การเตรียมการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ


การเตรียมการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ


          ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ 4 แห่ง   เข้าประชุมทีไรก็ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย   ช่วยให้มีความรู้กว้างขวางขึ้น   ได้เรียนรู้จาก “ผู้รู้” จริงหลากหลายสาขา


          วันนี้ (5 ส.ค.48) ประชุมสภา มศว.   ได้ฟัง ศ. ดร. วิจิตร  ศรีสะอ้าน   ให้ความเห็นเรื่องการเตรียมการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว   รู้สึกเหมือนได้เรียนรู้จากสุดยอดปรมาจารย์ด้านการบริหารระบบอุดมศึกษาและบริหารมหาวิทยาลัย   จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเขียนเล่าไว้


          ท่านบอกว่า   หัวใจของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐคือ   การเปลี่ยนสถานภาพเพื่อให้ทำภารกิจของอุดมศึกษาในยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น   ผมตีความว่าการเปลี่ยนสถานภาพไม่ใช่เป้าหมาย   แต่เป็นเครื่องมือหรือกลไก   โดยที่เป้าหมายคือการทำงาน   ทำหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ดีและมากกว่าเดิม


          หัวใจคือการมีระบบบริหารที่คล่องตัวและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานด้านอุดมศึกษา   และการบริหารที่สำคัญที่สุดมี 2 ระบบคือ   ระบบการบริหารงานบุคคล   กับระบบการบริหารเงินและงบประมาณ   จะต้องออกแบบ 2 ระบบนี้ใหม่ให้ดีกว่าของระบบราชการเมื่อมองจากมุมของการปฏิบัติหน้าที่อุดมศึกษา


          ในเรื่องคน   จะต้องตัดสินใจเลือกระบบ   ซึ่งมีอยู่ 2 ระบบคือ   ระบบ tenure system (จ้างงานตลอดชีพ)   กับระบบ contract system (จ้างงานตามสัญญาเป็นช่วงเวลา)   ซึ่งมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่   จะต้องออกแบบระบบที่มีความพอดีและเหมาะสมต่อบริบทไทย


          ในเรื่องเงิน   เดิมเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการ   มีระบบการเงิน 2 ระบบคือ   ระบบงบประมาณแผ่นดิน   กับระบบเงินรายได้   เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐก็จะมีระบบเดียว   แต่มีรายรับจาก 2 แหล่งคือ   จากงบประมาณแผ่นดินกับจากลู่ทางอื่น   แต่จะมารวมกัน   จัดการโดยกฎระเบียบเดียวกัน   มหาวิทยาลัยจะต้องอาศัยโอกาสที่ไม่ต้องผูกมัดอยู่กับระเบียบราชการ   ออกแบบระบบการเงินของตนให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ   โดยอาจศึกษาระบบกองทุนของสถาบันพระปกเกล้าหรือของมหาวิทยาลัยเอกชน


          ความเป็นอิสระ   ความคล่องตัวจะต้องคู่ไปกับระบบกำกับและตรวจสอบ   ซึ่งเวลานี้จะมีการตรวจสอบ/ประเมินภายนอกโดย  ทริส,  สมศ.,  และ สตง.   มหาวิทยาลัยในกำกับฯ ควรออกแบบ ระบบข้อมูล ให้สนองต่อระบบตรวจสอบภายในและขณะเดียวกันสนองต่อระบบตรวจสอบภายนอกทั้ง 3 ระบบ   หรือแม้มีการตรวจสอบในรูปแบบอื่น ๆ อีก   ก็สามารถมีข้อมูลให้ตรวจสอบได้โดยไม่เป็นภาระยุ่งยาก


          สรุปว่า   การออกนอกระบบราชการ   เป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้ออกแบบโครงสร้างองค์กรและกระบวนการบริหารขึ้นใหม่   ให้เป็น infrastructure ต่อการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่   ในยุค “สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน”   ผมหวังว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายจะไม่ปล่อยให้โอกาสดีเช่นนี้หลุดมือ (สมอง) ไป


          ตอนรับประทานอาหารเย็น   ผมได้เสนอต่ออธิการบดี  ศ. ดร. วิรุณ  ตั้งเจริญว่า   มหาวิทยาลัยควรออกแบบกติกาการทำงานของอาจารย์เสียใหม่   โดยมีเงื่อนไขให้ต้องออกไปเรียนรู้ร่วมกับสังคมชุมชน   ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม   ภาคธุรกิจบริการ   ภาคเกษตรกรรม   หรือภาคชุมชน – ชนบทก็ได้


                                                                                                วิจารณ์  พานิช
                                                                                                   5 ส.ค.48
                                                                                         โรงแรมดุสิตรีสอร์ท  พัทยา

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2205เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2005 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท