เรื่องดีวันละเรื่อง : ชมรมแพทย์ชนบท


ชมรมแพทย์ชนบทเป็นการรวมตัวของคนในวิชาชีพ   การรวมตัวแบบนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ด้าน   คือด้านหนึ่งเพื่อความเข้มแข็งของวิชาชีพ    ให้คนในวิชาชีพได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน   อีกด้านหนึ่ง เพื่อรวมตัวกันทำประโยชน์สาธารณะ   องค์กรวิชาชีพบางวิชาชีพเน้นวัตถุประสงค์ด้านแรกเสียจนละเลยข้อหลัง    กลายเป็นการรวมกลุ่มเรียกร้อง หรือต่อรองผลประโยชน์เป็นหลัก   หากเกิดสภาพเช่นนี้ วิชาชีพนั้นก็จะเสื่อมความนับถือจากสังคม 

 

ชมรมแพทย์ชนบททำหน้าที่ทั้ง ๒ ด้าน   โดยเน้นผลดีต่อสังคมวงกว้างเป็นหลัก    ไม่ใช่มุ่งผลประโยชน์ของกลุ่มหรือวิชาชีพเป็นหลัก    นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่จรรโลงคุณธรรมจริยธรรมในสังคมวงกว้าง    ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต  และความเหลื่อมล้ำในสังคม    จนเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญโดยทั่วไป    

 

เมื่อวานนี้ (๒ ธ.ค. ๕๑) ผมได้รับแจกหนังสือ ผลการดำเนินงานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ ๒๒  ปี ๒๕๕๑  มี นพ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ  นพ. อารักษ์ วงศ์วรชาติ  และ นพ. พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เป็นบรรณาธิการ   มีความหนาถึง ๗๙๔ หน้า    ผลงานที่สำคัญเช่น การแสดงจุดยืนสนับสนุนการ ซีแอล ยา และยื่นถอดถอน รมต. นายไชยา สะสมทรัพย์   การเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนเพื่อหาทางออกทางการเมือง    การแก้ปัญหาฟ้องร้องแพทย์   การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท   การรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ   การสร้างเจตนคติที่ดีต่อการทำงานในชนบทแก่นักศึกษาแพทย์ เป็นต้น  

 

ผมได้มีโอกาสประชุมกับแพทย์ชนบทอาวุโส ๑๐ คน ในวันนั้น   และเห็นชัดเจนว่า สังคมไทยมี เพชร หรือ สินทรัพย์ อยู่ในรูปของคนที่มีอุดมการณ์ ทำงานเพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมชาติ ในพื้นที่ห่างไกล    เป็นคนที่มีจริตและทักษะที่จะทุ่มเทอุทิศตนให้แก่งาน    ไม่เน้นการแสวงหาผลประโยชน์และลาภยศใส่ตัวเป็นที่หนึ่ง    ทำให้เขาอยู่ทำงานติดพื้นที่ สั่งสมประสบการณ์มหาศาล ทั้งเชิงวิชาชีพ และเชิงระบบ   เรากำลังช่วยกันใช้เครื่องมือ KM เพื่อ “ขุดแร่ และ ถลุงแร่ ซึ่งก็คือความรู้ปฏิบัติ ที่ลึกถึงระดับคุณค่า ระดับจิตใจ จากคนเหล่านี้

 

ชมรมแพทย์ชนบท ทำหน้าที่ให้แก่สังคมในฐานะกลไกการรวมตัวกันในแนวราบ หรือเป็นเครือข่าย   ช่วยเสริมส่วนที่กลไกแนวดิ่งแบบราชการไม่สามารถบรรลุได้    และในสภาพที่สังคมส่วนอำนาจอ่อนล้าหมดพลังจากความฉ้อฉลของคนที่เข้ามาถืออำนาจรัฐ    องค์กรสังคมแบบชมรมแพทย์ชนบทได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นกลไกที่ช่วยค้ำจุนสังคมได้ อย่าง ดียิ่ง    น่าจะเกิดกลไกแบบนี้ในวิชาชีพอื่นๆ บ้าง

 

ชมรมแพทย์ชนบท ถึงกับเสนอ การเมืองใหม่ ที่เป็นการเมืองภาคประชาชน   ที่คนที่เป็นข้าราชการก็เป็นประชาชน   จึงมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นควบคุมหรือต่อต้านรัฐบาลได้ หากเป็นรัฐบาลที่ฉ้อฉลหลอกลวง

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๕๑

 

รูปปกหนังสือชมรมแพทย์ชนบท  

 

หมายเลขบันทึก: 228706เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับผมชื่นชมแพทย์ชนบทมานานแล้วครับ

นางสาวภัทรนันท์ แก้วรัมย์

จากบทความเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความสนใจและเห็นว่าการที่เกิดแนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ดีมากสามารถค้นหาคนที่มีความรู้ที่สามารถเหมาะกับงานอย่างแท้จริงแล้ว ยังสามารถเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดแก่คนที่เก่งเหล่านี้ให้เขาพึงตระหนักว่าการที่เค้ามีความรู้นั้นไม่เพียงพอสำหรับสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่นอย่างในปัจจุบัน ต้องนำหลักธรรมมาประกอบทำให้งานที่เค้าทำนั้นประสบคสวามสำเร็จอย่างมีควรมรับผอดชอบต่อสังคม และผลดีที่ตามมานั้นย่อมเกิดแก้องกรค์ของเค้าเอง ยังผลมายังสังคมที่ต้องการความรู้นี้ การใช้คำว่า"ขุดแร่ และ ถลุงแร่"นั้น เป็นการสรรคำที่ข้าพเจ้าชอบมาก เพราะเป็นการเน้นว่าการที่สามารถหาคนที่เก่งแล้วดีสักคน เปรียบเหมือนการต้องขุดแร่ที่แข็ง ยาก เป็นจำนวนมาก แล้วนำมาถลุงเพื่อให้ได้แร่ที่มีประโยชน์เหมาะกับงานที่จะนำไปแปลรูป เหมือนคนที่มีอย่มากมายหากเราคัดเอาแต่คนที่มีความสามารถแล้ว งานที่ได้ย่อมเป็นงานที่มีคุณภาพ เปรียบเสมือนแร่ที่มีคุณภาพดี ใครๆ ก็ต้องการทั้งนั้น

 

-สวัสดีค่ะ

-การได้อ่านบทความของท่านอ.ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิด

-จริงนะคะ ข้าราชการควรได้รับการยอมรับให้มีสิทธิ์และเสียงเช่น ประชาชนคนหนึ่ง หากความคิดนี้ได้รับการปฏิบัติให้ปฏิบัติได้ สังคมครูมีแนวโน้มของการก้าวหน้า เกิดครูภาคประชาชน

-กระบวนการ ขุดแร่ และถลุงแร่ ในสังคมครูคงมีชีวิตใหม่ขึ้นมา

-สำหรับตัวเองมองว่าสังคมครูน่าจะได้มีการรวมตัวในแนวนอนมานานแล้ว  หากไม่ติดระบบและความคิด

-ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท