เปิดฉาก “ของเล่นพื้นบ้าน นิทานพอเพียง”


ในปัจจุบัน สื่อพื้นบ้านที่มีนัยยะของเศรษฐกิจพอเพียงเหล่านี้ ก็ถูกสื่อสมัยใหม่เบียดบังไปจากชีวิตประจำวันของเด็กและชุมชนอย่างรวดเร็ว แม้จะมีองค์การบริหารส่วนตำบลมาช่วยฟื้นฟูในบางอย่าง แต่ก็มักจะทำเพื่อเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว ขาดการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ไม่มีกระบวนการที่สามารถผลักดันไปสู่ชีวิตประจำวันของเด็กๆและชุมชนได้

ขึ้นชื่อว่าของเล่นกับนิทาน ก็เหมือนอาหารแห่งการเรียนรู้ของเด็ก เป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการแบบองค์รวม (ร่างกาย จิตใจ  สังคม สติปัญญา) เอามากๆเสียด้วย

 

“อาหารแห่งการเรียนรู้” อย่างนี้มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่มนุษย์ก็ช่างคิดค้นซะเหลือเกิน ปัจจุบันเราจึงพบเห็นสินค้ามากมาย สีสันบาดตาในราคาบาดใจ จนหนูน้อยทนไม่ไหว ไปห้างทีไรก็เป็นต้องรบเร้าบีบน้ำตาให้พ่อแม่ใจอ่อนซื้อให้อยู่ร่ำไป

 

“ของเล่น” และสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ ได้กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายราคาสูงขึ้นของผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะบรรดาพี่น้องชนเผ่าบนดอย สินค้าเหล่านี้เป็นเครื่องหมายของความทันสมัย ความเป็นสังคมเมือง ไม่ได้สื่อถึงความดีงาม สัมพันธภาพที่ละเอียดอ่อนระหว่างผู้คน อย่างเช่น ปู่ย่าตายาย กับพ่อแม่ ลูกหลาน อันเป็นเงื่อนไขของการเล่นที่เด็กควรจะได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าเหล่านี้ เมื่อแตกสลาย ใช้งานไม่ได้ก็กลายเป็นขยะพลาสติก เป็นขยะอิเลคทรอนิคส์บ้าง กลับมาทำร้ายเด็กและชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นของทุกคนบนโลกนี้

 

ทางแก้ไขจึงต้องคิดขึ้นมาให้ทันต่อสภาพการณ์  หนึ่งในการแก้ไขที่น่าจะนำไปสู่ความยั่งยืน คือการดึงเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนมาร่วมเรียนรู้เท่าทัน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม

 

ย้อนไปเมื่อกลางปี 2551  ผมมองดูรูปในหลวงข้างฝา ก็เลยนึกถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของท่าน เลยเกิดอาการ “ปิ๊งแว้บ” คิดถึงทางเลือกในการพัฒนา คือการสรรค์สร้างของเล่นและนิทานทางเลือก ที่สอดคล้องกับปรัชญาของพระองค์ท่าน

 

ผมย้อนกลับไปดูการศึกษาเบื้องต้นของ สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) ในโครงการหนังสือนิทานชาติพันธุ์ ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สิทธิเด็กปางมะผ้า ซึงสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็พบว่า มีนิทาน การละเล่น และของเล่นพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสาระ และกระบวนการที่นำไปสู่การเรียนรู้เรื่องการกินอยู่อย่างพอเพียงมานานแล้ว เช่น การเล่นสะบ้า (หมากนิม) ของชาวไทใหญ่ , การเล่นลูกข่างของชาวลาหู่ ,  การละเล่น “โอชู” ของชาวลีซู             รวมถึงนิทานสอนใจอีกมากมาย เช่น นิทานลาหู่เรื่อง “พระกับเศรษฐี” นิทานลัวะ เรื่อง “เศรษฐียาจก” อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังสามารถหาต้นทุนสังคม และวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผลิตซ้ำได้มากมาย แต่ในปัจจุบัน สื่อพื้นบ้านที่มีนัยยะของเศรษฐกิจพอเพียงเหล่านี้ ก็ถูกสื่อสมัยใหม่เบียดบังไปจากชีวิตประจำวันของเด็กและชุมชนอย่างรวดเร็ว แม้จะมีองค์การบริหารส่วนตำบลมาช่วยฟื้นฟูในบางอย่าง แต่ก็มักจะทำเพื่อเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว ขาดการมีส่วนร่วมของเด็กๆ ไม่มีกระบวนการที่สามารถผลักดันไปสู่ชีวิตประจำวันของเด็กๆและชุมชนได้

 

เมื่อได้ไปหารือกับ ดร. อำไพ  หรคุณารักษ์ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) ท่านก็ใจดี มาร่วม “ปิ๊งแว้บ” ด้วยกัน ได้กรุณาให้คำปรึกษา จน สยชช. สามารถพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา

 

v   เปิดฉากโครงการของเล่นพื้นบ้าน  นิทานพอเพียง

เราเริ่มโครงการเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการขายไอเดียนี้แก่เด็กๆที่เป็นแกนนำเยาวชนที่ สยชช. มีเครือข่ายอยู่ตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมกลุ่ม ได้แก่  ไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ ลัวะ ปะโอ และกะเหรี่ยง รวม 30 คน ตอนนี้ได้รายชื่อเกือบจะครบแล้ว แต่กว่าจะได้รายชื่อมา ก็ต้องมีการประชุมเตรียมงาน-สรุปงาน และกลั่นกรองกันก่อนทุกกลุ่มชาติพันธุ์จนครบ ซึ่งผมคิดว่า กระบวนการประชุมเตรียมงาน-สรุปงาน เพื่อการกลั่นกรองเด็กนี่เป็นขั้นตอนสำคัญ เป็นขั้นตอนเด่นในการทำงานระยะสองเดือนนี้ (ต.ค.-พ.ย. 51)

 

v   กระบวนการกลั่นกรอง :  “ต้องสี่ตระแกรงเป็นอย่างต่ำ”

หลังจากที่ สยชช. เราได้รับการอนุมัติโครงการ เด็กๆแกนนำก็ดีใจมาก และกระตือรือล้นที่จะลงพื้นที่ แต่การลงประสานงานในพื้นที่เพื่อกลั่นกรองหาเด็กที่สนใจและเหมาะสมกับโครงการจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย บทเรียนกว่าสามปีที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่าการคัดเลือกผู้ร่วมงานเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความรอบคอบเพราะส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น เพื่อจัดการกับความเสี่ยง เราต้องหาข้อมูลสี่ทาง หรือเราเรียกว่าเป็นสี่ตระแกรง เพื่อให้ได้เด็กที่เหมาะสมกับงานครับ

 

ตระแกรงแรกเป็นการกลั่นกรองโดยกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เคยเข้ามาร่วมงานกับ สยชช. ว่ามีใครในหมู่พวกเขาหรือเพื่อนๆของเขาที่น่าจะเหมาะสมกับโครงการ อยากเข้าร่วมโครงการบ้าง แล้วกรอกใบสมัครเข้ามา

 

จากนั้นมาสู่ตระแกรงที่สอง เป็นการกลั่นกรองโดยคณะทำงานที่เป็นเด็กและเยาวชนจาก สยชช. เด็กเหล่านี้จะผ่านกิจกรรมโครงการต่างๆมาแล้วระดับหนึ่ง จะพอมองออกว่าในหมู่เด็กๆด้วยกันตามรายชื่อที่ส่งมานั้น มีใครจะมีแววสนใจงานทางนี้บ้าง

 

ต่อมา นำไปสู่ตระแกรงที่สาม คือไปร่อนในชุมชน “ร่อน” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไปเร่ร่อน หรือ ร่อนไปร่อนมาไม่มีทิศทางนะครับ ไปร่อน คือไปให้ชุมชนหรือโรงเรียนช่วยดูว่ารายชื่อที่เรามี list อยู่นี่เหมาะสมไหม

 

สุดท้ายเลย ตระแกรงที่สี่ ก็จะที่ประธาน สยชช. ตรวจทานขั้นสุดท้าย ส่วนใหญ่ทุกรายชื่อจะผ่านหมดครับ อาจจะมีการเรียกแกนนำมาซักถามถึงประวัติเด็กที่ส่งใบสมัครเข้ามาบ้าง  แล้วก็อนุมัติ

 

พูดง่ายๆคือ เราทำงานแบบกลับหัวกลับหางนะครับ คือปกติประเพณีนิยมของงานพัฒนาเขาจะหารือกันจากระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ผู้ปกครอง ลงมาหาตัวเด็ก แต่นี่เราทำจากฐานรากก่อน คือจากเด็กก่อนแล้วไปขอให้ผู้ใหญ่ร่วมกลั่นกรองพิจารณา แรกๆก็หวั่นๆอยู่ว่าสังคมเขาจะมองเราอย่างไร มองว่าเราทำ “ข้ามหัวผู้ใหญ่” “ข้ามหน้าข้ามตา” หรือเปล่า แต่เอาเข้าจริง เราคิดว่า เราจำเป็นต้องทำ ถ้าคนไม่เข้าใจเราก็ชี้แจงด้วยมธุรสวาจาไป พยายามให้หลายๆภาคส่วนเข้ามารับรู้ วันนี้เข้าใจก็ดี ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เราก็ทำงานไปเรื่อยๆ คิดว่าผลงานจะปรากฏให้เขามองเห็นเอง

 

ถ้าทุกคนเอาแต่สร้างบ้านโดยมุงหลังคามาก่อนแล้วทำจากยอดลงมาเรื่อยๆแล้วค่อยก่ออิฐ ก็คงจะอันตราย ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่กล้าจะเข้าไปอยู่บ้านหลังนั้น  เราคิดว่า จะสร้างบ้านได้ ก็ควรต้องก่ออิฐก่อนจึงจะมั่นคง และแน่นอน ฝีมือจะดีได้ ก็ต้องใช้หลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยนั้น ก็คือ “การมีส่วนร่วม” ซึ่งหากมีเวลา ผมจะเขียนมาลงในลำดับต่อๆไป

 

ฉบับนี้ เอารูปการทำงานของเด็กๆ ทีมงานมาลงให้ดูกันก่อนนะครับ

 

 

รูปหมู่บ้านแม่ละนา ชุมชนไทใหญ่หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ

รูปหมู่บ้านห้วยแห้ง ชุมชนลาหู่ที่เป็นภาคีกับ สยชช. เสมอมา

เมืองแพม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เราดั้นด้นไป

                                                       ก่อนลงพื้นที่ทุกครั้ง ต้องวางแผนเตรียมงาน

เมื่อแกนนำเยาวชนต้องลงสนามจริง ที่หมู่บ้านแม่ละนา (ประชาสัมพันธ์รับสมัครเด็กเข้าร่วมโครงการ)

บรรยากาศการประชุมเด็กไทใหญ่ที่บ้านแม่ละนาอีกครั้ง (สบายๆแต่ได้สาระดีๆ)

การแสวงหาแนวร่วมเด็กๆลาหู่ บ้านผาเจริญ

เพื่อความก้าวหน้า เราต้องประชุมติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ



ความเห็น (7)

มาอ่านสื่อดีๆที่ทีคุณค่าใกล้ตัวค่ะ

มีความสุขในการทำงาน  นะคะ

แวะมาทักทาย

ขอบคุณค่ะ

คุณครูสายธารนี่ตื่นแต่เช้าเลยนะครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ที่นำรอยยิ้มมารับรุ่งอรุณนะครับ

พี่ มีนิทานพอเพียง  หนังสือสำหรับเด็ก ที่พอเพียงเป็นนางเอก ค่ะ น้องออมสินสบายดีนะคะ

สวัสดีครับ ครูใหม่บ้านน้ำจุน

สยชช. เพิ่งเสร็จสิ้นการรวบรวมนิทานชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ ไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ กะเหรี่ยง ลัวะ และปะโอ ไปสามเดือนก่อน เราส่งมอบให้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปยี่สิบห้าเรื่องครับ

ทาง มช. กำลังเอาไปทำเป็นพ็อคเก็ตบุคส์อยู่ ถ้าเสร็จแล้วเขาก็คงส่งมาที่ผม แล้วผมจะฝากหนังสือไปให้น้องพอเพียงนะครับ

ออมสินสองขวบหนึ่งเดือนกำลังซนครับ แต่ไม่ค่อยดื้อ ไม่ก้าวร้าว อันนี้ดี แต่จะมีที่ติดคุณแม่กับคุณพ่อมาก ทำให้ฝากใครไว้นานๆไม่ได้เพราะแกจะงอแงมาก แต่ชอบอ่าน (ดู) ภาพนิทานนะครับ

ถ้าเป็นไปได้ อยากจะขอนิทานพอเพียงมาชมเป็นขวัญตาสักเล่ม ไม่อยากดาว์นโหลดครับ เพราะลูกอ่านด้วยไม่ได้ จะได้ไหมครับ

ดีจังนะครับที่ให้ความสำคัญกับเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ

สวัสดีครับคุณกุ๊ยฉ้าย

  • เรื่องเด็กเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนก็ทำได้ อย่างน้อยก็กับลูกหลานของเรา
  • หรือไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานของเรา เราก็ให้ความเมตตากรุณาได้ครับ
  • ดีใจที่มีคนแวะมาโพสต์เยี่ยมและเป็นกำลังใจให้คุณกุ๊ยฉ้ายทำดีต่อไปนะครับ
  • ขอส่งรูปรอยยิ้มจากลูกชายผม แทนคำขอบคุณนะครับ

 

ทำงานกันหนักจัง เพื่อสื่อดีๆ สำหรับเด็ก และยังได้อนุรักษ์ของดั้งเดิม ขอชื่นชมด้วยหัวใจนะคะ หวังว่าพี่ยอดจะไม่ลืมเอานิทานชนเผ่ามาให้นกเล่าให้เด็กๆ ที่กรุงเทพฯ ฟังนะคะ เห็นรอยยิ้มของน้องออมสินแล้วหัวใจชุ่มฉ่ำจังเลย ขอบคุณเรื่องราวดีๆ และรอยยิ้มพิมพ์ใจของเด็กน้อยน่ารักคนนี้ วันนี้นกคงมีความสุขในการทำงานทั้งวัน...

 

นกเอารูปทะเลมาฝากค่ะ จะได้สดชื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท