BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประกาศ (อีกครั้ง) : ไม่รับปรึกษางานวิทยานิพนธ์ทาง Email


ไม่รับปรึกษางานวิทยานิพนธ์ทาง Email

ผู้เขียนเคยประกาศครั้งหนึ่งแล้วว่า ประกาศ : ไม่รับตอบคำถามผ่านทาง Email แต่ก็ยังมีผู้ Email มาถามอยู่บ้าง ซึ่งผู้เขียนไม่เคยตอบอีกเลยหลังจากได้เขียนบันทึกนี้ไป...

คืนนี้ก็มีท่านมหาฯ รูปหนึ่งจะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง  วิวิฒนาการของพระอุปัชฌาย์ฯ  ถามมาอีก ซึ่งเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ขอออกตัวว่าไม่ถนัด เพราะมิได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และจากประสบการณ์ที่อยู่วัดมาเกินยี่สิบปี ผู้เขียนก็มักจะอยู่วัดที่ไม่มีพระอุปัชฌาย์ นอกจากนั้นการเป็นพระคู่สวดบวชนาคนั้น ผู้เขียนก็ผ่านมาน้อย... (อยู่ในห้องสมุดมากกว่าอยู่ในโบสถ์)

ตามความเห็นส่วนตัว ถ้าจะทำเรื่องนี้ น่าจะเริ่มต้นดังนี้ กล่าวคือ

  • ศึกษาระเบียบการเป็นพระอุปัชฌาย์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ และของเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  • สอบถามความคิดเห็นจากพระเถระผู้ใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเถระที่เป็นพระอุปัชฌาย์)
  • ศึกษาระเบียบวิธีวิจัยแล้วพยายามเลือกเฟ้นว่าจะเอาแบบไหน

ประเด็นว่าขาดข้อมูลนั้น ลองดู พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับต่างๆ จนกระทั้งถึงฉบับปัจจุบัน เน้นเฉพาะเรื่องพระอุปัชฌาย์และส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ค่อยไปค้นต่อตามกฎหมายลูกที่ พ.ร.บ. ให้อำนาจไว้ เช่น แถลงการณ์คณะสงฆ์ หรือ กฎมหาเถรสมาคม เป็นต้น... ซึ่งหนังสือพวกนี้ก็ค้นหาไม่ยาก ถ้าไม่รู้จะค้นหาที่ไหนก็ลองสอบถามพระเถระที่เป็นเลขาฯ เจ้าคณะอำเภอ จังหวัด หรือภาค ฯลฯ ซึ่งมักจะมีหนังสือจำพวกนี้อยู่ ...

ส่วนการวางกรอบโครงสร้างของเรื่องนั้น ต้องคิดเอง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ความถนัดและความชำนาญของแต่ละคน ถ้าไม่เพียรพยายามเอง ก็ไม่รู้อุปสรรคและการแก้ไข แต่เมื่อเรียนจบแล้วเราก็จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้โดยตัวเราเอง...

ตอนที่ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์นั้น มีวรรคทองอยู่สองวรรคของอาจารย์สองท่าน ท่านหนึ่งบอกว่า ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำไป... อีกท่านหนึ่งบอกว่า ผมไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ...

  • ขออำนวยพรให้ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ
  • เอวํ โหตุ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #วิทยานิพนธ์
หมายเลขบันทึก: 220622เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • นมัสการครับ หลวงพี่
  • งานนิพนธ์ ต้องเป็นการค้นคว้าและขวนขวายครับ จะมาให้เป็นที่ปรึกษาออนไลน์
  • ก็เท่ากับเป็นการยื่นงานตัวเองแบบไม่ใส่ใจในคุณภาพ
  • เห็นด้วยครับ ที่ไม่รับเป็นที่ปรึกษางานนิพนธ์ ออนไลน์

 

นมัสการพระคุณเจ้า

 คำว่าวิทยานิพนธ์ ช่วงนี้ได้ยินบ่อย

 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตามหลังมากับการจิจัย

.>ศึกษาระเบียบ

.>สอบถามตวามคิดเห็น

.>ศึกษาวิธี

"และค่อยๆคิด ค่อยๆทำ "

"ผมไม่เคยได้อะไรมาง่ายๆ "

ขอบคุณพระคุณเจ้า ผมพบเคล็ดวิชากำลังภายในของวิทยานิพนธ์แล้วครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • มากราบนมัสการประจำวัน  เจ้าค่ะ
  • ทำกันแปลก ๆ นะเจ้าคะ
  • คุณค่าของการศึกษาจึงลดลง 

Pคนพลัดถิ่น~natachoei(หน้าตาเฉย)

 

ไม่ถึงกับเป็นที่ปรึกษาตามระเบียบ เพียงแต่ขอความเห็นเท่านั้น ซึ่งอาตมาคิดว่า ความเห็นในเรื่องนี้นั้น มันไม่ค่อยมีประโยชน์ ไม่เหมือนกับการค้น คิด และสร้างกรอบระเบียบขึ้นด้วยตัวเราเอง...

.............

Pบังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--

 

สำหรับบัง (นักศึกษาปริญญาโท 5 5 5... ) แนะนำว่าให้ไปพลิกวิทยานิพนธ์ เล่มไหนน่าสนใจก็ยืมไปอ่าน... อ่านหลายๆ เล่ม นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ระเบียบวิธีวิจัย ภาคปฏิบัติที่สำเร็จรูป เราก็จะซึมซับมาจากวิทยานิพนธ์แต่ละเล่มนั่นเอง...

อาตมาอ่านวิทยานิพนธ์มาพอสมควร (น่าจะไม่ต่ำกว่าห้าสิบเล่ม) ที่ชอบอ่านก็คือ งานที่วิเคราะห์แนวคิดปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นลึกๆ ยากๆ ที่ไม่มีหรือหาได้ยากในหนังสือวิชาการทั่วไป หาอ่านได้จากวิทยานิพนธ์...

............

Pครูคิม

 

นักศึกษายุคอินเทอร์เน็ต มีอะไรก็ค้นหา สอบถามได้ วันก่อนลูกศิษย์มาเยี่ยมได้เล่าว่า เวลาทำรายงานก็ copy มาจากเน็ต แล้วก็มาตัดต่อแต่งเติม แล้วก็ผูกร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน ส่งอาจารย์... อาตมาคิดว่า อืม... ตอนเรียนไม่ได้ใช้ทำนองนี้เลย !

เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้วิถีการแสวงหาความรู้เปลี่ยนไป... แม้อาตมาเพิ่งกลับไปเรียนจบมาไม่นานนัก แต่ ๔-๕ ปีก่อน ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังค้นยาก มีน้อย ไม่เหมือนกับทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า อาตมาน่าจะเป็นยุคปลายที่ใช้แบบเก่าๆ คือ มิได้พึ่งอินเทอร์เน็ตในการศึกษา...

...........

เจริญพรคุณโยมทุกท่าน

 

นมัสการครับ

ผมมาแอบอ่านบลอดของพระคุณเจ้าตั้งหลายวันแล้วกว่าจะจบเล่นเอาเหนื่อยเลย ชอบการถกปัญหสทางปรัชญาด้วยครับ ตอนนี้ยังเป็นเสขะอยู่ รอให้มีวิชชาแก่กล้าจะขอมาถกปรัชญากับท่านต่อไปครับ

ผมดีใจที่มีภิกษุแบบนี้อยู่ในพระพุทธศาสนา ทำให้น่าเลื่อมใสยิงนัก

ไม่มีรูปslow ride

 

  • อนุโมทนา...

เจริญพร

(กราบ สามครั้ง)

นมัสการ พระคุณเจ้า

ผมก็เห็นด้วยครับ

และ ขอเสริม อีกนิด

ผมว่า แฟชั่น มันเป็นแฟชั่น การท่ำวิทยานิพนธ์ โดย การตอบ แบบสอบถาม (Questionnaire)

ซึ่ง ก็จะมี นักศึกษามากมาย มาให้ตอบ ... ผมมักจะปฏิเสธ แม้นจะขอ มาทาง e mail ก็ตาม

การทำ ปริญญาโท แบบ literature review หน้าหลายหน้า ตัวอย่างแบบสอบถาม อีก ครึ่งเล่ม และ การวิเคราะห์งานวิจัยจากผลการสอบถาม แบบห้วนๆ แบบ ไม่หา "ตัวแปร" (sensitivity analysis) ---> ผมว่า ทำให้ ปริญญาโท เมืองไทย "ด้อยคุณค่า" ลงไปเยอะ จนถึง "ไม่มีคุณค่า" เลยครับ

(กราบสามครั้ง)

นมัสการครับ พระคุณเจ้า

ผมเห็นว่า วิจัยส่วนมาก จะวิจัย ขึ้นตู้หรือวิจัยเก็บชั้นมากกว่าจะเป็นการวิจัยเพื่อนำไปแก้ไขพัฒนาปรับปรุงจริงๆ

ส่วนวิจัยที่นำไปแก้ไขปัญหาได้จริง ๆ นั้น ควรเป็นการวิจัยแบบยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาตนเองและสังคมมากกว่าครับ

Pคนไร้กรอบ

 

P ป.กุลวัฒน์

 

ประเด็นเรื่องการทำวิทยานิพนธ์น่าสนใจ ซึ่งมุมมองของแต่ละท่านก็แตกต่างกันไป...

วิทยานิพนธ์ตามที่คุณโยม คนไร้กรอบ วิจารณ์นั้น อาตมาก็เคยพลิกอ่านผ่านมาหลายเล่มแล้วเหมือนกัน และความเห็นก็เหมือนกับคุณโยมนะแหละ...

ส่วนวิทยานินธ์ตามที่คุณโยม ป.กุลวัฒน์ ประสงค์จะให้เป็นไปนั้น ก็เป็นความเห็นหนึ่งที่มีคุณค่าสูง ถ้าเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ...

ถ้าถืองานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์เพื่อค้นหา องค์ความรู้ บางอย่าง ก็อาจจำแนกได้ว่า...

  • ความรู้เพื่อความรู้
  • ความรู้เพื่อใช้งาน

ความรู้เพื่อความรู้ นั้น เมื่อได้มาแล้ว นับว่าเป็นภูมิปัญญาของชาติหรือมวลมนุษยชาติ ซึ่งประเทศไทยขาดการสร้างความรู้ชนิดนี้อย่างยิ่ง... ส่วน ความรู้เพื่อใช้งาน นั้น จะมีคุณค่าจริงหรือไม่ก็อยู่ที่ว่านำมาใช้งานได้แล้วจริง และทำให้ตนเองหรือสังคมพัฒนาขึ้นได้แล้วจริงหรือไม่...

แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่เล่นงานวิจัยเพียงเพื่อเงิน เกียรติยศ ชื่อเสียง มากกว่าสิ่งอื่น... ขณะที่นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ขอเพียงแค่เรียนจบก็มีให้เห็นทั่วไปเหมือนกัน...

เจริญพร

รับปรึกษา บ่ได้          ใยดื้อ ดึงดัน

เห็นว่าพระ อาจารย์     แกว่นแท้

ใจอยากพี่ง ตนเอง     ยังขาด มั่นใจ

เดินทางไป ต่อหน้า    ค่ารถ บ่มี....555

 

กราบ 3 หน

P นายขำ

 

ท่านเลขาฯ ว่ามาถูกต้อง ขาดความมั่นใจและมิได้ลุยเต็มที่... สำหรับเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ ความเห็นก็คือความเห็น ถ้าไม่เริ่มคิดเริ่มค้นเริ่มทำเอง ก็ไม่อาจดำเนินไปได้...

ถ้าเริ่มทำ ลองเขียนไปดู ให้อาจารย์ เพื่อนๆ หรือใครก็ได้ที่พออ่านได้ ผลที่สะท้อนออกมา นั่นแหละ จะบ่งชี้ถึงความสามารถของตนเองว่ามีจุดเด่นจุดด้อยประการใดบ้าง... ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ โครงสร้างก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นภายในใจของผู้ทำเอง... ส่วนจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความถนัดและชำนาญในเรื่องนั้นๆ ของแต่ละคน

เจริญพร

ที่จริง สภาพบังคับ ให้ต้องทำวิทยานิพนธ์ เป็นเส้นทางให้คนได้เรียนรู้วิธีการที่เป็นระบบ...แต่เรามักไม่ค่อยอยากทำกัน...การจ้างและการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย... 

การขอคำปรึกษาผู้รู้...จึงเป็นทางออกที่พอรับได้...ดีกว่าไปจ้างทำแล้วได้อะไรมาโดยไม่รู้เรื่องเลย...

ส่วนตัวผมรู้สึกเบื่อหน่ายการทำผลงานวิชาการ...ที่ไม่ใช่วิชชาเป็นอย่างยิ่ง(เพราะสุดท้ายก็สรุปได้ว่า เป็นอนิจจัง ขึ้นอยู่กับความไม่เที่ยงแท้แน่นอน...555)

...เนื่องจากผมเคยทำผลงานวิชาการมาแล้ว เสนอกรอบความคิดของตนเองที่เป็นความคิดแบบผุดบังเกิด(Tran self Escendence) แล้วเขียนเป็นแผนภาพ(Flow chart)...ให้ผู้ตรวจผลงานดู...

เขาถามว่า  เอามาจากไหน(อ้างอิงจากของใคร)...

ผมบอกว่า   ผมคิดเองครับ....

เขาหัวเราะงอหาย...ไม่ได้ มันต้องมีที่มา...

ผมงง...แล้วนึกในใจ ...เออ...ผลงานวิชาการเขาห้ามคิดออกเองด้วยเหรอเนี่ย...55555

P นายขำ

 

มีเรื่องเล่าในแวดวงปรัชญาว่า ลุดวิก วิตเกนสไตน์ เบื่อการเรียนปรัชญาสุดๆ จึงไปขอลาออกกับ เบอร์ทัลด์ รัซเซลล์ ซึ่งเป็นคณบดี ...

รัซเซลล์จึงถามว่า คุณลองบอกมาดูว่าเรียนปรัชญาแล้วมันน่าเบื่ออย่างไร ? ... วิตเกนสไตน์ จึงเล่าให้ฟังว่า.... รัซเซลล์บอกว่า ความคิดเยี่ยมมาก คุณไปเขียนมาเลย ผมจะเสนอสภามหาวิทยาลัย อนุมัติใ้ห้ปริญญาเอกแก่คุณ... 

โชคร้ายสำหรับท่านเลขาฯ ที่ไปเจอผู้ตรวจฝ่ายตรงข้ามกับรัซเซลล์ ถ้าเจอผู้ตรวจทำนองเดียวกับรัซเซลล์ ตอนนี้ท่านเลขาฯ อาจเป็นโปรเฟสเซอร์อยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ (5 5 5 ...)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท