เมื่อแสงเจอกันเกิดอะไรขึ้น


เมื่อแสงมากกว่าสองลำมาเจอกันที่ตำแหน่งและเวลาหนึ่งก็สามารถรวมกันเป็นแสงที่มีความเข้มแสงมากขึ้น หรือ สามารถหักล้างกันจนทำให้ความเข้มแสงรวมมีค่าลดลงหรือเป็นศูนย์เลยก็ได้ การรวมกันหรือหักล้างกันของคลื่นแสงนี้ก็คือ "การแทรกสอดกันของแสง (Optical interference)" เราสามารถนึกภาพหรือทดลองง่ายๆ จากการรวมกันและหักล้างกันของคลื่นน้ำก็ได้

ทำไมเมื่อคลื่นสองคลื่นมาเจอกันถึงเกิดการรวมกันหรือหักล้างกันได้...ลองดูรูปข้างล่างนี้ดูก็จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าเมื่อจุดสูงสุด และ จุดต่ำสุดของคลื่นสองคลื่นมาเจอกันพอดีก็จะเกิดการแทรกสอดกันแบบเสริมกันอย่างสมบูรณ์ ในทางกลับกันถ้าจุดสูงสุดของคลื่นหนึ่งตรงกับจุดต่ำสุดของคลื่นอีกคลื่นหนึ่งก็จะเกิดการหักล้างกันแบบสมบูรณ์

 

 

อย่างไรก็ตาม การแทรกสอดกันไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อคลื่นมากกว่าสองคลื่นมาเจอกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้วย เงื่อนไขแรกคือแสงที่มาเจอกันนั้นจะต้องมีโพลาไรเซชั่น (ทิศทางการสั่นของความเข้มสนามไฟฟ้า...ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก gotoknow.org/blog/photonics/213432) เหมือนกันด้วย ถ้าคลื่นแสงทั้งสองมีทิศทางของโพลาไรเซชั่นตั้งฉากซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดการแทรกสอดกันของคลื่นขึ้น

เงื่อนไขที่สองคือ คลื่นแสงที่มารวมกันจะต้องมีความเป็นโคฮีเรนส์ (Coherence) เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ลองจินตนาการถึงลำแสงที่มีหน้าตัดเป็นวงกลมดู ซึ่งในพื้นที่หน้าตัดก็จะมีอนุภาคของแสง (Photons) สั่นไปมาอยู่ ถ้าอนุภาคของแสงสั่นไปมาด้วยจังหวะเดียวกันทั้งระนาบของพื้นที่ คลื่นแสงนั้นจะมีความเป็นโคฮีเรนส์เชิงตำแหน่ง (Spatial coherence) ที่ดี คล้ายๆ กับการเดินพาเหรดที่คนในแถวนั้นจะต้องเดินอย่างพร้อมเพียงกัน ความเป็นโคฮีเรนส์เชิงเวลา (Temporal coherence) ก็มีความสำคัญต่อการแทรกสอดด้วย ซึ่งอนุภาคของแสงในระนาบถัดไปเรื่อยๆ จะต้องมีระยะห่างจากอนุภาคของแสงในระนาบก่อนหน้าที่เท่ากันเสมอ ซึ่งคล้ายๆ กับระยะห่างระหว่างแถวในขบวนพาเหรด

 

 

ตัวอย่างการแทรกสอดกันของแสงในชีวิตประจำวันที่เห็นได้บ่อยก็คือ สีสวยๆ ที่ผิวของฟองสบู่ และ บนผิวน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ

 

[http://twilit.wordpress.com/2008/03/15/bubbles-and-interference/]

 

รู้แล้วเอาไปทำอะไร...

  • สร้างเป็นเกรตติ้งเพื่อให้แสงเลี้ยวเบน และ ทำเป็นผลิตภัณฑ์ฮอโลแกรมติดอยู่บนแสตมป์ บัตรเครดิต ธนบัตร รวมไปถึงใช้ทำเป็นห่อบรรจุภัณฑ์ สติกเกอร์สะท้อนแสงสีรุ้ง และ ปกรายงานใสสีรุ้ง (http://gotoknow.org/blog/photonics/217676)
  • ทำเป็นเครื่องมือวัดชิ้นส่วนที่มีขนาดนาโน-ไมโครเมตร อย่างหัวอ่านฮาร์ดดิสค์ไดร์ฟ ความโค้งและลักษณะพื้นผิวของเลนส์

 

[http://www.zygo.com/?/met/interferometers/pti250/]
  • ทำเป็นฟิล์มบางเคลือบบนอุปกรณ์แสงอย่างเลนส์เพื่อลดการสะท้อนของแสงลง ใครที่เคยไปร้านทำแว่นตา ลองนึกถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ในร้านถามถึงว่าเราต้องการจะเคลือบกันสะท้อนหรือไม่

  

[http://www.essilor.com/plugins/fckeditor/userfiles/image/Version_anglaise/C11_RetD/C11_image4-EN.jpg, http://www.starreloaders.com/edhall/nwongpics/nwg23med.jpg]

 

  • ทำเป็นแผ่นเก็บข้อมูลแบบฮอโลแกรมที่สามารถบรรจุข้อมูลได้ 300 GB ต่อแผ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบก่อนนำออกสู่ตลาด

 

[www.inphase-technologies.com]
หมายเลขบันทึก: 226209เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2008 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ได้ความรู้ใหม่ๆและขอร่วมเรียนรู้กับอาจารย์ ครับ
ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร

หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อคนในสังคมไม่มากก็น้อย มีอะไรแนะนำก็เขียนมาได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท