ข้าวสวย ตอน 5


"การนาบข้าวต้องทำตอนเช้ามืดมีน้ำค้างเกาะที่ต้นข้าว ต้นข้าวจะมีความชื้นมาก ต้นจะไม่หักง่าย ข้าวต้องแก่พอดีที่สามารถเกี่ยวได้"

ฝนหยุดตกแล้วลมหนาวก็มาน้ำในท้องนาเริ่มลดลงผมรู้สึกว่ากลางวันนั้นมันสั้นลงพอกลับจากโรงเรียนได้ไม่นานก็มืดแล้ว  ในตอนเช้าตอนทำนาตีห้าครึ่งก็สว่างแล้วในตอนนี้เกือบหกโมงครึ่งในตอนเช้าพระอาทิตย์พึ่งจะขึ้นพ่อเคยอธิบายว่าแสงแดดนั้นมีความสัมพันธ์กับการออกดอก และรวงข้าว ทั้งข้าวหนักและข้าวเบา ผมจำไม่ได้แล้ว ข้าวเริ่มออกดอกเป็นรวงเวลาเรามองเห็นเป็นรวงสีขาวๆ สักระยะหนึ่งก็เป็นสีเขียว และเป็นสีเหลืองในที่สุดตอนนี้แหละครับเวลามองออกไปที่ทุ่งนาก็จะเห็นเป็นสีทอง และทางบ้านผมมีชื่อ ทุ่งรวงทอง ผมคิดเอาว่าน่าจะมาจากเวลาที่เรามองไปทุ่งนาแล้วเห็นแต่สีทองทั้งทุ่ง ชื่อเพลงก็มีครับ ทุ่งรวงทอง ผู้ร้องน่าจะเป็น ชรินทร์ นันทนาคร

การเกี่ยวข้าวที่บ้านผมแต่ก่อนใช้แรงงานคนโดยสมาชิกของครอบครัวผมส่วนหนึ่ง จ้างอีกส่วนหนึ่ง และลงแขกอีกส่วนหนึ่ง แต่ก่อนจะเกี่ยวข้าวพ่อผมบอกว่า หากต้นข้างตั้งตรง หรือล้มไม่เป็นระเบียบก็จะเกี่ยวยาก ข้าวจะเสียหาย ร่วงหล่นมาก พ่อต้องใช้ไม้นาบข้าว ทำให้ข้าวเอียงล้มไปในทิศทางเดียวกันส่วนใหญ่แล้วพ่อจะนาบให้ล้มไปทางทิศตะวันตก โดยใช้ไม้นาบ (ผมพึ่งไปถามแม่ผมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา) ไม้นาบแม่บอกว่าจะใช้รากไทร หรือไม้ไผ่ ยาวมากกว่าสิบเมตรที่บ้านมีรากไทรอยู่หนึ่งอันแต่ตอนนี้หายไปไหนแล้วไม่รู้ การนาบข้าวจะทำให้เกี่ยวข้าวง่าย วิธีการผมเห็นพ่อแบกนาบข้าวแล้ววางข้างหนึ่งให้ชิดคันนาแล้วพ่อก็มาตรงกลางเพื่อให้เกิดความสมดุลย์แล้วก็จับนาบข้าวให้มือห่างกันสักสองฟุตและค่อยๆกระโดดถอยหลังพร้อมทั้งดึงนาบข้าวตามมาด้วย พอถึงคันนาอีกด้านหนึ่ง พ่อก็แบกนาบข้าวมาวางต่อจากตรงที่เริ่มคราวที่แล้วทำอย่างนี้ไปจนหมดนาผืนนั้น การนาบข้าวต้องทำตอนเช้ามืดมีน้ำค้างเกาะที่ต้นข้าว ต้นข้าวจะมีความชื้นมาก ต้นจะไม่หักง่าย ข้าวต้องแก่พอดีที่สามารถเกี่ยวได้ ไม่แก่จนข้าวกรอบ จะทำให้ข้าวร่วงหล่นมากอย่างนี้เกี่ยวเลยไม่ต้องนาบข้าว และเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง

การเตรียมลานข้าวในตอนนี้ผมคิดว่าพ่อได้เตรียมเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะทำลานข้าว (ที่เก็บรวบรวมข้าว ที่นวด และตากข้าว) ปกติทางบ้านผมจะมีลานข้าว 2-3 แห่ง ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวในปีนั้น ระยะทาง และความพร้อมของสถานที่ ที่บางแห่งน้ำยังไม่แห้งพ่อก็จะเลือกทำเล  ที่ดอนๆน้ำแห้งก่อน เวลาทำลานข้าวพื้นที่นาต้องเสมอกัน ไม่เอียง ไม่มีหลุมบ่อ พ่อจะพาพวกเราพี่ๆน้องๆโดยมีจอบประจำตัวออกไปถากต้นข้าวที่เกี่ยวแล้วทางบ้านผมเรียกว่าตอ ซังข้าว และถากหญ้าออกปรับดินให้เสมอกัน แต่ละแห่งจะให้พื้นที่ไม่น้อยกว่างานครึ่ง และเป็นลานข้าวใหญ่ที่อยู่ใกล้บ้านน่าจะ 2-3 งาน การทำลานข้าวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พ่อจะบอกพี่ๆผมว่า ต้องมีแหล่งน้ำ และต้องเตรียมเก็บขี้ควายเอาไว้ เมื่อเราเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้วเอาหน้าดินที่ถาก ซังข้าว หญ้า และดินที่เป็นก้อน และฝุ่นต้องกวาดออกจากลานให้หมด งานใหญ่ช่วงสั้นก็เริ่มขึ้นโดยพวกเราจะตักขี้ควาย ไปเทไว้เป็นกองๆห่างกันประมาณเกือบวา พี่ชาย และพี่สาวผมก็ไปหาบน้ำที่อยู่ไม่ไกลมากนักมาเทในลาน พ่อและแม่จะใช้ไม้กวาดที่ทำด้วยไม้ล้มลุก ทางบ้านเรียกต้นไม้กวาดตรงๆเลยนะครับ กวาดผสมน้ำ และขี้ควายให้รวมกันให้ทั่วหน้าดินพื้นลานทั้งหมดความสม่ำเสมอของส่วนผสมก็สำคัญ ไม่บางเกินไปจะทำให้ดินขึ้นมารวมกับเมล็ดข้าว และจะทำใหม่อีกน้ำในทุ่งนาก็หายาก วิธีการอย่างนี้ทางบ้านผมเรียกว่ายาลาน หนาเกินไปก็เปลืองน้ำ ขี้ควายและแรงงานของเราเอง การยาลานบางครั้งพ่อก็ต้องยอมที่จะมาทำใหม่อีกครั้ง เพราะที่บ้านผม ใช้เกวียนบรรทุกข้าว และในบางช่วงก็จ้าง รถบรรทุกมาขน และในปีท้ายๆก่อนที่ผมจะเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯที่บ้านมีรถบรรทุก 6 ล้อแล้ว ล้อรถเวลาขนข้าวก็จะวิ่งเข้าไปในลานข้าว เหยียบลาน ทำให้ลานที่ยาไว้ชำรุดตรงนี้แหละครับพ่อต้องมาทำใหม่ เรียกว่า ซ่อมลาน

"""""""""""""""""""""""""""""""""""

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 225235เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาอ่านครับ

อาจารย์

อาจารย์สบายดีไหมครับ

ช่วงนี้เดินสายกับพอลล่าเหมือนเดิมหรือเปล่าครับ

สบายดีครับ ครูโย่ง ผมกำลังจะฝึกเอารูปใส่ แต่ไม่มีรูป พรุ่งนี้ไปสุพรรณบุรี คงจะได้รูปการทำนามาบ้าง ตอนเอารูปใส่ขอปรึกษาหน่อยนะครับ

  • ปรึกษา อ.พอลล่าได้เลยครับ
  • อ.พอลล่า เก่งขั้นเทพ เอ้ย ไม่ใช่ ขั้นนางฟ้า
  • อิอิอิ
  • รอดูภาพครับ เดินทางปลอดภัยครับผม

ผมเกิดที่พุนพิน สุราษฎร์ธานี ผมไม่มีที่นา แต่ผมไปรับจ้างเกี่ยวข้าว ค่าจ้างก็ไม่ได้จ่ายเป็นเงิน เขาจ่ายเป็นข้าวที่เราเกี่ยวได้แทน เรียกกันว่า "ชักสิบ" คือ ถ้าเกี่ยวได้ครบ 10 กำ เราจะเก็บกำที่ 10 นั้นกลับบ้านเรา แล้วที่นั่นไม่นิยมใช้เคียวเกี่ยวข้าว เขาใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่า "มัน"เก็บข้าวแทน "มัน" มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม ที่มีเส้นรอบนอกประกอบด้วยเส้นตรงและเส้นโค้ง คล้ายตัวอักษร Dในภาษาอังกฤษ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 4 นิ้ว ตรงส่วนโค้ง มีใบมีดคมมากติดอยู่.. ตรงกึ่งกลางริมด้านเส้นตรง เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1ซ.ม.มีไม้ไผ่กลมยาวไม่เกิน 4 นิ้วสอดไว้ เจ้า"มัน" สำหรับเก็บข้าวนี้ ถ้าเดินทางล่องลงไปทางใต้ลึกๆ เช่นแถวยะลา ปัตตานี เขาเรียกเครื่องมือชิ้นนี้ว่า "แกะ" เวลาใช้ เขากำมันโดยให้ส่วนไม้ไผ่ตั้งฉากอยู่ในอุ้งมือ ให้ส่วนโค้งของตัว D ที่มีใบมีด โผล่ออกมาระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วชี้ เทคนิกการเก็บ ก็จะใช้นิ้วชี้ที่ควรพันผ้า เหนี่ยวเอาก้านของรวงข้าวทุกรวงที่อยากได้ รั้งดึงเข้ามาให้กดกระทบกับใบมีด ก้านรวงจะขาดแล้วหลุดเข้ามาอยู่ในกำมือของผู้เก็บพอดี เมื่อกำรวงมีขนาดใหญ่เต็มมือ ก็มัด นับเป็น 1 กำ

จึงไช้คำว่าเก็บ แทนเกี่ยว การเก็บจะไม่มีส่วนของใบติดมาด้วย และไม่ค่อยเหลือเมล็ดข้าวคาซังในนา เวลานวดก็ง่าย อย่างตัวผมเอง เมื่อได้ส่วนแบ่งกลับบ้าน เราใช้สองเท้าของเรานวดเองเลย เล่าให้ใครฟัง ก็ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่อง บางคนก็ไม่เชื่อ

คิดถึงวันนั้น ก็มีความสุข ก้มลงไปมองฝ่าเท้าที่เคยนวดข้าว ยังเห็นรอยข่วนขีดสีขาวๆติดอยู่เต็มไปหมด ที่สำคัญ ชีวิตนี้ ผมยังไม่เคยกินข้าวที่ไหน อร่อยเท่าข้าวที่ผมเก็บ,นวด,สี,ตำและหุงด้วยตัวเองมื้อนั้นอีกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท