ช่วยกันสร้างพื้นที่"ความสุข" ลดความรุนแรงในโรงเรียน


จากการวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนจะพบว่าโรงเรียนไม่ใช่ปัจจัย เดียวที่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่มีบริบทที่แวดล้อมเกี่ยวข้องกับเด็กๆ แต่ละคน ทั้งในเชิงโครงสร้างของสังคม โครงสร้างของชุมชน ครอบครัว...บางคนได้รับความกดดันจากสภาพในครอบครัวก็มีการแสดงออกในด้านความรุนแรงที่ โรงเรียน บางคนเกิดปมด้อยเนื่องจากสภาพสังคม ชุมชน หรือได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีจากชุมชนที่ตนอยู่อาศัย ก็แสดงออกที่โรงเรียน

"โรงเรียน" คือ เบ้าหลอมเยาวชน เพื่อสร้างความมุ่งมั่น ฝึกฝนให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เพื่อให้เด็กแต่ละคนเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนเต็มคนแต่คำถาม คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากโรงเรียนกลายเป็นเบ้าหลอมของความรุนแรง

 

จากการทำกิจกรรมของทีมดำเนินงาน และประสานงานในพื้นที่ร่วมกับโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมในโครงการการพัฒนา "โรงเรียนปลอดความรุนแรง" ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการ และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โรงเรียนนำร่อง 7 โรงเรียนใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ

ในระดับอนุบาล-ประถมศึกษา 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนตะเคียนเภา จ.สงขลา โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โรงเรียนบ้านทองอินทร์สวนมอญ จ.อุดรธานี และระดับมัธยมศึกษา 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัฒนโนพายัพ จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเสอเพลอพิทยาคม จ.อุดรธานี โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี และโรงเรียนบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พบว่าโครงสร้างของโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ความรุนแรงของเยาวชน

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะผู้จัดการแผนงานส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครอง สุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า "โครงสร้างของโรงเรียนปัจจุบันเป็นตัวกำหนดความรุนแรง อาทิเช่น การนำเด็กมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากๆ เพราะมีนโยบายยกเลิกโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้โรงเรียนจัดการยากขึ้น"

ปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ การขาดการมีส่วนร่วมของเด็กในโรงเรียน เพราะการบริหารงานส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ top down จากครู ซึ่งก็ถือว่าเป็นความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน นอกจากนี้ เรายังไม่มีการทดสอบทางจิตวิทยากับครูผู้สอนเป็นระยะด้วย เห็นได้จากกรณีที่ครูมีปัญหาทางจิตใจแล้วไปใช้ความรุนแรงกับเด็ก สำหรับโรงเรียนในระบบจะถูกมัดไว้ด้วยระบบราชการ ทำให้ครูไม่สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้สะดวก โรงเรียนจึงควรมีการปรับในระดับโครงสร้างเพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นใน โรงเรียนด้วย

โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง "โรงเรียนปลอดความรุนแรง" จึงเริ่มปรับโครงสร้างภายในโรงเรียน และดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกันเป็นระบบ ที่สำคัญ ครูและนักเรียนต่างก็มีความเข้าใจร่วมกัน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกัน

ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง "การศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กแบบยั่งยืน ระยะที่สาม" ซึ่งดำเนินงานในส่วนของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ และโรงเรียนวัฒนโนพายัพ จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหา ว่า

"ปัญหาสังคมส่วนใหญ่นั้นสืบเนื่องมาจากพฤติกรรม ต่างๆ ในวัยเด็ก ถ้าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ จะเป็นการป้องกันปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อสอบประวัติผู้ใหญ่ที่ทารุณกรรมเด็กจะพบว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นมักจะ ถูกทารุณกรรมมาก่อนในวัยเด็ก ถ้าเราไม่ตัดวงจรตรงนี้ก็จะทำให้มีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ แนวทางในการแก้ปัญหาทำได้หลายวิธี อาทิเช่น การจัดโครงการฝึกอบรมครูด้านการสร้างวินัยเชิงบวก เน้นการปรับพฤติกรรมการลงโทษเด็ก โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เพราะที่ผ่านมา มีการห้ามครูใช้ไม้เรียว แต่ไม่บอกว่าจะมีวิธีการใดลงโทษแทนการตี"

เมื่อมีกิจกรรมเพื่อลดความรุนแรงต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี และดำเนินการต่อในปีที่ 3 ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ คือ ระดับความรุนแรงในรูปของการรังแกกันในระหว่างนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าการลดลงนั้นยังไม่มากพอที่จะมีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม แต่ด้านความเข้าใจ และความพยายามในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งในกลุ่มครู นักเรียน ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชน ได้เกิดความตระหนักว่า พฤติกรรมบางอย่างอาจมีผลตามมาในอนาคต ที่สำคัญ การดำเนินงานในช่วงที่สามนี้ ได้เพิ่มความรู้สึกการมีส่วนร่วมต่อโครงการของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องขึ้นด้วย

ทญ.เมธินี คุปพิทยานันท์ กล่าวถึง ผลจากการดำเนินกิจกรรมโรงเรียนปลอดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดสงขลา และอุดรธานี ว่า สิ่งที่ค้นพบ คือ การเรียนการสอนแบบใดที่นำไปสู่ความรุนแรง หรือเรื่องความรุนแรงที่ติดมากับตัว ไม่ว่าเด็กหรือครู ซึ่งยังไม่ได้มีการจัดทำจิตวิเคราะห์ในระบบโรงเรียน

"ครูที่รับรู้ความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ตรงนี้จะทำอย่างไรให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งครู ผู้ปกครอง ชุมชน มีทัศนคติที่ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรง และรูปธรรมความรุนแรงที่ค้นพบนี้น่าจะมีการนำไปสื่อสารสาธารณะให้สังคมรับ รู้ ให้เกิดทั้งความตระหนักและความตระหนก และช่วยกันสังเกต ว่า เด็กมีวิธีจัดการความรุนแรงที่ตัวเองต้องเผชิญอย่างไร จะหนีหรือจะสู้ เพราะเรื่องเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้ความรุนแรงจากโรงเรียนในเมือง ก็มีความแตกต่างหลากหลายออกไป อาทิเช่น กรณีโรงเรียนบางกะปิ กรุงเทพฯ และโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี ซึ่งนายชาคริต ภวังคนันท์ หัวหน้าโครงการโรงเรียนปลอดความรุนแรงของทั้ง 2 โรงเรียน กล่าวว่า

"เด็กๆ ที่เติบโตในเมืองใหญ่ ได้รับการหล่อหลอมจากบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ได้รับผลกระทบจากสังคมในทุกด้าน ทำให้เกิดความล่อแหลมต่อการกระทำผิดทั้งด้านกฎหมายและศีลธรรม รวมไปถึงค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ อาทิเช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การนิยมซื้อสินค้าราคาแพง การใช้โทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืนแม้แต่เวลาเรียน การมั่วสุมเล่นการพนัน และเกมคอมพิวเตอร์ การทะเลาะกันระหว่างโรงเรียน" นายชาคริตกล่าว

การป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรง จึงเริ่มจากการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้มแข็ง เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักและเข้าใจวิธีการป้องกันและแก้ ไขการใช้ความรุนแรงด้วย

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนจะพบว่าโรงเรียนไม่ใช่ปัจจัย เดียวที่ก่อให้เกิดความรุนแรง แต่มีบริบทที่แวดล้อมเกี่ยวข้องกับเด็กๆ แต่ละคน ทั้งในเชิงโครงสร้างของสังคม โครงสร้างของชุมชน ครอบครัว

ขณะที่ "โรงเรียน" เป็นพื้นที่สำคัญ ที่เด็กๆ มักแสดงออกถึงพฤติกรรมต่างๆ บางคนได้รับความกดดันจากสภาพในครอบครัวก็มีการแสดงออกในด้านความรุนแรงที่ โรงเรียน บางคนเกิดปมด้อยเนื่องจากสภาพสังคม ชุมชน หรือได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ดีจากชุมชนที่ตนอยู่อาศัย ก็แสดงออกที่โรงเรียน

"โรงเรียน" จึง เป็นสถานที่ซึ่งรองรับปัญหาต่างๆ การสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ของความสุข จึงน่าจะเป็นเป้าหมายร่วมกันของคนทั้งสังคม ไม่ใช่เป็นแค่ความหวังของครูและเด็ก ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น.-

......................................................................

เรื่องโดย...ปิยนาถ ประยูร 

ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 สิงหาคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 219461เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เด็กจะทุกข์จะสุข  ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่  มาเป็นกำลังใจให้ทุกคนมอบความรัก ความอบอุ่น ความสุขแก่เด็กๆ

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยทุกอย่างค่ะ

ความรุนแรงของนักเรียน มาจากปัจจัยอิสระทางสังคม แต่โรงเรียนสามารถกำหนดปัจจัยอิสระนั้นให้ นักเรียนเข้าใจได้ จากการสร้างสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความเสียหายจากความรุนแรงนั้น ๆ

ถ้าเป็นระดับที่สูงขึ้น จะมีปัจจัยทางร่างกาย โดยเฉพาะวัยรุ่น เพราะระดับฮอล์โมน ของเข้าจะไม่สมดุล จึงต้องติดตามผมและตรวจสอบสภาพทางอารมณ์บ่อย ๆ

ข้อเสนอแนะจากผู้น้อยครับ (ผู้สร้างสถานการณ์ทางการเรียนการสอน)

ขอบคุณสำหรับท่านที่มาอ่านทุกท่านค่ะ

มีหลายคนที่ได้พูดคุยด้วยไม่เชื่อมั่นระบบการศึกษาในโรงเรียน และนำลูกออกมาจัดการศึกษาเองโดยครอบครัว ซึ่งมีความน่าสนใจว่า บางส่วนสามารถแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของตนได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังต้องส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียน

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้โรงเรียนน่าอยู่ เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะมีความสุขได้

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้แก้ที่ครูหรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่โรงเรียนอย่างเดียว หากแต่ต้องแก้ทั้งชุมชนและสังคม

ตัวผู้เขียนเองไม่ได้เป็นครู (มีแต่พี่สาวและคนในครอบครัวเป็นครู) แต่สนใจเรื่องการศึกษา การจัดการศึกษาตามแนวคิดต่างๆ ทั้งโฮมสคูล วอลล์ดอร์ฟ ซัมเมอร์ฮิล มอนเตซเซอรี่ นีโอฮิวเมอร์นิส และการผสมผสานแนวคิดตามแนวทางวิถีพุทธ

ยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะดีๆ ค่ะ ในฐานะคนทำงานด้านสื่อก็จะประมวลและนำเสนอเป็นบทความต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท