สิ่งที่ได้เรียนรู้... จากการฝึกจับประเด็น (๓)


ดังนั้นการฝึกจับประเด็นให้ครบ (เพราะคนส่วนใหญ่มักจับประเด็นเฉพาะในส่วนที่ตนเข้าใจ หรือ ประเด็นที่ตนเองสนใจ) ต้องใช้การคุยกันแลกเปลี่ยนประเด็นกันและช่วยกันตีความ เพราะการ คุย ลปรร. กันนี้นอกจากจะได้ประเด็นครบแล้ว ยังเกิดประเด็น ปิ๊ง แวบ หรือ ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ได้อีกด้วย

           ขอโทษนะค่ะที่ บันทึกการจับประเด็นวันที่ ๓ นี้ ห่างจากวันที่ ๒ นานเกือบ ๒ สัปดาห์ .... จนได้ข่าวจากบางท่านว่า  ถ้าดิฉันไม่เขียนการฝึกจับประเด็นของวันที่ ๓ จะถือว่าโดด workshop แล้วจะไปฟ้อง อ.ประพนธ์ ว่าเป็นเด็กหนีเรียน ... วันนี้เป็นวันดี ดิฉันก็เลยต้องหาทางเขียนสักหน่อย เพื่อยืนยันว่าดิฉันไม่ได้โดดร่ม (อิอิ)

           วันที่ ๓ : เรียนรู้แนวคิดของคนแต่ละช่วงอายุ  และฝึกจับประเด็นกลุ่ม

          วันนี้ค่อนข้างจะน่าเบื่อสักหน่อย ขนาดพี่อ้วน วิทยากรเองก็บอกว่าช่วงนี้น่าเบื่อนะ แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เราจับประเด็นจากผู้ส่งสารได้ง่ายขึ้น    โดยเป็นการบรรยาย ให้เรียนรู้ฐานคิดของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น ความคิดในยุคของยายเรา  พ่อแม่เรา  และตัวเราเอง จะมีฐานคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าเราเข้าใจฐานคิดของคนเหล่านี้แล้วจะทำให้เราจับประเด็นได้ไวขึ้น (แต่เป็นเพียงภาพรวมของคนแต่ละสมัยนะคะ  เพราะคนอายุเยอะๆ บางท่านก็มีแนวคิดสมัยใหม่หรือมีความคิดเป็นวัยรุ่นได้เหมือนกัน)    

            หลังจากเรียนรู้ฐานคิดและฝึกเทคนิคจับประเด็นทั้ง ๒ วันแล้ว  กิจกรรมสุดท้ายก็คือ การให้จับประเด็นกลุ่มสนทนาโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้คุยกันหัวข้ออะไรก็ได้ คุยไปเรื่อยๆ ประมาณ ๓๐ นาที  โดยให้กลุ่ม ๒ นั่งสังเกตการณ์อยู่วงนอกและให้จับประเด็น  เมื่อกลุ่ม ๒ จับประเด็นเสร็จก็สลับให้กลุ่ม ๑ จับประเด็น กลุ่ม ๒ สนทนา       

           และกิจกรรมท้ายสุดที่คาดไม่ถึงก็คือให้ผู้เข้าร่วมประเมินคอร์สอบรมทั้ง ๓ วัน  โดยให้จับประเด็นคอร์สอบรมทั้ง ๓ วันที่ผ่านมา  เขียนออกมาให้ครบประเด็น สั้น กระชับ คม . . .  ช่างเป็นการประเมินที่คาดไม่ถึง และเป็นวิธีประเมินที่ตรงประเด็นมากๆ  สมแล้วที่เป็นคอร์สฝึกจับประเด็น

           สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันที่ ๓

           - การรู้ฐานคิดของคน นอกจากจับประเด็นหลักได้ถูกต้องตามที่ผู้ส่งสารต้องการแล้ว  ยังเป็นการทำให้เราเข้าใจคนอื่นด้วย  เข้าใจว่าทำไมคนแก่ถึงเชื่อผีสางนางไม้  ทำไมพ่อแม่ถึงชอบฟังเพลงสุนทราภรณ์  เพราะยุคสมัยของเขากล่อมเกลาให้เขามีแนวคิดแบบนั้น (แต่ก็อย่างที่บอกนะค่ะว่า  ไม่ใช่ทุกคนที่มีแนวคิดตามยุคสมัยของตน)

           - ในวงสนทนา หรือ วงประชุม ส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งออกเป็น ๔ ช่วง คือ ช่วงที่ ๑  ค้นหาข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อหาประเด็นคุย  ช่วงที่ ๒ กรองข้อมูลและสร้างขอบเขตการคุยร่วมกัน   ช่วงที่ ๓ วิเคราะห์ฐานคิด  ถกเถียง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม   และช่วงที่ ๔  เป็นช่วงของการหาข้อสรุปของวง    ซึ่งจากการประชุมหลายครั้ง ดิฉันว่าส่วนใหญ่มักจะอยู่แค่ช่วงที่ ๑ - ๒  หรือ อาจถึง ๓  ซึ่งไปไม่ค่อยถึงช่วงที่ ๔ เท่าไหร่  เพราะเรามักจะมันกับการวิเคราะห์ หาเหตุผล ต่างๆ มากมาย แต่ไม่ค่อยมีใครสรุปหรือฟันธง (คนสรุปส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนทำสรุปรายงานประชุม)

           - จากการสังเกตในการจับประเด็นวงสนทนา  ดิฉันคิดว่าการจับประเด็นเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นของ "คุณอำนวย" ที่ต้องฝึกฝนเพื่อดึงประเด็นหลัก หรือ ประเด็นรอง  หรือ ประเด็นสำคัญ ออกมาจากการสนทนาให้ได้ จะทำให้การสนทนานั้นได้รับประโยชน์มาก 

           - การจับประเด็นเป็นเรื่องของการสื่อสาร... สื่อสารให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เพราะถ้าเข้าใจไม่ตรงกันหรือจับได้แต่ประเด็นย่อยๆ แต่ประเด็นใหญ่จับไม่ได้อาจคุยกันไม่รู้เรื่องก็ได้

           - ภูมิหลังหรือฐานคิดของแต่ละคนแตกต่างกัน  ดังนั้นการฝึกจับประเด็นให้ครบ (เพราะคนส่วนใหญ่มักจับประเด็นเฉพาะในส่วนที่ตนเข้าใจ หรือ ประเด็นที่ตนเองสนใจ) ต้องใช้การคุยกันแลกเปลี่ยนประเด็นกันและช่วยกันตีความ  เพราะการ คุย ลปรร. กันนี้นอกจากจะได้ประเด็นครบแล้ว ยังเกิดประเด็น ปิ๊ง แวบ หรือ ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ได้อีกด้วย

          ๓ วันของการฝึกจับประเด็นนี้ถึงแม้ พี่อ้วน จะบอกว่าการจับประเด็นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อเพราะมีการตัดสินว่าการจับประเด็นหลักนั้นผิดหรือถูก (ย้ำว่าประเด็นหลักไม่ใช่ประเด็นปิ๊ง แวบหรือประเด็นรองหรือประเด็นส่วนตัว)  ผู้จับประเด็นต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเห็น ใช้การตีความ  ซึ่งอาจทำให้เครียดได้  แต่ดิฉันกลับรู้สึกสนุกเพราะอยากค้นหาว่าสิ่งที่เขาพูดถึงหรือเขียนนั้นต้องการสื่ออะไร เหมือนแก้ปริศนา  แต่การจับประเด็นต้องอาศัยสติและสมาธิสูง จึงจะจับประเด็นได้ดี.... ซึ่งดิฉันคงต้องฝึกอีกมาก

uraiMan        

คำสำคัญ (Tags): #การจับประเด็น
หมายเลขบันทึก: 225440เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2008 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามอ่านครบทั้ง 3 ตอนค่ะ ได้เรียนรู้เพิ่มเยอะเลย ขอบคุณๆ มากค่ะ

เชื่อแล้วว่าไม่ได้ "โดดร่ม" แถมยังตั้งใจเรียนอีกต่างหาก :)

น่าสนใจดีค่ะ จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ขอบคุณที่ถ่ายทอดคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท