ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้


วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ การให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงบทกวีและท่องบทกวีประเภทที่จะฝึกแต่งนั้นๆ บ่อยๆ โดยใช้บทกวีที่เลือกสรรแล้วว่าดี ทั้งประเภทกลอน กาพย์ โคลง หรือฉันท์ ที่กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเป็นสำคัญ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขานพร้อมกัน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง กลมกลืนในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงค่อยลองฝึกแต่งตามจังหวะและท่วงทำนองของบทกวีต้นแบบที่ท่อง

 

ไม่รู้ฉันทลักษณ์ก็เขียนกลอนได้

........................................................................................................

ศิวกานท์ปทุมสูติ

...

          ผมขอสารภาพว่า  ผมเป็นครูภาษาไทยที่เคยหลงทางมาแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องของการสอนนักเรียนเขียนกาพย์กลอน   นั่นก็คือผมเคยสอนแบบเริ่มต้นด้วยการเปิดประตูสู่ความรู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์  ชักโยงให้เด็กๆ เข้าใจนิยามความหมาย  อธิบายแผนผัง  ยกตัวอย่างบทประพันธ์ชั้นดี  แล้วก็ชี้ให้เห็นข้อกำหนดนิยมต่างๆ ของร้อยกรองแต่ละประเภทที่สำคัญ   จากนั้นให้ผู้เรียนฝึกเขียนตามขั้นตอนและกิจกรรม 

          การสอนในลักษณะดังกล่าว   ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นการสอนที่ดี  และผมก็เชื่อว่าครูภาษาไทยโดยทั่วไปก็คงจะสอนแบบเดียวกันนี้    แต่ผมกลับได้พบความจริงจากประสบการณ์ดังกล่าวว่านั่นเป็นการสอนที่สร้างบาปแก่วิชาการประพันธ์ไทยอย่างใหญ่หลวง   เป็นบาปที่ซุกซ่อนที่ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ไม่รู้ตัว   คือไม่รู้ตัวว่ากำลังสร้างคอกขังแก่ถ้อยคำและจินตนาการที่งดงาม   ก่อให้เกิดความยากลำบาก  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายในการเรียนแก่นักเรียนทีละเล็กทีละน้อย  จนกระทั่งพวกเขาสะสมพฤติกรรมเชิงปฏิปักษ์หรือปฏิเสธวิชานี้ขึ้นภายใน  ทั้งไม่รู้สึกรักที่จะเขียนและอ่านงานร้อยกรอง

          แต่ทางเลือกใหม่ที่ผมพบในวันนี้ ก็คือทางสายเก่าในรากเหง้าวิถีของชาวบ้านนั่นเอง  

          ผมได้คำตอบจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านหลายต่อหลายคนว่า  การหัดเพลง  ไม่ว่าจะหัดร้องหรือหัดด้นเพลงก็ตาม   ต่างก็เริ่มต้นมาจากการหัดร้องเพลงครูหรือเนื้อร้องของเก่ากันมาก่อนทุกคน   หัดร้องตามครู (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นปู่รุ่นย่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่)  หัดเป็นลูกคู่รับเพลง  เป็นคอสองคอสามตามโอกาส  หัดปรบมือเข้าจังหวะ  หัดเล่นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพลงชนิดต่างๆ  ซึ่งก็จะเป็นเพลง ขึ้นทีละเล็กละน้อย  จนรู้สึกกลมกลืนรื่นไหลอยู่ในชีวิต   เมื่อได้เนื้อร้องต้นแบบสะสมไว้เป็นต้นทุนมากเข้า   ถึงคราวร้องเล่นก็สามารถยักย้ายแยกด้นเป็นตัวเป็นตนของตัวเองได้มากขึ้นตามลำดับ   นานวันเข้าก็แก่กล้า   มีทางเลือกมีทางเดินเป็นของตนเองที่ชัดเจนตามแต่ภูมิปัญญา  ความฝักใฝ่  และความแตกฉานของแต่ละบุคคล   วิถีของนักเพลงชาวบ้านไม่มีใครเลยที่เริ่มหัดเพลงจากการเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์ (จากตำราหรือจากแผนผังใดๆ) แม้บางคนไม่เคยเรียนหนังสือก็ยังสามารถร้องเพลงได้และผูกเพลง (แต่งเพลง) ได้อย่างน่าอัศจรรย์

          ในทำนองเดียวกัน  เด็กๆ หรือผู้ใหญ่คนใดก็ตามที่ร้องเพลงลูกทุ่ง  ลูกกรุง  สตริงส์  หรือเพลงที่เรียกชื่ออย่างอื่นใดก็ดี   ต่างก็ร้องตามเพลงต้นแบบที่มีคนอื่นร้องมาก่อน   ร้องได้โดยไม่ต้องเรียนรู้เรื่องฉันทลักษณ์เพลง  หรือโน้ตเพลง  หรือหลักการแต่งเพลงเหล่านั้น   จากการร้องได้   ก็แต่งเพลงล้อหรือเพลงแปลงได้   บางคนที่สนใจมาก  รักมากชอบมาก  ก็อาจถึงขั้นลองแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ขึ้นเอง  เรียนรู้ลักษณะการแต่งเพลง (ฉันทลักษณ์เพลง) จากการสังเกตเพลงของครูเพลงต่างๆ ที่สร้างสรรค์ไว้   สังเกตคำสัมผัสคล้องจอง  ท่วงทำนองในแต่ละท่อนแต่ละตอน  สังเกตเสียงสังเกตคำ  โวหาร  และการเดินทางของเนื้อหา   ลองผิดลองถูกด้วยรักด้วยสนุก  มีความสุขในการคิดการแต่ง   จนกระทั่งบางคนอาจไต่บันไดไปถึงขั้นเป็นศิลปินนักร้องหรือนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียง   ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีวิถีที่มาในทำนองเดียวกันนี้  เป็นการฝึกหัดจากของจริงและตัวตนที่แท้จริง  หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเรียนรู้ทฤษฎีในจากการปฏิบัติ  มิใช่เรียนปฏิบัติจากทฤษฎี  

          การฝึกหัดแต่งกลอนหรือร้อยกรองประเภทใดก็ตาม  วิธีที่ดีที่สุดที่ผมพบในขณะนี้ก็คือ  การให้นักเรียนฝึกอ่านออกเสียงบทกวีและท่องบทกวีประเภทที่จะฝึกแต่งนั้นๆ บ่อยๆ โดยใช้บทกวีที่เลือกสรรแล้วว่าดี ทั้งประเภทกลอน  กาพย์  โคลง  หรือฉันท์  ที่กระทบใจ (โดนใจ) หรือจับใจนักเรียนเป็นสำคัญ อาจใช้ทั้งการอ่านนำ อ่านตาม อ่านร่วมกัน หรือท่อง หรือขับขานพร้อมกัน ฯลฯ ให้เกิดบรรยากาศของความรื่นรมย์และรื่นรสสม่ำเสมอ  ต่อเนื่อง  กลมกลืนในการเรียนการสอนในชีวิตประจำวัน   จากนั้นจึงค่อยลองฝึกแต่งตามจังหวะและท่วงทำนองของบทกวีต้นแบบที่ท่อง  แต่งโดยไม่ต้องให้ความรู้เรื่องรูปแบบ หรือแผนผังฉันทลักษณ์  เช่นอาจจะใช้วิธีแต่งแปลงล้อเลียนก็ได้ 

                       ใดใดในโลกล้วน              อนิจจัง

                   คงแต่บาปบุญยัง                 เที่ยงแท้

                   เป็นเงาติดตัวตรัง                 ตรึงแน่น  อยู่นา

                   ตามแต่บาปบุญแล้               ก่อเกื้อรักษา

                                                (ลิลิตพระลอ) 

                             ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง

                   คนบ่ดูหนังสือยัง                 สอบได้

                   คนดูหัวแทบพัง                   สอบตก

                   เพราะเหตุฉะนี้ไซร้               อย่าได้ดูมัน

                                                (พบที่ผนังห้องสุขาของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.)

          โคลงแปลงล้อเลียนที่ยกมานี้มีนัยบอกอะไรอยู่หลายอย่าง  แต่ในที่นี้จะเลือกพูดถึงแต่กรณีของการแต่งร้อยกรองที่ผู้แต่งโคลงบทนี้กระทำ   นั่นคือผู้แต่งรายนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนความทรงจำ ทั้งคำและจังหวะโคลงต้นแบบมาก่อน  ครั้นเมื่อมาได้รับความบันดาลใจบางอย่าง (เกี่ยวกับการดูหนังสือและการสอบ) เข้าก็เกิดแรงขับให้เขียนโคลงล้อเลียนเชิงเสียดสีบทนี้ได้  และเป็นการเขียนได้อย่างโดนใจผู้อ่าน (ผู้มีประสบการณ์ร่วม) ได้ไม่น้อยทีเดียว   นี่คือการเขียนตามวิถีธรรมชาติของศิลปะภาษาที่แฝงพลังอยู่ในชีวิต ที่มีต้นทุนแห่งต้นแบบอยู่อย่างเพียงพอ  

          ข้อควรระวังเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็คือ  ครูจะต้องไม่มัวไปใส่ใจจับผิดเรื่องรูปแบบฉันทลักษณ์   ปล่อยให้นักเรียนเขาค่อยค้นหา  ค้นพบข้อสังเกต  ทั้งองค์ความรู้และความคิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกด้วยตัวของเขาเอง   ถ้านักเรียนสงสัยไต่ถาม  ครูก็อาจจะตอบอธิบายพอให้กระจ่างเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี   ไม่ควรอธิบายความรู้ทั้งหมดทั้งมวลที่ครูรู้   เพราะว่าวิธีสอนแบบบอกความรู้ นั้นได้ผลน้อยนัก

          สิ่งที่ครูควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพิจารณาผลงานของนักเรียนก็คือ  การให้ความสนใจเรื่องราวที่พวกเขาเขียน   ครูควรแสดงความสนใจใคร่รู้ใคร่ติดตาม  โดยอาจจะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด   ความบันดาลใจ  เป็นต้นว่า  มีอะไรกระตุ้นหรือมีอะไรเป็นทุนความคิดความรู้สึกจึงเขียนเรื่องดังกล่าว   ต้องการจะบอกอะไรมากกว่าเนื้อหาถ้อยคำที่ปรากฏหรือไม่   มีอุปสรรคในการใช้คำหรือการเขียนตรงไหนบ้าง   เมื่อครูใช้วิธีดังที่ว่านี้  จะทำให้นักเรียนมีความตื่นตัวทางความคิด  ได้แง่มุมจากการสังเกตความคิดของคนอื่นซึมซับสู่การพัฒนากระบวนการคิดของตนเองให้งอกงามยิ่งขึ้น   จะทำให้การเขียนครั้งต่อๆ ไปของแต่ละคนมีความรัดกุมและพิถีพิถันต่อการนำเสนอเนื้อหาโดยธรรมชาติของแรงขับภายในที่ได้รับการกระตุ้นและพัฒนาอย่างถูกวิธี

       เมื่อนักเรียนไม่รู้สึกยาก  ไม่ต้องพะวงกังวลกับรูปแบบฉันทลักษณ์ในการเขียนร้อยกรองเบื้องต้นของเขา   พวกเขาก็จะก้าวเดินไปบนถนนกาพย์กลอนด้วยความมั่นใจ  สบายใจ  มีความสุข  ในขณะเดียวกันครูก็จัดกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดความงอกงามทางความคิดและคุณค่าของงานของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ   วันหนึ่งก็จะถึงการขัดเกลารูปแบบฉันทลักษณ์ให้ลงตัวถูกต้องและดีงามสมบูรณ์ได้เองในที่สุด

       ผมจึงอยากเชิญชวนให้ครูภาษาไทยทั้งหลายลองหันมาสอนนักเรียนแต่งกาพย์กลอนกันด้วยวิธีนี้ดู   แล้วท่านจะพบว่าความเครียด  ความอึดอัดตีบตัน  และความรู้สึกเบื่อหน่ายวิชาการประพันธ์ของนักเรียนจะลดลง   นักเรียนของท่านจะมีความรักภาษาวรรณศิลป์เพิ่มขึ้น   ในที่สุดก็จะนำพาให้พวกเขารักภาษาไทย  และรักครูภาษาไทยมากขึ้น  ซึ่งเราต่างก็ต้องการเช่นนั้นมิใช่หรือ

 

หมายเลขบันทึก: 229996เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2008 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะอาจารย์

***อาจารย์สบายดีนะคะ

***คราวที่อาจารย์ไปเป็นวิทยากรที่จ่านกร้อง...ได้ฝากแนวคิดให้ดิฉันได้ปฎิบัติมากมาย

***ยังระลึกถึงจิตรกรหนุ่มจากมช.คนนั้นด้วยค่ะ

***ติดตามงานของอาจารย์อยู่เสมอค่ะ

***ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ที่บ้านผม มีหนังสือ ผลงานเขียนของอาจารย์หลายเล่มครับ

ขอบคุณครับ

  • อาจารย์คะ
  • ลำดวนเป็นคนหนึ่งที่ชอบ แต่งกลอนเลียนแบบ
  • ทำให้เขียนได้ง่ายกว่า
  • และก็ทำให้สนุกสนาน ซาบซึ้ง และประทับใจในการอ่านบทกวีจากผู้ประพันธ์หลายๆท่านค่ะ

 

  • คุณครูกิติยา คงมีความสุขดีกับการคิดได้ ทำได้ ขอความงอกงามจงดำเนินต่อไปในปีติเบิกบาน
  • โยโย่งโก๊ะ อ่านเล่มไหนจบบ้างแล้วล่ะ เล่าบอกครูบ้างสิครับ
  • คุณลำดวน ทำในสิ่งที่ถูกทางถูกวิถีดีแท้  ข้อพิสูจน์ก็คือวันนี้คุณลำดวนเขียนกลอนได้ถูกแบบฉันทลักษณ์โดยไม่ต้องกังวลกับฉันทลักษณ์แล้วใช่หรือไม่  เท่าที่ผมได้อ่านเห็นว่าทำได้ดีนะครับ  ซึ่งวิธีการสอนแบบนี้ น่าจะลองจัดอบรมครูภาษาไทยให้นำไปใช้กันดู
  • ขอเชิญชวนสมาชิก โรงเรียนกวีออนไลน์ ร่วมเขียน กลอนล้อบทครู ที่...http://gotoknow.org/blog/krugarn2/230617
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท