สื่อและการนำเสนอแบบสร้างพลัง


"...สื่อเล็กๆ แต่เติมแรงบันดาลใจ วิธีคิด และปฏิบัติการในแนวทางใหม่ๆ ก็สามารถทำให้งานประจำพื้นๆ กลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ทั้งงาน องค์กร และการพัฒนาบุคลากร ได้ครับ..."

             ผมมีคนทำงานด้านสื่อ โสตทัศนศึกษา และเทคโนโลยีทางการศึกษา อยู่ในหลายลักษณะ  บางคนเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง บางคนเรียนมาทางนิเทศศาสตร์ ทว่า แนวคิดและทักษะปฏิบัติการทางสื่อเฉียบ บางคนเรียนมาทางศิลปะ เทคโนโลยีไอที  การศึกษา และการบริหาร 

             แต่การเป็นสถาบันวิชาการ ซึ่งต้องมีภารกิจสร้างความรู้และบริการทางวิชาการ  เลยต้องมีส่วนร่วมและเรียนรู้ผ่านการทำงาน  ทำให้เก่งและมีทักษะรอบด้านเพื่อการทำงาน ทั้งการเป็นนักวิจัย  เป็นวิทยากร  พัฒนาหลักสูตรอบรม  สนับสุนทางวิชาการให้นักพัฒนาและคนทำงานจากแหล่งต่างๆได้มีที่กลับมาพัฒนาตนเองแล้วก็ออกไปทำงานในเงื่อนไขและความจำเป็นใหม่ๆ ได้อย่างดีอยู่ตลอดเวลา 

            นอกจากทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ จัดกระบวนการเรียนรู้ และจัดการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมพลังให้กับนักพัฒนาสาขาต่างๆ เก่งแล้ว นักวิชาการ นักวิจัย และคนบริการทางวิชาการของสถาบันมักพึ่งตนเอง ถ่ายรูป ทำสื่อ นำเสนอและถ่ายทอดสื่อสาร เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้  เก่งทุกคน  หลายคนจัดว่าชั้นยอด รวมไปจนถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในห้องประชุมและในเวทีเรียนรู้รูปแบบต่างๆ

            ผมเห็นน้องๆหลายคน  วิธีคิดและทักษะการจับประเด็นจากเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มแก่กล้า ทั้งด้วยความที่อาวุโสมากขึ้นและเป็นคนไม่นิ่งดูดายต่อกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งทำให้เข้าใจกระบวนการและเกิดการเรียนรู้  สามารถร่วมลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยการริเริ่มและบูรณาการตนเองเข้ากับการทำงาน ในระดับที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จมากขึ้น

            ผมเลยลองขอให้ทุกคนที่ทำงานของตนและถ่ายรูปเก็บข้อมูลไปด้วย  ลองพัฒนาชุดภาพถ่ายจำนวนหนึ่ง ให้เป็นสื่อการเรียนรู้และสร้างพลัง (Empowerment Learning Media : ELM) โดยใช้วิธีปฏิบัติการทางสื่อขนาดเล็ก (Small media) สร้างเสริมปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มก้อนผู้เรียน เพื่อให้มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ ในลักษณะต่างๆ

            ได้ผลดีมากทีเดียว ทั้งต่อการทำให้คนทำงานเกิดการยกระดับความแตกฉานในสิ่งที่กำลังทำด้วย และการส่งเสริมกระบวนการต่างๆ ของการอบรม ประชุมสัมมนา เวทีระดมความคิด และเวทีทำวิจัยเป็นกลุ่ม ให้มีความต่อเนื่อง  เต็มไปด้วยบรรยากาศสร้างสรรค์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

            ที่สุด  เลยกลายเป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์การเรียนรู้  ที่เราจะนำมาพิจารณาในการประชุมสรุปบทเรียนการทำงานในแต่ละครั้ง  และบางส่วน  เริ่มพัฒนาเป็นหัวข้อย่อยเพื่อถ่ายทอดสู่การอบรมเทคนิควิทยากรและพัฒนาทักษะนักวิจัยสุขภาพชุมชน สะสมข้อมูล ตกผลึกแนวคิด และพัฒนาความเชี่ยวชาญ แบบบูรณาการให้กับตนเองไปด้วย ทีละเล็กละน้อย 

            บทเรียนดังกล่าว  พอจะประมวลออกมาเล่าสู่กันฟังเป็นลำดับได้อย่างนี้ครับ

    โอกาสการนำเสนอ

  • ตอนเช้า ก่อนการเริ่มกิจกรรมและรายการหลัก  และตอนเย็น หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมหลัก
  • ช่วงก่อนและหลังพักเครื่องดื่มและอาหารว่าง
  • ระหว่างการทำงานกลุ่ม

     รูปแบบ เทคนิค และศิลปะทางสื่อ

  • ทำเป็นภาพชุด (Conceptualized and Inspired Presentation) นำเสนอประเด็นเดี่ยวเล็กๆ แต่ให้พลังการคิดและความบันดาลใจ  ดำเนินเรื่องโดยภาพที่เลือกสรรอย่างดี  เบ็ดเสร็จใน 1-3 นาที
  • ทำเป็นภาพชุด มีดนตรี และเทคนิคผสมเสียงพิเศษ (Sound Effect)  นำเสนอเบ็ดเสร็จ 1-3 นาที
  • ภาพถ่าย เน้นภาพที่เราเป็นคนทำและถ่ายเอง  ซึ่งให้พลังการเป็นต้นฉบับ หรือใช้ภาพถ่ายจากกิจกรรมที่กำลังทำ ซึ่งจะให้ความจำเพาะต่อกลุ่มผู้รับและสร้างความเป็นเจ้าของเหตุการณ์  สร้างพลังการมีส่วนร่วม
  • หากเป็นการนำเสนอสอดแทรกกระบวนการอื่นง่ายๆ ก็ทำสคริปต์ในใจเพื่อกำกับและบริหารจัดการองค์ประกอบทั้งหมดให้ลงตัว ผ่านการพูดคุยและซักซ้อมเป็นกลุ่ม 
  • หากเป็นการจัดการเวที  ที่เน้นกระบวนการดังกล่าวนี้อย่างเป็นพิเศษ ควรจัดทำสคริปต์เวที และจัดวางทีมกำกับ ให้องค์ประกอบต่างๆ ดำเนินไปด้วยกันอย่างกลกลืน ผมและทีมอาจารย์จากหลายคณะ  เคยช่วยกันทำเวทีแบบนี้ให้กับเครือข่าย UKM และประชุมเครือข่ายผู้บริหารของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนกลับมาดีมาก 

     การออกแบบเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ 

  • ช่วยสรุปแนวคิดในภาพรวม และทบทวนความจำอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • จุดประกายแนวคิด เปิดแนวคิด  สร้างมุมมอง  และสร้างพลังทรรศนะ  เพื่อการเรียนรู้และขบคิดปัญหา
  • สร้างสมาธิ ให้ความสงบใจเพื่อการอยู่กับตนเอง  คิดใคร่ครวญ และเข้าสู่ภาวะภายในตนเอง เพื่อได้วิถีคิดและตัวปัญญาที่ลึกซึ้งแยบคาย
  • บางครั้งใช้ทำกิจกรรมผ่อนคลาย สร้างความสนุก ขบขัน และสร้างความตื่นตัว ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักจัดกระบวนการรู้จักดีว่าเป็นกิจกรรมสำหรับทำ Energizer สื่อที่ออกแบบดีๆและทักษะคนที่นำเสนอ  สามารถทำได้อย่างแตกต่างด้วยเช่นกันครับ

    วิธีนำเสนอให้มีพลัง

  • จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม (Setting and Design) ให้สมาธิและความสนใจร่วมกัน มุ่งไปยังสิ่งที่จะนำเสนอ  เช่น  การจัดที่นั่ง  การปรับสภาพแสงในห้องให้อบอุ่น  อ่อน  เบา  ซึ่งห้องที่มีระบบหรี่แสง (Ligthing Dimmer) จะดำเนินการได้ 
  • นำเข้าสู่รายการด้วยการเกริ่น และเตรียมจังหวะ ให้ทุกคนพร้อม อยู่ในอารมณ์ที่จะร่วมเรียนรู้และอยู่กับตนเองภายใต้บรรยากาศการนำเสนอสื่อ  ที่ดี
  • ดำเนินการและนำเสนอให้ต่อเนื่อง กลมกลืน ไม่ตะกุกตะกัก  ฝึกฝนตนเองให้เป็นสื่อกลาง  เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ให้แสดงพลังส่งเสริมกันอย่างเหมาะสม 

    การจบ สรุป และส่งประเด็นสู่กิจกรรมต่อไป

  • หลังการนำเสนอสื่อแบบสร้างพลังแล้ว ควรสรุปเพื่อเชื่อมโยงประเด็น  ส่งต่อเข้าสู่รายการกิจกรรม หรือกระบวนการเรียนรู้  กระบวนการทำงาน  ในลำดับต่อไป
  • การสรุปและสะท้อนหลักคิดที่ดี ควรผ่านการคิดใคร่ครวญและทำงานเบื้องหลังให้เพียงพอ ควรศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน  ให้บทสรุปสะท้อนการตกผลึกความคิดและการมีความรู้เป็นฐาน ซึ่งการหมั่นทำสมาธิ  เจริญสติภาวนา การอ่านอย่างลึกซึ้ง  และการเรียนรู้การปฏิบัติ  ให้ได้ความลุ่มลึกแยบคายแก่ตนเอง  จะเป็นประโยชน์มาก

      การผุดการทำงานอย่างนี้ขึ้นบนการบริการห้องประชุม การบริการทรัพยากรทางวิชาการ การจัดการเทคโนโลยีและทรัพยากรทางความรู้  กิจกรรมบริการทางวิชาการ  รวมไปจนถึงการจัดการเรียนการสอน และการประชุมทางการวิจัย  ทำให้คนทำงานที่ชอบการเรียนรู้ผสมผสานไปกับการทำงาน จูงใจตนเองจากการได้ทำงาน เรียนรู้ กล่อมเกลาและค้นพบตนเอง มีพลังการริเริ่มและเห็นความงอกงามจากการได้ทำงาน 

        องค์กรสามารถได้คนที่ขยายประสบการณ์ผ่านการทำงานและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  เพิ่มพูนขีดความสามารถไปกับความอาวุโส  เสริมข้อจำกัดของการตอบแทนและการจูงใจด้วยสวัสดิการโดยทั่วไป ให้ทรัพยากรบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ให้คุณค่าต่อการพัฒนาตนเอง ได้มีโอกาสใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ต่อองค์กร  ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสำคัญ สำหรับการพัฒนาองค์กรเรียนรู้ในปัจจุบัน 

         สื่อเล็กๆ แต่เติมแรงบันดาลใจ วิธีคิด และปฏิบัติการในแนวทางใหม่ๆ  ก็สามารถทำให้งานประจำพื้นๆ กลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ทั้งงาน  องค์กร และการพัฒนาบุคลากร ได้ครับ.

 

หมายเลขบันทึก: 217124เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาอ่านการพัฒนาคนแบบบูรณาการด้วยสื่อสร้างพลังครับ

เรียน อาจารย์วิรัตน์ครับ

ผมอ่านโดยละเอียดครับ ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่ได้ชี้ประเด็นให้เห็นชัดโดยละเอียด ในการทำงานผมเองให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากครับ ผมถอดบทเรียนกับตัวเองตลอดว่า คือการสื่อสารที่ดีทำให้งานสำเร็จไปกว่าครึ่ง

โจทย์ที่น่าสนใจก็คือ การสื่อสารที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย และเร้าพลัง น่าจะเป็นอย่างไร...อาจารย์เขียนบันทึกได้ดีมากเลยครับ

ประเด็นที่ผมคิดว่า เราควรเรียนรู้ก็คือ

  • วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
  • สื่อที่เร้าใจ (เทคนิค และ ช่วงเวลาที่เหมาะสม)
  • ง่าย และ ชี้ให้มองได้หลากหลาย ทำอย่างไร?
  • เป็นธรรมชาติ อย่างไร?
  • สื่อที่สมานฉันท์ สื่อและการนำเสนอที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อย่างไร?

ผมคิดว่าจะขออนุญาตบันทึกเรื่องราวที่อาจารย์เขียน นำเผยแพร่ให้เพื่อนๆที่ทำงานด้วยกันได้เข้ามาเรียนรู้ครับ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ขอยกเก้าอี้มานั่งล้อมวงกิจกรรมของอาจารย์ด้วยคนค่ะ
  • แนะนำตัว เป็นน้องสาวพี่ปิ๊กเวียงค่ะ พอจะนึกออกไหมคะ
  • ยินดีต้อนรับคุณครูโย่ง
  • ประสบการณ์ของคุณจตุพร และวิธีเขียนถ่ายทอด  ก็ถือว่าเป็นความรู้และทฤษฎีนอกตำราที่สุดยอดนะครับ  ขอให้มีความสุขและได้ความงอกงามเสมอ เป็นคนทำงานเก่งๆในอนาคต
  • จำได้ก๊า จำได้ไปถึงหลานๆน่ารักๆ ด้วย  ยังพูดกับแต๋ม พี่เล็ก และพวกเราที่ไปเที่ยวดอยขุนตาลเมื่อหลายปีก่อนโน๊นอยู่เลยว่า  เมื่อไหร่จะมีโอกาสไปตะรอนๆอย่างนั้นกันอีก  ช่วย Organized กันหน่อยสิ  ประเดี๋ยวแก่ๆกันหมด  ไปสำบุกสำบันกันไม่ไหว ขอบคุณและดีใจที่ได้เห็นหมู่เฮาแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนจ้า  มีความสุขนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท