GotoKnow

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๑๙)

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2548 08:07 น. ()
แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2555 11:25 น. ()

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๑๙)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๙ มาลงต่อนะครับ    นี่ก็เป็นภาพสะท้อนจากความคิดคำนึงของ “คุณอำนวย” ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา


ตอนที่  19  ชีวิตกับทักษะการเรียนรู้
                   “กล้วยไม้ออกดอกช้า     ฉันใด
             การศึกษาเป็นไป                เช่นนั้น
             แต่ออกดอกคราวใด             งามเด่น
             งานสั่งสอนปลูกปั้น             เสร็จแล้วแสนงาม”
                                                             หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล

                   <p>
        การเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนานั้น  เป็นไปดั่งบทประพันธ์ของหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล  เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาแล้ว  “การศึกษาเป็นไป  เช่นนั้น”  </p><p>
        มิติการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนา  จะมีความแตกต่างไปจากการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในโรงเรียน  และนักเรียนผู้ใหญ่ในการศึกษานอกระบบทั่วไป  เพราะ  “งานสั่งสอนปลูกปั้น”  เริ่มต้นจากการนำเอาทุกข์และสภาพปัญหาในปัจจุบันของนักเรียนชาวนาเป็นโจทย์  โจทย์ที่ตั้งขึ้นมาได้มาจากสภาพความเป็นจริงที่พบอยู่กับนักเรียนชาวนาผู้เรียน  กล่าวคือ  เรียนรู้จากสภาพจริง  ไม่ใช่การสมมติเพื่อให้ได้เรียนรู้  </p><p>
        ด้วยการเริ่มต้นแบบนี้นี่เอง  จึงไม่มีใครไปกำหนดหลักสูตรให้นักเรียนชาวนาว่า  ต้องเรียนอย่างนั้น…ต้องเรียนอย่างนี้…แล้วจึงจะดี  กระบวนการของโรงเรียนชาวนามิได้เป็นไปเช่นนั้น  แต่โรงเรียนชาวนาจะเริ่มจากโจทย์ที่มีต้นสายปลายทางมาจากทุกข์  เรียนรู้แล้วให้เอาไปใช้แก้ไขทุกข์ในชีวิตการทำนาได้  </p><p>
        นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้สารพัดแห่ง  วิธีการสารพัดอย่าง  วิทยากรสารพัดความเชี่ยวชาญ  เพื่อให้ความรู้ไหลมาสู่ตัวนักเรียนชาวนาเป็นปลายทาง  </p><p>
        นักเรียนชาวนาบางคนเก่ง  เพราะมีความรู้เดิมดี  ซึ่งได้มาจากกระบวนการถ่ายทอดความคิดความรู้จากบรรพบุรุษที่สะสมแล้วถ่ายทอดสืบต่อๆกันมาในแต่ละรุ่นๆ  ความรู้เดิมปะปนอย่างกลมกลืนอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเรียบง่ายของนักเรียนชาวนา  สอนกันและทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  จนกลายวิถีชีวิต  เป็นวิถีของความชาวนา  เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  ถือได้ว่าเป็นความรู้เดิมที่มีอยู่ติดตัวของนักเรียนชาวนา  มีอยู่ในครัวเรือน  และมีอยู่ในชุมชน  เป็นทรัพย์สินมรดกทางปัญญาของชุมชนอันมีค่า</p><p>
        นักเรียนบางคนเก่ง  เพราะได้ความรู้ใหม่  ซึ่งได้มาจากแหล่งการเรียนรู้ภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นจากหนังสือตำรา  หนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  อินเตอร์เน็ต  วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ  สถานที่จริง  รวมเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ต้องอ่าน  ดู  ฟัง  ถาม  เพื่อให้ได้คำตอบ  นำกลับไปตอบโจทย์ที่ทุกข์ปัญหา  </p><p>
        แต่การเรียนรู้ใดๆคงไม่สัมฤทธิผล  หากนักเรียนชาวนาไม่นำเอาความรู้ไปปฏิบัติใช้ด้วยตนเอง  นี่เป็นประเด็นสำคัญของการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาจะต้องนำเอาความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่และที่ได้มา  ไปทดลอง  ไปฝึกหัด  ไปปฏิบัติจริงกับงานครัว  งานบ้าน  งานนาของแต่ละคน  เสมือนหนึ่งว่าเป็นการลองวิชา  ด้วยการลองผิดลองถูก  จนเกิดการค้นพบด้วยตนเองว่า  จะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีในที่สุด?  และถ้าไม่ประสบความสำเร็จ  แล้วควรทำอย่างไรจึงจะดี?  ก็ต้องสามารถอธิบายให้คำตอบได้ว่าเหตุใดการทดลองจึงล้มเหลว?  </p><p>
        การทดลอง  การฝึกหัดทำ  การปฏิบัติจริง  เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักเรียนชาวนาได้ทำการพิสูจน์เชิงประจักษ์ด้วยตนเอง  เมื่อนำเอาความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปผสมผสาน  ก็จะสามารถเชื่อมโยงสรรพสิ่งที่เป็นปัจจัย  เงื่อนไข  สภาวะต่างๆ  ได้ด้วยตนเอง  เมื่อตั้งคำถามกับตนเองว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น?  นักเรียนชาวนาจึงจะได้รู้จักและรู้เข้าใจถึงสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตนเองในบ้านในนา  …  เพียงลองทำดู  ก็ได้เรียนรู้อย่างมากมาย  </p><p>
        นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนเป็นนักคิด  เป็นนักทดลอง  จากที่ได้เรียนรู้มาแล้วว่า  ฮอร์โมนทำได้อย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร?  เมื่อกลับบ้านไป  ก็ไปค้นหาจนค้นพบว่า  วัสดุธรรมชาติที่อยู่แถวๆบ้าน  แถวๆนาข้าว  นี่แหละ…  เป็นวัสดุที่จะทำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี  อันที่จริง  ก็เห็นๆกันอยู่ทั่วไป  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้?  พอได้ไปเรียนรู้มาแล้ว  คราวนี้จึงสนุกกันใหญ่  นักเรียนชาวนาไปเก็บหอยเชอรี่  กางปลา  มาผสม  มาทดลองทำสูตรใหม่ๆ  จนได้หลากหลายสูตร  …  แถมยังกลับมารายงานในชั้นเรียนอีกว่า  อย่างนี้น่าจะรู้ตั้งนานแล้ว  ไม่ใช่เรื่องยากเลย  แต่ไม่รู้  </p><p>
        การที่นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้อะไรแล้ว  กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาจะพยายามกระตุ้นและผลักดันให้นักเรียนชาวนาเอาไปทดลองใช้  เพราะนั่นถือเป็นวิธีการที่จะให้นักเรียนชาวนาได้รู้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง  เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียนชาวนาจะได้นำไปพูดคุยและร่วมทำกับครอบครัว  การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแยกออกจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว  ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของครอบครัว  ทุกคนในครอบครัว  รวมทั้งเพื่อนบ้านญาติมิตรสามารถมาร่วมวงเรียนรู้จากนักเรียนชาวนาได้อยู่ตลอดเวลา </p><p>
        ฝ่ายแม่บ้านมาเป็นนักเรียนชาวนาร่วมการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา  ฝ่ายพ่อบ้านก็ทำงานในนา  ฝ่ายลูกๆหลานๆก็ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตร  แต่เมื่อทุกคนกลับมาถึงที่บ้าน  ฝ่ายแม่บ้านต้องทำทั้งงานครัวงานบ้าน  และรวมถึงการบ้านจากโรงเรียนชาวนา  แต่การบ้านเป็นโจทย์ที่อยู่ในงานครัวงานบ้านงานนา  ระหว่างการฝึกทดลองปฏิบัติ  จึงมีอะไรแปลกใหม่จากความเคยชินเดิมของบ้าน  นั่นแสดงว่าแม่บ้านกำลังทดลองอะไรต่างๆนานาอยู่  สร้างความฉงนสนใจจากทั้งพ่อบ้านและลูกๆหลานๆ  จนต้องขอเข้าร่วมวงการทดลองด้วยอีกคนสองคน  จนครบกันทั้งครอบครัว  ไม่น่าเชื่อว่าทุกคนต่างตั้งตารอคอยผลที่จะปรากฏขึ้นจากการทดลอง  ตื่นเต้นเพราะอยากรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่  เป็นอย่างไร  ?  และจนกลายเป็นหัวข้อที่นำมาพูดคุยกันประจำครอบครัว  ประจำชุมชนไปแล้ว</p><p>
        ผลจากการเรียนรู้ร่วมกัน  ขณะนี้ได้ถูกประมวลเป็นผลงาน  เป็นเรื่องราว  เป็นบันทึกที่ร่ายมาอย่างยาวกว่าร้อยหน้านี้  ได้มาจากความร่วมมือของทั้งคุณกิจอย่างนักเรียนชาวนา  กับคุณอำนวยในบทบาทของเจ้าหน้าที่  ทั้ง  2  ฝ่ายนี้ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานที่ควรต้องจับตามอง  พอได้มองในช่วงแรก  ก็ได้พบเห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากนักเรียนชาวนาทั้ง  4  โรงเรียนกันแล้ว  และพบได้ว่าคุณอำนวยต้องทำหน้าที่อย่างหนัก  เพื่อให้คุณกิจได้เรียนรู้ไปตามกระบวนการ </p><p>
        คำถามมีอยู่ว่า  อยากให้คุณกิจทำเอง  โดยให้คุณอำนวยเป็นผู้ดูที่ดีอย่างเดียวได้ไหม  ?  นี่เป็นคำถามที่น่าขบคิดเป็นอย่างมาก  เพราะเป้าหมายปลายทางที่เฝ้าฝันเฝ้ารอคืออะไร?  หากได้ทบทวนแผนผังการจัดการความรู้พร้อมๆกับทบทวนวัตถุประสงค์  จักเห็นได้ว่า  นักเรียนชาวนาจะต้องสามารถพึ่งตนเองได้  ในที่สุดจะต้องเป็นไปเช่นนั้น  นั่นคือ  “งานสั่งสอนปลูกปั้น  เสร็จแล้วแสนงาม”  ทุกคนคาดหวังจากการทำงานและการเรียนรู้ไว้ว่า  “เสร็จแล้วแสนงาม”  </p><p>
        จะไปถึงคำตอบนั้นได้  ควรจะต้องอาศัยกระบวนการ  อาศัยระยะเวลา  “กล้วยไม้ออกดอกช้า  ฉันใด     การศึกษาเป็นไป  เช่นนั้น”  เพื่อให้คุณกิจทำกิจกรรมได้ด้วยตนเองทั้งหมด  เพื่อให้        คุณอำนวยเป็นผู้ดูที่ดีอย่างเดียวก็พอ  คุณอำนวยอย่างเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญจึงคาดหวังในช่วงตอนต่อๆไปว่า  คุณกิจจะต้องยืนได้ด้วยตนเอง  พึ่งตนเองได้  แล้วก็มีความสุขตลอดไป</p><p>
        แต่ในระหว่างทางของการไปให้ถึงคำตอบนั้น  ระหว่างนี้เกิดอะไรขึ้นอย่างมากมายหลากหลาย  ซึ่งพอจะรวบความกล่าวเป็นประเด็นที่ไม่ยาวนักว่า  หลังจากที่เรื่องราวของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในเวทีต่างๆของการประชุม  สัมมนา  และจากการนำไปเผยแพร่แก่สาธารณชนแล้ว  ก้อนหินที่โยนลงในสระน้ำจึงมีแรง        กระเพื่อม  ทำให้เกิดวงรัศมีกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ  มูลนิธิข้าวขวัญได้มีโอกาสพาตัวแทนหรือกลุ่มนักเรียนชาวนาไปร่วมกิจกรรมต่างๆในแต่ละเวทีที่จัดขึ้นจากองค์กรต่างๆ  ช่วยทำให้เสียงของนักเรียนชาวนาได้มีโอกาสกระจายให้ทุกคนได้รับรู้และร่วมเรียนรู้  หลายครั้งที่ไปจัดนิทรรศการ  ทำให้นักเรียนชาวนาได้แสดงผลงาน  หลายคราวที่ไปพูดไปแสดงความคิดเห็นบนเวทีในฐานะวิทยากร  เสียงของนักเรียนชาวนาทำให้หลายต่อหลายคนต้องเหลียวมามอง  และตามมาดูของจริงจากพื้นที่  ของจริงจากประสบการณ์ชาวนาตัวจริง  ซึ่งช่วยพยุงศักดิ์ศรีของความเป็นชาวนาสูงขึ้น  นักเรียนชาวนารู้สึกภาคภูมิใจกับการได้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ  หาใช่เป็นประการอื่นไม่  </p><p>
        หลังจากเรื่องราวได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนแล้ว  จึงมีประชาชนทั่วไปเฝ้าดูและติดตามเรื่องราวอยู่อย่างเนื่องๆ  ทำให้นักเรียนชาวนากลายเป็นนักประชาสัมพันธ์  เป็นผู้ให้ข้อมูล  เป็นวิทยากรให้ความรู้  เป็นนักแสดงผลงาน  แล้วก็ต้องคอยต้อนรับผู้คนที่ทยอยขอมาศึกษาดูงานถึงที่บ้าน  ถึงที่นา  ถึงในชุมชน  ผู้คนหลากหลายมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ  และจากหลายประเทศ  ให้ความสนใจและอยากร่วมเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ด้วย  ในวันนี้  นักเรียนชาวนาจึงยิ้มได้  ความปลาบปลื้มเป็นกำลังใจเล็กๆที่ซ่อนอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจนักเรียนชาวนา  เพื่อบอกกับใจตนเองว่า  สู้ต่อไป  </p><p>
        ในขณะนี้  “คุณอำนวย” ยังอยู่คอยช่วยประสานงานและจัดแจงรูปแบบงานให้ “คุณกิจ” อยู่เสมอ  อันที่จริงแล้ว  มูลนิธิข้าวขวัญอยากให้ “คุณกิจ” ทำงานเหล่านี้เอง  อยากให้ “คุณกิจ” สามารถออกแบบงานที่จะนำเสนอเอง  เป็นวิทยากรเอง  เป็นผู้ประสานงานต่างๆเอง  นั่นหมายความว่าคุณกิจจะเป็นผู้ดำเนินการเอง  สามารถตัดสินใจต่างๆทั้งหมดได้เอง  สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่นักเรียนชาวนาเป็นคุณกิจกับคุณอำนวยในคนๆเดียวกัน  ซึ่งจะต้องค่อยๆฝึก  ค่อยๆเรียนรู้</p><p>
        ทักษะชีวิตในรูปแบบใหม่ของนักเรียนชาวนาจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้  ในคราวนี้และครั้งต่อไปในอนาคต  นักเรียนชาวนาต้องเป็นคุณกิจที่มีงานมากกว่าทำนาเพียงอย่างเดียว  นักเรียนชาวนาจะต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ที่ดีอีกด้วย  กล่าวคือ  นักเรียนชาวนาจะต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากร  เป็นผู้จัดกิจกรรม  เป็นผู้เผยแพร่ผลงาน  เป็นผู้จัดทำเอกสาร  บันทึก  รายงานต่างๆ  ติดต่อประสานงานกับผู้ที่ติดต่อมาขอศึกษาดูงาน  ติดต่อกับสื่อมวลชน  กับสถาบันส่งเสริมการจัดการ  ความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ด้วยกระบวนการของนักเรียนชาวนาเอง  จึงได้ครบเครื่องอย่าง  “เสร็จแล้วแสนงาม”  </p><p>
        เอกสารต่างๆที่ถูกผลิตขึ้นมาจากการประมวลผลงานในช่วง  6  เดือนแรกนี้  “คุณอำนวย” เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด  นี่เป็นข้อเท็จจริงของการทำงาน  แต่…  แต่…  หากเอกสารเล่มนี้  “คุณกิจ”  เป็นผู้เขียนเอง  ใครจะภาคภูมิใจมากที่สุด?  ฝีมือและภูมิปัญญาของนักเรียนชาวนาไทยเป็นเอกได้  จึงจะเป็นสิ่งที่  “งามเด่น”  เพียงแต่ต้องรอให้  “เสร็จแล้วแสนงาม”  วิถีชีวิตของนักเรียนชาวนาเป็นชีวิตเพื่อการเรียนรู้  เปรียบเป็นดั่งดอกกล้วยไม้จากบทประพันธ์ข้างต้น</p><p>
           มขข. มีวิญญาณของ “คุณอำนวย” เต็มเปี่ยมเลยนะครับ    อยากให้ “คุณกิจ” ทำเองให้มากที่สุด     แต่ในช่วงที่ยังทำบางอย่างไม่ได้ “คุณอำนวย” ของ มขข. ก็ช่วยไปก่อน     เอกสารที่ “คุณกิจ” เขียนเอง มีนะครับ    อดใจรออีกหน่อย ก็จะได้เห็น</p><p align="right">
วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘
</p>

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 

ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย