53. สุขสันต์วันบิฮู อัสสัม อินเดีย


วันปีใหม่ชาวอัสสัมคือวันเดียวกับปีใหม่ไทย

 

 

บิฮูมาจากคำว่า visuvan ซึ่งเป็นชื่อเรียกเทศกาลต่างๆ ในอินเดียที่มีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการเปลี่ยนฤดูกาลในเดือนมีนาคม

บิฮูที่อัสสัมมี 3 ประเภท ได้แก่

1) โรนกะลี บิฮู (Rongali Bihu) เป็นการผสมผสานประเพณีของกลุ่มผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) ตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) และตระกูลอินโด-อารยัน (Indo-Aryan) เป็นเทศกาลใหญ่และมีความสนุกสนานเป็นพิเศษ การเฉลิมฉลองเกิดราวกลางเดือนเมษายน (ช่วงเดียวกับวันสงกรานต์ของไทย) ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอัสสัมเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญลักษณ์การเริ่มต้นวันแรกของปีปฏิทินระบบสุริยะของฮินดู

          ในรัฐอื่นๆ มีการเฉลิมฉลองเช่นกัน เช่น เบงกอล  เกระลา มานิปุร โอริสสา ปัญจาบ และทมิฬ นาดู รวมถึงเนปาล แต่เรียกชื่อต่างกัน เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง การแสดงความรื่นเริง การเลี้ยงฉลองติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน เกษตรกรเตรียมดินเพื่อการปลูกข้าวในช่วงต่อไปท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนาน ผู้หญิงเตรียมขนมที่ทำจากข้าวและมะพร้าวในหลากหลายรสชาติ (หวานเป็นหลัก) และหลายรูปแบบ เช่น ปิทา (pitha) โจลปัน (Jolpan) ฯลฯ ซึ่งให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศที่แท้จริง

          วันแรกของบิฮู เรียกว่า โกรู บิฮู (Goru Bihu) หรือบิฮูวัว (Cow Bihu) เพื่อทำความสะอาดให้กับวัว ทาตัววัวด้วยขมิ้น มีการประดับประดาและบูชาวัวซึ่งจะทำในวันสุดท้ายของปีเก่า (วันที่ 14 เมษายน) เพื่อขอให้วัวมีสุขภาพดี และเป็นแรงงานที่ดีต่อไป เสร็จแล้วถอดเชือกเก่าที่คล้องคอผ่านออกไปทางขา และสวมเชือกใหม่ให้ วัวถูกปล่อยให้เดินเล่นได้ตามอิสระทั้งวัน

          พิธีกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเคารพวัวในฐานะพาหนะของพระศิวะที่เรียกว่า นนทิ และในฐานะที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นปีใหม่ เกษตรกรชาวอัสสัมไม่ลืมที่จะแสดงความรัก ความเคารพต่อวัวซึ่งเป็นสัตว์มีพระคุณก่อนการรื่นเริงอื่นๆ ที่จะตามมาภายหลัง

วันถัดมาเป็นวันของมนุษย์คือ มานุฮ บิฮู (Manuh Bihu) วันที่ 15 เมษายนซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการนำของขวัญซึ่งเป็นผ้าพันคอที่ทอด้วยฝ้ายสีขาวแดง ลวดลายต่างๆ หรือผ้าฝ้ายทอผืนขนาดผ้าเช็ดหน้าเป็นของขวัญที่มอบให้กันไปอวยพรผู้ใหญ่ ญาติมิตร เด็กๆ สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ มีการเต้น รำ ร้องเพลงฮุโซรี (Husori)  กินอาหารที่ทำขึ้นเฉพาะเทศกาล คือหมูสามชั้นผัดใส่ฟักและขมิ้น ยำไข่มดแดงรสแซบ หรือผัดไข่มดแดงกับไข่ ดื่มเหล้าที่ทำจากข้าว (ทำเอง) ในแก้วทองแดง ไปแต่ละบ้านทานและดื่มพอเป็นพิธีเพราะทุกบ้านจะมีอาหารและขนมไว้ต้อนรับ อวยพรกันอย่างสนุกสนานมาก รายละเอียดของการฉลองจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม

การเต้นรำในเทศกาลบิฮู มีการแสดงดนตรีประกอบการเต้นรำที่มีลักษณะเฉพาะที่ต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ผู้หญิงใส่เสื้อสีแดงและนุ่งส่าหรีทำด้วยผ้าไหมสีกากีอ่อน (สีธรรมชาติของไหม) มีทั้งเรียบๆ และมีลวดลายริมผ้าที่สวยงามมาก ผู้ชายนุ่งโสร่ง คล้ายโธตีหรือกางเกงตามอัธยาศัย

โรนกะลี บิฮูเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการเต้นรำของหญิงสาวที่มีท่าทางการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความรู้สึกด้วยการใช้สะโพก มือ เป็นหลัก เป็นการเชิญชวนให้ผู้คนออกมาเฉลิมฉลองกัน การเต้นบิฮูอาจเรียกว่าเป็นพิธีจับคู่ของหนุ่มสาวก็ว่าได้

 

2) โกนกะลี บิฮู (Kongali Bihu) ฉลองในเดือนตุลาคม

บรรยากาศจะแตกต่างจากโรนกะลี บิฮู มีความรื่นเริงน้อยกว่า แต่กลับมีบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาแทน เพราะในช่วงนั้นข้าวในนากำลังเติบโต และยุ้งฉางก็เกือบว่างเปล่าแล้ว ในวันนั้นมีการจุดตะเกียงดินที่พื้นบ้านใต้ต้นกะเพรา (Tulashi) ที่พื้นยุ้งข้าว ที่สวน และที่นาเพื่อปกป้องต้นข้าวที่กำลังสมบูรณ์ เจ้าของบ้าน (เกษตรกร) จะหมุนท่อนไม้ไผ่ในขณะที่สวดโรวา-โควา (Rowa-khowa) เพื่อป้องกันต้นข้าวจากแมลงสัตว์ต่างๆ และความชั่วร้าย ในเทศกาลบิฮูนี้จะจุดตะเกียงแขวนไว้บนยอดลำไม้ไผ่สูงๆ  เพื่อแสดงว่าวิญญาณของผู้ตายไปสวรรค์ มีการแลกเปลี่ยนขนมหวาน และอวยพรซึ่งกันและกัน

 

3) บโฮกะลี บิฮู (Bhogali Bihu) ฉลองในเดือนมกราคม

มาจากคำว่า บฮอก (bhog) คือการกินและสนุกสนาน เป็นเทศกาลของการเก็บเกี่ยวและเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวเพราะยุ้งฉางมีข้าวเต็มเปี่ยม

          ในวันก่อนเทศกาลเรียกอุรูกา (Uruka) เด็กหนุ่มๆ จะไปที่ทุ่งนามักเลือกที่ใกล้แม่น้ำ ปลูกกระท่อมที่ทำด้วยฟาง ในตอนกลางคืน มีการเตรียมทำอาหารและเลี้ยงฉลองกันทั่วหมู่บ้านตลอดทั้งคืนรอบๆ กองฟืน ซึ่งตัดชิ้นได้ขนาด และพิงกันไปมาสูงขึ้นเป็นรูปทรงคล้ายวัดโดยมีไม้ไผ่ยึดไว้ตรงกลาง และมีต้นกล้วยรายล้อมสี่มุม เรียกว่าเมจิ (Meji) คืนของอุรุกา (Uruka) ฉลองกันรอบเมจิ ด้วยการร้องเพลง เล่นดนตรี : ตีกลอง ดโฮล (dhol) เล่นเกมส์ต่างๆ เด็กหนุ่มเดินไปทั่วหมู่บ้านขโมยฟืนและผัก (เพื่อความสนุกสนาน)

          เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากอาบน้ำแล้วมีการเผาเมจิ ผู้คนมายืนรอบๆ เมจิโยนขนมที่ทำจากข้าว (พิทัส) และหมากเข้าไปในกองไฟ เพื่อสวดและบูชาเทพแห่งไฟและเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเทศกาลเก็บเกี่ยว หลังจากนั้น นำท่อนพืนที่เผาไม่หมดกลับมาโยนไว้ในสวนผลไม้เพื่อขอให้ได้ผลผลิตที่ดี ต้นไม้ทุกต้นในบริเวณบ้านถูกมัดด้วยตอกหรือฟางข้าว มีการละเล่นตลอดทั้งวัน เช่นชนควาย ชนไข่ ชนไก่ ชนนก เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีพิธีกรรมแบบดั้งเดิมในวันนั้นด้วย เช่น เมดำเมผี (me-dam-me-phi) เป็นพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ เป็นต้น

 

ประมวลจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Bihu

http://en.wikipedia.org/wiki/Meji

--------------------

หลักสูตรปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษารอบสองในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ท่านที่สนใจโปรดเข้าชมรายละเอียดที่ www.lc.mahidol.ac.th หรือ สอบถามที่ โทร. 02-800-2323

    หลักสูตรปกติแต่เรียนวันเสาร์-อาทิตย์เป็นส่วนใหญ่และโปรดประชาสัมพันธ์ต่อด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 230809เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2008 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แวะมาเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สุขภาพแข็งแรง นะคะ

ตามมาอ่านเรื่องอินเดียอีกครั้ง

 

เรียนคุณสายธาร

    ขอบพระคุณค่ะ ขอให้พรนั้นสนองตอบคุณสายธารเช่นกันนะคะ

เรียน คุณ Rittichai

ขอบพระคุณค่ะ ขอบคุณสำหรับทัชมาฮัลภาพใหญ่ๆ นี้ด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาเรียนรู้ค่ะ

เคยอ่านหนังสือนานมาแล้วค่ะ

คนไทยกับคนอัสสัม อินเดีย

คล้ายคลึงกัน ใช่ไหมคะ

... สุขสันต์วันปีใหม่ ล่วงหน้าค่ะ

 

 

เรียน คุณปู

    ขอบคุณค่ะ ใชค่ะ ไทอาหม และไทอื่นๆ (กรุณาอ่านในบล็อก

Indianstudies) เป็นกลุ่มที่พูดภาษาตระกูไท-กะไดเหมือนคนไทยค่ะ

ยังมีเค้าหน้าเป็นมองโกลอยด์ให้เห็นบ้างค่ะ

เจริญพร โยมโสภนา

เข้ามาอ่านสาระความรู้ มีประโยชน์มาก

ได้เข้าใจเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน

 

เจริญพร

อาจารย์ครับ อยากดูถ่ายกษัติย์ไทคำตี่ อาจารยได้ถ้ายไว้ไหมครับ

เรียน คุณพิมล

กล้องดิฉันแบตหมดตอนไปถึงบ้านท่านพอดี จะลองสอบถามไปยังผู้ที่ไปด้วยอีกทีนะคะ

นมัสการพระปลัด

      ขอบพระคุณท่านมากค่ะ ดิฉันพยายามจะแบ่งปันทั้งที่มีสาระมาก สาระน้อย (บ้าง) มานำเสนอจากประสบการณ์และจากการค้นคว้าเพื่อให้คนไทยรู้จัก และเข้าใจอินเดียมากขึ้นค่ะ

กษัตริย์ที่อาจารย์ว่า คือ เจ้าคำมูน น้ำโสม รึเปล่าครับ ถ้าใช่ผมเห็นภาพท่านแล้ว ถ่าไม่ใช่ล่ะก็เสียดายแย่เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท