ชีวิตอิสระ 2


คู่ที่ 3  สรรเสริญ -นินทา  ข้อนี้เป็นทุกข์กันมาก ไม่มีใครเลยที่จะพ้นจากสรรเสริญ และนินทา และไม่มีใครเลยที่จะได้รับแต่สรรเสริญ ไม่มีใครเลยที่จะได้รับแต่นินทา ทุกผู้ทุกนามต้องได้รับทั้งนั้น พระอาจารย์พยอมท่านบอกว่า นินทานั้น  เราจะไปทุกข์กับมันทำไม แค่ลมปากเขานั้นโดนเรากระเด็นเลยหรือเปล่า  เขามาต่อยมาตีมาขว้างปาเสียยังเจ็บกว่า  เขามาสัมผัสเรา เรายังรู้สึก   แต่คำพูดคือลมปากเนี่ย มันโดนเราซะที่ไหน  ไม่ใช่ว่าโดนเรากระเด็นไปสิบเมตรเลย  มันไม่ใช่ 

อาตมายกตัวอย่างบ่อย ๆ ว่า ถ้าเขาให้ของเราแล้วเราไม่รับซะ ของนั้นก็เป็นของเจ้าของเดิม  ถ้าเขาด่าเขานินทาเรา  เราก็อย่าไปรับสิ  บางคนนะ คนด่าเขาเลิกด่าไปเป็นอาทิตย์แล้วหรือเป็นเดือนแล้ว  บางทีคนด่าเขาลืมไปแล้วคนถูกด่ายังคิดอยู่เลย  ยังเจ็บ ยังแค้น ยังกลับมาคุกรุ่นควันขึ้นอยู่เลย คนด่าบางทีเขาก็พูดของเขาไปเรื่อย เขาก็ไม่คิดอะไรหรอก เขาเลิกด่าไปตั้งนานแล้ว   แต่เรายังนำมาเก็บไว้ เรายังมาย้ำอยู่เรื่อย ๆ  ก็เหมือนกับเรานำมาด่าตัวเองนั่นแหละ

เล่ากันว่า มีคนหนึ่งเป็นคนปากเสีย เรียกว่า ปากเสียประจำหมู่บ้านก็ว่าได้ ทุกคนรู้กันดีว่าคนคนนี้เป็นอย่างนี้เอง แต่มีอยู่คนหนึ่งพอถูกด่าเข้าไป ทนไม่ได้ คนอื่นเขาไม่ถือ เพราะเขารู้ว่า พูดไร้สาระ แต่คนนี้ทนไม่ได้ ด่าว่าเราถึงตระกูลถึงบรรพบุรุษ  ทนไม่ได้จึงไปฆ่าคนนั้นตาย  

 

ถ้าอดทนต่อสิ่งที่เล็กน้อยไม่ได้

วันข้างหน้าจะจำเป็นต้องอดทนในสิ่งที่ยากยิ่งกว่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เป็นไง! อดทนต่อคำด่าไม่ได้  สุดท้ายต้องไปอดทนทรมานอยู่ในคุก เพราะฆ่าเขาตาย มีตัวอย่างเยอะในเรื่องสรรเสริญนินทานี่นะ เรื่องในคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็มี  เช่น มีอุบาสกคนหนึ่งตั้งใจไปฟังธรรมที่วัด  ไปถึงก็ไปกราบพระเถระผู้หลีกเร้นอยู่ในที่สงบแห่งหนึ่ง คือท่านเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดสว่างสงบ ท่านไม่ชอบคลุกคลีในหมู่คณะ ไม่ชอบวุ่นวาย อุบาสกไปถึงก็กราบท่าน ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ท่านก็นั่งนิ่งเฉยอยู่ก็ไม่แสดงธรรมให้ฟัง อุบาสกก็นั่งอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็ไม่สนทนาอะไรเลย อุบาสกคนนี้ก็โกรธกระฟัดกระเฟียด  แล้วไปหาพระสารีบุตรไปเล่าให้ฟังว่า  เขาไปกราบพระเถระท่านหนึ่งต้องการจะฟัง  จะสนทนาธรรม   แต่ท่านกลับไม่พูดอะไรเลย พระสารีบุตรก็เลยแสดงธรรมให้ฟัง   เพราะเห็นว่าอุบาสกอยากฟังธรรม  มีความตั้งใจจะฟังธรรมมาก ๆ เลย วันนี้  ท่านก็แสดงธรรมขั้นสูงเรื่องอภิธรรมเป็นเรื่องของรูปนาม  ขันธ์ห้า  เรื่องของมรรคผลนิพพาน อุบาสกคนนี้ฟังไปก็งงไป  รู้สึกไม่พอใจ กราบพระเถระเสร็จก็เดินกระฟัดกระเฟียดไปอีก  ไปหาพระอานนท์ แล้วเล่าให้ฟังว่า นี่นะรูปแรกไม่พูดอะไรเลย พอรูปที่สองพระสารีบุตรพูดอะไรก็ไม่รู้ฟังไม่รู้เรื่องเลย   พระอานนท์ท่านฟังแล้วก็เลยแสดงธรรมที่ง่าย ๆ  ที่เป็นพื้นฐาน  สอนเรื่องทาน เรื่องศีลธรรมดาพื้น ๆ  อุบาสกฟังไปก็ไม่พอใจ  คิดในใจว่า  อะไรเห็นเราเป็นเด็กหรือไง  เราเข้าวัดตั้งนานแล้วมาพูดเรื่องทาน เรื่องศีล เราฟังไม่รู้กี่หนแล้ว ก็เลยลาพระเถระไปด้วยความรู้สึกไม่พอใจ  แล้วไปหาพระพุทธเจ้าทูลให้พระองค์ทราบ  

พระพุทธเจ้าเลยตรัสให้ฟังว่า คนเราก็เป็นอย่างนี้ละ  ชอบติโน่นตินี่  ชอบนินทาว่าร้าย  ชอบมองผู้อื่นในแง่ร้าย สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งดี  ไม่เป็นผลดีทั้งแก่ผู้กระทำ และแก่ผู้คนรอบข้าง อย่างพระเถระองค์แรกนั้นแท้จริงท่านแสดงธรรมนะเป็นธรรมะเบื้องสูงด้วยคือความสงบกิเลส เพราะธรรมะที่แท้หรือสัจธรรมนี่ พูดให้ฟังไม่ได้  คำพูดมันเป็นคำสมมติ มันเป็นสมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ ภาษาแต่ละภาษาเห็นไหมความหมายอันนี้เรียกอย่างนี้ มันสมมติกันขึ้นมา แล้วก็พยายามทำความเข้าใจให้ตรงกันเท่านั้นเอง

จริง ๆ แล้วปรมัตถสัจจะ คือความจริงอย่างแท้ที่สุด  จริงอย่างสูงสุดมันพูดแทนด้วยอักษรด้วยภาษาไม่ได้ มันเป็นปรมัตถสัจจะ แต่คำพูดมันเป็นแค่สมมติสัจจะ จึงมีคำกล่าวว่า ถึงพูดไปก็ไม่ใช่ ถ้าไม่พูดเสียเลยก็ยิ่งไม่รู้ แต่ถึงพูดไปก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ ลองคิดดูเถิด  เรื่องนินทาว่าร้ายนี่เยอะแยะมาก ทุกที่ ทุกถิ่น ทุกวงการ  ทุกประเทศชาติบ้านเมือง  และแม้แต่พระพุทธเจ้าก็หนีไม่พ้น พระพุทธเจ้าเองก็โดนใส่ร้ายเยอะแยะ  หาว่าพระสมณะโคดมนะเที่ยวแสดงธรรม เอาลูกชายเขาไปบวช ทำให้ไม่มีผู้สืบตระกูลต่อ หาเรื่องว่าจนได้ทั้งที่พระองค์มีมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเลย แม้แต่พระพุทธรูป พระอิฐ พระปูน ยังไม่วายโดนนินทาว่า   แหม! อะไรๆ ก็งามไปหมด พระเนตร พระกัณห์ พระนาสิก พระศอ พระเศียร ทั่วสรรพางค์กายงดงามหมด เสียอย่างเดียวพูดไม่ได้  นั่น คนช่างติ เรื่องเกี่ยวกับสรรเสริญนินทามีเยอะแยะ  แต่กล่าวมากไปก็จะเกินหน้ากระดาษ   เท่านี้คงเห็นกันแล้วว่า มนุษย์ทั้งหลายถูกสรรเสริญนินทาครอบงำอย่างหนัก  มาปลดเปลื้องพันธนาการให้อิสระแก่ชีวิตด้วยการไม่หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญนินทากันดีกว่า  เพราะว่า 

 

คำนินทาใด  ถ้าผู้ถูกนินทามั่นคงดี  คำนินทานั้นเปล่าประโยชน์

แต่คำสรรเสริญใด  ถ้าผู้ถูกสรรเสริญไม่มั่นคงดี

คำสรรเสริญนั้นก็เปล่าประโยชน์เช่นกัน

 

คู่ที่ 4  สุข-ทุกข์      โลกธรรมทั้ง 8  นั้น  ถ้าย่อจริง ๆ แล้วก็คือ ฝ่ายที่น่าปรารถนากับไม่น่าปรารถนา  ได้แก่  สุขกับทุกข์นั่นเอง ถ้ารวมจริงๆ แล้วมันอยู่ในสองคำนี้    ไม่มีใครเลยที่จะมีแต่สุข ไม่มีใครเลยที่จะมีแต่ทุกข์  ถ้ามีสุขอย่างเดียวชีวิตมันคงจะเลี่ยน ๆ เหมือนกันนะ  อาหารชนิดไหนอร่อย  แต่ให้กิน  ทุกวันก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ  มีเรื่องเล่าว่า  นักโทษถูกยัดเยียดให้กินไข่ดาวทุกวัน ๆ   สุดท้ายพอเห็นไข่ดาวเข้าก็ผูกคอตายเลย 

 

เราต้องไม่เหลิงในสุข และไม่ถูกทุกข์ท่วมทับ

 

คนเราต้องมีทั้งสุขทั้งทุกข์นั่นแหละ ที่สุดแห่งสุขก็คือทุกข์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็คือสุข สุดทางของสุขก็คือเข้าเขตทุกข์ สุดทางของทุกข์ก็คือเข้าเขตสุข  มันอยู่ด้วยกัน  มันใกล้ชิดกัน ถ้าใครมาชมว่าสุดหล่อ สุดสวย นั่นเขาด่านะ สุดหล่อแสดงว่าที่สุดแห่งหล่อมันก็เข้าเขตขี้เหร่แล้ว สุดสวยก็เหมือนกันนะ  เพราะฉะนั้น สุขทุกข์เป็นของที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ทุกคนต้องเจอ  มันอยู่ที่ว่าเจอแล้วจะทำอย่างไรกับมัน อย่างเช่นโดนแฟนทิ้งถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ฆ่าตัวตายไปก็มี แต่บางคนอาจจะแค่ยิ้ม ๆ ไม่ใช่ไม่รักก็รักนั่นแหล่ะ แต่จะทำยังไงได้  เขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา  ไปบังคับเขาให้ก้าวซ้าย ก้าวขวาไม่ได้หรอก บางคนโดนอาจารย์ว่าเข้าหน่อย ตำหนิหน่อย ไม่ยอมมาเรียนถึงกับเลิกเรียนไปเลยอย่างนี้ก็มี   สุดท้ายใครเสีย ?  ก็ตัวของเรานั่นแหละเสีย  เสียโอกาส  ตัดทางเจริญของตนเอง อย่างนี้นี่แสดงว่าไม่เข้าใจในเรื่องของโลกธรรม  ไม่เข้าใจในเรื่องของสุขทุกข์  เพราะฉะนั้น ถ้าเราเจอทุกข์  นี่แปลกไหม ?   ไม่แปลก ใคร ๆ ก็เจอ   แล้วเจอสุขนี่แปลกไหม ?  ไม่แปลก  แต่ต้องไม่เหลิงในสุข  แล้วก็ไม่ถูกทุกข์ท่วมทับ 

เพราะฉะนั้น  โลกธรรม 8   ฝ่ายสิ่งที่น่าพอใจนี่  แนวทางปฏิบัติก็คือ  หนึ่งอย่าให้มันครอบงำ  ชักจูงไปโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด  ไม่คำนึงถึงวิธีการ  อย่าให้แสวงหาในทางที่ผิด สองได้มาแล้วอย่ามัวเมาลุ่มหลง สามเมื่อมันจากไปก็อย่าเศร้าโศก  ส่วนฝ่ายที่ไม่น่าพอใจนั้น  สิ่งที่เราต้องปฎิบัติกับมันก็คือ หนึ่งเมื่อยังไม่ประสบอย่าประมาท (อย่าเพลิดเพลินในความไม่มีทุกข์) อย่ามัวเมาในความสุข ทุกข์มันต้องมาอยู่แล้ว ต้องเตรียมรับมันซิ เหมือนกับประเทศชาติเตรียมทหารไว้ป้องกัน ไม่ใช่จะรบแล้วค่อยฝึกทหาร กว่าถั่วจะสุขงาก็ไหม้แล้ว  ต้องเตรียมตัวไว้  ไม่ใช่ถึงเวลาจะใช้เงินก้อนโตค่อยหาเงิน  เก็บเงินนะ  มันไม่ทันมันต้องเก็บไว้ล่วงหน้า อย่าประมาท สองประสบแล้วอย่าระทมทุกข์

สิ่งเหล่านี้สมาธิช่วยได้ เมื่อฝึกจิตดีแล้วเราจะเห็นตามความเป็นจริง  แล้วเราจะไม่หลงใหลไปตามสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนานั้น  ถ้าเราหลงใหลไปกับสิ่งเหล่านี้ วัน ๆ หนึ่งเราจะดีใจ เสียใจ พอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย เดี๋ยวสบายใจ เดี๋ยวทุกข์ใจ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เรียกว่า ๆ ฟู ๆ แฟบ ๆ ทั้งวัน เดี๋ยวดีใจเดี๋ยวเสียใจเหนื่อยตาย 

 

เสียใจก็ไปนรก  ดีใจก็ไปสวรรค์

แต่เย็นใจไปนิพพาน  ชีวิตจะสงบเย็นเป็นประโยชน์

ถ้าเราทำจิตอิสระได้อย่างนี้  ปัญญาจะมีแล้วความคิดดี ๆ ก็จะเกิด

โลกก็จะเป็นโลกแห่งความสุข

เพราะว่า  ที่ใด ๆ ในโลกล้วนเป็นทุกข์

ยกเว้นละเหตุแห่งทุกข์เสียได้  ก็เป็นสุขในที่ทั้งปวง

 

ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่  038  ประจำวันพฤหัสบดี ที่  12 - 19  กรกฎาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 219015เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2008 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท