เจตสิก...สภาวธรรมที่ประกอบกับจิตในพระสุตตันตปิฎก


เชิญอ่านทั้งหมดที่เวป http://khunsamatha.com/

เจตสิก...สภาวธรรมที่ประกอบกับจิตในพระสุตตันตปิฎก



พระสุตตันตปิฎก
 ซึ่งเป็นประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตรนั้นประกอบด้วยพระธรรมเทศนา  และธรรมบรรยายต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะสมกับบุคคล  เหตุการณ์และโอกาส  ตลอดจนบทประพันธ์เรื่องเล่า  ตามเรื่องราวที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา  เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ  ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น  คือเสด็จไปพบคนโน้น  เขาทูลถามเรื่องนี้พระองค์ก็ตรัสตอบไป  เสด็จไปพบชาวนา  ทรงสนทนาโต้ตอบกับเขาจนจบไปเรื่องก็เป็นเรื่องหนึ่ง  เสด็จไปเจอกับพราหมณ์ได้สนทนากับเขา  หรือตอบคำถามเขา  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  เมื่อเสด็จไปเจอกษัตริย์หรือเจ้าชายก็สนทนากันอีกเรื่องหนึ่ง  ธรรมที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ละเรื่องๆ จบไปเรื่องหนึ่งๆ นี้เรียกว่าสูตรหนึ่ง  พระสุตตันตปิฎกจึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า  “พระสูตร”



การแสดงธรรมในลักษณะนี้มีมากมาย  เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง  ตามแต่ว่าพระองค์ได้ตรัสแก่บุคคลใด  เพื่อทรงชี้แจงอธิบายหรือตอบปัญหาเรื่องไหน  ตรงกับพื้นเพภูมิหลังความสนใจ  และระดับความรู้ความเข้าใจ  หรือระดับสติปัญญาของเขา  ฉะนั้นธรรมแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเนื้อหาแตกต่างกันมาก  พอจบเรื่องนี้ที่ตรัสแก่ชาวนา  ซึ่งเป็นธรรมระดับหนึ่ง  เพียงเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น  ก็เป็นธรรมคนละด้านคนละระดับกันเลย  ตัวอย่างเช่น ตรัสกับชาวนาเรื่องการทำมาหากินหรือการหว่านพืช  ก็อาจจะตรัสเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร  หรืออาจจะเทียบกับการปฏิบัติบางอย่างของพระภิกษุก็สุดแต่  แต่พอไปอีกเรื่องหนึ่ง  พระองค์สนทนากับพราหมณ์  ก็อาจจะตรัสเรื่องวรรณะ  หรือเรื่องไตรเพทของพราหมณ์  หรือเรื่องการบูชายัญดังนี้เป็นต้น
(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ พิมพ์ครั้งที่ ๒,(กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๓), หน้า๓๔.)



ธรรมที่ตรัสแบบนี้พอเปลี่ยนเรื่องไป  เนื้อหาก็เปลี่ยนไปห่างกันมาก  ฉะนั้นเนื้อหาสาระจึงไม่ไปตามลำดับ  การแสดงธรรมในพระสุตตันตปิฎกนี้ส่วนมากพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่มี  บุคคล  เหตุการณ์และสถานที่เข้ามาประกอบที่เรียกว่า  บุคคลาธิษฐาน  มีส่วนน้อยที่ทรงแสดงธรรมที่ไม่ได้ยกสัตว์  บุคคล  เหตุการณ์  หรือสถานที่เข้าประกอบ  ทรงแสดงเฉพาะเนื้อหาธรรมล้วนๆ ที่เรียกว่า  ธรรมาธิษฐาน  ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแสดงธรรมะที่เป็นสภาวะล้วนๆ มีเนื้อหาตรงไปตรงมาไม่อิงสัตว์  บุคคล  ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้



พระสูตรนี้  มิใช่จะมีแต่พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น  ยังมีธรรมภาษิตของเทวดาผู้มาเฝ้าและสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์  มีธรรมภาษิตของพระอรหันตสาวกและของพระอรหันตสาวิการวมอยู่ด้วย  พระธรรมเทศนาในพระสูตรมีเป็นจำนวนมาก  หลายหมวด  หลายประเภท  เป็นรูปคำสนทนาบ้าง  คำบรรยายหรืออธิบายหัวข้อธรรมบ้างเป็นรูปคาถาล้วนบ้าง  ร้อยแก้วบ้าง  เป็นแบบผสมบ้าง  และเกี่ยวด้วยหัวข้อธรรมทุกประเภทกระจายอยู่ในที่ต่างๆ กันโดยส่วนมากแล้วการแสดงธรรมในพระสูตรสามารถแบ่งโครงสร้างเป็น  ๓  ส่วนดังนี้



โครงสร้างของพระสูตร  มีองค์ประกอบ  ๓  ส่วน  คือ


๑.  คำขึ้นต้นหรือข้อความเบื้องต้น(นิทานวจนะ)  ได้แก่  ข้อความที่พระอานนท์กล่าวว่า   “เอวมฺเม  สุตํ”  อันข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้  เป็นต้นไปจนจบข้อความที่บอกถึงความเป็นมาของพระสูตรนั้นๆ


๒.  เนื้อหาของพระสูตรหรือข้อความที่เป็นพระพุทธภาษิตหรือสาวกภาษิต  เป็นต้น  ได้แก่ข้อความที่ต่อจากนิทานวจนะ


๓.  คำลงท้ายหรือข้อสรุป(นิคมวจนะ)  ได้แก่ข้อความที่ต่อจากเนื้อหาของพระสูตร  เช่น  ข้อความที่ขึ้นต้นว่า “อิทมโวจ  ภควา”
(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย  เล่มที่  ๙  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), บทนำหน้า ๘.)



รูปแบบของพระสูตร  มีทั้งเป็นการบรรยาย  คือการบรรยายธรรมแบบพูดคนเดียวจนจบเรื่อง  ดังที่พระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงบรรยายจบลงว่า   “ธรรมบรรยายนี้มีชื่อว่าอะไร  พระพุทธเจ้าข้า”  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงบอกชื่อของพระสูตรนั้นๆ นอกจากแสดงแบบบรรยายแล้ว  การแสดงธรรมในพระสูตรยังเป็นแบบการสนทนาธรรมมีการถาม – ตอบ  ในการบรรยายและสนทนานั้นบางครั้งพระองค์ทรงยกอุปมาอุปไมย  เปรียบเทียบเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น  


พระสุตตันตปิฎก   หรือพระสูตร  มีทั้งหมด  ๒๕  เล่ม  คือพระไตรปิฎกเล่มที่  ๙  ถึงเล่มที่  ๓๓  แบ่งออกเป็น  ๕  กลุ่ม  เรียกว่า  “นิกาย”  คือ  

๑. ฑีฆนิกาย  พระสูตรขนาดยาว

๒. มัชฌิมนิกาย  พระสูตรขนาดปานกลาง

๓. สังยุตตนิกาย  พระสูตรที่มีเนื้อหาสาระประเภทเดียวกัน

๔. อังคุตตรนิกาย  พระสูตรที่มีหัวข้อธรรมะเท่ากันเข้าไว้ในหมวดเดียวกัน

๕. ขุททกนิกาย  พระสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้นจัดไว้ในหมวดเดียวกัน

(มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย  เล่มที่  ๙  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙), บทนำหน้า ๑๐ - ๑๑.)

 

ในพระสุตตันตปิฎก  พระพุทธองค์ทรงแสดงเจตสิกแต่ละดวงในลักษณะที่แตกต่างกัน  ตามลักษณะหน้าที่  เหตุเกิด  ความดับ  คุณและโทษ  เป็นต้น  ของเจตสิกดวงนั้นและยังแสดงแตกต่างกันตามผู้ฟัง  กาลเทศะ  การแสดงเจตสิกในพระสูตรจึงไม่เป็นระบบ  ทรงนำมาใช้ตามความเหมาะสมของผู้ฟังทั้งนี้สุดแต่จะทรงเห็นว่าบุคคลใดควรเข้าใจเรื่องใด  ดังมีตัวอย่างปรากฏ  ดังต่อไปนี้



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


“โรค  ๒  อย่าง  คือ  ๑. โรคทางกาย(กายิก  โรโค)  ๒.  โรคทางใจ (เจตสิโก  โรโค)
(องฺ.จตุกฺก.(ไทย ๒๑/๑๕๗/๒๑๗.)


“ภิกษุทั้งหลาย  ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับถูกทุกขเวทนาถูกต้อง  ย่อมไม่เศร้าโศก  ไม่ลำบาก...เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายประการเดียว  ไม่เสวยเวทนาทางใจ (เอกํ  เวทยติ  กายิกํ  น  เจตสิกํ)”
(สํ.สฬา.(ไทย) ๑๘/๒๕๔/๒๗๕.)


“เวทนา  ๒  ประการ  คือ  ๑.  เวทนาทางกาย (กายิกา  เวทนา)  ๒.  เวทนาทางใจ (เจตสิกา  เวทนา)”
(สํสฬา.(ไทย) ๑๘/๒๗๐/๓๐๒.)



พระสารีบุตรกล่าวถึงคำว่าเจตสิกปรากฏในพระสูตรต่างๆ ดังนี้


“คำว่า  สุข  ๒  อย่าง  คือ  ๑.  กายิกสุข    ๒.เจตสิกสุข


กายิกสุข  คือ  ความสำราญทางกาย  ความสุขทางกาย  ความเสวยสุขที่เป็นความสำราญซึ่งเกิดจากกายสัมผัส  สุขเวทนาที่เป็นความสำราญซึ่งเกิดจากกายสัมผัส  นี้เป็นกายิกสุข


เจตสิกสุข   คือ  ความสำราญทางใจ  ความสุขทางใจ  ความเสวยสุขที่เป็นความสำราญซึ่งเกิดจากเจโตสัมผัส  สุขเวทนาที่เป็นความสำราญซึ่งเกิดจากเจโตสัมผัส  นี้เป็น เจตสิกสุข

(ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๑๗๓/๒๗๑-๒๗๒.)



“คำว่า  เธอจงมีสติ  เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ......เพ่งพิจารณาคือ  แลเห็น  ตรวจดู  เพ่งพินิจ  พิจารณาจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น  โดยความเป็นของไม่เที่ยง”
(ขุ.จู.(ไทย) ๓๐/๓๙/๑๘๐.)



“อะไรเป็นศีล  เจตนาเป็นศีล  เจตสิกเป็นศีล  ความสำรวมเป็นศีล  ความไม่ล่วงเป็นศีล”
(ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๓๙/๖๐.)



“จิตตสังขาร  คือ  สัญญาและเวทนาด้วยอำนาจลมหายใจเข้ายาวเป็นเจตสิก  ธรรมเหล่านี้เรื่องด้วยจิต  เป็นจิตตสังขาร”  
(ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๑๗๔/๒๗๓.)



“ปัญญาในการกำหนดธรรม  ๔  เป็นภูมินานัตตญาณอย่างไร  ภูมิ ๔  คือ


๑. กามาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม)  คือ  ขันธ์  อายตนะ  ธาตุ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  อันท่องเที่ยวอยู่ในภูมินี้...


๒. รูปาวจรภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป)  คือ  ธรรม  คือ  จิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ  ผู้เกิดในรูปภูมิ...


๓. อรูปาวจนภูมิ (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป)  คือ  ธรรม  คือ  จิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ  ผู้เกิดในอรูปภูมิ...


๔. อริยาปันนาภูมิ (ชั้นที่ไม่นับเนื่องในภูมิ ๓  หมายถึงโลกุตตรภูมิ)  คือ  มรรค  ผล  ธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง (นิพพาน)...”

(ขุ.ป.(ไทย) ๓๑/๗๒/๑๒๑-๑๒๒.)




คำว่า  เจตสิก
 ในพระสุตตันตปิฎกทั้งที่เป็นการตรัสของพระพุทธเจ้าและเป็นคำพูดของพระสาวกทุกครั้งที่ใช้คำว่า  “เจตสิก”  จะมีความหมายคล้ายกันคือหมายถึงสภาวธรรมที่เกิดทางใจโดยที่ต้องการแยกสภาวธรรมนี้ให้ต่างจากทางกาย  เช่น  เจตสิกสุข  เจตสิกทุกข์  ซึ่งหมายถึง  ความสุข  ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทางใจ  หรือการงดเว้นทางใจ  ที่เรียกว่า  เจตสิกศีล  เป็นต้น  สภาวธรรมเหล่านี้ไม่ใช่จิตแต่มีความเกี่ยวข้องกับจิต  แสดงว่านามธรรมที่นอกจากจิตแล้วยังมีสภาวธรรมอีกจำพวกหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับจิตอยู่ด้วย  ดังที่พระสารีบุตรแสดงถึงธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในโลกมนุษย์และภพภูมิต่างๆ ทั้งในกามาวจรภูมิ  รูปาวจรภูมิ  อรูปาวจรภูมิ  หรือโลกุตตรภูมิ  ดังที่กล่าวมาแล้ว




คำว่า   “เจตสิก”  ที่ปรากฏในพระสูตตันตปิฎกนั้นมิได้มีกล่าวขยายความว่าคืออะไร  มีจำนวนหรือประเภทอย่างไรบ้าง  โดยทั่วไปเมื่อพระองค์ทรงแสดงเจตสิก
 จะทรงกล่าวถึงเจตสิกชนิดนั้นๆ โดยทรงแสดงถึงลักษณะความสำคัญหรืออิทธิพลของเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตนั้นอยู่  ดังเช่น  ทรงแสดงถึง  โลภเจตสิกที่เมื่อประกอบกับจิตแล้วทำให้จิตเป็นอกุศล  ทรงแสดงว่า



“เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตอยู่เนืองๆ ว่า  จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ  โทสะ  โมหะเป็นเวลานาน  สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง  สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว”
(สํ.ข.(ไทย) ๑๗/๑๐๐/๑๙๑-๑๙๒.)



หรือทรงแสดงว่า   “เพราะมนสิการในสุภนิมิตนั้น  ราคะจักครอบงำจิตได้  เขาจักเป็นผู้มี  ราคะ  โทสะ  โมหะ  เพียงดังนั้น  มีจิตเศร้าหมองตายไป
(ม.มุ.(ไทย) ๑๒/๕๙/๔๗.)



ในพระสุตตันตปิฎกได้กล่าวถึงเจตสิก
ในลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่และไม่ได้เรียกชื่อเจตสิก  เพียงแต่กล่าวถึงสภาวธรรมที่ประกอบกับจิตและมีอิทธิพลทำให้จิตมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน  และในบางพระสูตรได้นำเจตสิกในพระอภิธรรมไปจัดเป็นองค์รวมแล้วเรียกชื่อเหล่านั้นตามลักษณะที่มีอิทธิพลต่อจิต  เช่น  โลภะ  โทสะ  โมหะ    เรียกว่า  อกุศลมูล(ที.ปา.(ไทย)๑๑/๓๕๓/๒๗๓.) เพราะเป็นต้นตอของความชั่ว  ซึ่งทั้ง  ๓  เป็นอกุศลเจตสิก

ลักษณะทั่วไปของเจตสิกในพระสุตตันตปิฎก


เจตสิก
หมายถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นทางใจหรือทางจิต  ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับจิต
 เพื่อให้มองเห็นลักษณะทั่วไปของสภาวธรรมที่เป็นเครื่องประกอบจิตตามแนวพระสูตรที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ขอแยกประเด็น  ดังนี้


เจตสิกเป็นนาม
 ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า   “เวทนา(ความเสวยอารมณ์)  สัญญา(ความจำได้หมายรู้)  เจตนา(ความจงใจ)  ผัสสะ(ความกระทบ)  มนสิการ(ความกระทำไว้ในใจ,การพิจารณา)  นี้เรียกว่า  นาม  มหาภูตรูป ๔ (ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔(อุปาทายรูป ๒๔) นี้เรียกว่า รูป”
(สํ.นิ(ไทย) ๑๖/๒/๗.)


จากพระพุทธวจนะนี้แสดงว่า  เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  และมนสิการ  เป็นสภาวะที่เกิดร่วมกับจิต
เป็นเจตสิกจัดอยู่ในประเภทของนาม  เมื่อจัดเจตสิกเหล่านี้เป็นขันธ์จะได้ดังนี้  คือ  เวทนาเป็นเวทนาขันธ์  สัญญาเป็นสัญญาขันธ์  และเจตสิกที่เหลือคือ  เจตนา  ผัสสะ  มนสิการ  เป็นสังขารขันธ์  ในคำอธิบายคำว่า  นาม  จึงหมายถึงเฉพาะเจตสิกขันธ์ ๓  คือ  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์เท่านั้น  ยังไม่นับรวมวิญญาณขันธ์  หรือจิตเข้าไว้ด้วย  ทรงกล่าวถึงจิตในขั้นตอนต่อไปว่า   “เพราะวิญญาณเกิด  เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี”
(ม.มู.(ไทย) ๑๒/๑๐๐/๙๕.)



ในขุททกนิกาย  จูฬนิทเทส  พระสารีบุตรให้ความหมายของนามดังนี้  


“นาม  ได้แก่  ขันธ์ที่มิใช่รูป  ๔  อย่าง  รูป  ได้แก่  มหาภูตรูป  ๔  และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง  ๔”  ขันธ์ที่ไม่ใช่รูป  ๔  อย่าง  ได้แก่  ๑. เวทนาขันธ์  ๒. สัญญาขันธ์  ๓. สังขารขันธ์  และ  ๔. วิญญาณขันธ์”  
จะเห็นได้ว่าในบทนี้  นาม  หมายถึง  นามขันธ์ ๔  คือ  ขันธ์  ๓  ที่เป็นเจตสิก  ได้แก่  ๑. เวทนาขันธ์   ๒. สัญญาขันธ์   ๓.  สังขารขันธ์  และ  ๔. วิญญาณขันธ์หรือจิต  ดังนั้น  นาม  ในที่นี้จึงหมายถึงทั้งจิต
และเจตสิก



สรุปว่าจัดอยู่ในประเภทนาม  ได้แก่  ขันธ์  ๓  คือ  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์



จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่านามหรือเจตสิกที่ทรงนำมาแสดง  คือ  เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  มนสิการ  เมื่อเว้น  เวทนาคือเวทนาขันธ์  และสัญญาคือสัญญาขันธ์แล้ว  เจตสิกที่เหลือคือ  เจตนา  ผัสสะ  และมนสิการ  ซึ่งจัดเป็นสังขารขันธ์นั้น  ไม่ทรงระบุจำนวนสังขารขันธ์ทั้งหมด  ทั้งนี้อาจเป็นไปดังที่พระธรรมปิฎกได้อธิบายสังขารขันธ์ไว้ว่า   “สังขาร  ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต  มีเจตนาเป็นตัวนำซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ  และการแสดงออกทางกาย  วาจาให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม”
(พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๑๖.)

ซึ่งครอบคลุมสภาวธรรมมากมาย  แสดงว่าในบรรดาสังขารขันธ์นั้นเจตนาขันธ์นั้น เจตนามีความสำคัญเป็นหัวหน้าเป็นผู้นำในการนึกคิดและการกระทำต่างๆ จึงทรงยกเจตสิกเฉพาะที่สำคัญมาอธิบายเพื่อไม่ให้การแสดงธรรมเยิ่นเย้ยจนเกินไป


เจตสิกมีลักษณะของไตรลักษณ์
 ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของเจตสิกที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก  คือเป็นธรรมที่ตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์  คือ  อนิจจลักขณะ(ไม่เที่ยง)  ทุกขลักขณะ (เป็นทุกข์)  และอนัตตลักขณะ (ไม่ใช่ตัวตน)  ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า


“ภิกษุทั้งหลาย  รูปไม่เที่ยง  สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์  สิ่งใดเป็นทุกข์   สิ่งนั้นเป็นอนัตตา  สิ่งใดเป็นอนัตตา  สิ่งนั้นเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา......เวทนาไม่เที่ยง......สัญญาไม่เที่ยง......สังขารไม่เที่ยง......วิญญาณไม่เที่ยง  สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์  สิ่งใดเป็นทุกข์   สิ่งนั้นเป็นอนัตตา  สิ่งใดเป็นอนัตตา  สิ่งนั้นเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา  อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป....ในเวทนา....ในสัญญา....ในสังขาร....ในวิญญาณ  เมื่อเบื่อหน่าย  ย่อมคลายกำหนัด  เพราะคลายกำหนัด  จิตย่อมหลุดพ้น  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ก็รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว  รู้ชัดว่า......ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นไปอย่างนี้อีกต่อไป”
(สํ.ข.(ไทย) ๑๗/๑๕/๒๙.)


พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า  เจตสิกทั้งหมด  คือ  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์  นั้นตกอยู่ภายใต้ลักษณะของไตรลักษณะ  คือ  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และไม่ใช่ตัวตน  ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา
เจตสิก

 

หมายเลขบันทึก: 229325เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระสูตรเกี่ยวกับจิตที่น่าสนใจ

 

"จิตอันอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ จากอาสวะทั้หลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ"

(ที.ม.ไทย) ๑๐/๑๔๒/๘๙.)

 

"สัตว์ผู้อ้างว่า ตนเองไม่มีโรคทางกายตลอดระยะเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง...๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง แม้ยิ่ง กว่า ๑๐๐ ปีบ้าง ยังพอมีอยู่ แต่สัตว์ผู้จะกล่าวอ้างว่าตน เองไม่มีโรคทางใจตลอดระยะเวลาแม้ครู่เดียวหาได้ยาก ยกเว้นแต่ท่านผู้หมดกิเลสแล้ว"

(องฺ.จตุกฺก.ไทย) ๒๑/๑๕๗/๒๑๗.)

 

"...เธอถามอย่างนี้ว่าโลกอันอะไรหนอนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลลุอำนาจของอะไร ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว"

(องฺจตุกฺก(ไทย) ๒๑/๑๘๖/๒๖๖-๒๖๗.)

 

"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จ แล้วด้วยใจ หากบุคคลใด มีใจชั่ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป ประหนึ่งล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโค"

(ขุ.ธ.(ไทย) ๒๕/๑/๒๓-๒๔.)

 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ได้ฝึกแล้ว ได้คุ้มครองได้สำรวมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เหมือนจิตนี้... จิตที่ได้ฝึก ได้คุ้มครอง ได้รักษา ได้สำรวมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์มาก"

(องฺเอกก.(ไทย) ๒๐/๔๐/๗.)

 

ในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๐ มีว่า

 

"เมื่อมีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้พระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์" "โจรกับโจร หรือไพรีกับไพรี พึงทำความพินาศให้แก่กัน ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เสียหายยิ่งกว่านั้น" "ผู้ใดจักสำรวมจิตที่ไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำ(คือกาย) ผู้นั้นจักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้"

 

ในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่ม ๒๗ ข้อ ๕๙ มีว่า

 

"จิตที่เกื้อกูล ที่อบรมบริบูรณ์ดีแล้ว เป็นจิตหาประมาณมิได้ กรรมใดที่ทำแล้วพอประมาณ กรรมนั้นจักไม่เหลือในจิตนั้น"

สรุปความสำคัญของจิตและการพัฒนาจิต พระศาสดาสอนอย่างไร

 

(๑) สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำชั่ว (บาป) ด้วยประการทั้งปวง

(๒) กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำดี (กุศล) ทุกประการให้บริบูรณ์

(๓) สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจให้สว่างใส

 

การพัฒนาใจมนุษย์ช่วยแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงหรือ?

พระศาสดาได้กล่าวยืนยันไว้ที่ไหนและอย่างไร?

พระศาสดาทรงกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ แปลว่า สุขอื่นใดไม่เท่าความสงบแห่งใจ

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา สิ่งทั้งหลายมีใจปกครอง ใจย่อมเป็นใหญ่ งานใดๆ สำเร็จด้วยใจ

 

พระศาสดากล่าวถึงประโยชน์ของการพัฒนาใจไว้มาก ดังนี้

๑) จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกจิตเป็นการดี

๒) จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้

๓) จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต

๔) จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ จิตที่คุ้มครองดีแล้วนำสุขมาให้

๕) มนสา สํวโร สาธุ การสำรวมใจเป็นการดี

๖) มโนปโกปํ รกฺเขยฺย พึงรักษาความกำเริบทางใจ

๗) มนสา สํวุโต สิยา พึงเป็นผู้ระวังทางใจ

๘) มโนทุจฺจริตํ หุตวา พึงละมโนทุจริต

๙) มนสา สุจริตํ จเร พึงประพฤติสุจริตทางใจ

๑๐) จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคคติ ปาฏิกงขา เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้

๑๑) จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้

๑๒) เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ผู้สำรวมจิตจึงพ้นบ่วงมาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท