นู๋ปุ้ย
นางสาว ชฎาภรณ์ ปุ้ย ชำฆ้อ สนิมคล้ำ

ขั้นตอนของเทคนิคเอไอซี (A-I-C)


ขั้นตอนของเทคนิคเอไอซี (A-I-C)
                บุคคล  ชุมชน  องค์กร  และสังคม  ล้วนมีพลังสร้างสรรค์แฝงเร้นอยู่มากมาย  แต่มักนำมาใช้น้อยทำให้เกิดความทุกข์ยากอึดอัดขัดข้องและความเสียหายนานัปการโดยไม่จำเป็น  หากบุคคล  ชุมชน  องค์การและสังคมรู้จักใช้วิธีระดมพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้ว  โดยธรรมชาติจะเกิดพลังมหาศาลนำไปสู่การสรรค์สร้างความเจริญและสันติสุขให้แก่บุคคล  ชุมชน  องค์กร  และสังคมนั้นได้โดยไม่ยากพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวบุคคล  ชุมชน  องค์กรและสังคมที่สำคัญและเป็นประโยชน์
                ประหยัด  จตุพรพิทักษ์ (2540)  ได้ให้ความหมายของ  กระบวนการ  เอไอซี (A-I-C)  ว่าเป็นพลังปัญญาที่สร้างสรรค์ที่มีอยู่ในบุคคล  กลุ่มคน  องค์กรชุมชน  และสังคม  และเป็นพลังทางการพัฒนา  ได้แก่

1. พลังความรักและความซาบซึ้งใจ (Appreciation) คือ  การมีความรัก  ความเมตตา  ปรารถนาดี  เป็นมิตร ซาบซึ้งคุณค่า  รับรู้  เข้าใจ  ใส่ใจ  ต่อสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา  ไม่ว่าจะเป็นบุคคล  กลุ่มคน องค์กร  ชุมชน  สังคม  ธรรมชาติ 

ทรัพยากร  วัตถุสิ่งของ  ปรากฎการณ์  เหตุการณ์  สถานการณ์  และอื่น ๆ

2. พลังความคิดและการมีปฏิสัมพันธ์ผสมผสาน (Influence)  คือ  การใช้ความคิดริเริ่ม  ความคิดสร้างสรรค์ 

การวิเคราะห์  สังเคราะห์  การใช้ปัญญา  การใช้ปรีชาญาณ  ทั้งนี้โดยการเน้นความคิดร่วมกัน  แลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กัน  ผสมผสานกันด้วยความเป็นมิตร  ความปรารถนาดี  พร้อมทั้งให้เกียรติและความเคารพซึ่งกันและกัน

3. พลังความพยายามและการควบคุมจัดการ (Control)  คือ  การมีความมุ่งมั่น  ผูกพันและรับผิดชอบที่จะปฏิบัติภารกิจซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของตนให้ดำเนินไปด้วยดี  จนกระทั่งผลสำเร็จ  รวมถึงการรู้จักวางแผน  จัดระบบ 

จัดคน  จัดทรัพยากร  สร้างความเข้าใจ  สร้างกำลังใจ  สร้างความร่วมมือ  ประสานงาน  ควบคุมการปฏิบัติงาน  ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน  และปรับปรุงพัฒนางานหรือภารกิจอย่างต่อเนื่อง

เอไอซีทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift)  หมายถึง  การที่ปัจเจกบุคคลได้รับข้อมูลและเกิดการเรียนรู้และทำให้ทัศนะพื้นฐานมุมมอง  ทัศนคติ  ค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างของปัจเจกบุคคลเปลี่ยนแปลงไป  ทำให้แผนการคิดการปฏิบัติของบุคคล  สังคมเปลี่ยนไปบางส่วนหรือทั้งกระบวน  เอไอซีทำให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา  ดังนี้

1. การพัฒนาที่จะทรงพลังมีประสิทธิภาพและได้ผลสูงสุดต้องเป็นการพัฒนาที่ระดมพลังที่จะสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนฐานของการรู้รักสามัคคี

2. การพัฒนาที่พึงปรารถนา  คือ  การพัฒนาที่เป็นการบูรณาการใช้วิธีการอันเป็นองค์รวม (Holistic  Method) 

เข้าใจและเห็นคุณค่าร่วมกัน  นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดี  สมดุล  และยั่งยืน

3. การพัฒนาที่บูรณาการได้  ต้องมีประชาชนและชุมชนเป็นแกนหลักโดยเป็นผู้กำหนดความต้องการพัฒนาเป็นผู้ดำเนินและเป็นผู้รับผลกระทบของการพัฒนาเอง

4. องค์กรชุมชนและการศึกษาเรียนรู้ของชุมชน  คือ  กลไกและกระบวนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสม  สอดคล้องกับสถานการณ์มีประสิทธิภาพ  ตลอดจนมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

5. การเรียนรู้จากการปฏิบัติภารกิจร่วมกันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ  สอดคล้องกับความเป็นจริงในมิติต่าง ๆ ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (เจริญ  ฟองศรี, 2542)

เทคนิค A-I-C  เป็นวิธีการที่รวมพลังปัญญา  และพลังสร้างสรรค์ของแต่ละคนเข้ามาเป็นพลังในการพัฒนา  ซึ่งมีขั้นตอน 3 ขั้นตอน  ดังนี้ (อรพินท์  สพโชคชัย, 2537)
1.       ขั้นตอนการสร้างความรู้ (Appreciation หรือ A)
          เป็นขั้นตอนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์  ขั้นตอนนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนแสดงข้อคิดเห็นรับฟัง  และหาข้อสรุปร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตย  โดยใช้การวาดรูปเป็นสื่อในการแสดงข้อคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

1.1    การวิเคราะห์สถานการณ์ของหมู่บ้านในปัจจุบัน (A1)

1.2    การกำหนดอนาคตของหมู่บ้านว่าต้องการให้เกิดการพัฒนาในทิศทางใด (A2)

2.       ขั้นตอนการสร้างแนวทางการพัฒนา (Influence หรือ I)
                คือขั้นตอนการหาวิธีการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง (A2 )  และเป็นช่วงการหามาตรการหรือวิธีการในการพัฒนาและการค้นหาเหตุผลเพื่อจัดลำดับตามความเห็นของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ

2.1    การคิดโครงการที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์

2.2    การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ  โดยแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ  กิจกรรมหรือโครงการที่ชาวบ้านทำเอง  กิจกรรมหรือโครงการที่ชาวบ้านทำเองบางส่วนและขอความช่วยเหลือจากแหล่งทุนภายนอก  และกิจกรรมหรือโครงการที่สามารถขอทุนอุดหนุนจากภาครัฐโดยผ่านตำบล

3.       ขั้นการสร้างแนวทางปฏิบัติ (Control หรือ C) 
                คือการนำเอาโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ มาสู่การปฏิบัติและจัดกลุ่มผู้ดำเนินงานซึ่งจะรับผิดชอบต่อโครงการหรือกิจกรรมขั้นตอนนี้  โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่  (1) การแบ่งกลุ่มรับผิดชอบ  (2) การตกลงในรายละเอียดในการดำเนินงาน

คำสำคัญ (Tags): #aic
หมายเลขบันทึก: 222433เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้เกี่ยวกับ AIC เพราะไม่เคยรู้จัก AIC มาก่อนเลยว่าคืออะไร ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท