KM รพ.ตาคลี & เรื่องเล่าเกี่ยวกับ CKO นักยำความรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพ


ปล.ว่างๆ ใครไม่เคยไป รพ.ตาคลี หรืออยากเห็นโมเดลการเรียนรู้ฝีมือผอ.ประเทือง พ่อครัวชอบยำความรู้คนนี้ จะเอารูปมาฝาก ค่ะ

บังเอิญว่า น้ำได้ไปดูคลินิคเบาหวานที่รพ.ตาคลี หนึ่งในรพ.เครือข่ายการเรียนรู้ 15 รพ.ของจังหวัดนครสวรรค์พยาบาลใจดี พูดเก่ง ก็พาไปดูคลินิคก็นำมาเล่าให้ฟังค่ะ


กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  สำหรับการทำกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลและการดูแลตัวเองของผู้ป่วยนั้น โรงพยาลทั้ง 15 แห่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำกลุ่มผู้ป่วยในระดับจังหวัด แต่ละโรงพยาบาลก็ได้มีการนำไปใช้และปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นตามความเหมาะสม ซึ่งโครงการเคลื่อนกระแสการจัดการความรู้สู่สังคม จะยกตัวอย่างวิธีการทำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโรงพยาบาล 2 แห่งคือ โรงพยาบาลตาคลี และโรงพยาบาลพยุหะคีรี


  ตัวอย่างที่ โรงพยาบาลตาคลีทุกเช้าวันพุธ และวันพฤหัสบดี จะมีการทำคลินิคผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการบริการประมาณวันละ 100 คน แต่ละวันผู้ป่วยจะเริ่มตรวจเลือดตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น.ซึ่งระหว่างการรอผลเลือดนี้ ผู้ป่วยก็จะเรียงคิวกันชั่งน้ำหนัก และวัดความดัน จากนั้นนักกายภาพบำบัดก็จะมาสาธิต การออกกำลังให้ผู้ป่วยโดยจะไม่เพียงแต่จะเน้นที่ท่าทางเท่านั้น แต่จะพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความสุข และยิ้มแย้มระหว่างการทำกายภาพบำบัด เสร็จสิ้นกระบวนการนี้ ผลเลือดก็ออกพอดี ซึ่งพยาบาลจะเรียกผู้ที่มีผลเลือดสูงในระดับอันตรายและสูงขึ้นกว่าเดิมมาทำกระบวนการกลุ่ม โดยให้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการดูแลตนเองและการควบคุมน้ำตาล กับผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี ซึ่งบางครั้งไม่สะดวกก็จะหาญาติผู้ป่วย หรือ ญาติของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่มีการดูแลตัวเองได้ดีมาเป็นผู้ให้ความรู้

ซึ่งบรรยากาศการแลกเปลี่ยนตรงนี้ ผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี ก็จะเล่าว่าตนมีพฤติกรรมในการทานอาหารอย่างไร ทานยาอย่างไร ทำไมระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้นแล้วก็ช่วยกันวิเคราะห์กัน และช่วยกันหาทางออก ซึ่งไม่เฉพาะผู้ที่ดูแลตัวเองได้ดีเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ความรู้ แต่ระหว่างกระบวนการกลุ่มพบว่าผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลสูงและควบคุมไม่ดี ก็สามารถมีข้อคิด และวิธีการดีดี พร้อมทั้งช่วยวิเคระห์ความรู้ในกลุ่มได้ ซึ่งหลังจากเสร็จกระบวนการนี้ พยาบาล เภสัช นักโภชนาการและนักกายภาพบำบัดก็จะสรุปเป็นความรู้ให้ผู้ป่วยฟังและนำไปใช้ได้จริง

ซึ่งหลังจากดูคลินิคเสร็จ ผอ.ประเทืองหน้าคุ้นๆ ว่าเคยเจอท่านเมื่อตอนไป KM  สัญจรก็ออกมารับน้ำไปดูรพ.พร้อมทั้งเล่าหนักคิด แนวคิดในการนำ KM มาใช้ในรพ.มีหลายเรื่องน่าประทับใจ ต่อCKO ของรพ.ตาคลี ที่ท่านเป็นคนเรียนรู้เร็วและมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง เพราะ เพียงหลังจากที่เราไปพบท่านเมื่อครั้งKM สัญจร 1 เดือนให้หลัง ท่านอ่านหนังสือเพื่อศึกษาKM ทั้งหลักคิดแนวคิด จากทุกหนทุกแห่งที่ท่านจะแสวงหาได้ แต่ที่เป็นหลักฐานยืนยันด้วยสายตาก็คือ หนังสือ 15 เล่มที่นายแพทย์ประเทือง อ่านภายใน 1 เดือนที่ว่านี้คือ

1.การจัดการความรู้ สู่ปัญญาปฎิบัติ

2. การจัดการความรู้ในองค์กรธุรกิจ (knowledge Management For Business Firms )

3.การจัดการความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ

4.องค์กรแห่งการเรียนรู้ และการบริหารความรู้

5.การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้

6.องค์กรชั้นยอด การจัดการ คน +ความรู้

7.การจัดการความรู้กับคลังความรู้

8.MEASUREMENT ANALYSIS KNOWLEDGE MANAGEMENT

9. การเทียบเคียง Benchmarking Basice

10.PORTFOLIO กับการศึกษาไทย (ของบูรชัย ศิริมหา)

11. เทคนิคในการนำความรู้สู่ความได้เปรียบในการแข่งขัน Working Knowledge

12.คิดอย่างเป็นระบบและเทคนิคการแก้ปัญหา Systematic thinking & Problem Solving Technigue

13.ปัญญาญาณ

14.การใช้Portfolio เพื่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดผล (ดร.สวัสดิ์ ตี๋ชื่น)

อีก1เล่ม ผู้เขียนจำไม่ได้ค่ะ ขออภัย

และที่บอกว่าท่านอ่านแน่นอนก็เพราะเห็นมากับตาว่า หนังสือทุกเล่มเต็มไปด้วยรอยขีด เขียน เลอะไปหมดทั้งๆที่เป็นหนังสือใหม่ อีกทั้งเมื่อท่านอ่านจบยังสรุปย่อหลักสำคัญๆ ไว้เป็นเล่ม ๆ ให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะ KF อ่านกันถ้วนหน้า (น้ำสอบถาม พยาบาลคนหนึ่งเขาบอกว่าถ้ามีหนังสืออย่าไปให้ผอ.ประเทืองยืมเชียว ไม่อย่างนั้น หนังสือเละกลับมา แล้วท่านผอ.ยังจะพูดกลับมาหน้าตาเฉยด้วยว่า "ถ้าไม่ขีดก็ไม่จำซิ ว่ะ"

นี่ยังไม่รวมถึงโมเดลการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ที่ท่านจับใจความสำคัญของหนังสือและจากการศึกษาต่าง ทั้ง KM HPH HA หลักการบริหาร ท่านก็เอามายำรวมกัน แล้วสร้างเป็นโมเดลในแบบฉบับของ ผอ.ประเทือง เอง ถ้าไม่เชื่อให้ไปดูช้างตัวหน้าห้องประชุม ที่นับวันมันยิ่งจะแบกรับนวัตกรรมการเรียนรู้ของผอ.ประเทืองหนักขึ้นๆ ทุกวัน ๆ แต่น่าแปลกที่ดูแล้วเจ้าหน้าที่ ที่รพ.ตาคลีทุกคนยังดูไม่เหนื่อยล้า แม้จะอยู่ในช่วงที่เพิ่งผ่านการประเมินมาหมาด (ไฟก็ยังไม่มอด) และแม้จะมีโมเดลอะไรมา พวกเขาก็ดูเหมือนจะไม่หวั่น เนื่องจากท่านผอ.ประเทืองไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องยาก ไม่ได้ทำให้เป็นข้อบังคับ

สำหรับ การ ลปรร. ที่โรงพยาบาลตาคลีไปร่วม ลปรร. กันทั้งจังหวัดกับอีก 14 รพ.นั้น ท่านผอ.ประเทืองก็สรุปออกมาให้เราได้เห็นกันชัดๆ ไปเลยแบบนี้ค่ะ  

 

 ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเครือข่าย จ.นครสวรรค์มาใช้ 9 ประเด็นคือ (จากคลังความรู้ที่ ลปรร.กันทั้ง จังหวัดนครสวรรค์ ได้ 23 เรื่อง)

1.การจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลก ให้ผู้ป่วยเบาหวานมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และให้รางวัลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีตลอดทั้งปี

2. ผู้ป่วยที่มีปัญหา Hypoglycemia /Hyperglycemia จัดกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

3.จัดกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยทีมสหวิชาชีพที่แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน ในชุมชน รวบรวมความรู้ที่ได้เป็นคลังความรู้

 4.วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานทุกรายที่นอนโรงพยาบาล

 5.จัดเจ้าหน้าที่ที่เป็นเบาหวานให้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ป่วย

6. จัดทำFlow chart การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่แผนกผู้ป่วยนอก ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน และแผนกผู้ป่วยใน

7.ทบทวน CCCTHER โดยสหสาขาวิชาชีพ และครอบครัวของผู้ป่วย

8.รวบรวมคลังความรู้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่นวารสาน ตำรา

9. กำหนดเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องติดตามดูแลรักษาที่บ้าน


  นอกจากนี้รพ.ตาคลียังได้นำแนวทางการจัดการความรู้ลงสู่ศูนย์สุขภาพชุมชน ในอ.ตาคลีจำนวน 15 แห่ง ในเรื่องการให้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์ ในกรณีที่ระดับน้ำตาลมากกว่า 180 mg/di ติดต่อกันเกิด 2 ครั้งให้ส่งพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 2.ส่งผู้ป่วยเบาหวานตรวจสุขภาพที่รพ.ปีละ 1 ครั้ง 3.จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และจัดกิจกรรมวันเบาหวานโลกร่วมกัน รพ.ตาคลี ทั้งนี้ให้ผอ.ศูนย์สุขภาพมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกระบวนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วย

ที่จริงน้ำอยากนำเสนอโมเดล ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการยำรวมหลักคิด แนวคิด ต่างๆ ที่ผอ.ประเทืองท่านขวนขวายมาได้ให้ฟัง แต่เอาไว้คราวก่อนค่ะ
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2249เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2005 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท