ศัพท์นี้อาจไม่คุ้นเคยนักสำหรับคนทั่วไป สำหรับผู้สนใจเรื่องนี้ อาจอ่านได้จากพระไตรปิฏกซึ่งประมวลไว้เฉพาะหมวดหนึ่งเรียกว่า อนมตัคคสังยุตต์ ( คลิกที่นี้ มี ๒๐ พระสูตร ) ในที่นี้ จะขยายความเฉพาะศัพท์เท่านั้น
อนมตัคคะ แปลตามตัวว่า มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว โดยเป็นศัพท์คุณนามขยายคำนาม เท่าที่เคยเจอ มักจะใช้ขยายคำว่า สงสาร กาล และ ธรรม ซึ่งเมื่อถือเอาตามนี้ ก็อาจผูกศัพท์ได้ว่า
- อนมตัคคสงสาร = สงสารมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว
- อนมตัคคกาล = กาลมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว
- อนมตัคคธรรม = ธรรมมีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว
เมื่อแรกหัดแปลบาลีนั้น นักเรียนมักจะท่องศัพท์นี้ เจอครั้งหนึ่งก็ท่องครั้งหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับผู้ที่ผ่านการเรียนบาลีจนกระทั้งเป็นมหาเปรียญนั้น จะท่องคำแปลศัพท์นี้ได้ทุกคน... แต่มิใช่ว่าจะเข้าใจและอธิบายศัพท์นี้ได้ทุกคน...
- อนุ + อมตะ + อัคคะ = อนมตัคคะ
- อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม (เป็นอุปสัค)
- อมตะ = ไม่รู้แล้ว (เป็นกิริยากิตก์)
- อัคคะ = เบื้องต้นและที่สุด (เป็นคำสมาส)
โดยคำนี้ มีอรรถวิเคราะห์เป็นลำดับดังนี้
- ปุพฺโพ เจว อคฺโค จาติ อคฺคํ
- เบื้องต้นด้วยนั่นเทียว ที่สุดด้วย ดังนั้น ชื่อว่า อัคคะ (เบื้องต้นและที่สุด)
คำว่า อัคคะ นี้ เรียกกันว่า เอกเสสสมาส บุพพโลปะ คือ คำสมาสที่เหลือบทสรุปเพียงบทเดียว โดยลบบทข้างหน้า (ปุพพะ - เบื้องต้น) ออกไป คงเหลือแต่ที่เป็นบทข้างหลัง (อัคคะ - ที่สุด) แต่เมื่อแปลก็ให้แปลเต็ม คือแปลว่า เบื้องต้นและที่สุด
- อนุคจฺฉนฺเตน (ปุคฺคเลน) อมตํ อคฺคนฺติ อนมตคฺคํ
- เบื้องต้นและที่สุด (อันบุคล) ไปตามอยู่ รู้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น ชื่อว่า อนมตัคคะ (เบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว)
คำว่า อนุคจฺฉนฺเตน ซึ่งแปลว่า ไปตามอยู่ นั้น จะนำมาแต่เพียงอุปสัคคือ อนุ เท่านั้น แล้วก็นำมาทำการสนธิตามหลักไวยากรณ์จะได้ว่า อนุ + อมตะ = อนมตะ และ อนมตะ + อัคคะ = อนมตัคคะ ตามลำดับ...
อนมตัคคะ (เบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว) ยังเป็นคำนาม เมื่อต้องการทำให้เป็นคุณนามตัวใดก็ต้องนำไปวิเคราะห์อีกครั้ง เช่น
- อนมตคฺคํ ตสฺส อตฺถีติ อนมตคฺโค (สํสาโร)
- เบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว แห่งสงสารนั้น มีอยู่ ดังนั้น สงสารนั้น ชื่อว่า อนมตัคคะ (มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว)
- อนมตคฺคํ ตสฺส อตฺถีติ อนมตคฺโค (กาโล)
- เบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว แห่งกาลนั้น มีอยู่ ดังนั้น กาลนั้น ชื่อว่า อนมตัคคะ (มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว)
- อนมตคฺคํ ตสฺส อตฺถีติ อนมตคฺโค (ธมฺโม)
- เบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว แห่งธรรมนั้น มีอยู่ ดังนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า อนมตัคคะ (มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว)
วิเคราะห์ตามนัยนี้ เป็นตัทธิต ชนิดตทัตสัตถิตัทธิต ใช้สำหรับทำคำนามให้เป็นคุณนาม เพื่อนำไปใช้ขยายคำนามตามความต้องการ...
ความเห็นส่วนตัว ศัพท์ว่า อนมตัคคะ นี้ บ่งชี้ถึงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา... และให้สละการค้นหาสาเหตุในอดีตเพราะไม่อาจค้นไปถึงต้นตอคือเบื้องต้นได้ และไม่ควรคาดคะเนไปถึงอนาคตเพราะไม่อาจค้นไปถึงจุดหมายคือที่สุดได้... โดยควรจะพิจารณาปัจจุบัน กล่าวคือ ขณะนี้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของเรา) ที่กำลัง เกิดดับ เกิดดับ อยู่ทุกขณะ... ประมาณนั้น
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย BM.chaiwut ใน เล่าเรื่องภาษาบาลี
สวัสดี พระมหาชัยวุธ
ผมเองก็ยังไม่เคยเจอศัพท์นี้
ครับ