คลังปรับยุทธวิธีแก้ถังแตก
เรียกประชุมใหญ่จันทร์นี้ เร่งหน่วยงานส่งค่าธรรมเนียม
ทั้งหมดเข้าคลัง-เข้มงวดเงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กัดฟันควักกระเป๋าเงินเลือกตั้งซ่อมอีก 200 กว่าล้านบาท
นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง
กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 10 เมษายนนี้จะประชุม
สรุปเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง 3 แนวทาง คือ
1.จะสั่งให้กระทรวงหรือหน่วยราชการต่าง ๆ ที่มีรายได้
จากการเก็บค่าธรรมเนียมทั้งหมด
นำรายได้ค่าธรรมเนียมที่ได้ทั้งหมดส่งเข้ากระทรวงการคลัง
จากเดิมที่นำส่งบางส่วน แนวทางที่ 2 สั่งให้กองทุนต่าง ๆ
ที่รัฐสนับสนุนให้ส่งเงินที่ไม่ได้ใช้ส่งคืนกลับกระทรวงการคลังก่อน
แนวทางที่ 3
เป็นเรื่องการดำเนินการอุดหนุนเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) ซึ่งจะเข้มงวดการเบิกจ่ายเงินเดือนให้เป็นรายเดือน
แทนที่จะจัดสรรงบประมาณให้แล้วแต่จะมีการเบิกจ่าย
สำหรับเงินที่กระทรวงการคลังนำฝากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ดูแลในการเบิกจ่ายนั้น
ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเงินคงคลังบัญชี 1
ที่ฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ
เหลืออยู่จำนวนมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหว
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหา สามารถเบิกจ่ายได้ตามที่หน่วยงานต่าง ๆ
ขอเบิกเข้ามา ทั้งนี้ เงินคงคลังบัญชี 1
ถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลังจำนวน 4 หมื่นล้านบาท หรือ 14 วันทำการ
โดยนอกจาก เงินคงคลังบัญชี 1 แล้ว
ยังมีเงินคงคลังที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงไทยและบัตรภาษี
“เงินคงคลังบัญชี 1
ถือเป็นเงินสดที่สามารถใช้เบิกจ่ายได้คล่องตัวมากที่สุด
ซึ่งขณะนี้ตรึงตัว แต่ยังสามารถบริหารการเบิกจ่ายในเดือนเมษายนได้”
นายบุญศักดิ์ กล่าว
นายบุญศักดิ์ กล่าวว่า
สำหรับงบเลือกตั้งจะจัดสรรจากงบกลางซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา
แม้ว่าขณะนี้เงินสดของกระทรวงการคลังจะตึงตัว
เนื่องจากมีการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีจำนวนมาก
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประจำ ก็มีการดำเนินการรวดเร็ว
ทำให้รายได้เข้ามาไม่ทัน ซึ่งสภาพคล่องจะตึงตัวในเดือนเมษายนนี้อีก 1
เดือน
หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมสภาพคล่องจะดีขึ้น
เนื่องจากมีเงินจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้ามา
สำหรับปีงบประมาณ 2549 นั้น
รัฐบาลได้จัดสรรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 75 แห่ง วงเงิน
6,124.89 ล้านบาท เทศบาล 1,156 แห่ง วงเงิน 21,938.23
ล้านบาท ทั้งนี้
หากเทศบาลใดมีรายได้รวมเงินอุดหนุนทั่วไปน้อยกว่าปีงบประมาณ 2547
ให้จัดสรรให้เทศบาลนั้นไม่น้อยกว่าปีงบประมาณ 2547
ซึ่งยังมีการจัดสรรให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
6,622 แห่ง วงเงิน 29,560.71 ล้านบาท นอกจากนี้
กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาได้รับการจัดสรร 3,440.15 ล้านบาท และ
736.02 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการจัดสรรเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติให้จัดสรร
งบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงการประปาหมู่บ้านทั่วไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ
2547-2549 วงเงิน 14,672.78 ล้านบาท
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้ 7,828 หมู่บ้าน
ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 5,690,000 คน