แนวทางการจัดทำตัวชี้วัด


แนวคิดให้กำหนดประเด็นของตัวชี้วัด

คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ  ได้เสนอแนวคิดให้กำหนดประเด็นของตัวชี้วัดก่อนเขียนตัวชี้วัด  เพื่อเราจะไม่หลงทาง  รายละเอียดดังนี้นะคะ

หลักการ

1. ระดับยุทธศาสตร์ชาติ ให้กำหนดประเด็นตัวชี้วัดความสำเร็จของรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในที่พึงปรารถนา เช่น "GDP" และ "คุณภาพชีวิต" ฯลฯ

2. ระดับยุทธศาสตร์กระทรวง ให้กำหนดประเด็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกระทรวงที่มีต่อผลประโยชน์ของกลุ่มสังคมที่เป็นเป้าหมาย เช่น "GDP ภาคเกษตร" "GDP ภาคอุตสาหกรรม"  "สุขภาพดี" "สติปัญญาดี" และ" มลภาวะที่เกินมาตรฐาน" ฯลฯ

3. ระดับกลยุทธ์ของกรม ให้กำหนดประเด็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกรมที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและลักษณะผลประโยชน์เฉพราะ เช่น "ผู้ป่วยที่มารับการรักษามีอาการดีขึ้น" "เยาวชนไทยอ่านออกเขียนได้ทุกคน" และ "มลภาวะทางอากาศในเขต...ลดลง" ฯลฯ

4. ระดับกิจกรรมนำส่งผลผลิต ให้กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จจากการจัดทำกิจกรรม ด้วยการใช้คำกริยารูปธรรม "รักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานโรงพยาบาล" "จัดการเรียนการสอนให้เด็กวัยประถมศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐาน" และ "ควบคุมการปล่อยควันดำและควันขาวของยานพาหนะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานกลาง" ฯลฯ

เทคนิค

- ทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล แล้วนำประเด็นในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและประเด็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงและกรมโดยตรงกำหนดลำดับชั้นของยุทธศาสตร์โดยใช้แนวคิดการแปลงนามธรรมสู่รูปธรรม ด้วยการตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไร" จนกว่าจะได้คำกริยาที่เป็นรูปธรรม จากนั้นให้ตรวจสอบกิจกรรมย้อนกลับไปยังยุทธศาสตร์ ด้วยการตั้งคำถามว่า "ทำไปทำไม ใครได้ผลประโยชน์และมีผลประโยชน์ในลักษณะใด"

- ประโยคยุทธศาสตร์และประโยคกลยุทธ์มีคำที่เป็นนามธรรมในระดับต่าง ๆ กัน ถ้ามีความเป็นนามธรรมน้อยตัวชี้วัดก็จะน้อย เช่น รายได้ของเกษตรกรสูงขึ้น ตัวชี้วัดก็จะวัดได้ด้วยรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกร หรือรายได้ต่อหัวของเกษตรกร ในทางกลับถ้ามีความเป็นนามธรรมมากตัวชี้วัดตัวเดียวก็ไม่พอ ควรต้องมี 2-3 ตัว (แต่ไม่ควรเกิน 3 ตัว) เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรก็จะดีขึ้น ตัวชี้วัดก็จะวัดได้ด้วยรายได้ต่อครัวเรือนเกษตรกร กับ มูลค่าของทรัพย์สินในครัวเรือน กับเงินออม เป็นต้น

-ประโยคกิจกรรมเป็นประโยคที่มีคำรูปธรรมอยู่แล้ว (ไม่เป็นคำนามธรรม) และนำไปใช้ในการจัดทำแผนปฎิบัติการที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจได้ตรงกัน

ข้อผิดพลาด

- ประโยคยุทธศาสตร์และประโยคกลยุทธ์มีคำที่เป็นนามธรรมจำนวนมาก แล้วเขียนขึ้นมาเพื่อความหรูหรา หรือกลอนพาไป เช่น "ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างถ้วนหน้า เท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน ยุติธรรม และยั่งยืน" ซึ่งบางตัววัดได้ง่าย บางตัววัดยาก

- ประเด็นตัวชี้วัดขาด "นิยามปฏิบัติการ " (Operational Definition) หรือหาแหล่งอ้างอิงไม่ได้ หรือยังหาข้อยุติในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 219227เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไพฑูรย์ ย่องเหล่ายูง

พี่อ้อเก่งมาก ขอบคุณครับที่นำเรื่องดีมาเล่าสู่ฟัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท