"ทักษิณ" รื้อปฏิทินงบปี"50 ใหม่ พิษการเมืองเร่งเบิกเงินอุตลุด


"ทักษิณ" รื้อปฏิทินงบปี"50 ใหม่ พิษการเมืองเร่งเบิกเงินอุตลุด
       พิษการเมืองทุบเงินสดเกลี้ยงคลัง กองทุนหมุนเวียน องค์กรอิสระ ส่วนราชการ หวั่นรัฐบาลใหม่หั่นงบฯ แห่วางฎีกาเบิกเงินตรึม จนท้องพระคลังแทบโล่ง มติ ครม. ล่าสุดยอมรับขอยืดหนี้ รองรับเงินสดขาดมือช่วงเม.ย.-พ.ค. พร้อมรื้อปฏิทินงบฯ ปี 2550 ใหม่ เลื่อนยาวถึง 6 พ.ย. 49 หวั่นทำงบฯ ลงทุนหดฉุดจีดีพีทรุด
จากกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลถังแตก เมื่อเดือนตุลาคม 2548 จนถึงขณะนี้ยังเป็นข่าวต่อเนื่อง ล่าสุด      เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม กระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า ไม่ได้ถังแตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (28 มี.ค.) มีมติอนุมัติแผนการปรับปรุงการบริหารหนี้สาธารณะ  ปีงบประมาณ 2549 ครั้งที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยแบ่งเป็นการปรับเพิ่มแผนการบริหารและการจัดการเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจากวงเงินเดิม 260,000 ล้านบาท เป็น 265,000 ล้านบาท และการปรับวิธีการบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจให้สามารถเลือกแนวทางบริหารหนี้ต่างประเทศด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การ prepayment การ roll-over การ refinance และการ swap arrangement ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยอยู่ภายใต้วงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้วที่วงเงินรวม 326,347.06 ล้านบาท  ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ชี้แจงถึงเหตุผลการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวว่า การเพิ่มวงเงินในแผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในส่วนราชการ roll-over พันธบัตรตราสารหนี้ของรัฐบาลอีกจำนวน 5 พันล้านบาท เพื่อเป็นการรักษาระดับเงินสดให้เพียงพอกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจาก     ในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในวงเงินที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีจะได้รับเงินจากการนำส่งคลังในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน ทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอที่จะรองรับธุรกรรมรายจ่ายของรัฐบาล
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเห็นสมควร roll-over ตั๋วสัญญาใช้เงินปีงบประมาณ 2543 ครั้งที่ 3         ที่มีกับธนาคารออมสิน อายุ 6 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ที่จะครบกำหนดในวันที่ 26 เมษายน 2549 วงเงิน   5 พันล้านบาท โดยขอตกลงกับธนาคารออมสินเพื่อขยายอายุตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปหรือพิจารณาจัดหา   แหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมทดแทน โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินสดรับ-จ่ายของรัฐบาล


ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การปรับวิธีการบริหารหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ คณะรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงการคลังสามารถใช้และปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของตลาด
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า มติ ครม. ได้ปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ใหม่ โดยเลื่อนจากปฏิทินเดิม อาทิ การเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 จากเดิม 14-15 มิถุนายน 2549 เป็น 9-10 สิงหาคม 2549 และเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 2-3 จาก 23-24 สิงหาคม เป็น 27-28 กันยายน 2549 และงบประมาณต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า การเลื่อนปฏิทินดังกล่าวจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ล่าช้าออกไป และคาดว่าจะกระทบต่องบฯ ลงทุนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 ซึ่งตรงกับ   ไตรมาส 4 ของปี 2549 ซึ่งงบฯ ลงทุนเฉลี่ยไตรมาสละ 60,000 ล้านบาท  ดังนั้นคาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีในปีนี้อย่างแน่นอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระแสเงินสดของรัฐบาลในช่วงนี้ค่อนข้างตึงตัว โดยมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจำนวนมากจนเกิดปัญหาเงินสดขาดมือ เป็นผลมาจากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสดของรัฐบาลขาดดุลมาตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา  ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศยุบสภา   หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ กองทุนหมุนเวียนและส่วนราชการอื่น ๆ ทยอยกันเข้ามาวางฎีกาขอเบิกเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลางกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเกรงว่าจะเบิกเงินงบประมาณไม่ได้ หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แล้วมีความเห็นที่ขัดแย้งกับนโยบายของ รัฐบาลชุดเก่า อาจจะสั่งการให้มีการทบทวนหรือชะลอโครงการออกไปได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงนี้กระจุกตัวจนขาดดุลกระแสเงินสด
ด้านนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในขณะนี้ทางกรมบัญชีกลาง      กำลังเร่งสำรวจกองทุนหมุนเวียนทั้ง 93 กองทุน และอีกหลายส่วนราชการที่มาวางฎีกาเบิกเงินแล้วไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีกองทุนหมุนเวียนบางแห่งมาวางฎีกาเบิกเงินงบประมาณออกไปจำนวน 5,000 ล้านบาท แล้วไปฝากธนาคารพาณิชย์ จากนั้นก็มีการเบิกดอกเบี้ยออกมาจ่ายเป็นเงินเดือนลูกจ้างในหน่วยงาน ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จัดตั้งองค์กรนั้น ๆ ขณะนี้ทางกรมบัญชีกลางกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง เพื่อนำไปสรุปหาแนวทางการแก้ไข เสนอให้กับทางกระทรวงการคลังพิจารณา
นายบุญศักดิ์กล่าวว่า บทบาทของกรมบัญชีกลางในสถานการณ์ขณะนี้ ต้องรักษาวินัยการเงิน การคลังอย่างเคร่งครัด  โดยการจัดระเบียบการใช้จ่ายเงินตามความจำเป็นเท่านั้น หากไม่เร่งหามาตรการมาแก้ไขแล้ว ในปีงบประมาณถัดไปอาจจะประสบปัญหาเช่นนี้อีก   ส่วนการจัดทำงบประจำปี 2550 นั้น  จากสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าจะจบลงอย่างไร และไม่ทราบว่าจะยืดเยื้อออกไปนานแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 อย่างแน่นอน หากไม่สามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ให้ใช้กรอบของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของปี 2549 ได้ รายจ่ายสำคัญ ๆ


อาทิ เงินเดือน สวัสดิการ การเบิกจ่ายวัสดุครุภัณฑ์ ยังคงดำเนินการเบิกจ่ายเงินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นโครงการใหม่ ๆ อย่างเช่นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ คงจะต้องรอนโยบายรัฐบาลชุดใหม่มาอนุมัติบรรจุรายการใช้จ่ายเข้าไป   นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคกล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลคาดว่าจะมีรายรับ 1.3 ล้านล้านบาท โดยมาจากภาษีสรรพากร 64% ภาษีสรรพสามิต 19% ภาษีศุลกากร 7.5% และ    อื่น ๆ 10%    ทั้งนี้คาดว่าปีงบประมาณ 2549 จะมีรายรับจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 400,000 ล้านบาท ภาษีเงินได้ นิติบุคคล 350,000 ล้านบาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 150,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นภาษีอื่น ๆ    ดังนั้น   หากเศรษฐกิจชะลอ การใช้จ่ายชะลอตัวก็จะกระทบภาษีตัวหลัก ๆ ได้
ประชาชาติธุรกิจ  29  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21711เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท