ความคาดหวังกับอาการปวดชาขา


ขอบคุณกรณีตัวอย่างท่านนี้ที่ทำให้เกิดการทดลองสรีรวิทยาและกิจกรรมบำบัดเพื่อทราบเหตุและผลในการลดอาการปวดชาขาหลังการทำงานนานๆ

หลังจากผมได้ปรึกษาอาจารย์กายภาพบำบัดเพื่อหาแนวทางการออกกำลังกาย การยืดกล้ามเนื้อ และการปรับท่าทางการทำงาน ให้ผู้ป่วยอาการปวดหลังและชาร้าวลงขาข้างขวา รวมทั้งผมได้แนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักการปรับพฤติกรรมการทำงานและการใช้เวลาว่าง พร้อมบันทึกรูปแบบการทำกิจกรรมและความรู้สึกปวดมาเปรียบเทียบกันในสองสัปดาห์

ครบ 6 สัปดาห์ในวันนี้ อาการปวดหลังลดลง แต่ผู้ป่วยคิดจะลดความถี่ของการทำกายภาพบำบัด และอยากให้ผมยืนยันว่าความคิดที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการลดปวดของผู้ป่วยท่านนี้ถูกหรือผิดอย่างไร

ดร.ป๊อป: คุณคิดว่าอาการปวดตอนนี้เป็นอย่างไร ลองทบทวนดูว่าพฤติกรรมการทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมาปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้างครับ

ผู้ป่วย: อาการปวดหลังหายไป แต่นักกายภาพบำบัดเน้นให้ออกกำลังกายเพิ่มกำลังขา และทำท่ายืด 4 ท่าๆ ละ 20 ครั้งในกรณียังมีสัญญาณปวดหลังการใช้งานหลังและขาในท่าทางการทำงานซ้ำๆ นานๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ลองทำท่ายืดได้จริงๆ ทั้งอยู่บ้านและที่ทำงานใน 2 ท่าๆละ 10 ครั้ง แต่ติดนิสัยคิดเร็วทำเร็วจึงรู้สึกว่าได้ผลไม่มากนัก อยากจะลดความถี่ของการทำกายภาพบำบัดดีไหมอาจารย์ หลายครั้งที่แทบจะไม่ยืดหรือออกกำลังกายระหว่างการทำงาน เพราะคาดหวังสูงกับงานจนไม่อยากทำอะไร อยากทำงานให้เสร็จทั้งๆที่รู้ว่าจะมีอาการปวดหลังและขาตามมา สังเกตว่าจะผ่อนคลายและมีการใช้เวลาว่างทำกิจกรรมซื้อของแบบเดินเล่นสบายๆ มีเล่นเกมส์วิดีโอ ดูทีวี นาน 4-6 ชม. ในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น นอกนั้นทำงานตลอดจันทร์ถึงศุกร์ สังเกตอาการปวดจะขึ้นอยู่กับงานที่ได้รับมอบหมายและการสื่อสารกับคนที่ทำงานด้วย รู้สึกเครียดและหงุดหงิดเมื่องานที่ได้รับมอบหมายและการสื่อสารกับคนที่ทำงานด้วยนั้นไม่เป็นไปดังใจที่ตนเองคาดหวังว่าน่าจะไม่เกิดอุปสรรคใดๆในการทำงาน

ดร.ป๊อป: ข้อมูลละเอียดและชมเชยว่าคุณมีระบบความคิดที่ดีมาก วิเคราะห์ได้ชัดเจนและพยายามหาแนวทางหรือคำตอบอยู่ว่าจะลดความถี่ของการทำกายภาพบำบัดดีหรือไม่ เนื่องจากคุณรู้สึกว่าอาการปวดไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเพราะขึ้นอยู่กับงานที่ได้รับมอบหมายและการสื่อสารกับคนที่ทำงานที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ผมอยากให้ลองใช้ศักยภาพของคุณในการคิดให้เป็นระบบว่า อาการปวดที่คงที่เพราะรูปแบบงานคงที่ การสื่อสารกับคนที่ทำงานกลุ่มเดิม หรือความคาดหวังของคุณสูง/ต่ำคงที่ครับ

ผู้ป่วย: ไม่ทราบว่าจะอธิบายได้อย่างไร ทุกอย่างคงที่ไปหมด คนที่ทำงานส่งและรับข้อมูลไม่ตรงกันและไม่ตรงใจ

ดร.ป๊อป: จากข้อมูลทั้งหมด ผมขอตั้งแนวคิดว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดของคุณมีผลมาจาก 1. รูปแบบการทำกิจกรรมที่อยู่นิ่งและขาดการเคลื่อนไหวตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ (ประมาณที่ 40% ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด) และ 2. ความคาดหวังของคุณเองที่สะสมจากความเครียดระหว่างรูปแบบการทำงานและการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน (ประมาณที่ 60% ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด) สิ่งที่คุณต้องฝึกฝน คือ ทักษะการแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลายเพื่อลดความเครียดและความคาดหวังจากกิจกรรมการทำงาน ได้แก่ การสื่อสารด้วยความเข้าใจตรงกับผู้ทำงานร่วมกับคุณ อย่าใช้คำพูดที่เร่งและจัดการความเข้าใจของผู้อื่น พยายามทวนความเข้าใจในการทำงานที่ตรงกันอย่างช้าๆ นอกจากนี้คุณน่าจะลองลดความคาดหวังลงมาด้วยเหตุผลของการวางแผนทำกิจกรรมให้สำเร็จอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับความถี่ของการทำกายภาพบำบัดน่าจะเพิ่มเพราะข้อมูลที่ฟังมาแสดงว่าคุณไม่มีโอกาสบังคับตนเองยืดกล้ามเนื้อได้ทุกท่าๆละ 20 ครั้ง ระหว่างทำงานหรือที่บ้าน เท่าที่คุณฟังความคิดเห็นของผม คิดอย่างไรบ้างครับ

ผู้ป่วย: เห็นด้วยค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะจัดการตนเองได้อย่างไร แต่จะลองเพิ่มความถี่ของการทำกายภาพบำบัดค่ะ

ดร.ป๊อป: ในส่วนที่การรักษาทางกิจกรรมบำบัด ผมได้แนะนำเป็นกระบวนการจัดการตนเอง โดยเน้นระบบความคิดในตัวเอง หากเราคาดหวังสูงเกินไปจะมีผลทำให้ความเครียดสะสมและเพิ่มอาการปวดจากการทำงานในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนยาก ตรงการลดความคาดหวังพร้อมๆกับการเพิ่มแนวทางการตัดสินใจแก้ไขปัญหา คุณจะต้องลองฝึกปฏิบัติเองและพิจารณาผลที่เกิดขึ้น คราวนี้ลองเปรียบเทียบการตรวจวัดระบบประสาทการเคลื่อนไหวจากเครื่องมือ Choice Reaction Time ระหว่างนั่งบนเก้าอี้โดยไม่ทำอะไร (วัดความเร็วการตอบสนองได้ 1.30 วินาที) นั่งบนเก้าอี้เพื่ออ่านความรู้ใหม่ๆและสรุปอย่างสบายๆ (1.02 วินาที) นั่งบนบอลขนาดใหญ่เพื่ออ่านความรู้ใหม่ๆและสรุปอย่างสบายๆ (0.99 วินาที) และนั่งบนเก้าอี้หลังจากยืดกล้ามเนื้อตามที่นักกายภาพบำบัดสอนมา (1.03 วินาที)

ผู้ป่วยลองปฏิบัติและรับฟังผลการตรวจประเมินสรีรวิทยาและกิจกรรมบำบัด คือ

  • การนั่งบอลสามารถช่วยขยับข้อต่อในขณะนั่งทำงานนานๆ ได้
  • การใช้ความคิดสบายๆ ในการทำงานโดยคาดหวังไม่มากเพราะเป็นสิ่งที่สนใจช่วยให้เกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้
  • การทำท่ายืดที่ไม่เหมาะสม หรือ น้อยกว่าที่นักกายภาพบำบัดกำหนดไว้ จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายไม่เต็มที่

ผู้ป่วย: ค่ะ เข้าใจและจะลองปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมดูค่ะ

ผมประทับใจในคำตอบและปิดการให้คำปรึกษาหลังจากใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง

 

หมายเลขบันทึก: 220009เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2008 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณครับคุณน้ำผึ้งสีชมพู

เก่งจังเลยค่ะอาจารย์

ความคิดและความรู้สึก เมื่อมารวมกันแล้ว

มีพลังมหาศาลเลยทีเดียว

ขอบคุณที่ติดตามครับน้อง PTPT

มีประโยชน์มากครับ ตอนนี้ผมก็เจอปัญหาอาการขาชาที่ขาขวา รู้สึกได้ตั้งแต่หัวเข่าลงไปถึงอุ้งเท้าครับ

ผมลองหาข้อมูลใน Internet ดูว่ามีใครที่เป็นแบบผม หรือคล้ายๆ ผม หรืออย่างน้อย ผมก็จะได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร (แต่ยังไม่ได้ไปหาหมอนะครับ อยากหาข้อมูลประกอบก่อน) ก็เจอในเคสหนึ่งที่เขาเขียนในบล๊อกไว้

เท่าที่ผมอ่านดู อาการจะคล้ายๆ กัน แต่ผมไม่รุนแรงขนาดนั้น และกลับไปบ้าน นั่งธรรมดา ขัดสมาธิ ไม่นั่งเก้าอี้ ก็ไม่รู้สึกปวด ไม่รู้จะเกียวกันหรือเปล่า?

ตอนนี้โดยสรุปคือ มีอาการปวดหลัง แต่ไม่มากนัก มักจะเป็นเมื่อนั่งหลังไม่ตรง อาการต่อมาคือขาชา เมื่อนั่งทำงานไปนานๆ แม้ว่าจะลุกเดินแล้วก็ไม่หาย

ผมควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีครับ ขอคำแนะนำด้วยครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณอบูฮันนาน

คิดว่าน่าจะมีอาการปวดหลังจากการกดทับของเส้นประสาท ซึ่งแนะนำให้วินิจฉัยสาเหตุของการกดทับดังกล่าวจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์กายภาพบำบัดเฉพาะทางครับ

นัดหมายที่คลินิกกายภาพบำบัด เชิงสะพานปิ่นเกล้า ได้ครับ

ประคองศิลป์ ปิตตะพันธ์

ขอบคุณมาก อาการชาที่ขาขวา ไปพบคุณหมอรักษาโรคกระดูก ท่านก็บอกว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชา เนื่องจากกระดูกเสื่อม

ยินดีครับคุณประคองศิลป์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท