10 วิธีเอาตัวให้รอดเมื่อเกิดไฟไหม้(เพลิงไหม้)


 

...

โบราณว่า โจรปล้น 7 ครั้งเสียหายน้อยกว่าไฟไหม้ครั้งเดียว... คำพังเพยนี้ให้ข้อคิดดีมากๆ เนื่องจากไฟไหม้แต่ละครั้งมักจะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว ทว่า... มักจะลุกลามไปยังบ้านเรือนข้างเคียงสร้างความเสียหายไปทั่ว

สำนักบริหารจัดการไฟสหรัฐฯ (USFA) รายงานว่า สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในอาคารบ้านเรือนคนอเมริกันนั้นมีสาเหตุสำคัญๆ ได้แก่ การทำอาหาร 26.4% และการทำความร้อน 11.4% หรือระบบให้ความร้อนในหน้าหนาว เช่น เตาผิงไฟ ฮีทเทอร์ (heater / เครื่องทำคามร้อนในห้อง) ฯลฯ

...

สาเหตุหนึ่งที่พวกเราน่าจะหลีกเลี่ยงได้และพบบ่อยด้วยคือ การจุดเทียนในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่ทำด้วยวัสดุติดไฟง่าย เช่น ไม้ กระดาษอัด ไม้อัด ฯลฯ

หน่วยงานกาชาดสหรัฐฯ มีคำแนะนำให้เตรียมไฟฉาย หรือไฟแสงสว่างอย่างอื่นไว้ใช้ยามฉุกเฉินแทนเทียนไข เพื่อลดโอกาสเกิดไฟไหม้เวลาไฟดับ

...

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโปสเตอร์คำแนะนำเรื่อง "บัญญัติ 10 ประการเพื่อช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในอาคาร บ้านเรือน และตึกแถว"

ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

(1). ควบคุมสติให้ได้ อย่าตื่นเต้น ตกใจ

  • เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องอีกหลายๆ เรื่องในชีวิตคือ "พูดง่าย-ทำยาก" แต่ถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล

...

  • ทางที่ดีคือ หมั่นฝึกฝนไว้จะได้ไม่ลนจนทำอะไรไม่ถูก เช่น ขอเข้าร่วมการฝึกดับเพลิงเป็นประจำ ฯลฯ เพราะคนที่ผ่านการอบรมฝึกฝนมาดี (well-trained) มักจะควบคุมสติได้ดีกว่าคนที่ไม่ผ่านการอบรมฝึกฝนเสมอ

...

(2). ดึงอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ ในบริเวณใกล้เคียง

  • ข้อนี้ก็ "พูดง่าย-ทำยาก" เช่นกัน เนื่องจากเมืองไทยเราไม่ค่อยมีเครื่องแจ้งเหตุไฟไหม้

...

  • วิธีง่ายๆ คือ ใช้ปากตะโกนดังๆ ว่า "ไฟไหม" ซึ่งถ้าตะโกนในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น โรงหนัง ฯลฯ ต้องระวังโรค "เหยียบกันตาย" ซึ่งมักจะเกิดจากคนหมู่มากตกอกตกใจ แย่งกันหนีตาย เลยทำให้คนบางคนตายเร็วขึ้น(จากการถูกเหยียบ)
  • เพราะฉะนั้นต้องหาทางหนีทีไล่ดีๆ เช่น หลบไปด้านข้างให้พ้นทางเดิน ฯลฯ ก่อนตะโกน

...

(3). ถ้ามีถังดับเพลิง ให้ใช้ถังดับเพลิงดับไฟ

  • ข้อนี้ก็ต้องเตรียมการให้ดีก่อน ทั้งการหาถังดับเพลิงขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ที่สำคัญคือ เลือกขนาดที่เรายกไหว ฝึกฝนวิธีใช้เป็นประจำ และฟิตร่างกายให้แข็งแรง

...

  • เมืองไทยเราที่ตายไปกับไฟบ่อยๆ คือ เมาหลับไปบ้าง สูบบุหรี่แล้วหลับไป บุหรี่ติดไฟบ้าง หรือผิงไฟแล้วไฟไหม้บ้าง
  • เรื่องเหล่านี้ถ้าเลิกบุหรี่ เลิกเหล้าได้... โอกาสถูกย่างทั้งเป็นจะลดลงไปมาก

...

 

...

(4). ถ้าดับไม่ได้ให้รีบหนี และปิดประตูให้ดีด้วย

  • การปิดประตูให้ดีมีส่วนช่วยชะลอไฟให้ไหม้ช้าลง และลดความเสี่ยง (โอกาส) ถูกควันไฟลวก

...

  • สาเหตุการตายจากไฟไหม้ส่วนหนึ่งคือ การสำลักควันไฟ การปิดประตูก่อนเผ่น (วิ่งหนี) จึงมีความสำคัญมากๆ

...

(5). หนีไฟทางบันได อย่าใช้ลิฟต์

  • เวลาหนีไฟจะต้องหนีทางบันได อย่าใช้ลิฟต์ เนื่องจากเวลาไฟไหม้จะมีโอกาสเกิดไฟ(ฟ้า)ดับสูงมากๆ

...

  • นอกจากนั้นทีมดับเพลิงจะต้องทำการตัดไฟฟ้า เพื่อป้องกันการถูกไฟช็อต... การใช้ลิฟต์หนีไฟจึงไม่ค่อยต่างอะไรจากการเข้าไปอยู่ในตู้อบ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการถูกอบ ย่าง หรือเผาทั้งเป็น
  • การที่จะวิ่งหนีลงบันไดได้เร็วพอนี่... สมรรถภาพทางกายมีความสำคัญมากๆ จึงควรฝึกเดิน และเดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำ ร่างกายจะได้ฟิตพอ ไม่เป็นลมเป็นแล้งไปก่อนหนีไฟได้สำเร็จ

 

...

(6). ถ้าเส้นทางหนีไฟมีควัน ให้หมอบลง คลานหนีควัน(ไฟ)

  • ธรรมชาติของควันอย่างหนึ่งคือ "ใฝ่ต่ำแต่ไม่ติดดิน" ทำไมไปคล้ายกับสันดานคนเลวบางคนที่เลวด้วย หยิ่ง(จองหอง)ด้วยก็ไม่ทราบ

...

  • เพราะฉะนั้นเวลาหนีควันไฟ... ต้องหมอบราบลง ทำตัว "ติดดิน" เข้าไว้ คลานไปๆ จนหนีไฟได้สำเร็จ

...

(7). ถ้าเสื้อผ้าติดไฟ ให้กลิ้งตัวลงบนพื้น

  • ถ้าไฟเกิดไหม้เสื้อผ้า อย่าเพิ่งวิ่ง เพราะยิ่งวิ่ง... ไฟจะยิ่งลุกลาม ให้หยุดนิ่ง และล้มตัวลงนอนกับพื้นทันที

...

  • หลังจากนั้นให้ใช้มือปิดหน้า กลิ้งตัวทับเสื้อผ้าที่ติดไฟจนดับ

...

(8). แตะก่อนเปิด (ประตู)

  • สาเหตุการตายจากไฟไหม้ที่สำคัญ... นอกจากความร้อนจากไฟแล้ว การตายจากการสำลักควันไฟก็พบได้บ่อยมากๆ

...

  • ก่อนเปิดประตูเข้าไปในห้อง... ไม่ว่าจะห้องใดก็ตาม ต้องใช้วิชานินจา เอาหลังมือไปแตะบานประตู หรือลูกบิดประตูก่อนเสมอ
  • ถ้าบานประตูหรือลูกบิดประตูร้อนมักจะหมายถึงว่า มีไฟไหม้อยู่ในห้อง

...

  • ถ้ามีควันเล็ดลอดออกมามักจะหมายความว่า มีควันไฟอยู่ในห้องถัดไป
  • อย่าเปิดประตูเข้าไปในห้องที่มีไฟไหม้ หรือมีควันไฟ (ยกเว้นจำเป็นจริงๆ)

...

(9). ถ้าติดอยู่ในอาคาร...

  • ถ้าติดอยู่ในอาคาร... ให้ปิดประตูและหน้าต่างด้านในอาคารป้องกันควันไฟ ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องว่างตามซอกประตูหรือหน้าต่าง

...

  • หลังจากนั้นให้เปิดหน้าต่างด้านนอกอาคาร ใช้ไฟฉายหรือผ้าโบก เพื่อให้คนนอกอาคารรู้ตำแหน่งที่แน่นอน
  • ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ... ให้โทร.บอกตำแหน่งคนที่รู้จักให้เร็วที่สุด (ตรงนี้ผู้เขียนขอเสริมเข้าไป) ยุคนี้อย่าไปไหนโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือจึงจะดี

...

...

(10). ถ้าหนีได้และมีคนอื่นตกค้าง

  • ถ้าหนีออกมาจากอาคารได้... ให้รีบแจ้ง "มืออาชีพ" ได้แก่ พนักงานดับเพลิงหรืออาสาสมัครป้องกัน-บรรเทาสาธารณภัย เพื่อจะได้ช่วยคนที่ตกค้างอยู่ในอาคารถูกตามหลักวิชาการ

...

  • เวลาแจ้งข่าว... อย่าทำตัววุ่นวาย เช่น ร้องไห้ ตะโกน คลุ้มคลั่ง ฯลฯ จนคนอื่นทำอะไรไม่ถูก (คนไข้และญาติคนไข้จำนวนมากมักจะสร้างปัญหานี้จนไปรบกวนการทำงาน ทำให้พยาบาลและหมอทำอะไรผิดพลาดบ่อยมาก)
  • และที่สำคัญ... อย่าเพิ่งด่าหรือโทษคนอื่น เช่น ทำไมรถดับเพลิงมาช้า (โดยเฉพาะรถในกรุงเทพฯ ติดแบบนี้ ไม่มีทางมาได้เร็วเลย) ฯลฯ

...

  • ทางที่ดีกว่าคือ... ให้พูดช้าๆ ชัดๆ หรือเขียนใส่กระดาษให้ชัดเจน เนื่องจากการสื่อสารที่ดีมีผลต่อความอยู่รอดของพวกเราทุกคน
  • และอย่าลืม... กล่าวคำขอบคุณ ขอบใจทุกคนทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยเหลือเราเสมอ เพื่อให้กำลังใจคนอื่นในการทำดี และแสดงความเป็นคนมีจิตใจสูงของเรา (กตัญญูกตเวที) ของเราออกมาให้ได้

...

การเตรียมการตัวเราให้พร้อมอยู่เสมอ เช่น ใช้วัสดุไม่ติดไฟทำอาคารบ้านเรือน เตรียมเครื่องดับเพลิงหรือระบบดับเพลิง (เช่น ระบบฉีดน้ำอัตโนมัติ ฯลฯ) ไว้ให้พร้อม ฟิตร่างกายให้แข็งแรง ฯลฯ มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสรอดในเวลาเกิดภัยพิบัติแทบทุกอย่าง

ถ้าท่านผู้อ่านนับถือพระพุทธศาสนา... การถวายเครื่องดับเพลิงให้วัดวาอารามมีส่วนช่วยรักษาสมบัติของชาติบ้านเมืองได้มาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มาไทยส่วนใหญ่มาเพื่อชมศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย

...

นอกจากนั้นการไม่ปรุงอาหารประเภท "ลวกๆ เผาๆ" เช่น ลวกหอยแครงทั้งเป็น เผาปลาทั้งเป็น ฯลฯ มีส่วนช่วยป้องกันผลกรรมในอนาคตได้

ถ้าเคยทำมาแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจ... ควรหาทางปล่อยหอย ปล่อยปลาตามโอกาส เรื่องหนักจะได้กลายเป็นเบา และควรตั้งใจว่า จะไม่ทำเช่นนี้อีก

...

การหลีกเลี่ยงไม่จุดธูปเทียนในบ้าน โดยใช้ของหอม เช่น ดอกไม้ น้ำอบ น้ำหอม มะลิ ฯลฯ เป็นเครื่องบูชาของหอม และถวายไฟแบบประหยัดพลังงานเป็นการถวายแสงสว่าง เช่น เครื่องบูชาที่ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ฯลฯ มีส่วนป้องกันไฟไหม้ได้

ถ้าจำเป็นต้องจุดธูปเทียนในบ้าน... ควรจุดเฉพาะในที่ที่อากาศระบายได้ดี เพื่อป้องกันอันตรายจากควันไฟ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง หรือมะเร็งได้

...

และควรจุดธูปเทียนเฉพาะในบริเวณที่ไม่มีวัสดุติดไฟง่าย เช่น มีโลหะ กระเบื้อง ฯลฯ ล้อมรอบ อย่าจุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 

...

 

 

 

ที่มา                                                  

...

  • ขอขอบพระคุณ > กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. โทรศัพท์ 02-2241-7450-6. สายด่วน 1784. > บัญญัติ 10 ประการเพื่อช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในอาคาร บ้านเรือน และตึกแถว. > โปสเตอร์คำแนะนำสำหรับประชาชน.
  • Thank USFA > Residential structure fire causes 2006 Data 10/05/2006 > [ Click ] & [ Click ] > October 17, 2008.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 18 ตุลาคม 2551.

...

หมายเลขบันทึก: 217330เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2008 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณหมอ บทความดีๆ การ์ตูนน่ารัก krutoiขออนุญาติ copy ไปฝากเด็กๆไดไหมคะ ขอบคุณค่ะ รอคำอนุญาตอยู่นะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์ krutoi...

  • บทความและการ์ตูนนี้... 
  • ต้นฉบับมาจากโปสเตอร์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
ต้นฉบับท่านพิมพ์เผยแพร่เป็นสินค้าสาธารณะ (public good) หรือเป็นสมบัติของประชาชนไทยโดยส่วนรวม
  • ยินดีให้นำไปใช้ได้ครับ (จริงๆ ลิขสิทธิ์การ์ตูนเป็นของกรมป้องกันฯ หรือสมบัติของทางราชการไทย)
  • พวกเราเสียภาษีปีละมากๆ อยู่แล้วจึงควรนำไปใช้ได้เช่นกัน...

สวัสดีและขอบคุณมาก ๆ ครับสำหรับบทความดี ๆ

ขอขอบคุณอาจารย์มากๆ เช่นกันครับ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท