์กรการเงิน และสวัสดิการ ยังเอื้อมไปไม่ถึงคนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือจากสังคม

ปัจจัยสำคัญคือ ฐานคิดและวิธีคิดที่จะไปให้ถึง ณ วันนี้ทุนทางการเงินพอหาได้ หลายแห่งมีเงินเก็บเป็นล้าน แต่ทุนทงความคิด ยังต้องติดปัญญา ต้องอาศัยนักวิชาพวกท่าน

สร้างกระบวนการคิด พวกผมหนังในบ้านไม่ค่อยมีคนดูครับท่าน

สวัสดีค่ะบังหีม

ดีใจที่ผู้มีประสบการณ์ตรงเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนค่ะ

"องค์กรการเงิน และสวัสดิการ ยังเอื้อมไปไม่ถึงคนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือจากสังคม"

"ทุนเงินพอหาได้ แต่ทุนทางความคิดยังต้องติดปัญญา"

ความคิดเห็นที่แหลมคมและข้อมูลข่าวสารจากท่านจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นักวิชาการคงแค่เป็นตัวเชื่อมโดยใช้ข้อเท็จจริงและการคิดที่จัดระบบมาสื่อสารเรียนรู้ร่วมกันกับทุกฝ่ายค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

  • ประโยคนี้ทำเอาผมหัวเราะคนเดียวเลยครับ  ".....มีเขตสีแดง สีชุมพู มีเขาศูนย์ ฯ)   น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวมตัวพึ่งตนเอง  มีกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นมากมายที่นครศรีฯ  (ที่เขียนมานี่ เป็นการเอาสถานการณ์มาปะติดปะต่อเป็นภาพแบบเดาทั้งนั้น (เรียกเพราะๆว่าเป็นสมมติฐาน)...อย่าเพิ่งเชื่อ
  • ตอนนี้ "กลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวง ที่ฝ่าฟันวิกฤติช่วงพายุเก ปี 2531".....?
  • "งานนี้คงสนุกค่ะ" ดูเหมือนท่านอาจารย์จะสนุกกับงานจริงๆแหละครับ (เท่าที่สังเกต)
  • ขอบคุณครับ

ชาวบ้านบางพื้นที่ของนครฯ มาจาก "ไพร่หนีนาย" ทำให้เพื่อนนักรัฐศาสตร์มองว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่หวังพึ่งรัฐและมีแนวคิดการพึ่งตนเองสูง... เป็นสมมติฐานที่ตัวเองเห็นด้วย และน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ยุคสีแดง สีชมพู จนปัจจุบัน ..แต่.. ต้องหาหลักฐานพิสูจน์จึงจะทำให้น่าเชื่อถือ ก็เลยประกาศว่า "อย่าเพิ่งเชื่อ" ... เขียนแบบนี้ ผู้อ่านชาวนครฯ ต้องไปช่วยหาหลักฐานหรือคิดต่อค่ะ

ขอบคุณที่เห็นความสนุกในงานซ่อนอยู่ในบล็อกที่เขียนค่ะ

สุขสันต์วันปีใหม่นะคะอาจารย์เอก

อ้อ พายุเกเข้าชุมพร แต่มันไม่ได้ตีกรอบตัวเองอยู่แค่ชุมพรนะคะ หางเลขที่กวาดเลยไปในพื้นที่อื่นๆของภาคใต้ มาถึงนครฯด้วย (อันนี้อ่านมา แล้วเขียนจากความทรงจำนะคะ.. ถ้าจำไม่ผิด..)

น้ำป่าไหลหลาก พัดเอาท่อนซุงที่ตัดทิ้งไว้ในป่ามาทับบ้านเรือนชาวบ้านด้วย เป็นทีมาของการประกาศปิดสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ (อันนี้ก็อ่านมา)

... บอกแล้วว่าอย่าเพิ่งเชื่อ.. ใครรู้ข้อมูล ประสบการณ์ตรง ช่วยยืนยันความถูกต้องด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท