๓๓. เงาหัวกับตัวตน...เงื่อนไขสงครามสมมติ


"...ตัวตนและสิ่งสมมติชั่วคราว จึงเป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อปัจเจกและสังคมอย่างยิ่ง..."

              การละเล่น เป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ที่รอบด้านสำหรับเด็กๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นการเล่น ทว่า สาหรับเด็กๆแล้ว กลับจริงจัง ใส่จิตใจและมีความเป็นชีวิต 

              สื่อกิจกรรมและการเล่นจึงเป็นแหล่งสร้างประสบการณ์ บ่มเพาะให้เด็กๆเจริญเติบโต ครอบคลุมไปถึงการสร้างเสริมวุฒิภาวะและพัฒนาความเป็นพลเมือง มีจิตใจที่เปิดกว้างให้กับผู้อื่น 

              สามารถเห็นความเป็นตัวของตัวเองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนและชีวิตส่วนรวม

             การเล่นบางอย่างไม่สนุกในตอนเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นแล้วกลับให้แนวคิดที่ดี เช่น การวาดวงกลมและท้าทายเหยียบเงาหัวกัน เมื่อมีการทะเลาะและไม่ยอมเลิกรา

             การเล่นอย่างนี้  มักเกิดขึ้นจากเด็กๆ ทะเลาะหรือไม่ยอมลงให้กัน 

            หากเป็นคนที่ไม่เสียเปรียบหรือได้เปรียบกันมากนัก พวกผู้ใหญ่หรือเด็กๆที่ตัวโตกว่า  ซึ่งแทนที่จะเข้าห้ามปราม ก็อาจจะกลับนึกสนุก โดยยุแหย่และสร้างเงื่อนไขให้งัดเอาตัวตนแบบสมมติกันสดๆ มากระทบและเข่นกันเล่นๆไปเลย

             วิธีการก็คือ เมื่อเด็กๆที่ทะเลาะกัน เมื่อแยกก็ไม่ยอมแยกออกจากกัน ก็จะมีคนเข้าไปห้ามปรามชั่วคราว แล้วก็จับไปยืนกลางแดด 

             เสร็จแล้วก็ใช้ไม้วาดลงไปบนเงาศีรษะของแต่ละคน หรือไม่ก็วาดวงกลมด้านหน้าของแต่ละคน 

             แล้วก็สมมติว่า รูปที่วาดนั้น เป็นเงาของแต่ละคน หรือเป็นเงาพ่อ-เงาแม่ของแต่ละฝ่าย 

             ใครแน่จริงก็เหยียบเงาสมมติของฝ่ายตรงข้าม  ส่วนคนอื่นก็จะมุงดูและคอยเป็นกรรมการ

             เท่านี้แหละครับ ได้เรื่อง และเป็นเรื่องเป็นราว

             ตัวตนและเงื่อนไขสงครามซึ่งมีพื้นจิตใจมุ่งขจัดผู้อื่นได้เกิดขึ้นแล้ว เลยก็นำไปสู่การต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย จากปมที่สมมติและสร้างขึ้นมาง่ายๆ ผู้ใหญ่และคนภายนอกจะเห็นเป็นการเล่น  ทว่า ผู้เล่น เล่นอย่างเป็นเรื่องจริง

             ที่สุด หากไม่ต่างก็โผกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันฝุ่นตลบ  ก็จะกลายเป็นยืนแผ่ซี่โครงบานใส่กันฟ่อๆ คุมเชิงกันกลางแดดโดยที่ต่างก็ไม่กล้าทำอะไรกัน 

              ยิ่งเขียนเป็นวงกลมและบอกว่าเป็นเงาของพ่อ-แม่ละก็  ต่างก็มักจะยืนคุมเชิงกันอยู่อย่างนั้น

             ไม่ถอย แต่ก็ไม่กล้าเหยียบลงไปบนวงกลม ที่สมมติว่าเป็นพ่อแม่ของแต่ละฝ่าย ต้องมีคนมายกเลิกและลากไปกินข้าวกินปลา สักครู่ก็จะกลายเป็นนั่งคุยกันคิกคัก

             พอปรับเปลี่ยนอริยาบทและกระบวนการคิดเปลี่ยน เงื่อนไขต่างๆก็เปลี่ยนไป พอนึกอยากเล่น ก็หมุนเวียนกลับมาเล่นกันได้อีก

             ตัวตนและสิ่งสมมติชั่วคราว จึงเป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อปัจเจกและสังคมอย่างยิ่ง การจัดกระบวนการเรียนรู้และให้ประสบการณ์ที่มีความหมายต่อการเรียนรู้ระดับดังกล่าว จึงสามารถดัดแปลงสู่การเล่นและการจัดสื่อกิจกรรมให้แก่กลุ่มการเรียนรู้ของเด็ก 

           มิติการศึกษาเรียนรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาในสาขาต่างๆ ที่ทำงานกับกลุ่มเด็ก ครอบครัว  และเยาวชน  สามารถออกแบบและจัดกิจกรรมการเล่น ให้เป็นสถานการณ์การเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่  กลุ่มผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่เป็นพี่เลี้ยง คอยกล่อมเกลาทางความคิด พาคิด-พาเล่น ก็จะได้อะไรมากมาย.

หมายเลขบันทึก: 220674เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2008 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอ.วิรัตน์

เรื่อง เงาหัวกับตัวตน นี้ อ่านแล้วสนุกและนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานได้อย่างดีค่ะ

เรียนกับเล่น ... เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่เพียงสำหรับเด็ก แต่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรที่จะ เรียนรู้อย่างเล่น ๆ หากแต่เต็มไปด้วยการมีวิจารณญาณไปพร้อม ๆ กับการเคารพในกฎกติกาของสังคม

สังคมจะไม่คร่ำเคร่ง นักวิชาการจะได้พูดหรือสื่อสารให้ชาวบ้านร้านช่องเข้าใจได้ง่าย ๆ ในสิ่งที่จำเป็น ไม่เกิดช่องว่าง นักวิชาการไม่จำเป็นต้องพูดสิ่งยาก ๆ ใช้ศัพท์แสงอลังการ (ที่แม้บางครั้งตัวเองก็ยังไม่ถ่องแท้) จนผู้ฟังเกรงขาม ตัวตนหดเล็ก จนกระบวนการเรียนรู้ ที่เราต้องการให้เกิดในสังคมทุกระดับต้องหดหายไปอย่างน่าเสียดาย

อาจารย์ที่คนไม่มีรากรักและเคารพท่านไม่เสื่อมคลายคือ รศ.ดวงพร คำนูณวัฒน์ เคยบอกว่า คนเก่งต้องอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ไม่ใช่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก...

ขอบคุณข้อคิดดี ๆ ค่ะ....^_^....

คุณคนไม่มีราก ก็สื่อสารถ่ายทอดเรื่องวิชาการยากๆ ไม่เพียงให้เข้าใจได้ง่ายๆนะครับ แต่ได้สุนทรียรสในการอ่านมากๆ แถมมีศิลปะในการนำเอาภาพมาประกอบด้วย

คราวนี้เลยไม่แปลกใจ ลูกศิษย์ของพี่น้อย-ท่านอาจารย์ดวงพรนี่เอง ผมก็เป็นนักเรียนแบบครูพักลักจำจากท่านหลายเรื่องครับ ดีจัง

อาจารย์คะ

เกม "เงาหัวกับตัวตน" ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยนะคะเนี่ยะ .. แต่เป็นการละเล่นที่ทำให้เราพอมองเห็นว่าเด็กรุ่นก่อน(รึเปล่า)ถึงจะโกรธเคืองกันอย่างไร ก็ยังมีความเคารพในผู้ใหญ่ ไม่เหมือนเด็กสมัยนี้เลยนะคะ ^^

ไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร ไม่มีชื่อหรอกครับ เลยเรียกเอาตามลักษณะของกิจกรรม พอดีสอง-สามวันมานี้ มีทีมที่ได้ทำกิจกรรมค่ายเด็กและครอบครัวมานั่งทบทวนบทเรียนแล้วก็จะทำกิจกรรมกันในปีนี้อีก รวมทั้งผมเองก็จะเตรียมไปทำค่ายกิจกรรมชวนเด็กๆที่บ้านเกิดต่างจังหวัด ให้มาเรียนรู้เรื่องราวเก่าๆของชุมชน แล้วก็ชวนทำกิจกรรมการเล่นที่สนุกๆ มอบสิ่งของและทุนการศึกษาแบบเด็กๆ

อยู่ในบรรยากาศนี้ เลยมีเพื่อนๆมักนำเรื่องกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้พวกนี้มาเทกองให้ เลยรีบบันทึกเก็บไว้และนำมาคลี่ดูอีกรอบในด้านที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ดูประเด็นความน่าสนใจแล้วก็อาจจะไปพ้องเหตุการณ์ของสังคมนะครับ แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องกันเลยนะครับ ต่อๆไปก็ยังคงมีเรื่องลักษณะนี้อีก เกรงจะทำให้แง่มุมที่น่าสนใจพุ่งไปทางอื่นครับ

ผมเก็บรวบรวมเรื่องพวกนี้ไว้ตลอดเวลามาเป็นสิบปีแล้ว อยากทำหนังสือทำมือสวยๆเกี่ยวกับเรื่ององพวกนี้ ให้กับคนทำงานชุมชนเรียนรู้ ทั้งทางด้านสุขภาพและอื่นๆ

ก่อนนี้ก็รวบรวมตุนไว้เป็นชุดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุก แต่ตอนนี้มีกำลังวังชาในการเข้าใจได้รอบด้านมากขึ้น ก็ยังใช้ทำงานไปด้วยและนำกลับมาออกแบบเชิงแนวคิดเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้หลายมิติมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท