จนก็ต้องสู้ ....สู่ “เวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาพื้นที่ (Area Based)”


การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้มาร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องใหญ่ที่ทุกคนในพื้นที่เห็นว่าต้องแก้ไข และจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของคนในพื้นที่

     ความยากจนเป็นภาวะที่เราพบเห็นบ่อยในแถบต่างจังหวัด พบได้ทุกภาคของประเทศไทย  ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลในปัจจุบันชูเป็นนโยบายที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาความยากจน โดยเน้นให้ทุกส่วนราชการผนึกกำลังและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีจนกระทั่งมีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)  ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย และได้รับความร่วมมือจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการดำเนินโครงการนำร่องบูรณาการจังหวัด มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ และพัฒนาระบบบริหารงานในจังหวัดเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 12 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ นครพนม สมุทรสงคราม ตรัง พัทลุง
     การแก้ปัญหาความยากจน ต้องใช้เป้าหมายของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนเป็นตัวตั้งและหาวิธีการให้เกิดการเสริมแรงกัน ระหว่างการทำงานตาม Function ของหน่วยงานต่างๆ และการทำงานแบบ Area-based

            

     แนวคิดหลังที่ใช้ในโครงการนี้คือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ หรือ area – based approach คือการบริหารจัดการที่ลงไปทำกระบวนการในพื้นที่เป้าหมาย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้มาร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องใหญ่ที่ทุกคนในพื้นที่เห็นว่าต้องแก้ไข และจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของคนในพื้นที่
      ซึ่งในการดำเนินโครงการฯ ได้ทำในลักษณะทำไป ปรับไป เรียนรู้ไป เพื่อพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ และได้มีการถอดวิธีการทำงานเป็น 6 ขั้นตอนคือ รูปแบบและกลไกการทำงานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่ และได้มีการถอดวิธีการทำงานเป็น 6 ขั้นตอนคือ
1.     การเตรียมความพร้อม
2.     การพัฒนาเครื่องมือและวิทยากร
3.     การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล
4.     การทำแผนและข้อเสนอภาคประชาชน
5.     การบูรณาการแผนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6.     การจัดการความรู้และขยายผล
       แต่ละจังหวัดมีการดำเนินงานตามขั้นตอนเหล่านี้ แต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความพร้อมและเงื่อนไขบริบทต่างๆ ของแต่ละจังหวัด แม้จะมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นไม่มีความแตกต่างกันมาก  เพราะวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนงานนี้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อจัดทำข้อเสนอภาคประชาชนโดยใช้กระบวนการสำรวจครัวเรือนและเชื่อมโยงข้อเสนอดังกล่าวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยุทธศาสตร์ของจังหวัด
        ผลการขับเคลื่อนงานของโครงการโดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลครัวเรือนและจัดทำแผนชุมชนเป็นเครื่องมือ ได้นำไปสู่การรับรู้ปัญหาความยากจนในระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เป็นกระบวนการค้นหาเพื่อ “การรู้จักตัวเอง” และสะท้อนความต้องการของชุมชน ซึ่งมีการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บนฐานการพึ่งตนเอง และเป็นช่องทางใหม่ในการสะท้อนความต้องการอย่างแท้จริงของท้องถิ่น และในการทำงานร่วมกับภาคทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถตอบสนองชุมชนได้ตรงเป้า ซึ่งใช้เวลาเพียง 6-8 เดือน
         กระบวนการดังกล่าวไม่เพียงทำให้ชุมชน และประชาสังคมตื่นตัวเท่านั้นแต่ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อน ซึ่งนำไปสู่หุ่นส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการต่อไปในอนาคต  ดังนั้นศตจ. ได้รับความเห็นชอบให้มีการขยายผลการดำเนินงานของโครงการนำร่องไปยังจังหวัดที่เหลือ อีกกว่า 60 จังหวัด
         และในวันที่ 30 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ดร. ลีลาภรณ์  บัวสาย และทีมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ประสานในฝ่ายวิชาการในโครงการนำร่องบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เข้าพบและให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของโครงการฯ นี้แก่ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช และทีมสคส. ในการขยายผลการดำเนินงานโครงการแก้จนนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ  ซึ่ง ดร. ลีลาภรณ์  บัวสาย ได้เล่าความเป็นมาของโครงการฯ และปัญหาอุปสรรคที่พบในการทำโครงการฯ และได้ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำโครงการฯ ด้วยการรวบรวมความรู้และคัดเลือกความรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อยกระดับความรู้นั้น ให้สามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่ได้ ซึ่งอาจได้ความรู้ใหม่ที่สามารถต่อยอดความรู้เดิมและนำไปใช้เพื่อการเผยแพร่ขยายผล และขณะเดียวกัน สคส. มีแผนงานที่จะจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของการแก้จนและชีวิตสาธารณะ “เวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาพื้นที่  (Area Based)” โดยในการจัดงานครั้งนี้ได้เชิญ สกว. เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งคุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส เป็นผู้ประสานงานในการจัดเวทีแก้จนของ สคส. โดยมีการคัดเลือกจังหวัดที่มีการแก้จนและได้ผลดี "Best practices"  4-5 จังหวัด และมีบางจังหวัดที่อยู่ในโครงการฯ ของ ดร. ลีลาภรณ์  บัวสาย อีกด้วย ความสำคัญของงานนี้คือ จุดเด่นของแต่ละจังหวัด การแก้ไขความยากจนได้อย่างไร และ ใครเป็นผู้กระทำการแก้ไขความยากจน ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ สคส. จะเชิญแต่ละจังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และะต้องมีคุณกิจ (ผู้ปฏิบัติงานจริงในเรื่องนั้นๆ ) เข้าร่วมทีมไม่น้อยกว่า 2 คน ซึ่งงานนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ณ โรงแรมกาตน์มณี กรุงเทพ และสำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเวทีนี้ได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานท่านละ 400 บาท

 

หมายเลขบันทึก: 22999เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2006 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท