ขุมความรู้ KA:Knowledge Assets การจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้


สะกัดขุมความรู้จากการจัด "ตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 1"

จากความเข้าใจของผู้เขียน การสะกัดขุมความรู้ หรือขุมทรัพย์แห่งปัญญา (knowledge Assets) นับเป็นเทคนิคการจัดการความรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อเนื่องมาจากเทคนิคการเล่าเรื่อง (Telling story) ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในดำเนินงานขั้นต่อไป  

ภายหลังจากที่สมาชิกโรงเรียนเครือข่ายการปฏิรูปการเรียนรู้  ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความรู้ที่หลากหลาย  เมื่อคราวที่เราได้ร่วมกันจัดตลาดนัดความรู้   ครั้งที่ 1 ในวันที่ 30 ก.ค.48 ณ หอประชุมจิระวิทยาคาร โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ปรากฏผล
เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

ผลจากการสะกัดขุมความรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้       ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุดมีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้    

1.การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  โรงเรียนได้มีการปรับหลักสูตรสถานศึกษาโดยใช้บริบทของท้องถิ่น เช่น การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา"บริบทอยุธยามรดกโลก" ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  การจัดทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับอาชีพในท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านคลองตะเคียนหมู่ 2
โดยให้นักเรียนได้ฝึกอาชีพการทำขนมโรตี สามารถขายได้  การสอนศิลปะการต้อสู้"มวยไทย"ของโรงเรียนเทศบาลวัดแม่นางปลื้ม  การสอนภาษาจีนโดยเจ้าของภาษา ของโรงเรียนเสริมมิตรวิทยาเป็นต้น

2.การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทีหลากหลายทั้งในและนอกโรงเรียน โดยมีการจัดทำแผน    การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และมีการใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชน/  ท้องถิ่นที่หลากหลาย มีการสำรวจอาชีพในชุมชนและเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เรียน เช่น การให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการศึกษา ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้และ "สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว" ซึ่งโรงเรียนแสนโกศิกนุสรณ์และโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้ดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาพันธุ์ไม้ "โสน" ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา สามารถนำมาบูรณาการในกิจกรรมการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระ   ดังนั้นพบว่าโรงเรียนเครือข่ายหลายแห่งได้นำ  นักเรียนไปศึกษาเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและได้เชิญผู้กครอง/ชุมชนมาเป็นวิทยากร    ให้ความรู้ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง

3.การระดมสรรพกำลังในการบริหารจัดการศึกษา  โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้ครู และบุคลากรทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชนในการสนับสนุนทรัพยากรในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เช่นกรณีของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาได้มีการจัดตั้งกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทร STAR (Small Team Activity Relationship) โดยให้ครูและบุคลากรทุกคนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมพัฒนาผู้เรียน"  โรงเรียนเทคโนโลยีอยุธยาได้จัดศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสามารถให้บริหารประชาชนในท้องถิ่นด้วย

สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับ "แนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ"
สถานศึกษาควรดำเนินการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ ดังนี้
1. สู่โลกกว้าง  - นำนักเรียนไปศึกษาแหล่งเรียนรู้และใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
2. ทางอาชีพ   - ฝึกอาชีพและสร้างงานสร้างรายได้ควบคู่กันไป
3. รีบเล่าเรื่อง   - ให้มีการเล่าเรื่องถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้โดยผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. เปรื่องความชอบ - ผู้เรียนได้ศึกษา เรียนรู้ตามความชอบ ความถนัด ความสนใจ
5. กอปรกิจกรรม - จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
6. ทำจริงจัง     - ผู้บริหารและครูผู้สอนต้องทำจริงจัง ด้วยความเต็มใจและต่อเนื่อง
7. ตั้งโครงงาน - ให้นักเรียนทำการศึกษาค้นคว้าในลักษณะ "การทำโครงงาน"ตามความสนใจ
8. สานกำลังใจ - มีการเสริมแรง ให้กำลังใจผู้ร่วมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
9. อนามัยสมบูรณ์ - ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี


ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
จากการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ พบว่า ความสำเร็จในการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีดังนี้
1. ผู้บริหาร ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  มีการกระจายอำนาจในการบริหาร เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมในการบริหารงาน
2. ครูผู้สอน ต้องปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนโดยเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างสมดุล     ทุกด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณธรรมจริยธรรม
3. ผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีส่วนร่วมสนับสนุน ส่งเสริมตามศักยภาพความพร้อม ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น การส่งเสริม สนับสนุนของเขตพื้นที่การศึกษา  คณะกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

จากการจัดตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าสถานศึกษาต่างๆสามารถนำประสบการณ์ ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2548 ณ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จะมีการระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เจาะลึกถึงตัวผู้เรียนมากขึ้น  ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนเครือข่ายทุกโรงเรียนเตรียมประสบการณ์หรือนำผลงานของนักเรียนมาแสดงอย่างเต็มที่ครับ


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2226เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2005 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบพระคุณมากครับที่กรุณาเอาขุมความรู้ขึ้นบล็อก  ถ้าจะกรุณาทะยอยเอาเรื่องเล่าเด็ดๆมาลงไว้ด้วยก็จะยิ่งดีครับ

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณคุณหมอวิจารณ์และทีมงาน สคศ.ที่ได้สนับสนุนให้กำลังใจมาโดยตลอด

ผมมีเรื่องที่ติดค้างไว้ตั้งใจจะนำเรื่องเล่าเด็ดๆเก็บตกจากตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 1 มาเล่าสู่กันฟัง วันนี้ขอสัก 1 เรื่อง เรื่องมีอยู่ว่าโรงเรียนเครือข่ายของเราที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีมาไกลที่สุดจากเมืองแม่กลอง "สมุทรสงคราม"  2 โรงเรียน คือผู้บริหารโรงเรียนวัดศรัทธาธรรมและโรงเรียนวัดแก่นจันทร์  โดยผู้บริหารโรงเรียนแรกเล่าให้ฟังว่าโรงเรียนได้ทำหลักสูตรสถานศึกษา "ลุ่มน้ำแม่กลอง" บูรณาการการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งภาคเช้าเรียน 6 วิชา ภาคบ่ายจะจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะบูรณาการทั้งหมด 5 วัน   ผู้บริหารโรงเรียนที่สองเล่าว่าโรงเรียนของท่านเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก    มีครูสุภาพสตรีล้วนๆ อายุ 49 ปีขึ้นไป  จำนวน 11 คน เป็นอาจารย์ 3    2 คน แต่ทุกคนล้วนมีไฟในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และทำงานร่วมกันเป็นทีม เนื่องจากแม่กลองเป็นเมืองแห่งนักดนตรีไทยดังนั้นโรงเรียนจึงส่งเสริมให้มีโครงการ "1 นักเรียน 1 เครื่องดนตรี"

วันนี้ยกเรื่องเล่ามาเรียกนำย่อยเพียงบางส่วน โปรดติดตามตอนไปครับ

 


 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท