3 ท่ายืดเส้นยืดสายสบายขา(แก้เมื่อยน่อง) + ท่ายืดเหยียดไหล่


 

...

เครือข่ายคนไทยไร้พุงจัดพิมพ์หนังสือ "ปฏิบัติการฝ่าวิกฤตพิชิตอ้วน พิชิตพุง" ออกแจกจ่าย ทว่า... พิมพ์เท่าไรก็ไม่พอ ในที่สุดจึงต้องทำเป็นเล่มออกจำหน่ายในราคาเล่มละ 60 บาท

เนื้อหาภายในเล่มเต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้จากอาจารย์แพทย์ อาจารย์นักโภชนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการลดความอ้วนมากมาย แน่นอนว่า มีท่ายืดเส้นยืดสายให้สบายขา ซึ่งเหมาะมากๆ กับพวกเราที่อาจจะมีการปวดเมื่อยขากันบ้างไม่มากก็น้อย ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

ภาพ > ยืดเส้นยืดสายสไตล์เหมียว > [ Wikipedia ]

  • วิธีบิดขี้เกียจแบบนี้ควรทำตอนตื่นนอน
  • เริ่มจากการแอ่นแขนขาสุดๆ แบบเจ้าเหมียว
  • คู้ตัวไปด้านหน้าให้สุด
  • บิดไปทางซ้าย
  • บิดไปทางขวา
  • ทุกท่าให้นับ 1-20 ช้าๆ

...

ก่อนอื่นขอนำวิธีการออกแรง-ออกกำลังง่ายๆ ที่จะช่วยต้านโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุงมานำเสนอก่อน นั่นคือ การเดินและเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาส

ขั้นแรกคือ ก่อนออกแรง-ออกกำลังควรดื่มน้ำก่อน 20 นาที เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เป็นลม (syncope) หรือเป็นลมแดด (heat stroke) ได้ง่าย

...

เรื่องเป็นลมนั้น... พวกเราคงจะทราบกันดีแล้ว ทีนี้เรื่องลมแดด (heat stroke) น่ากลัวกว่านั้นมาก ลมแดดพบบ่อยในคนอายุน้อยที่แข็งแรงและฝึกหนักกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งพบในคนสูงอายุเมื่ออากาศร้อนขึ้น

คนอายุน้อยที่แข็งแรงและฝึกหนัก เช่น ทหารเกณฑ์ นักวิ่งระยะไกล ฯลฯ มักจะมีความอดทนสูงจนลืม (บางทีไม่ได้ลืมหรอก ครูฝึกหรือโค้ชไม่รู้จักโรคนี้ต่างหาก) ไปว่า คนเรามีขีดจำกัดเหมือนกัน

...

ภาพ > ยืดเส้นยืดสายสไตล์โยคะ > [ Wikipedia ]

  • ท่านี้เริ่มจากการยืนตรง ถ้าเป็นไปได้... ขอให้เข่าตรง
  • ยืดแขนขึ้นเหนือหัว เหยียดให้สุด นับ 1-20 ช้าๆ
  • ค่อยๆ ลดระดับแขนลงไปด้านหน้าจนแขนอยู่ต่ำดังภาพ นับ 1-20 ช้าๆ
  • แต่ละท่าไม่ควรเบ่ง หรือกลั้นหายใจ ให้หายใจช้าๆ

...

การออกแรง-ออกกำลังในที่ที่มีอากาศร้อนหรือชื้นนั้นจะทำให้ร่างกายต้องขับเหงื่อออกมากๆ เพื่อให้เกิดการระเหยของน้ำจากผิวหนัง การระเหยนี้จะดึงความร้อนออกไปจากร่างกายด้วย

ทีนี้ถ้าเหงื่อออกไปเรื่อยๆ ผสมกับน้ำที่ระเหยจากการหายใจแรงและเร็วขึ้นทำให้ร่างกายขาดน้ำ... ความสามารถในการขับเหงื่อจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งปริมาณน้ำสำรองในร่างกายจะลดลงจนถึงจุดวิกฤตคล้ายๆ กับปริมาณเงินตราต่างประเทศของไทยตอน IMF

...

ถึงตรงนี้... ร่างกายจะหยุดขับเหงื่อ อุณหภูมิในร่างกายจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อวัยวะต่างๆ ตีรวนไปหมด เริ่มจากความรู้สึกตัวและการตัดสินใจลดลง บางคนอาจจะเพ้อ เบลอ ชัก วูบ หรือคลั่งได้

การแก้ไขที่สำคัญคือ ห้ามวัดปรอทหรืออุณหภูมิทางปาก เพราะคนไข้ที่ไม่ค่อยรู้ตัวอาจจะกัดจนทำให้เธอร์โมมิเตอร์ (thermometer) ที่ใช้วัดอุณหภูมิตกไปในหลอดลม หรือกระเพาะอาหารฯ ได้

...

ภาพ > ยืดเส้นยืดสายของนักกีฬาทีมพิทซ์เบิร์ก สทีลเลอร์ สหรัฐฯ > [ Wikipedia ]

  • ท่านี้เริ่มจากนอนหงาย
  • ให้คนอื่นช่วยยกขาขึ้นด้านหน้าตรงๆ ช้าๆ
  • นับ 1-20 ช้าๆ แล้วลดขาลง
  • ท่านี้ยืดกล้ามเนื้อขาด้านหลังและหลังได้ดีมาก

...

ภาพท่ายืดเหยียดรูป 4 เหลี่ยม > [ Wikipedia ]

  • ท่านี้เริ่มจากการใช้มือข้างหนึ่งจับข้อศอกแขนข้างตรงกันข้าม (แน่นอนว่า ถ้าพบใครใช้มือจับแขนข้างเดียวกันได้ คงจะหนาวขึ้นมาทันที...)
  • โปรดสังเกตว่า จะเกิดโครงสร้างรูป 4 เหลี่ยมขึ้นมาดังภาพ
  • เหยียดแขนไปทางซ้ายสุด
  • เหยียดแขนไปทางขวาสุด
  • เหยียดแขนขึ้นไปด้านบนจนสุด
  • กดแขนลงมาให้ติดกับหน้าอก
  • ทุกท่าให้นับ 1-20 ช้าๆ ไม่กลั้นหายใจหรือเบ่ง และให้หายใจเข้า-ออกช้าๆ
  • ท่านี้ยืดเหยียดแขนท่อนบน ไหล่ หลังตอนบน และเสริมความแข็งแรงไหล่-ปีกได้ด้วย

...

ถ้าจะวัดอุณหภูมิต้องวัดทางทวารหนักแบบเด็กแรกเกิด และต้องรีบลดอุณหภูมิทันที โดยการจับตัวไปแช่เย็น เช่น แช่น้ำใส่น้ำแข็ง ฯลฯ

ลดอุณหภูมิอย่างเดียวไม่พอ... ต้องรีบเติมน้ำเข้าไปในร่างกาย ซึ่งวิธีที่ดีมากคือ ให้น้ำเกลืออย่างรวดเร็ว เช่น ให้น้ำเกลือพร้อมๆ กันหลายๆ เส้น ฯลฯ เนื่องจากถ้าช้าอาจทำให้อวัยวะภายใน เช่น ไต ฯลฯ ทำงานต่อไม่ไหว เช่น เกิดภาวะไตวาย ฯลฯ ได้

...

ข่าวดีคือ มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นลมแดดง่ายๆ ได้แก่ 

(1). ดื่มน้ำให้มากพอ โดยดื่มก่อนออกแรง-ออกกำลังประมาณ 20 นาที

...

(2). ดื่มน้ำเพิ่มถ้าออกแรง-ออกกำลังเกิน 30 นาที รู้สึกหิวน้ำ หรือทุกๆ 15-30 นาที

(3). ฟิตร่างกายให้แข็งแรงเป็นประจำ

...

(4). ไม่ออกแรง-ออกกำลังแบบหักโหม

(5). หลีกเลี่ยงการออกแรง-ออกกำลังในที่ที่อากาศร้อนหรือชื้นมากเกิน

...

(6). หยุดออกแรง-ออกกำลังทันทีถ้ารู้สึกหน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ เหนื่อย หรือเพลียผิดสังเกต

ตัวอย่างเช่น ไม่ควรวิ่งกลางแดดตอนบ่ายสอง (2 นาฬิกา) ไปวิ่งตอนเช้ารับอรุณ (= พระอาทิตย์ขึ้น) หรือเย็นๆ ตอนแดดร่มลมตกดีกว่า ฯลฯ

...

ทีนี้ถ้าจะเดินและเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสเพื่อต้านโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุงจะเดินวันละเท่าไรดี

อาจารย์ท่านแนะนำว่า ควรเดินและเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสรวมกันให้ได้วันละ 60 นาที

...

ถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก... ควรเดินให้เร็วขึ้น คนที่เดินเร็วได้วันละ 1 ชั่วโมงจะได้รับอานิสงส์ (=กำไร) ที่สำคัญได้แก่

 

โรคภัยไข้เจ็บ ลดลงร้อยละ (%)
โรคอ้วนลดลง 24%
โรคเบาหวานลดลง 34%

 

...

ต่อไปจะเป็นการนำเสนอท่ายืดเส้นยืดสายคลายเมื่อย ซึ่งควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำช้าๆ ค้างไว้ท่าละครึ่งนาทีขึ้นไปจะได้ผลดีมาก

ถ้าต้องการให้ได้ผลดีที่สุด... ควรทำวันละ 1-2  ครั้ง

...

ภาพที่ 1 > แสดงท่ายืดกล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius) และเอ็นร้อยหวาย (archillis)

 

  • ท่านี้เริ่มต้นด้วยการยืนตรง ให้เท้า 2 ข้างห่างกันพอประมาณ
  • ก้าวเท้าไปด้านหลัง 1 ก้าว (ชีวิตจริงใครถอยหลังไม่เป็น หรือไม่รู้จักถอยมักจะไปไม่ถึงไหนเช่นกัน)
  • เท้าหน้างอเล็กน้อย หลังตรง มือไขว้หลัง
  • ท่านี้ท่าเดียวยืดเส้นได้ทั้งกล้ามเนื้อไหล่ หลัง และน่อง

...

ภาพที่ 2 > แสดงท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings)

  • ท่านี้เริ่มต้นด้วยการยืนตรง ให้เท้า 2 ข้างห่างกันพอประมาณ
  • ก้าวเท้าไปด้านหน้า 1 ก้าว
  • งอเข่าเท้าหลัง เอียงตัวให้น้ำหนักตกลงที่เท้าด้านหลัง (ข้างที่งอเข่า)
  • ประสานมือเหยียดไปทางด้านหน้า เพื่อเหยียดกล้ามเนื้อหลัง (ด้านบน)
  • ท่านี้ท่าเดียวยืดเส้นได้ทั้งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลัง (ด้านบน)

...

 

ภาพที่ 3 > แสดงท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) และกล้ามเนื้อขาท่อนล่างด้านหน้า (anterior tibialis)

  • ท่านี้เริ่มต้นด้วยการยืนตรง ให้เท้า 2 ข้างห่างกันพอประมาณ
  • งอเข่า ยกขาขึ้นข้างหนึ่ง
  • ใช้มือจับให้ส้นเท้าเข้ามาชิดก้น (ใช้แขนคนละข้างกับขาจะดีกว่าใช้แขนข้างเดียวกัน - ผู้เขียน)
  • เมื่อเริ่มต้นฝึกควรใช้มือข้างหนึ่งจับขอบโต๊ะ หรือจับที่จับบนฝาผนังไว้ให้มั่นคง เพื่อป้องกันล้ม
  • ท่านี้ท่าเดียวยืดเส้นได้ทั้งกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) และกล้ามเนื้อขาท่อนล่างด้านหน้า (anterior tibialis)

... 

เรียนเสนอให้พวกเราหันมาออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ โดยเฉพาะการเดิน เดินเร็ว และเดินขึ้นลงบันไดตามโอกาสนี่... น่าจะนับได้ว่า เป็นการออกแรง-ออกกำลังที่พวกเราเกือบทุกคนทำได้ง่าย และทำได้แบบสบายๆ ด้วย

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                       

...

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์ นพ.ฆนัท ครุธกูล บรรณาธิการ & เครือข่ายคนไทยไร้พุง > ปฏิบัติการฝ่าวิกฤตพิชิตอ้วน พิชิตพุง > พิมพ์ครั้งที่ 3. บริษัท สุขุมวิทมีเดีย มาร์เกตติ้ง จำกัด. กรุงเทพฯ 2550. หน้า 25, 30.

...

  • ข้อมูลในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 29 ตุลาคม 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 219608เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท