ใช้ชีวิตที่ มหาวิทยาลัย HARVARD


ครูไม่มีสิทธิทำร้ายสมองที่พร้อมพัฒนาของเด็ก ไม่มีใครเกิดมาโง่หรอกค่ะ สมองของเด็กรวยหรือจนก็พร้อมจะพัฒนาทั้งนั้นหากแต่ครูจะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสนั้นมากน้อยเพียงใด (อย่าเพิ่งไปเถียงเรื่องผู้ปกครองนะคะ เอาตัวเราก่อนดีกว่าว่าเราเป็นครูที่มีมือตบ แต่ง ปั้นดีเพียงใด ถ้าไม่ดีก็ต้องไปพัฒนา สรรหามือตบต่อไปนะคะ)

เป็นเวลา 2 สัปดาห์เต็มกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย HARVARD (เอ...รั้วอยู่ตรงไหน ตั้งแต่มาก็ยังไม่เห็น!) เกิดคำถามว่า นักเรียนที่นี่ต่างกับนักเรียนไทยอย่างไร ถ้าใช้เพียง 3 ตัวแปรที่นิยม คือ "ดี มีสุข เก่ง" ขอเริ่มจากดีก่อน จริง ๆ แล้วตัวแปรนี้ต้องมีกิจกรรมร่วมมากจึงจะพอมองเห็น แต่วัดง่าย ๆ หยาบ ๆ เช่นตรงเวลา ไม่หยิบข้าวของคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่นรอตามคิว ทั้งการเข้าพบอาจารย์และการยืมหนังสือ การเข้าคิวเรื่องอื่น ๆ เช่นซื้อของ รอรถ ข้ามถนนเฉพาะที่อนุญาตข้าม การปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท แล้วพอจะบอกได้ว่าเด็กที่นี่ไม่เลวนัก ขยันมากด้วย และที่น่าชื่นชมมากคือจิตสาธารณะ นักเรียนที่นี่จะรวมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่นวันนี้(ถ่ายรูปมาอวดด้วย) นักเรียนปริญญาโทจะรวมตัวกันไปช่วยนักเรียนโรงเรียนประถมและมัธยมในเรื่องทักษะการอ่าน เรียกว่าโครงการ “Reading Buddies” โดยมี อาจารย์ของคณะสนับสนุน ดิฉันไปถามอาจารย์เขาว่านี่เป็นหนึ่งใน Job description ของอาจารย์หรือเปล่า เขาตอบว่าไม่ใช่นักเรียนเขาทำกันเองและประกาศรับอาสาสมัครในคณะและต่างคณะ ตัวอาจารย์มาช่วยด้วยใจ เป็นเพียง”คุณเอื้อ” และคุณ”อำนวย” เอื้อสถานที่ในคณะ ในการทำจุดนัดพบ ก่อนแยกย้ายกระจายไปตามโรงเรียน อำนวยความสะดวกในการหาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทำหนังสือขออนุญาตไปยังโรงเรียน และอื่น ๆ เท่าที่จะเอื้อและอำนวยนักศึกษา

มาถึงตัวแปร”เก่ง” นักศึกษาที่นี่ถูกทำให้เก่งจริง ๆ (แน่นอนหลายคนบอกว่าก็เขารับและคัดแต่คนเก่งอยู่แล้ว อันนี้ไม่เถียงค่ะ) หมายความว่านักศึกษาจะต้องอ่านหนังสือมากจริง ๆ และต้องเขียนรายงานส่งมาก นักศึกษาปริญญาโทไม่ทำวิทยานิพนธ์ก็จริง แต่ทุกรายวิชาต้องส่งโครงการ(Project) ที่นักศึกษาสังเคราะห์มาเอง หมายความว่าแต่ละรายวิชานี่กว่าจะออกมาเป็น Project ต้องพบอาจารย์บ่อยมาก เช่นไปอ่านบทความที่ได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์มาแล้วต้องมาสรุปให้ฟังว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร และข้อเสนอแนะของนักศึกษาต่อเรื่องนี้คืออะไร กว่าจะได้ Project ที่อาจารย์ยอมรับต้องอ่านกันมากจริง ๆ แต่อาจารย์ที่นี่ดีมากมีความเป็นครูสูงไม่ดูถูกเด็กว่าโง่ ถ้าความเห็นไม่เข้าท่าจะแนะนำและให้ไปอ่านเพิ่มเติมฝึกฝนใหม่ และนัดมาพบใหม่ อาจารย์จะให้เวลากับนักศึกษามาก และขยันตอบและให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆผ่าน e mail ดิฉันมีโอกาสคุยเด็กไทยที่มาเรียนที่นี่ทุกคนบอกว่าไม่คิดเลยว่าจะต้องอ่านและทำรายงานมากขนาดนี้ ตอนเรียนปริญญาตรีไม่ค่อยได้ฝึกฝนการอ่าน paper มาแม้ว่าตนเองจะได้เกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัยเบอร์ต้นของไทยก็เถอะ มาถึงที่นี่ต้องปรับตัวและอดทนมาก ต่างกับเด็กของเขาเองทุกคนฝึกฝนการอ่านมาตั้งแต่ประถม ฝึกการแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนมาตั้งแต่ประถม ฝึกการค้นคว้าและทำ Project มาตั้งแต่ประถม จึงไม่ต้องปรับตัวมาก หนังสือ บทความก็เข้าถึงง่าย อาจารย์ก็เป็นกันเอง เด็กเขาได้เปรียบหลายเท่านัก เห็นไหมว่าเด็กเขาถูกทำให้เก่ง จริง ๆ ส่วนเด็กเราก็ถูกทำให้เก่งเจง ๆ !!

มาถึงตัวแปร”มีสุข” อันนี้ก็ต้องบอกว่าสังเกตได้หยาบ ๆ ต้องให้นักจิตวิทยามาวิเคราะห์เอง เท่าที่เห็นเด็กเขาค่อนข้างเครียด เอาจริงเอาจังในทุกเรื่อง ไม่ค่อยเฮฮา (ไม่รู้ว่าเด็กเราเฮฮามากไปหรือไม่!) แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่มีสุข อาจจะสุขก็ได้ตามแบบสังคมทุนนิยม ที่มีการแข่งขันสูง

สรุปว่าดูได้อย่างเดียวเรื่องเก่ง ถ้าวัดกันตัวต่อตัว(ไม่นับความสูง เพราะเด็กเขาสูง) สายพันธุ์ หรือยีนส์เราไม่น้อยหน้าเขาหรอกค่ะ สมองก็มีเท่ากันคือประมาณ 1,300 กรัม แต่สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ของเขานี่ละค่ะที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ของเราสู้ไม่ได้ ยิ่งผนวกความรู้เรื่องพัฒนาการสมองมนุษย์แล้วทำให้ดิฉันเข้าใจเลยว่าทำไมเขาถึงไปไกลนัก ไว้ในบันทึกหน้าจะเขียนเรื่องการบ่มเพาะ ส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่นี่ มาถึงตรงนี้ครูหลายคนคงอยากเถียงว่าเพราะเขามีเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย ดิฉันถามกลับว่าถอดเครื่องมือเหล่านั้นออกไปล่ะ! แท้จริงแล้วเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้คือคุณครูนี่แหละค่ะ จึงอยากจะขอให้เพื่อนครูที่ดีอยู่แล้วช่วยสะกิดเพื่อนครูที่กำลังทำร้ายเด็กด้วยการปล่อยปละละเลยเด็ก ไม่ใส่ใจ ตั้งใจในการเรียนการสอน ครูไม่มีสิทธิทำร้ายสมองที่พร้อมพัฒนาของเด็ก ไม่มีใครเกิดมาโง่หรอกค่ะ สมองของเด็กรวยหรือจนก็พร้อมจะพัฒนาทั้งนั้นหากแต่ครูจะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสนั้นมากน้อยเพียงใด (อย่าเพิ่งไปเถียงเรื่องผู้ปกครองนะคะ เอาตัวเราก่อนดีกว่าว่าเราเป็นครูที่มีมือตบ แต่ง ปั้นดีเพียงใด ถ้าไม่มีก็ต้องไปพัฒนา สรรหามือตบต่อไปนะคะ)

วอนผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย เจ้าสำนักทั้งหลายช่วยกันส่งเสริม พัฒนาสมองของลูกหลานไทยให้ก้าวไกลต่อไปด้วยค่ะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 217092เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณมากสำหรับข้อคิดดีๆ ทำให้นึกถึงตัวเองก็เป็นครู  จะพยายามเป็นครูที่ดีเพื่อประเทศชาติของเรานะ

ขอบคุณค่ะคุณครูอรนาท ที่เข้ามาเยี่ยมชม มีอะไรก็ ลปรร แก่กันและกันนะคะ ด้วยความนับถือค่ะ

  • เย้ๆๆๆ
  • พี่เหม่งเยี่ยมมากๆๆ
  • ลงรูปได้แล้ว
  • การเรียนการสอนต่างจากบ้านเราจริงๆๆ
  • ผมพยายามจะเน้นการทำ project ตอนสอนนิสิต
  • แต่ระบบการสอบของบ้านเรา
  • เป็นอุปสรรคเเหมือนกัน
  • เพราะบ้านเราเน้นที่เรียนแล้วสอบ
  • แต่นิสิตที่ทำ project มีผลการเรียนดีกว่าไม่ทำ project ครับ
  • เพราะเขาค้นคว้าในเรื่องที่เขาอยากรู้
  • รอเรียนกับพี่เหม่งอีกครับ
  • อิอิๆๆเรียน HARVARD โดนไม่เสียเงิน
  • ฮ่าๆๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะ อ.เหม่ง

หนูตามอาจารย์ขจิตมาติดๆ มาเรียนรู้โลกกว้างจากบันทึกของอาจารย์คะ

เรื่องอ่านนี่ สำคัญมากๆ ค่ะ เด็กไทยบ้านเราส่วนใหญ่ทักษะด้านนี้น้อยค่ะ หนูเจอมากับตัว ต้องมาอ่าน paper เยอะๆ เล่นเอามึนไปเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณมากๆ นะคะ ที่นำเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันอ่านค่ะ ^_^

ขอบพระคุณน้องมะปรางเปรี้ยวและอาจารย์ขจิต ดีใจที่อย่างน้อยก็มีชุมชนของพวกเราที่จะเป็นที่ support ให้แก่กันและกันค่ะ ขอส่งความคิดถึงและปรารถนาดีมายังทุกท่านค่ะ (ขอตะโกนดัง ๆ ว่า "อยากกลับบ้าน" แล้ว)

การอ่านเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เด็กเขารักการอ่านทำให้มีช่องทางที่ยาวไกลสำหรับการเรียรู้ ต่างกับเด็กเราที่ห่างไกลการอ่านครับ

ขอบคุณอาจารย์จารุวัจน์ค่ะ เห็นด้วยค่ะเรื่องความแตกต่างในการรักการอ่านของเด็กไทยและเด็กอเมริกัน เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้จริง ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์เหม่ง เล่าเรื่องราวมาสนุกมากเลย เล่ามาบ่อยๆ นะคะ

ห่างไกลกันอย่างนี้ คิดถึงเนอะ

สวัสดีค่ะ

ขออนุญาติ ตามมาเชียร์ด้วยคนนะคะ

ยินดีที่ได้แวะมาอ่านประสบการณ์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท