สอนเด็กให้กตัญญูพาเขาไปงานประเพณีวันรับ-ส่งตายาย


ประเพณีวันรับ-ส่งตายาย

ร้านเปรต สำหรับวางสิ่งของให้บรรพบุรุษที่อาจจะเป็นเปรต และเด็กๆชาวบ้านก็ชิงเปรตได้

สิ่งแวดล้อมทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นครู คำกล่าวนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เด็กๆได้ความรู้ได้ความเข้าใจ ตระหนัก ตลอดจนก่อเกิดเป็นนิสัยได้จากสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กไม่ต้องเรียนรู้จากชั้นเรียนแต่เรียนรู้จากบ้าน จากประเพณีในท้องถิ่นของเขาเอง

การสอนให้เด็กกตัญญู ทำได้หลายๆวิธีไม่เฉพาะพาเขาไปงานประเพณี การปฏิบัติตนเป็นลูกกตัญญูให้ลูกเห็น เช่น ประพฤติตนเป็นคนดี ให้เงินเป็นค่าเลี้ยงดู ซื้อข้าวของไปให้ ปรนนิบัติบีบนวด พูดคุยด้วยความไพเราะ แสดงความรักเคารพ ไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย พาไปหาหมอ พูดให้ได้ยินว่าคิดถึงและเป็นห่วง ไปเยี่ยมบ่อยๆ ฯลฯต่อ ปู่ย่า ตายาย แต่การสอนโดยใช้สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วก็ไม่อยากให้ละเลย เพราะเป็นนาทีที่มีค่าจริงๆ

วันรับ-ส่งตาย ก็คือวันสารทไทยที่คนไทยทั่วไปรู้จัก ส่วนภาคใต้เรียกวันบุญเดือนสิบบ้าง สารทเดือนสิบบ้าง หรือวันรับ-ส่งตายายบ้าง สำหรับผู้เขียนคุ้นเคยกับวันรับ-ส่งตายายมากกว่า เพราะได้ยินคุ้นหูตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน

วันรับ-ส่งตายาย หมายถึง วันที่ลูกๆหลานๆทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ผู้เป็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว วันนี้สืบทอดมาตามคตินิยม ทางพุทธศาสนา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันรับตายาย และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า วันส่งตายาย วันรับตายและส่งตายาย ห่างกัน 15 วัน เชื่อกันว่าในวันนี้บรรพบุรุษจะถูกปล่อยมาเยี่ยมลูกหลาน รับบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศให้เป็นเวลา 15 วัน เมื่อมาถึงบ้านเห็นลูกหลานให้การต้อนรับ ประพฤติดี มีความสุข ท่านก็จะดีใจ แต่ถ้าลูกหลานไม่มาต้อนรับ(คือไม่มาทำบุญที่วัด)มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความทุกข์ ท่านก็จะร้องไห้ เสียใจ จึงเป็นเรื่องที่ลูกหลานจะต้องใส่ใจรัก สมัครสมานสามัคคีในพี่น้อง บรรพบุรุษจะได้ดีใจและอวยชัยให้

ในวันนี้ลูกหลานจะต้องจัดทำอาหารหวานคาว อย่างประณีต จัดดอกไม้ ธูปเทียน และของตักบาตร ประกอบด้วยขนม ข้าว ผลไม้ ลูกหลานจะแต่งตัวสวยงามเป็นพิเศษเพื่อไปทำบุญที่วัด การไม่ไปทำบุญในวันนี้พ่อ แม่ของผู้เขียนบอกว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ก็จะนั่งร้องไห้เสียใจ เพราะเห็นลูกหลานของคนอื่นมา แต่ของตนเองไม่มา พ่อกับแม่บอกว่า แล้วถ้าปู่ย่า ตายาย คือเรา เราจะรู้สึกอย่างไร สอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

สิ่งหนึ่งที่ลูกหลานไม่ทราบก็คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ตกนรกไปเป็นผีเปรตบ้างหรือเปล่า ลูกหลานทุกคนจึงต้องทำบุญให้ด้วย โดยนำของคาวหวาน ผลไม้ เงิน (เงินมักจะใส่ไว้ใต้กระทงข้าวเป็นเหรียญบาท เหรียญห้า หรือเหรียญสิบ)ไปวางไว้บนร้านเปรตที่ทางวัดทำไว้ล่วงหน้าก่อนถึงวันงาน และร้านเปรตนี้ทุกคนสามารถชิงเปรตได้คือ การแย่งกัน เก็บเงินในกระทง เอาของกินที่ตัวเองชอบได้ ซึ่งเป็นอุบายในการทำทาน การทำบุญจะได้ถึงบรรพบุรุษที่เป็นเปรต ทำให้งานประเพณีเต็มไปด้วยสาระและความสนุกสนาน

เมื่อครบ 15 วันถึงวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบก็จะเป็นวันส่งตายาย วันรับตายายเป็นวันพิเศษ วันส่งตายายยิ่งพิเศษกว่า เพราะนอกจากจะเตรียมข้าวของแบบวันรับตายายแล้วจะต้องเตรียมของเพิ่มเติม คือเทียนไข ไว้ให้ตายายจุดให้แสงสว่างยามค่ำคืน พริก กะปิ เกลือ ฟักทอง ฟักเขียว (ผักที่เก็บได้นาน) ของแห้ง ประเภทปลาแห้ง หอม กระเทียม ขนมบ้า ขนมพอง เพื่อเป็นเสบียงในระหว่างการเดินทางกลับของปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ขนมที่ใช้ในการทำบุญในวันรับ-ส่งตายายแต่ละท้องถิ่นคล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องชนิดของขนม และขนมแต่ละชนิดล้วนมีความหมายต่อบรรพบุรุษ เช่นขนมลา (คือผ้านุ่ง ผ้าห่ม และยังหมายถึงขนมที่ถ้าบรรพบุรุษที่เป็นเปรตสามารถรับประทานได้ง่าย เพราะเปรตจะมีปากเล็กเท่ารูเข็ม ท้องโต มือใหญ่เท่าใบตาล ขนมลามีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ) ขนมบ้า ปรียบเหมือนสะบ้าสำหรับเป็นของเล่นยามว่างระหว่างเดินทางกับเพื่อนๆ ขนมพองเปรียบเหมือนแพไว้ข้ามฟากแม่น้ำ

สาระสำคัญของประเพณีรับ-ส่งตายาย คือ การแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไม่ว่าบรรพบุรษจะอยู่ในสภาพใด ในวันส่งตายายจึงต้องนำเอากระดูกซึ่งบรรจุไว้ในโกศไปวัดเพื่อบังสุกุลให้แก่บรรพบุรุษ บางบ้านก็มี 2 โกศ บางบ้านก็มี 3 โกศ หรือหลายๆโกศ นอกจากนี้เมื่อพระฉันอาหารในสำรับเรียบร้อยแล้ว พ่อ แม่ ก็จะนำอาหารออกมาใส่กระทงที่เตรียมไว้ และนำไปไว้ตามใต้ต้นไม้ เพื่อให้กระจอกงอกง่อย หรือสุนัข นกหรืออื่นมากินเพื่อเป็นทานในวันนี้ ฉะนั้นประเพณีนี้จึงไม่ควรให้ผ่านไปโดยไร้ความหมาย ให้เด็ก ๆ ลูกหลานได้สัมผัสกับงานประเพณีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การร่วมทำอาหาร การเตรียมข้าวของไปวัด การเข้าร่วมพิธี รวมทั้งสาระสำคัญของงานพิธี และสอนเขาว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เมื่อลูกหลานมีความสำนึกในความกตัญญูกตเวีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เขาก็จะกตัญญูต่อบุพการีที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่ต้องบอกเขาเลยว่า กตัญญูกับพ่อแม่บ้าง แต่เขาถูกสอนโดยประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ฉะนั้นเราจึงจะต้องสืบสานประเพณีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้เขียนได้รับการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้จากครอบครัว และได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน โดยโรงเรียนจะปิดให้ไปทำบุญกับครอบครัว ครอบครัวอย่าละเลยเสียเอง จะทำให้เสียโอกาสดีๆที่จะสอนลูกหลานให้กตัญญูจากประเพณีของ ภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่นี้

สัมภาษณ์เพิ่มเติมจาก คุณแม่แก้ว สาระคง (แม่ดีเด่นแห่งชาติ) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

หมายเลขบันทึก: 221746เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2015 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท