พาไปชมงานใส่บาตร(ออกพรรษา)ฉลองพระเจดีย์มอญ-พม่าที่สมุทรสาคร


 

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาชัยและบริเวณใกล้เคียงเป็นชุมชนที่มีชาวมอญ สัญชาติไทยอยู่มาแต่ก่อน วัดแถวๆ นี้มีเสาหงษ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญอยู่หลายแห่ง เช่น วัดหงษ์ วัดเจริญสุขาราม ฯลฯ

ทุกวันนี้มีพี่น้องชาวมอญ-พม่า(สัญชาติพม่า) และชาวพม่าเข้ามาทำงานแถวนี้มากมาย จะเท่าไร... ไม่มีใครทราบแน่ รู้แต่อยู่กันเป็นหลักแสน

...

ผู้เขียนเรียนถามชาวพม่าที่ทำงานแถวนี้มา 8 ปี ท่านบอกว่า ประมาณ 2 แสน ถามแท็กซี่ที่เคยบวชพระมานาน(ก่อนจะลาสึก) ท่านบอกว่า 5 แสน

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นวันออกพรรษา... วันออกพรรษาปีนี้มีความพิเศษสำหรับชาวมอญ-พม่า และชาวพม่าที่เข้ามาทำงานแถวนี้มาก เพราะท่านเหล่านี้ร่วมเงิน ร่วมแรง และร่วมใจกันสร้างพระเจดีย์ทรงพระชเวดากองไว้ที่วัดหงษ์มาร่วม 2-3 ปี

...

"วันไหนทำงานก็ทำงานไป วันไหนว่างก็ออกแรงสร้างพระเจดีย์" ชาวพม่าที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องเล่าให้ฟัง

แรงงานมอญ-พม่าและพม่าที่มาทำงานแถวนี้ส่วนหนึ่งจบปริญญามาก่อน ทุกวันนี้ชาวพม่าไม่เก่งภาษาอังกฤษเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว บางคนเรียนปริญญาโท(สาขาคณิตศาสตร์)จบแล้วก็พูดอังกฤษไม่ได้

...

ทุกวันนี้ชาวพม่าที่พูดอังกฤษคล่องส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นพ่อรุ่นปู่สอนภาษาอังกฤษให้ หรือลงทุนไปเรียนพิเศษเอง ไม่ใช่เก่งอังกฤษจากห้องเรียน

คุณอู ตอง หนุ่ย อุปัฏฐากพระไทย(ท่านเคยมาทำงานก่อสร้างแถวๆ ปทุมธานี 14 ปี เลยพูดไทยชัด แต่ฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เพราะกลับไปพม่าแล้วไม่ค่อยได้ใช้ภาษาไทย) บ้านอยู่ที่เมาะละแหม่ง เขตมอญ พม่าบอกว่า ลูกของท่าน 2 คนจบชั้นมัธยมฯ ทำงานอยู่แถวมหาชัย อีกคนจบปริญญาแล้วหางานทำไม่ได้ ไปทำงานทำความสะอาดบริษัทแถวๆ ลาดกระบังกับแม่ 2 คน

...

ภาพที่ 1 > ภาพคำขวัญเตือนโยมที่วัดเจริญสุขาราม(บางไผ่เตี้ย) ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

  • ผู้เขียนตามพระอาจารย์ชาวพม่ามาที่วัดเจริญสุขารามก่อน ที่นี่จะมีพระพม่ามาสมทบจากอยุธยา(เข้ามาเรียนในไทย)บ้าง นครปฐม(เข้ามาสอนกรรมฐาน)บ้าง เพื่อรับบิณฑบาตอีกหลายรูป
  • ใต้ถุนกุฏิวัดนี้มีคำเตือนดีๆ มาฝากญาติโยม (โปรดอ่านเองครับ)

...

ภาพที่ 2 > เสาหงษ์แบบนี้พบที่ไหน... บอกว่า เป็นศิลปวัฒนธรรมแบบมอญ พม่ารับไปอีกต่อหนึ่ง

  • แถวมหาชัยมีเสาหงษ์จากการสร้างของพี่น้องชาวมอญในไทย
  • วัดเจริญสุขาราม สมุทรสาครมีเสาหงษ์นี้เช่นกัน
  • แถวลำปางมีเสาหงษ์ในวัดหลายแห่งจากการสร้างของพี่น้องชาวพม่าในไทย ซึ่งเข้ามาทำไม้(รับช่วงต่อจากบริษัทอังกฤษในยุคอาณานิคม)

...

ภาพที่ 3 > ชาวมอญ-พม่าได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่จริงจังกับการทำบุญมากที่สุดในพม่า

  • วันพระหรือวันหยุดจากการทำงาน(เสาร์-อาทิตย์)... ท่านเหล่านี้จะมาถือศีล 8 ที่วัด

...

  • ผู้หญิงพม่าไปวัดนิยมสะพายผ้าสไบ(คลุมไหล่)สีกลักน้ำตาลเข้ม ผู้หญิงมอญ-พม่านิยมสะพายผ้าสไบถักด้วยมือสีขาวเวลาไปทำบุญ(ถ้าถือศีล 8) หรือสีอื่นๆ (ถ้าไม่ได้ถือศีล 8)
  • การทำบุญจะเริ่มจากการนิมนต์พระมาให้ศีล... เวลาพระเดินเข้าศาลานิยมถอดสไบลงวางกับพื้น ปูให้พระเดินผ่าน

...

ภาพที่ 4 > ชาวมอญ-พม่าเข้ามารับศีล 8 ในศาลา

...

ภาพที่ 5 > ชาวมอญ-พม่าและชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยจัดพิธีใส่บาตรฉลองพระเจดีย์ที่วัดหงษ์

  • คนเดินนำหน้าจะสวมชุดประจำชาติ หมวกกาวบาวแบบนี้มีขายสำเร็จรูป ทำด้วยไม้ไผ่สานด้านใน ด้านนอกเป็นผ้าพับไว้อย่างดี

...

  • โปรดสังเกตว่า หน้าขบวนมีคนเดินนำเชิญธงชาติไทยมาด้วย คนถัดไปถือธงเหลือง "ภปร." ตาม ชาวมอญ-พม่าและชาวพม่าที่เข้ามาทำงานที่นี่รักเมืองไทย และเคารพในหลวง
  • ปีกลาย (ปี 2550) มีการบวชถวายเป็นพระราชกุศล บวชกันหลายร้อยรูป ทว่า... ไม่เป็นข่าว

...

ภาพที่ 6 > พระเดินนำ คนถือถุงปุ๋ยเดินตามเนื่องจากคนใส่บาตรกันมาก งานใส่บาตรออกพรรษาปีนี้ต้องจัดกัน 2 วัน เนื่องจากพระมีน้อย คนใส่บาตรมีมากเกิน

  • โปรดสังเกตว่า วัยรุ่นที่นี่ส่วนใหญ่จะสวมโสร่งสีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ที่ใส่กางเกงมีเหมือนกัน แต่เป็นส่วนน้อย

...

  • ชาวมอญ-พม่าและชาวพม่านิยมทำบุญกันเป็นกลุ่มๆ ด้วยความเชื่อว่า ชาติหน้าจะได้ทำบุญร่วมกันอีก
  • ผู้ชายที่สวมโสร่งสีฟ้าในงานนี้มีเป็นร้อยคน ตัวแทนของกลุ่มเล่าให้พระพม่าว่า เป็นกลุ่มที่รวมกันสวดพระมหาปัฏฐานเป็นประจำ สวดครั้งหนึ่งยาวประมาณ 20 นาทีเศษ

...

  • พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อพระธรรมจะอันตรธาน(เสื่อม) พระอภิธรรมจะเสื่อมก่อน โดยพระมหาปัฏฐานจะเสื่อมเป็นอันดับแรก ชาวมอญ-พม่าและชาวพม่าจึงช่วยกันสวดพระมหาปัฏฐานกันทุกวัน เพื่อช่วยกันรักษาพระธรรมไว้ไม่ให้เสื่อม
  • พระมหาปัฏฐานฉบับเต็มใช้เวลาสวดประมาณ 5 วัน 4 คืน... นิยมสวดกันแบบ "ผลัดมาราธอน" โดยจะนิมนต์พระมาสวดรูปละ 1 ชั่วโมง สวดติดกันทั้งวันทั้งคืน

...

  • ผู้หญิงมอญ-พม่าและพม่าที่นุ่งผ้าถุงเรียบร้อยในงานนี้ก็ไม่น้อยหน้าฝ่ายชาย ท่านเหล่านี้จะรวมกันสวดพระสูตรเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มสวดพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร(พระสูตรแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง) ฯลฯ
  • ทุกวันนี้ชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหลือเพียง 5 ชาติในโลก และที่มีการใส่บาตรเหลือเพียง 4 ชาติในโลก คือ พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา (การใส่บาตรในศรีลังกาอันตรธานไปหมด หรือเกือบหมดแล้ว)

...

ภาพที่ 7 > ภาพงานใส่บาตรที่วัดหงษ์

  • โปรดสังเกตอีกครั้งว่า วัยรุ่นที่นี่รวมกลุ่มกันสวดพระมหาปัฏฐาน อยู่แบบเรียบ ง่าย ประหยัด และพอเพียง ถึงรายได้น้อยก็มีเงินส่งให้แม่ให้พ่อใช้

...

ภาพที่ 8 > ภาพสาวๆ ชาวมอญ-พม่ารอใส่บาตร

  • วัยรุ่นแบบนี้ไม่เสพติดยา เย็นลงก็มารวมกลุ่มกันสวดสาธยายพระสูตร มีพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นต้น

...

ภาพที่ 9 > คนนี้มอญ-พม่าปลอม

  • ถึงปลอมแต่ก็มีชื่อพม่าครับ ชื่อ "ขิ่น เมา มยิต์ (Khin Maung Myint)"
  • แต่งแบบนี้เชยครับ จริงๆ ควรจะสวมเสื้อแขนยาวสีขาว จึงจะเข้ากับบรรยากาศ

...

ภาพที่ 10 > งานใส่บาตร

  • โปรดสังเกตเสาหงษ์ที่สร้างขึ้นใหม่ใกล้ๆ กับพระเจดีย์

...

ภาพที่ 11 > งานใส่บาตรแบบนี้ต้องมีรถเข็นถุงปุ๋ยไว้ใส่ของใส่บาตร

  • สำหรับชาวมอญ-พม่าหรือชาวพม่า... การทำงานวัดหรืองานบุญ(เรียกว่า "กัปปิยะ" หรือคนทำกิจของสงฆ์ให้สมควร)นี่ นับเป็นเกียรติแบบสุดๆ บางวัดในพม่าต้องเข้าคิวรอ เพราะมีคนอยากทำบุญกันแยะ

...

ภาพที่ 12 > ภาพคนรอใส่บาตร

  • รายได้น้อย แต่ศรัทธาท่านไม่น้อยเลย

...

ภาพที่ 13 > เด็กน้อย

  • ชาติในหมู่ประเทศอาเซียน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มี 2 ชาติที่มีลูกกันน้อย (สิงคโปร์กับไทย)

...

  • ทว่า...ชาวมอญ-พม่ากับชาวพม่ายังคงมีคำกล่าวกันเล่นๆ ว่า "เอเอ เซเซ กเลมวย" หมายถึง "สบายๆ ลูกเลยดก(ไปหน่อย)" หมายถึงว่า ค่ำลงก็ไม่รู้จะทำอะไร ไปไหนก็ไม่ได้ เพราะไม่ค่อยมีสตางค์ ลูกเลยดก

...

ภาพที่ 14 > พระเจดีย์ที่วัดหงษ์ สมุทรสาคร

  • แน่นอนว่า พระเจดีย์ที่นี่เป็นทรงเดียวกับพระมหาเจดีย์ชเวดากอง โปรดสังเกตเสาหงษ์ที่อยู่คู่ศิลปวัฒนธรรมมอญ ที่นี่จะเป็นศูนย์รวมจิตใจ ทำให้แรงงานมอญ-พม่าคลายความคิดถึงบ้านได้

...

ภาพที่ 15 > พระพุทธรูปและพระปัญจวัคคีย์

  • ด้านข้างพระเจดีย์มีพระพุทธรูปหลายพระองค์ ซึ่งชาวมอญ-พม่าและชาวพม่าคงจะหาเวลาว่างจากการทำงานมาสร้างกันต่ออีกหลายปี

...

ภาพที่ 16 > อาหารแบบมอญ-พม่า

  • สำรับกับข้าวปกติของแรงงานมอญ-พม่าไม่ได้สุดหรูแบบนี้ ปกติจะมีข้าวสวยและกับข้าวสักอย่างสองอย่างเท่านั้น

...

  • งานนี้เป็นงานฉลองพระเจดีย์ จึงมีการเตรียมกับข้าวมากมายไว้ถวายพระ และคนที่มาร่วมงานบุญ
  • กับข้าวพม่าจะหนักไปทางแกงใส่ถั่วใส่น้ำมัน มีซุปผักเปรี้ยวๆ เค็มๆ แทนน้ำ (ชาวพม่าไม่นิยมดื่มน้ำระหว่างกินข้าว ใครดื่มถือว่า อิ่ม... ถ้าเผลอไปดื่มน้ำบางงาน อาจจะมีคนเก็บข้าวไปเลย)

...

  • กับข้าวมอญจะคล้ายอาหารไทยมีผัก มีปลา มีแกงที่ไม่ใส่ถั่วและน้ำมัน งานนี้อร่อยมากครับ (ภาษาพม่าคือ "อยตา ฌิ แด" หรือ "มีรส")
  • ยกเว้นนมรสสตรอเบอรี่ใส่น้ำตาลแบบเข้มข้นที่หวานแบบสุดๆ (หวานในความหมายของชาวพม่าหรือมอญนั้น... สำหรับคนไทยคือ หวานจัดกับหวานแบบสุดๆ)

...

งานนี้ผู้เขียนดีใจมากที่มีโอกาสพบเห็นพุทธบริษัทในพระธัมมวินัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาร่วมกันทำบุญฉลองพระเจดีย์ที่วัดหงษ์ สมุทรสาคร

ดีใจมากๆ ที่ได้มีส่วนร่วมทำบุญสร้างพระเจดีย์ส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จได้แก่ ลานพระเจดีย์ พระพุทธรูป และสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่าง

...

ขอบุญที่ผู้เขียนได้ทำแล้วพึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชาวไทย ชาวมอญ-พม่า และชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยมีความสุข ความเจริญ พึงได้เมตตากัน ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน

เมืองไทยเราขาดแคลนแรงงาน... การมีพี่น้องชาวมอญ-พม่าหรือชาวพม่าเข้ามาทำงานในไทยมีส่วนทำให้คนไทยส่งสินค้าราคาถูกไปแข่งกับชาติอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะชาติที่มีต้นทุนแรงงานต่ำมาก เช่น จีน เวียดนาม ฯลฯ

...

เมืองไทยเรามีปัญหาแหล่งท่องเที่ยว "ใกล้อิ่มตัว (nearly saturated)" มากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งท่องเที่ยวที่เรามีอยู่เริ่มจะเป็นของ "เดิมๆ" มากขึ้นเรื่อยๆ 

ถ้าเราส่งเสริมให้ครูบาอาจารย์จากเพื่อนบ้านเข้ามาแนะนำ สั่งสอนศิลปวัฒนธรรม โดยอาจจัดเป็นสถาบันศิลปวัฒนธรรมพม่า สถาบันศิลปวัฒนธรรมลาว สถาบันศิลปวัฒนธรรมกัมพูชาในไทยให้ได้... น่าจะเป็นผลดีกับเมืองไทย

...

เรื่องนี้คล้ายๆ กับที่นักลงทุนสิงคโปร์เคยจ้างคนไทยไปทำงานด้านการท่องเที่ยว และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของสิงคโปร์ได้ เช่น ฟาร์มจระเข้ ฯลฯ มาแล้ว

ตัวอย่างเช่น พม่ามีชาวอินเลที่พายเรือด้วยเท้าจนดังไปทั่วโลก ฯลฯ... ถ้าเราเชิญครูบาอาจารย์ชาวอินเลมาทำหมู่บ้าน "อินเล" ในไทย สอนวิธีการพายเรือด้วยเท้าให้ได้ โดยให้ใบอนุญาตทำงาน (work permit) ระยะยาว หรือให้สัญชาติถ้าสอนได้ครบเท่านั้นเท่านี้ปี

...

เมืองไทยจะได้แหล่งท่องเที่ยว "แม่เหล็ก" ใหม่ๆ มากมาย ผลดีด้านการท่องเที่ยวจะตกอยู่กับไทย และเพื่อนบ้านของเราก็จะได้มีโอกาสเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน (คนเราที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน... ส่วนหนึ่งเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" กัน)

ถึงตรงนี้... ขอพวกเราพึงได้เมตตา และได้บุญโดยทั่วกันเทอญ

...

ที่มา

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 20 ตุลาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 217872เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2008 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 08:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความคิดของคุณหมอเป็นสิ่งดีที่น่าจะมีผู้เริ่มสืบสาน..สิ่งแรกน่าจะมีการเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านของเรา..จะเป็นภาษามอญ ภาษาพม่า กระเหรี่ยง ให้กับคนไทยผู้ที่สนใจได้มีโอกาศศึกษาซึ่งนอกจากจป็นความรู้แล้วยังเป็นประตูสู่ความเข้าใจ..ซึ่งและกัน ทุกวันนี้คนไทยมีสาวใช้เป็นพม่าเขาเข้าใจภาษาเราแต่เราไม่มีโอกาศจะเข้าใจภาษาเขาได้ เราเสียเปรียบ....ไม่น่าแปลกเดี๋ยวนี้ฝรั่งพูดไทยชัดแจ๋ว...ทำไมเราจะพูดอ่านภาษาเพื่อนบ้านไม่ได้.....

ขอขอบคุณ... คุณยายธี

  • ดีใจมากๆ ครับที่มีคนใจกว้างแบบคุณยายธี
ถ้ามีสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานอะไรก็ได้จัดทำสื่อการสอนภาษาสำคัญๆ ในโลกได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อาหรับ สเปน และภาษาเืืพื่อนบ้านของเราเป็นชุดการสอน เช่น VCD, DVD ฯลฯ รวมภาษาพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ ได้
  • ต่อไปคนไทยจะเก่งมากขึ้น และจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น แถมจะมีมิตรภาพกับเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย

การรับข้าราชการ พนักงานของรัฐ ครู และรัฐวิสาหกิจรุ่นใหม่ควรมีการบังคับสอบภาษาอังกฤษพื้นฐาน

  • รัฐบาลไทยน่าจะเปิดสอนภาษาอังกฤษทางโทรทัศน์ จัดทำ VCD, DVD ทั้งภาษาหลักของโลก และภาษาเืืพื่อนบ้านทุกภาษา
  • และมีระบบสอบเทียบแบบ 100 ขั้นให้สอบสะสมไปได้ คล้ายๆ กับการสอบ มสธ. 
  • ใครจะทำงานภาครัฐต้องสอบภาษาอังกฤษ และอาจใช้ผลสอบภาษาเพื่อนบ้านมาประกอบด้วย จึงจะดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท