ข้อความคิดต่อร่าง จริยธรรมวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ


มีข้อคำนึงพื้นฐานในการจัดทำร่างข้อบังคับในรายละเอียดอยู่ ๔ ประเด็น ประเด็นแรกก็คือ การปนเประหว่างหลักการกับแนวปฏิบัติ ประเด็นที่สอง ความไม่ชีดเจนของหลักการแต่ละเรื่อง ประเด็นที่สาม บุคคลแห่งสิทธิตามร่างจริยธรรมคือใคร และ ประเด็นสุดท้าย เน้นหลักการ และมาตรการส่งเสริมด้วยหรือไม่

กรอบแนวคิดในการจัดทำร่างข้อบังคับจริยธรรม

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑ ได้เข้าร่วมประชุมวิพากษ์ร่างจริยธรรมวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและเผยแพร่รายการ ของสถานี ไทยพีบีเอส ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง จัดโดย สถานีไทยพีบีเอส โดยมีสภาผู้ชมและผู้ฟังเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน ในงานนีเราจะพบเครือข่ายด้านสื่อ เครือข่ายภาควิชาการ โดยเฉพาะเครือข่ายจากผู้ผลิตรายการของสถานี TPBS

ต่อร่างจริยธรรมดังกล่าว มีข้อสังเกตหลักๆอยู่ ๔ ประเด็น

ประเด็นแรก ก็คือ ในจริยธรรมแต่ละข้อนั้นยังมี “การปนเป กันระหว่าง หลักการพื้นฐานของจริยธรรม กับ แนวปฏิบัติ หากเราย้อนกลับไปดูแม่แบบจาก แนวปฏิบัติและกรอบจรรยาบรรณของบีบีซี ก็จะพบว่า มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่าง หลักการพื้นฐานของที่เป็นเรื่องของกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ซึ่งมี ๑๑ ข้อหลัก[1] และ แนวปฏิบัติ ออกจากกัน ทำให้ เข้าใจถึงหลักการ และ มีแนวปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม

ผลที่ได้จากการปนเปกันก็คือ    อ่านแล้วไม่รู้ว่าหลักการพื้นฐานคืออะไร ทำให้เข้าใจได้ว่า จริยธรรมในวิชาชีพมีความซับซ้อน มีข้อบังคับจำนวนมาก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หลักการพื้นฐานนั้นมีไม่มาก ที่เหลือ เป็นแนวฏิบัติ ซึ่งต้องลงรายละเอียดมาก แต่เมื่อมาหลอมรวมกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน

ข้อเสนอต่อเรื่องนี้ ก็คือ ต้องแยกแยะ แนวปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมพื้นฐาน ออกจาก กรอบจริยธรรมพื้นฐาน เป็นคนละส่วนกัน กล่าวคือ ต้องวางกรอบจริยธรรมพื้นฐานให้ชัดเจนและครอบคลุมเสียก่อนเป็นหมวดหลัก ส่วนการลงรายละเอียด ควรนำไปใส่ในแนวปฏิบัติตามกรอบแห่งจริยธรรมแทน

ประเด็นต่อมา ความชัดเจนของหลักการพื้นฐานของจริยธรรมในแต่ละเรื่องอยู่ตรงไหน ???

เข้าใจได้ว่า ต้นร่างของ ร่างจริยธรรมนี้ ถูกพัฒนาให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาจาก สาระสำคัญของจริยธรรมสื่อสาธารณะ ที่มีอยู่ด้วยกัน ๑๑ ข้อ กล่าวคือ (๑) ความถูกต้อง-เที่ยงตรง (๒) ความไม่ลำเอียง (๓) ความเป็นธรรม-อิสรภาพ-เสรีภาพ (๔) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-สิทธิส่วนบุคคล (๕) การทำข่าวอาชญากรรม (๖) หลักการเสนอเหตุร้ายแรงที่กระทบกระเทอนจิตใจ (๗) การเสนอรายการสำหรับเด็ก เยาวชน (๘) หลักปฏิบัติสำหรับหน้าออนไลน์ (๙) การนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาการเมือง-นโยบายสาธารณะ (๑๐) การนำเสนอเหตุการณ์และเนื้อหาสงคราม-การก่อการร้าย และ (๑๑) การนำเสนอเหตุการณ์เนื้อหาด้านศาสนา

เมื่อกลับมาอ่านร่างจริยธรรมที่ยกร่างโดยไทยพีบีเอส พบว่า จริยธรรมหลัก มีทั้งหมด ๑๐ ข้อ พบว่า ไม่ได้วางหลักการพื้นฐานของกรอบแนวคิดในจริยธรรมแต่ละข้อ เช่น ความถูกต้อง ความเป็นกลาง และ ความเป็นธรรม นั้นมี “กรอบพื้นฐานอะไรบ้าง” เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของพื้นฐานของแนวคิดจริยธรรม

ประกอบกับ การปนเประหว่างหลักการ กับ แนวปฏิบัติ ทำให้เพิ่มความสับสน และ ความไม่เข้าใจในเชิงหลักการมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เพราะหลักการพื้นฐานไม่แน่นพอ มีผลต่อการจัดทำร่างจริยธรรม ทำให้บางเรื่องที่เป็นความสามารถของผู้ดำเนินรายการแต่กลับถูกกำหนดให้เป็นจริยธรรม เช่น “นักข่าวและผู้สัมภาษณ์ควรมีความรู้เท่าทัน สามารถซักค้านผู้ที่มาให้สัมภาษณ์ซึ่งแสดงความคิดเห็นที่ชวนวิวาทได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่อ่อนข้อ ไม่ปล่อยให้ผู้ให้สัมภาษณ์ชี้นำความเห็นฝ่ายเดียว” กรณีนี้เข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องของความสามารถของผู้ดำเนินรายการมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของจริยธรรม

หรือ ในกรณีของ จริยธรรมด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากรายการที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำผิดกฎหมาย หรือ ขัดต่อศีลธรรม จะเห็นได้ว่า หลักการพื้นฐานของจริยธรรมในข้อนี้ก็คือ (๑) การคุ้มครองเด็กจากสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย (๒) การคุ้มครองเด็กจากสื่อที่มีความรุนแรง (๓) การคุ้มครองเด็กที่ปรากฎตัวผ่านสื่อ โดยฉพาะเด็กที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัย[2] หรือ เด็กที่เป็นผู้ต้องหา[3] กรณี เมื่อหลักการพื้นฐานไม่ชัดเจนพอ ทำให้รายละเอียดปลีกย่อยในทางปฏิบัติเกิดความคลาดเคลื่อน ผลก็คือ การนำเสนอภาพเด็ก เยาวชนที่เป็นผู้ต้องหา หรือ ผู้ต้องสงสัย จึงเป็นเพียง “พยายามหลีกเลี่ยง” แทนที่จะเป็นเรื่องของ “ห้าม”

ข้อเสนอต่อเรื่องนี้ก็คือ วางหลักการพื้นฐานในจริยธรรมในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน

ประเด็นที่สาม ร่างจริยธรรมนี้มีผลใช้บังคับต่อใคร ???

เมื่ออ่านร่างจริยธรรมฯ นี้ ในตอนต้น พบคำนิยามที่หมายถึงตัวบุคคลอยู่ ๓ กลุ่ม กรรมการ (หมายถึงกรรมการนโยบาย กรรมการบริหารขององค์การ) ผู้บริหาร (หมายถึง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารระดับสูง) และ พนักงาน (หมายถึง พนักงาน ลูกจ้าง ที่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ หรือ ผู้บริหารระดับสูง)

แต่เมื่อตั้งแต่ ข้อแรก จนถึงข้อ สุดท้าย พบว่า ร่างจริยธรรมนี้ให้ใช้แต่เฉพาะผู้ทำหน้าที่ด้านการผลิตและการเผยแพร่รายการขององค์การ ฯ รวมทั้งใช้อ้างอิงในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่อรายการขององค์การ

ทำให้ต้องกลับมาตีความกันว่า ผู้ทำหน้าที่ด้านการผลิตและการเผยแพร่รายการขององค์การ ฯ หมายถึง ใครคนใดคนหนึ่งใน ๓ กลุ่ม หรือ หมายถึงทั้ง ๓ กลุ่ม และในถ้อยคำในร่างจริยธรรมเอง ก็ไม่ปรากฎคำว่า กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานในข้อใดข้อหนึ่งของร่าง

อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า ร่างจริยธรรมดังกล่าว เป็นจริยธรรมทางวิชาชีพด้านรายการโทรทัศน์สาธารณะ อันเป็นสถานีของประชาชนเพื่อประชาชน ดังนั้น จริยธรรมที่จำเป็นที่จะต้องครอบคลุมบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิต การสร้างสรรค์ และ ยังต้องมีผลบังคับต่อ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อมกับการพัฒนา สร้างสรรค์ ผลิตรายการด้วย เพื่อทำให้จริยธรรมนั้นใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ[4]

ประเด็นสุดท้าย กรอบจริยธรรม แนวปฏิบัติ ควรเป็นเครื่องมือ “ส่งเสริม” ด้วยหรือไม่ ???

อีกเช่นกัน ร่างจริยธรรมฯชิ้นนี้ เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการสร้างแนวปฏิบัติบนพื้นฐานของหลักการด้านจริยธรรม โดยนัยสำคัญของร่างนี้ จึงเน้นหนักไปที่ การหลีกเลี่ยง การห้าม เป็นหลัก

หากพิจารณาที่เจตนารมย์ของร่างจริยธรรม โดยเข้าไปวิเคราะห์จากจริยธรรมด้านวิชาชีพที่มีอยู่ ประกอบกับ หลักการพื้นฐานของสื่อสารมวลชน อีกทั้ง พิจารณาจากข้อความจริงที่ว่า สื่อเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้าง ขยาย หรือ ทำซ้ำ ทั้งสุขภาวะ หรือ ทุกขภาวะ ให้กับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้รับสื่อที่เป็นเด็ก

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคของการปฏิรูปสื่อ จำเป็นต้องคำนึงถึง ผู้รับสารในฐานะของ “ผู้ทรงสิทธิ” หรือ “พลเมือง” เป็นสำคัญ ประกอบกับ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน โดยเฉพาะ การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมในกระบวนการพัฒนาสื่อโทรทัศน์ ทั้ง การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การสะท้อนเชิงคุณภาพรายการ การผลิต การสร้างสรรค์ ไปจนถึงนโยบาย

นั่นหมายความว่า การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสื่อเพื่อสุขภาวะ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์สำหรับคนทุกวัย การจัดสรรช่วงเวลาดีแก่เด็ก เยาวชน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง รวมไปถึง การส่งเสริมให้เกิดกลไกการส่งเสริมให้จริยธรรมเติบโตและเข้มแข็ง ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า หลักการด้านการหลีกเลียงหรือการห้าม



[1] กรอบจรรยาบรรณของบีบีซี จะประกอบด้วยหลักการใหญ่ๆอยู่ ๑๑ หลักการ กล่าวคือ (๑) เที่ยงตรงต่อความเป็นจริง (Accuracy) (๒) เป็นกลางไม่ลำเอียง และเสนอความเห็นหลากหลาย (Impartiality and Diversity of Opinion) (๓) ความเป็นธรรมเสมอหน้ากัน (Fairness) (๔) สิทธิส่วนบุคคลและชีวิตส่วนตัว (Privacy) (๕) อาชญากรรมและพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม (Crime and Anti-Social Behavior) (๖) เหตุร้ายแรง กระทบจิตใจ (Harm and Offense) (๗) เด็กและเยาวชน (Children) (๘) การเมืองและนโยบายสาธารณะ (Politics and Public Policy) (๙) สงครามและการก่อการร้าย (War and Terror) (๑๐) ศาสนา (Religion) และ (๑๑) ความซื่อตรงต่อจรรยาบรรณและอิสรภาพในวิชาชีพ (Editorial Integrity and Independence)

[2] ในกรณีดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึง พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ในมาตรา ๒๗  ซึ่งกำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ซึ่งในบทบัญญัติดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า เจตนารมย์ทางกฎหมาย ในการที่จะไม่ทำการใช้สื่อเพื่อทำร้ายเด็ก เยาวชน

[3] มาตรา ๙๓  พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. ๒๕๓๔ ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียง แพร่เสียงของเด็ก[3]หรือเยาวชน[3]ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น

[4] เพราะหากไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม ผลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของโครงสร้างการบริหาร จะทำให้ ผู้บริหาร สามารถละเมิดข้อบังคับจริยธรรมได้ และเมื่อถึงเวลานั้น ผู้อยู่ใต้อำนาจบริหาร ก็จะไม่พ้นการละเมิดจริยธรรมในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 225104เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท