บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กับผู้ป่วยยาเสพติด (ตอนที่2)


บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กับผู้ป่วยยาเสพติด (ตอนที่2)
                นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  มีแนวทางให้หลักประกันด้านการรักษาพยาบาลด้วยการจัดให้มีหน่วยบริการประจำครอบครัวที่อยู่ใกล้บ้านไว้ให้ประชาชนไปรับบริการได้อย่างสะดวก     แต่หากเมื่อใดที่มีการย้ายหรือเปลี่ยนที่พักอาศัยใหม่  ตามแนวทางหลักประกันสุขภาพก็มีบริการเปลี่ยนสิทธิบัตรทอง  เพื่อเอื้อต่อการรับบริการทางการแพทย์ที่ต่อเนื่องภายใต้การคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาล  ณ  หน่วยบริการที่ตั้งอยู่ในเขตใกล้เคียงกับที่พักอาศัยหรืออยู่ในเขตรับผิดชอบตามทะเบียนบ้านที่ย้ายมาใหม่
                มีการตั้งคำถามว่า  ทำไมต้องเปลี่ยนสิทธิบัตรทองด้วย  คำตอบก็คือ  หากท่านมีการย้ายที่อยู่อาศัย  หรือย้ายทะเบียนบ้าน  แล้วเกิดภาวะการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม  แต่ท่านมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่หน่วยบริการตามภูมิลำเนา  ท่านจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้เฉพาะกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉิน  การเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน  ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี  และหากท่านเกิดเจ็บป่วยในภาวะปกติ  โรคที่ไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน  ท่านจะไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ 
                                ด้วยเหตุผลดังกล่าวและจากการติดตามผลการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยคุมประพฤติที่ถูกส่งตัวมาจากสำนักงานคุมประพฤติในหลายจังหวัดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในสถาบันธัญญารักษ์  พบว่าผู้ป่วยคุมประพฤติจะประสบปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยทางการแพทย์ในกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาลในภาวะปกติไม่ได้   นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในภาวะเร่งด่วน (กรณีฉุกเฉิน)  ที่เกินสิทธิ คือ เกินกว่า 2 ครั้งต่อปี   ทำให้เกิดอุปสรรคในการประสานงานที่มีหลายขั้นตอน   เกิดความล่าช้าจนส่งผลต่อภาวะสุขภาพหรือภาวะของโรคที่รุนแรงขึ้น   
                กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์จึงได้เพิ่มศักยภาพในการดูแลคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ป่วยยาเสพติดคุมประพฤติ  โดยจัดทำโครงการ การขอเปลี่ยนหน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้รับบริการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องในการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาล  ณ  หน่วยบริการที่ตั้งอยู่ในเขตใกล้เคียงกับสถาบันธัญญารักษ์  โดยให้เห็นถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับคือ
1.   ผู้ป่วยสามารถได้รับบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์  ที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้
2.   ผู้ป่วยจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการรับบริการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  สะดวก  รวดเร็ว  และทันเวลา
3.   ผู้ป่วยได้รับบริการกิจกรรมทางการแพทย์  โดยประหยัดค่าใช้จ่าย

โดยในการขอเปลี่ยนหน่วยบริการตามโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ป่วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความประสงค์จะขอเปลี่ยนหน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)   ผู้ป่วยสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
     1. แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ประจำตึกผู้ป่วย
     2. เขียนใบสมัครพร้อมหลักฐาน ตามรายการต่อไปนี้
          -  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ป่วย
         -   สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย
          (ในกรณีที่ไม่สามารถหาเอกสารดังกล่าวได้  กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ จะประสานกับเทศบาลตำบลประชาธิปัตย์   เพื่อขอคัดสำเนาหลักฐานของผู้ป่วยมาประกอบการขอเปลี่ยนหน่วยบริการฯ  )    ผู้ป่วยส่งเอกสารมาที่กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์     
      3. เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ดำเนินการขอเปลี่ยนหน่วยบริการฯโดยไปขึ้นทะเบียนที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นหน่วยบริการใกล้เคียงกับสถาบันธัญญารักษ์  และประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีความประสงค์จะย้ายสิทธิกลับก็สามารถติดต่อได้ที่ รพ. ของรัฐที่ผู้ป่วยเคยมีสิทธิเดิมอยู่ก่อนผู้ป่วยก็จะสามารถได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  ภายหลังที่ผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาของตนเอง
                จากการทำโครงการ  การขอเปลี่ยนหน่วยบริการในการเข้ารับการรักษาภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้รับบริการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23542เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรณีผู้ป่วยคุมประพฤติ  น่าจะกำหนดเป็นนโยบายร่วมกันของ ทั้ง Fast และบำบัดด้วยยาที่ผู้ป่วย

ควรต้องดำเนินการย้ายหน่วยบริการบัตรทอง เพื่อป้องกันปัญหาการในการ Refer เมื่อมีโรคแทรกซ้อน ทุกราย 

หรือถ้ากำหนดเป็นนโยบายไปแล้วช่วยบอกด้วยนะครับ

กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์เคยได้สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สปสช. และโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับนโยบายการดำเนินการย้ายหน่วยบริการบัตรทองกรณีผู้ป่วยที่ถูกคุมประพฤติทุกรายที่มารับการบำบัดรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ค่ะ  และได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานดังกล่าวว่าในการย้ายหน่วยบริการบัตรทองนั้น ต้องดำเนินการโดยความสมัครใจของผู้มีสิทธิ์ หากบังคับย้ายจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วย และขัดกับระเบียบของ สปสช. ดังนั้นในการดำเนินการโครงการ การขอเปลี่ยนหน่วยบริการฯ เราจึงมีกระบวนการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยได้เห็นถึงประโยชน์และเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท