ภาษาพม่าสบายๆ สไตล์เรา (ตอน 9 - ทมินส่าแด หิวข้าวแล้ว)


 

...

ภาพที่ 1: ร้านอาหารสบายๆ ข้างทางที่พะโค (หงสาวดี) พม่า (มิถุนายน 2548)

...

ภาพที่ 2: อาหารเช้าที่วัดมหาสันติสุข (ออกเสียงว่า "มะฮา ตันติตุ๊กขะ") ย่างกุ้ง พม่า (มิถุนายน 2548)

  • อาหารที่เป็นเส้นๆ คล้ายเส้นหมี่ออกเสียง "เค้า-ซ(.)แว" เสียงคล้ายๆ "ข้าวซอย" ทางเหนือ

...

  • อาหารในภาพมีการบีบมะนาวลงไปด้วย ชาวพม่าเรียกอะไร ผู้เขียนจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่จบด้วยคำว่า "ต๊ก" แปลว่า "ยำ"
  • อาหารพม่าดั้งเดิมจะเป็นพวกปิ้ง ย่าง ต้ม หรืออาหารสุกเกือบทั้งหมด นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชากรพม่าในอดีตมีมาก (เมื่อเทียบกับไทย) และไม่ปรากฏหลักฐานการระบาดของอหิวาตกโรคในพม่าบ่อยแบบประวัติศาสตร์ไทย (เมื่อระบาดจะทำให้ประชากรลดฮวบเลย)

...

  • ผลไม้ที่ชาวพม่ากินบ่อยมากๆ คือ "กล้วย" เรียกว่า "หงะปยอตี (หงะปยอ = กล้วย + ตี = ผลไม้)"
  • ปาท่องโก๋พม่ายาวมาก (ประมาณเกือบศอกกำ) เรียกว่า "อิ่วจากวย"

...

  • ธรรมเนียมในการกินอาหารแบบพม่านั้น... นิยมกินซุปเปรี้ยวหรือน้ำชาแทนน้ำ ถ้าดื่มน้ำถือว่า อิ่มแล้ว เนื่องจากคนพม่าไม่นิยมกิน "ข้าวคำน้ำคำ"
  • อาหารเช้าของชาวพม่าเกือบทั้งประเทศไม่ได้หรูเลิศแบบนี้... ทางวัดจัดไว้ต้อนรับแขกพิเศษ เนื่องจากคณะของพวกเราติดตามท่านธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) ไป

...

ภาพที่ 3: รายการอาหารสำหรับพระภิกษุ สามเณร โยคี (ผู้ไปปฏิบัติธรรมที่วัด) และกัปปิยะ (คนทำงานวัด) วัดพะเอ้าตอย่า (วัดป่ากบเหนือ) เมาะละแหม่ง พม่า (กรกฎาค 2551)

  • วัดนี้มีพระ แม่ชี และโยคี (ผู้ปฏิบัติธรรม) จากไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมักจะกินอาหารแบบมังสวิรัติ มีคนต่างชาติจากหลายประเทศ จึงจัดอาหารแบบมังสวิรัติไว้เป็นกลางๆ เพื่อให้ทุกคนกินเหมือนๆ กันหมด

...

  • โปรดสังเกตรายการอาหารจะมีวิตามิน B เสริมให้เป็นบางวัน (แล้วแต่ผู้บริจาค) เพื่อป้องกันการขาดวิตามิน B12 บางวันจะมีอาหารเสริมคือ "งาปิ๊" เป็นกะปิพม่า ทำจากปลาหมักให้เลือกด้วย
  • ดูรายการอาหารแล้วเท่ น่าทาน เพราะฉะนั้นผู้เขียนจะนำภาพของจริงมาให้ชมกันต่อ

...

ภาพที่ 4: อาหารเช้า วัดพะเอ้าตอย่า (วัดป่ากบเหนือ) เมาะละแหม่ง พม่า (กรกฎาคม 2551)

  • ผู้เขียนมีประสบการณ์ติดตามคณะที่ไปส่งท่านพระอาจารย์อมรไปเรียนต่อ และปฏิบัติธรรมที่วัดพะเอ้าตอย่า เวลาจะไปพักต้องไปลงทะเบียนหมายเลขพาสส์ปอร์ต วีซ่าที่ "ออฟฟิซ" ซึ่งมีพระอาจารย์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ (พระพม่าและพระพม่าเชื้อสายมอญส่วนใหญ่จะพูดได้ 2 ภาษาคือ พม่ากับบาลี ส่วนน้อยจะพูดได้ 3 ภาษาคือ พม่า บาลี และอังกฤษ)

...

  • โยคี (ผู้ปฏิบัติธรรม) ที่นั่นควรเตรียมชาม ถ้วยน้ำ และถาดไปด้วย ผู้เขียนขอยืมภาชนะจากทางวัด ซึ่งมีเหลืออยู่พอดี
  • อาหารจะเทรวมกันลงไปในชามดังภาพ (ถ้าเป็นพระจะเทลงในบาตร) วันนี้อาหารดีมากคือ มีชาใส่นม ("ละ-พเย") ปอเปี๊ยะ ขนม วิตามิน B เกลือ...

...

ภาพที่ 4: อาหารเที่ยง วัดพะเอ้าตอย่า (วัดป่ากบเหนือ) เมาะละแหม่ง พม่า (กรกฎาคม 2551)

  • ผู้เขียนลืมไปว่า วันสุดท้ายควรจะถ่ายภาพอาหารเก็บไว้ก่อน ทว่า... หิวและกินเพลิน เกือบหมดแล้วถึงนึกได้ว่า น่าจะถ่ายภาพไว้หน่อย
  • พวกเราที่อ่านภาษาอังกฤษหรือพม่าได้... โปรดเทียบกับรายการบนกระดาน

...

ตอนที่แล้ว (ตอนที่ 8) เราคุยกันเรื่องวิธีบอกให้ได้ว่า "ขออนุญาตเข้าห้องน้ำ" เป็นภาษาพม่า ตอนนี้เราจะคุยกันเรื่องวิธีบอกให้ได้ว่า "หิวข้าวแล้ว" ให้ได้ เพื่อป้องกันอาการโมโหหิว

...

ทบทวนศัพท์ตอนที่ 8 > [ Click ]

  • ห้องน้ำ = เองตา
  • ไป = ตัว
  • ขออนุญาต = เคว่นพิ่วบ่า
  • พญา = ขอรับ (ใช้กับพระ)

...

ทบทวนสำนวนตอนที่ 8 > [ Click ]

สำนวนไทย สำนวนพม่า
 ขอเข้าห้องน้ำ เองตา ตัว เคว่นพิ่วบ่า 
 ขออนุญาตเข้าห้องน้ำ(พูดกับพระ) เองตา ตัว เคว่นพิ่วบ่า พญา

...

คำว่า "เองตา" นั้นมีที่มาจาก "เอง" ซึ่งแปลว่า "บ้าน" ส่วนคำว่า "ตา" เป็นคำต่อท้าย ทำให้บ้านหลังนี้น่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้น

สำนวนนี้คล้ายๆ กับภาษาไทยที่ใช้คำว่า "สุขา" แทนคำว่า "ส้วม"

...

ผู้เขียนมีประสบการณ์เดินทางไปงานบวชชาวมอญที่วัดกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งที่แม่สอด จังหวัดตาก ท่านพระอาจารย์ทาคุชาวญี่ปุ่นเดินทางไปด้วย

ขากลับท่านอยากเข้าห้องน้ำมาก พูดภาษาไทยสไตล์ญี่ปุ่นว่า "ซุคา ซุคา (หมายถึง "สุขา")" คนอื่นฟังไม่ค่อยเข้าใจ กว่าจะเข้าห้องน้ำได้ตั้งนาน

...

ตอนนี้ (ตอนที่ 9) เราจะมาคุยกันเรื่องวิธีบอกให้ได้ว่า "หิวข้าวแล้ว" ซึ่งจะขอเริ่มด้วยศัพท์ก่อน

  • ทมิน = ข้าว
  • ส่า = อยาก
  • แด = ปัจจุบัน ใช้ตอนจบท้ายประโยคบอกเล่าหรือคำถาม
  • ไบ้ = ท้อง

...

คนไทยเราพูด "หิวข้าวแล้ว" ภาษาพม่าจะพูดว่า "ข้าว + อยาก + ปัจจุบัน" ได้แก่ "ทมิน + ส่า + แด = ทมิน ส่า แด"

อีกสำนวนหนึ่งคือ ภาษาพม่าจะพูดว่า "ท้อง + อยาก + ปัจจุบัน" ได้แก่ "ไบ้ + ส่า + แด = ไบ้ ส่า แด" สำนวนเหล่านี้ถ้าพูดกับพระ... ให้จบด้วยคำว่า "พญา" เสมอ (คนพม่าเป็นโรคไม่ค่อยชอบคนที่พูดกับพระแล้วไม่จบด้วย "พญา")

...

สำนวนที่ควรจำได้แก่

สำนวนไทย สำนวนพม่า
หิวข้าวแล้ว ทมิน ส่า แด
หิวข้าวแล้ว ไบ้ ส่า แด
หิวข้าวแล้ว(พูดกับพระ) ทมิน ส่า แด พญา, ไบ้ ส่า แด พญา

 …

เคล็ดไม่ลับ         

  • ถ้าจำไม่ได้ และหิวขึ้นมาจริงๆ ให้ลองใช้ภาษาไบ้
  • ภาษาไบ้ที่แสดงว่า "หิวแล้ว" สำหรับใช้กับชาวพม่าคือ ชี้ที่ท้อง แล้วให้ทำมือเหมือนจะคดข้าว (ชาวพม่าส่วนใหญ่กินข้าวกับมือ) แล้วจ่อไว้ใกล้ๆ ปาก

...

ศัพท์ในตอนนี้                                           

  • ทมิน = ข้าว
  • ส่า = อยาก
  • แด = ปัจจุบัน ใช้ตอนจบท้ายประโยคบอกเล่าหรือคำถาม
  • ไบ้ = ท้อง

...

สำนวนในตอนนี้                                        

สำนวนไทย สำนวนพม่า
หิวข้าวแล้ว ทมิน ส่า แด
หิวข้าวแล้ว ไบ้ ส่า แด
หิวข้าวแล้ว(พูดกับพระ) ทมิน ส่า แด พญา, ไบ้ ส่า แด พญา

...

แบบฝึกหัด          

จงแปลภาษาไทยเป็นภาษาพม่า

  • ข้าว
  • อยาก
  • ปัจจุบัน
  • ท้อง
  • หิวข้าวแล้ว (ให้ตอบ 2 สำนวน)
  • หิวข้าวแล้ว (พูดกับพระ ให้ตอบ 2 สำนวน)

...

เฉลย                 

  • ข้าว = ทมิน
  • อยาก = ส่า
  • ปัจจุบัน = แด
  • ท้อง = ไบ้
  • หิวข้าวแล้ว (ให้ตอบ 2 สำนวน) = ทมิน ส่า แด, ไบ้ ส่า แด
  • หิวข้าวแล้ว (พูดกับพระ ให้ตอบ 2 สำนวน) = ทมิน ส่า แด พญา, ไบ้ ส่า แด พญา

...

เครื่องหมายกำกับเสียง

  • 'ญ' > ออกเสียงนาสิก หรือเสียงขึ้นจมูกแบบตัว "ญ" บาลี เสียง "ญ" ทางเหนือหรืออีสาน
  • '.' > จุดแสดงสระเสียงสั้นมากๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของสระอะภาษาไทย

ขอแนะนำ                                               

  • ขอแนะนำให้อ่านตอนต่อไป (ตอนที่ 10)
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร"
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "มอญศึกษา"
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำหนังสือ "เรียนรู้ภาษาพม่าด้วยตนเอง" พิมพ์ครั้งที่ 11. ราคา 55 บาท เขียนโดยท่านอาจารย์วินมิตร โยสาละวิน โทรศัพท์ 055-545.257 ตู้ ปณ.62 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 63110.

...

  • ขอแนะนำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการสื่อสารและธุรกิจ(ภาษาพม่า) ณ วิทยาลัยชุมชนระนอง ค่าเรียน 70 บาท โปรดติดต่อท่านอาจารย์สมเกีรยติ เอาจี่มิค โทรศัพท์ 077-823.326 หรือ 086-686.9766 อีเมล์ [email protected]

...

  • ขอแนะนำให้อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1
  • [ Click ]

...

ที่มา                                                                 

  • กราบขอบพระคุณ > ท่านพระอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) และท่านพระอาจารย์ชนกะ วัดท่ามะโอ ลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ นักเรียนภาษาพม่า > 29 พฤศจิกายน 2551.

...

  • สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก "บ้านสุขภาพ" และ "บ้านสาระ"
  • ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า

...

คำสำคัญ (Tags): #burmese#myanmar#ภาษาพม่า
หมายเลขบันทึก: 226266เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2008 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท