เก็บไว้ในความทรงจำ


หมู่บ้านของฉันเมื่อ 40 ปีก่อน

หมู่บ้านเชียงใหม่  ตั้งอยู่ที่จังหวัดพังงา  ใครๆเมื่อได้ยินชื่อหมู่บ้านนี้มักจะชอบล้อกันว่าไม่ได้อยู่ในภาคใต้  หรือไม่ใช่เป็นคนใต้  ...คนเก่าๆแก่ๆ เล่าต่อกันมาว่า สมัยโบราณชาวเชียงใหม่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่  ก็เลยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านเชียงใหม่  ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงเท็จเป็นอย่างไร...40 ปีที่ผ่านมา ยังจำได้ถึงสภาพแวดล้อมที่เคยอยู่  มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สุดๆ  มีป่าใหญ่อยู่บนภูเขาสูงของหมู่บ้านเป็นป่าต้นน้ำ ในลำคลองจะมีน้ำใสไหลเย็น  มีน้ำเต็มคลองให้ลงไปเล่นได้ตลอดปี  ผู้คนเต็มไปด้วยไมตรีจิต  มีการแบ่งปันอาหารการกิน  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  และมีความสามัคคี  มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆเช่น มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่เข้มแข็ง  มีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน  และมีหน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริม ฝึกอาชีพอย่างต่อเนื่องโดยไม่คิดเลยว่าวันนึงข้างหน้าเราจะทำงานราชการหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมในหมู่บ้านของเรา...  มีกิจกรรมในหมู่บ้านที่สำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่บ้าน  เช่น ลูกหลานที่ไปเรียนหรือคนที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด จะกลับมาร่วมทำบุญในเทศกาลบุญเดือนสิบ โดยมีวัดที่เป็นศูนย์รวมใจคนในหมู่บ้านมาเป็นเวลานานชื่อว่า วัดศรีรัตนาราม หรือวัดเชียงใหม่  เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโบราณ และที่สัการะบูชารูปหล่อเจ้าอาวาสองค์แรก ...ลักษณะความเป็นอยู่  ส่วนใหญ่ปลูกบ้านอยู่ในหมู่บ้าน และจะออกไปทำการเกษตรตั้งแต่เช้ายันค่ำ ค่อยกลับบ้าน  อีกส่วนหนึ่งจะสร้างบ้านหลังเล็กๆหรือขนำไว้ในเรือกสวนไร่นา เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่พักผ่อน...เส้นทางที่จะเข้าไปในพื้นที่ทำการเกษตร  จะเป็นทางลูกรัง  ไม่มีถนน  เวลาฝนตกน้ำท่วม  เด็กๆจะชอบ ได้เล่นน้ำกัน  แต่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยชอบ  เพราะไปมาลำบาก ทางลื่นมาก ...ผู้คนในสมัยนั้น ขยัน  รักอาชีพการเกษตรมากและมีความสุขตามอัตภาพ และจะช่วยกันหรือลงแขกตั้งแต่เตรียมดิน  ปลูก  จนถึงเก็บเกี่ยว และมีการทำกับข้าวและขนมไปเลี้ยงกันและกัน การเกษตรเป็นลักษณะสวนสมรม(ผสมผสาน) ที่สำคัญ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ เช่น หมูเถื่อน ไก่บ้าน  เป็ดมานิ้ง(เป็ดเทศ)  วัว  ควาย  แพะ  การเพาะปลูก เช่น ยางพารา  ข้าวไร่  และพืชผัก  ปลูกแซมในสวนยางก่อนเปิดกรีด  ไม้ผลที่สำคัญ  นิยมบริโภคในท้องถิ่น และใช้ในการทำขนม คือทุเรียนบ้าน  ขนุน  มังคุด  เงาะ  ลางสาด  มะไฟ  โตนด  และมะพร้าว นอกจากนี้มีพืชผลที่มีตามธรรมชาติ ที่หากินได้ง่ายและไม่ต้องดูแลรักษา เช่น หน่อไม้  หน่อทือ ลูกชำ  ลูกหว้า  ลูกโทะ  ตะลิงปิง  กะทกรก  ลูกฉิ่ง ลูกเนียง  สะตอ ฯลฯ รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด  ...ไม่นิยมเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร  และนิยมบริโภคสัตว์น้ำเค็มมากกว่าสัตว์น้ำจืด  ฝั่งตรงข้ามหมู่บ้าน จะเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิม  ซึ่งมีการพึ่งพาอาศัยและติดต่อค้าขายกันเป็นประจำ  รวมทั้งมีการจัดงานประจำปีด้วยกันบริเวณชายทะเลซึ่งกั้นอยู่ระหว่าง 2 หมู่บ้านในช่วงวันลอยกระทง  ทั้งไทยพุทธและมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข...

คำสำคัญ (Tags): #วิถีชีวิตชนบท
หมายเลขบันทึก: 220481เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท