สอนให้คิดเป็นสอนเช่นไร


กระบวนการคิดที่จะพัฒนาไปสู่การคิดวิเคราะห์อย่างมีทักษะ ไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรงของครูแต่อย่างใด เพียงแต่ครูทุกคน ทุกวิชา และรวมทั้งผู้บริหารการศึกษาทุกระดับจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นนักคิด และนักสร้างสรรค์กระบวนการทางปัญญาที่ลุ่มลึกแหลมคมเสียก่อนเป็นเบื้องต้นเท่านั้นเอง

.

สอนให้คิดเป็นสอนเช่นไร                                                                               

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

 

            การคิดวิเคราะห์คือการจำแนกแยกแยะเพื่อทำความเข้าใจ และเข้าถึงแก่นสาระของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนสามารถกระทำหรือนำไปใช้ได้อย่างสมประโยชน์ยิ่ง  แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาดแคลนในประชากรของชาติ จนกระทั่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..๒๕๔๒  มาตรา ๒๔ ต้องบัญญัติบังคับว่าต่อไปนี้ ครูจะต้องสอนให้เกิดกระบวนการคิด!

            กระบวนการคิดที่จะพัฒนาไปสู่การคิดวิเคราะห์อย่างมีทักษะ  ไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรงของครูแต่อย่างใด  เพียงแต่ครูทุกคน  ทุกวิชา  และรวมทั้งผู้บริหารการศึกษาทุกระดับจะต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นนักคิด และนักสร้างสรรค์กระบวนการทางปัญญาที่ลุ่มลึกแหลมคมเสียก่อนเป็นเบื้องต้นเท่านั้นเอง

 

            ถ้าครูจะลองปฏิบัติตนดังต่อไปนี้  เชื่อมั่นเหลือเกินว่าครูจะเป็น นวัตกรทางความคิดที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นได้อย่างดีแน่นอน

            .ครูจะต้องรักการอ่าน

            การอ่านที่จะทำให้ครูเป็นนักคิดที่ดีก็คือการอ่านเรื่องราวที่เข้มข้นทางความคิด ได้แก่ วรรณกรรมเชิงปรัชญาชีวิต และวรรณกรรมสร้างสรรค์ 

            วรรณกรรมเชิงปรัชญาชีวิต  อาจจะเป็นเรื่องราวของแก่นปรัชญาความเชื่อ หลักธรรมทางศาสนา ชีวประวัติบุคคล วิถีวัฒนธรรม ศิลปาการต่างๆ จิตวิทยาที่หยั่งถึงธรรมชาติและจิตวิญญาณมนุษย์ เป็นต้น

             วรรณกรรมสร้างสรรค์  คืองานเขียนประเภทบันเทิงคดี เช่น กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดีชีวิต ฯลฯ  ที่สื่อสารผ่านวรรณศิลป์สร้างสรรค์ อันเปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระชีวิต อารมณ์รู้สึก ความทุกข์ ความสุข อุปสรรคปัญหา ปรัชญาความคิดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเวทนา สำนึกมโนคติ กระตุ้นเร้าสติปัญญาให้งอกงาม พร้อมๆ ไปกับความบันเทิงใจ เบิกบานจิต น้อมนำสู่การปฏิบัติตนอย่างมีโยนิโสมนสิการกระทั่งที่สุดถึงขั้นเกิดประภัสสรทางปัญญาและจิตวิญญาณ

            นอกจากนี้ หนังสืออื่นๆ หรือแก่นสาระความรู้อื่นๆ ที่มีพลังกระตุ้นเร้าสติปัญญา และความคิดความอ่าน  ก็ควรเลือกอ่านให้กว้างขวาง  แต่จะต้องไม่เสียเวลากับหนังสือหรือสื่อใดๆ ที่อ่อนด้อยและบกพร่องคุณภาพ  เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้วอาจทำให้พลอยมืดพลอยเขลาไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้

            ข้อสังเกตในการเลือกหนังสือดี ที่น่าอ่าน อาจพิจารณาจากลักษณะต่อไปนี้  

            () กระทบใจหรือกระทบอารมณ์ให้ชวนขบชวนคิด รู้สึกเหมือนได้มุมมองอะไรใหม่ๆ

            () สร้างความตื่นใจหรือเร้าใจชวนให้ติดตาม มีปมหรือประเด็นที่แยบยลทางปัญญา มีมิติทางความคิดและจินตนาการ

            () มีคำกล่าวขวัญในแวดวงนักอ่านว่าเป็นหนังสือดีหรือมีคุณค่าควรอ่าน

            .ครูจะต้องรักเสพงานศิลปะและความงาม

            งานศิลปะทุกประเภทล้วนสร้างสรรค์ขึ้นจากความงามในจิตใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ดนตรี นาฏกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หัตกรรม และวรรณกรรม (ดังกล่าวข้างต้นแล้ว)  ผู้เสพสัมผัสงานศิลปะใดๆ ย่อมได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณ สติปัญญา และความงอกงามในทักษะชีวิตจากงานศิลปะนั้น  ยิ่งได้ทดลองฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ไปในขณะเดียวกันด้วยก็จะยิ่งมีชีวิตจิตใจที่งอกงามพัฒนายกระดับยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า คนจัดดอกไม้ ดอกไม้จัดใจคนเป็นแน่แท้ทีเดียว

            เมื่อครูรักและใส่ใจในงานศิลปะครูก็จะมีจิตใจที่งาม เข้าถึงความงามในสิ่งต่างๆ และโดยเฉพาะความงามในจิตใจอันบริสุทธิ์ของเด็กๆ  รู้และเห็นช่องทางที่จะพัฒนาความคิด ความดีงามในตัวตนของพวกเขาให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้น  ครูจะมีศิลปะในวิธีคิดที่ผลิดอกออกผลในตนเอง  สามารถพลิกแพลง และสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีความสุขไม่สิ้นสุด

            .ครูจะต้องรักใฝ่รู้ใฝ่เรียน

            โดยธาตุแท้ลึกๆ แล้วครูทุกคนจะมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่ไม่มากก็น้อย  แต่การทำหน้าที่จำเจซ้ำซากนานวัน ประกอบกับการขาดแรงกระตุ้นที่ดีในระบบ ในกระบวนการบริหารจัดการที่กระตือรือร้น ก็อาจทำให้ครูอ่อนแรง อ่อนล้า หน่ายเนือย และเฉื่อยชาไปตามกระแสที่พัดพาเป็นอันมาก  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาช่องทางสร้างสรรค์วิธีการกระตุ้นเร้าให้ครูเกิดพลังความใฝ่เรียนใฝ่รู้อยู่สม่ำเสมอ

            อุปสรรคของความใฝ่รู้ใฝ่เรียนคือ ความเกียจคร้าน ความขาดขวัญกำลังใจ ความหนักหนาสาหัสของภาระงานที่แบกรับ  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดภาระงาน โดยละวางงานที่จำเป็นน้อย แล้วเพิ่มเวลาให้กับประสิทธิภาพของงานสำคัญพร้อมๆ กับการเสริมเพิ่มการเรียนรู้และพลังในการทำงาน  แสวงหาโอกาสศึกษาอบรม ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมกับภารกิจหน้าที่ ให้เวลากับการอ่านหนังสือตามข้อ ๑ และการเสพสัมผัสสุนทรียภาพทางศิลปะและความงาม 

 

            เมื่อครูฝึกฝนและพัฒนาบุคลิกลักษณะของตนเองดัง ๓ ประการที่กล่าวแล้วให้ลองกระทำในสิ่งต่อไปนี้

            .เพียรคิดเพียรสร้างสรรค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเองถนัด รัก ชอบ และมีความสุขที่ได้ทำ เช่น ฝึกคิดฝึกเขียนงานเขียนสร้างสรรค์ อาจเป็นบันทึกส่วนตัว บทกวี หรืองานเขียนอื่นๆ  ฝึกหัดวาดภาพ เล่นดนตรี ร้องเพลง ถ่ายภาพ งานออกแบบ ตกแต่ง จัดสวน งานหัตถศิลป์ หัตกรรม และประดิษฐกรรมต่างๆ  การคิดแผนงาน โครงงาน และโครงการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ  การจัดกิจกรรม และสร้างสรรค์กิจกรรมที่ท้าทายสติปัญญาความสามารถ ฯลฯ

            .หมั่นคิดหาวิธีการสอน จัดกระบวนการเรียนรู้ และสร้างเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ แก่เด็กๆ ในทุกวิชาที่รับผิดชอบ  ด้วยการพลิกแพลง ปรับปรุง และสร้างสรรค์จากประสบการณ์อย่างมีอัตลักษณ์เฉพาะตน ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้และพัฒนาไม่หยุดนิ่ง 

            ทั้งนี้จะต้องคำนึงเสมอว่า กิจกรรมและกระบวนการเรียนการสอนใดๆ จะต้องบูรณาการกับชีวิตแบบเอาชีวิตเป็นศูนย์กลาง [Life Center] ตลอดเวลา  และมีเป้าหมายปลายทางของการเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ที่ปีติสุข เบิกบาน สร้างสรรค์สันติสุขแก่ตนเอง ผู้อื่น และโลก มีทักษะในการทำงานและการใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์   

 

            ข้อเสนอแนะและควรคำนึงในการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกคิดวิเคราะห์ 

            .ไม่จำเป็นต้องฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาเสมอไป เป็นต้นว่า การฝึกคิดเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ ก็อาจอาศัยทักษะการคิดวิเคราะห์ทางภาษา หรือทางวัฒนธรรมสังคมเป็นต้นทางทัศนะและวิธีการก็ได้  เช่น การวิเคราะห์ถึงที่มาของยางรถยนต์ ว่ามาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตยาง โรงงานได้วัตถุดิบมาจากกระบวนการซื้อขายยางพาราในตลาดค้ายาง ตลาดค้ายางได้ยางมาจากสวนยางของเกษตรกร เกษตรกรได้พันธุ์ยางมาจากผู้เพาะพันธุ์ต้นกล้ายาง นำมาปลูกในแปลงดินที่มีปริมาณน้ำฝนพอเพียง  มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานในการปลูก การดูแลรักษา การกรีดยาง และกระบวนการต่างๆ ของการทำยางแผ่นจนสามารถส่งขายตลาดค้ายางได้ ฯลฯ  สามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวสวนยาง นโยบายของรัฐ ผู้บริหารกลไกตลาด ตลอดจนการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในระดับต่างๆ ปัญหาต้นทุน รายได้ หนี้สิน ปัญหาครอบครัว และสังคมอย่างไรบ้าง  หรือเรื่องนี้อาจจะใช้วิธีเรียนรู้และวิเคราะห์ผ่านเรื่องสั้น หรือบทกวีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีตัวละครเกี่ยวข้องกับสวนยางพารา พ่อค้า นายทุน หรือปัญหาสังคมมุมใดมุมหนึ่งที่ไม่อาจตัดขาดจากกันก็ได้  

            .การฝึกคิดฝึกวิเคราะห์แบบต่างๆ ที่ครูสามารถเลือกใช้ฝึกได้ตามความเหมาะสมกับวิชาและสถานการณ์ ขอเสนอแนะไว้ดังนี้

            () การฝึกคิดแบบสืบค้นต้นตอหรือสาวหาสมุทัย

            () การฝึกคิดแบบแกะรอยจับสาระ

            () การฝึกคิดแบบจัดหมวดหมู่หรือจัดกลุ่ม

            () การฝึกคิดแบบขจัดกลุ่มปัจจัย (ที่ไม่เกี่ยวข้องออก)

            () การฝึกคิดแบบเชื่อมโยงเหตุปัจจัยที่เกี่ยว

            () การฝึกคิดแบบรู้ที่มาหาที่ไป

            () การฝึกคิดแบบตั้งสมมุติฐานประกอบพยานแวดล้อม

            () การฝึกคิดแบบต่อยอดทอดบันได

            () การฝึกคิดแบบลองผิดลองถูก   

            (๑๐) การฝึกคิดแบบประสบการณ์สร้างสรรค์ 

            (๑๑) การฝึกคิดแบบจินตนาการสร้างสรรค์

            (๑๒) การฝึกคิดแบบวางแผนสร้าง Plot

            (๑๓) การฝึกคิดแบบจัดระบบเรียบเรียง

            (๑๔) การฝึกคิดแบบบริหารจัดการ

            (๑๕) การฝึกคิดแบบแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา

            ฯลฯ

 

            ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เด็กจะคิดได้และคิดเป็นก็ต่อเมื่อครูจะต้องคิดได้และคิดเป็นก่อน ครูจะคิดได้และคิดเป็นก็ต่อเมื่อครูจะต้องรักการอ่าน รักเสพงานศิลปะ และรักที่จะใฝ่รู้ใฝ่เรียนเสียก่อน ส่วนองค์ประกอบอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วนี้  ขอเสนอแนะให้ครูฝึกปฏิบัติธรรม ฝึกทำจิตใจให้เบิกบานผ่องแผ้ว ฝึกอดออม อดทน และอดกลั้นต่อกิเลสสภาวะที่แวดล้อมชีวิต  เพราะจะช่วยทำให้ครูมีกำลังจิต กำลังสติปัญญาที่เข้มแข็ง ไม่เปราะบางเมื่อกระทบกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ  และถ้าครูจะรู้จักรักษาสุขภาพอนามัยให้สมบูรณ์ดีพร้อมต่อการทำงานก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของงานยิ่งขึ้นอีกด้วย

            ครูมีความสุข ความงอกงาม และความสำเร็จรออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครูจะให้โอกาสและสิทธินั้นแก่ตนเองอย่างจริงจังเมื่อใดพรุ่งนี้ของครูแต่ละคนคือคำตอบ

.

 

 

หมายเลขบันทึก: 225227เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ได้ความรู้ แนวคิดที่มีคุณค่าอีกแล้วนะคะสำหรับครู
  • ขออนุญาตนำไปเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนค่ะ
  • ขอขอบพระคุณด้วยความเคารพและศรัทธาค่ะ

สวัสดีครับ

ขอบคุณครับที่นำสิ่งดีๆ มาเสนอ

สวัสดีค่ะ คุณทุ่งสักอาศรม และ ครูกานท์

ครูลี่สนใจมากเกี่ยวกับการพัฒนาการคิดของนักเรียน กำลังพยายามที่จะทดลองฝึกและพัฒนาการคิดอยู่ค่ะ ขออนุญาตนำความรู้ไปใช้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ครูคิม ครูเพชรากร

ครูลี่ แรมรอนเสาะแสวง

ใบสักอาศรมห่มดินแล้ง

ลมแห่งเหมันต์เมียงมอง

เห่หอบบอบบางยามร้างกิ่ง

ขวัญมิ่งหทัยได้ยิ้มย่อง

ตำนานตำหนักสักทอง

ไมตรีพี่น้องนิรินดร์ไป

.

.

รูปแบบฝึกคิดหลายๆแบบ ดีนะคะ

" ...ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เด็กจะคิดได้และคิดเป็นก็ต่อเมื่อครูจะต้องคิดได้และคิดเป็นก่อน ..."

ประโยคนี้สำคัญจริงๆเลยคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ดิฉันได้นำบทความการอ่านทั้ง 2 ฉบับพิมพ์ไปให้ครบจำนวนครู  คิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนตั้งใจอ่าน
  • ดิฉันอ่านบทความให้ท่าน ผอ.และครูบางคนฟัง ขณะนั่งรถไปโรงเรียน
  • วันพรุ่งนี้มีประชุมย่อย  หลังเลิกเรียน  จะขอร้องท่าน ผอ.ช่วยกำกับดูแล  อันที่จริงครูที่โรงเรียนของดิฉันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกคนค่ะ 
  • แต่เรื่องการอ่าน..นี่ลุ่มลึก
  • ดิฉันอ่านบทความทั้งสอง..หลายเที่ยวแล้วนะคะ
  • กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ขอความงอกงามในการอ่านและการคิดจงก่อเกิดเป็นผลึกพลังชีวิตแก่คุณดอกแก้วและครูคิมครับ

...

อายุบวร

คิดเป็นในสังคมของเราในปัจจุบันคงจะต้องเรียนควบคู่กันไปด้วยกันเพราะความแตกต่างระหว่างวัยเด็กและผู้ใหญ่และคนแก่ถูกทำให้แตกแยกด้วยสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่เวลาที่บีบรัดเศรษฐกิจเกินพอดีเป็นปัญหาความแตกแยกในเรื่องคิดเป็นทำเป็น..อ่านออกเขียนได้แต่รับฟังข้อเสนอไม่เป็น..โต้เถียงไม่ได้ใช้ความคิดดีให้เกิดประโยชน์ไม่ได้เพราะขัดกับผลประโยชน์ตัวอย่างหนึ่ง..เราน่าจะมีการจัดworkshopสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันเป็นการผลึกกำลังการเรียนรู้ที่ไม่มีเพศและวัยไม่มีครูนักเรียนการเรียนรู้ที่จะปิดช่องว่างรอยโหว่ของสังคม....หารอยต่อให้กับสังคมปัจจุบันในเรื่องคิดเป็นคงจะเป็นประโยชน์และทางออกอีกแบบอย่างหนึ่งได้...

ความคิดเห็นของคุณ ยายธิ แทงทะลุถึงเหตุปัจจัยสำคัญอันเป็นบริบทร่วมดีมาก อีกทั้งข้อเสนอให้จัดเวที workshop เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของผู้สนใจใฝ่เกื้อกูลก็น่าสนใจยิ่งนัก ทุ่งสักอาศรมขอขานรับความคิดนี้ครับ และพร้อมยินดีเปิดอาศรมให้เป็นเวทีเรียนรู้ดังกล่าว ท่านใดเห็นดีเห็นงามพร้อมเข้าร่วมลองโพสแสดงเจตนากันดูซิครับ ถ้าเป็นไปได้จะได้วางแผนงานจริงจังกันต่อไป...

.

ครูกานท์

ทุ่งสักอาศรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท