KM กับนักเทคนิคการแพทย์


         วันที่ ๒๙ มีค. ๔๙ ผมบินไปอุดร    ไปร่วมประชุมวิชาการประจำปี สมาคมเทคนิคการแพทย์ ครั้งที่ ๓๐ ที่โรงแรมเจริญศรี    มีคนเข้าร่วมถึง ๘๐๐ คน    รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นประธานเปิด    มีการแจกรางวัลนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น ๓ คน    และมอบใบรับรองมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ แก่ ๒๕ โรงพยาบาล

         หลังจากพิธีเปิดและภาคพิธีกรรม วาระภาควิชาการเริ่มด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการความรู้ : บริบทสำคัญเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต”    แสดงว่าวงการเทคนิคการแพทย์สนใจเรื่อง KM มาก

 

ฟ้อนในพิธีเปิด 

         พอไปถึงโรงแรมเจริญศรี ผมก็พบบู๊ลิ้ม KM ซึ่งหมายถึงนักเทคนิคการแพทย์ที่มีประสบการณ์การทำ KM หลายคน   เช่น รศ. ดร. วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล  นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์ฯ และเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย,   ผศ. ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา สองท่านนี้เป็นแกนนำสำคัญของเครือข่าย UKM ส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล    ทีม KM ห้องแล็บ ที่มาร่วมประชุมมากที่สุดคือ ทีม Patho OTOP ของภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มากันกว่า ๑๐ คน และเอาแผ่นพับ ชุมชน Smart Path  มาแจกด้วย    ท่านที่สนใจอ่านได้ที่ gotoknow.org/smartpath
      
          การประชุมแบบนี้เป็นการประชุมที่ใช้รูปแบบเชิงวิชาการ ตามที่คุ้นเคยกันทั่วไป    เน้นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการและผลการวิจัยใหม่ๆ ด้านเทคนิคการแพทย์    การประชุมนี้ถือเป็นการประชุมเทคนิคการแพทย์แห่งชาติ คือหนึ่งปีมีครั้งเดียว    และเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ มีพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการยกย่องนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น    การประชุมแบบนี้ไม่ใช่การประชุมแบบ KM

         การประชุมแบบ KM แตกต่างจากการประชุมเทคนิคการแพทย์แห่งชาติ ในประเด็นสำคัญๆ ๕ ประการ คือ
1. ไม่เน้นปริมาณ หรือจำนวนคนที่มาร่วม    ไม่เน้นความยิ่งใหญ่เชิงภาพลักษณ์    แต่เน้นคุณภาพของการประชุม   เน้นความยิ่งใหญ่ในเชิงความรู้ที่นำมาสู่การประชุม
2. ไม่เน้นการที่ “ผู้รู้” มาบรรยายหรือถ่ายทอดความรู้ หรือเป็น “ผู้ให้”    และผู้มาประชุมเป็น “ผู้รับ” หรือ “บริโภค” ความรู้     แต่เน้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)    คือถือว่าทุกคนที่มาประชุม (แบบ KM) เป็นผู้มีความรู้ (จากการปฏิบัติ)     แต่มีความรู้บางด้าน ไม่ครบด้าน    แต่ละคนมีความรู้ แต่ไม่ครบ    คนหนึ่งรู้ด้าน ก    อีกคนรู้ด้าน ข    อีกคนรู้ดีด้าน ค   คือรู้จริงต่างๆ กันไป    เมื่อมาประชุม ลปรร. ทุกคนจึงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน    การประชุมวิชาการทั่วไป แยกคนออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ผู้รู้ กับ ผู้ไม่รู้     แต่การประชุมแบบ KM มีคนกลุ่มเดียว คือ ทุกคนเป็นทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้ในเวลาเดียวกัน 
3. การประชุมแบบ KM จึงไม่จัดห้องประชุมแบบห้องเรียน หรือห้องบรรยาย    แต่จัดแบบวง ลปรร.    เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความเท่าเทียมกัน
4. ความรู้ ที่เน้นในการประชุมแบบ KM เน้นความรู้จากการปฏิบัติ    และความรู้เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติได้โดยตรง     ไม่เน้นความรู้เชิงทฤษฎีอย่างการประชุมวิชาการทั่วไป      
5. การจดบันทึกความรู้ที่ได้จากการประชุม ก็แตกต่างกัน    การประชุมวิชาการทั่วไป จดบันทึกเป็น proceedings เน้นเผยแพร่ทั่วไป   แต่การประชุมแบบ KM จด “ขุมความรู้” (KA – Knowledge Assets) เพื่อนำไปใช้งาน หรือทำ KM ต่อ  เน้นการใช้งานของ “คุณกิจ” 


         ระหว่างพิธีเปิดการประชุม ผมนั่งบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ดังบันทึกข้างบนเมื่อจบภาคพิธีกรรม เป็นการพักดูนิทรรศการ และอาหารว่าง     ผมเตร่ไปดูบรรยากาศ    เห็นว่าเป็นการประชุมที่ใหญ่มาก     ความคึกคักอยู่ที่บูธแสดงเครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ มากมาย    กล่าวได้ว่าบริษัทขายเครื่องมือ และน้ำยาต่างๆ ต้องมาร่วมการประชุมนี้ และต้องซื้อพื้นที่แสดงสินค้า    ทำให้สมาคมเทคนิคการแพทย์มีรายได้มาก    รายได้มาจากค่าพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่จากค่าลงทะเบียนอย่างงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ     และเมื่อจัดงานเสร็จสมาคมฯมีกำไรมาก    ไม่ใช่ขาดทุนตั้ง ๒.๔ ล้าน อย่างงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่แล้ว  

   

บรรยากาศการแสดงเครื่องมือ 

บรรยากาศการแสดงเครื่องมือ ๒ 


 
         นอกจากนิทรรศการของบริษัทขายเครื่องมือแล้ว ยังมีนิทรรศการผลงานวิจัย ทำเป็นโปสเตอร์มาแสดง   

         ผมไม่บรรยาย    แต่เริ่มต้นด้วยการฉายวีซีดี เรื่องการจัดการความรู้ Patho OTOP ใช้เวลา ๑๘ นาที    แล้วตามด้วยการสรุปประเด็นสำคัญเรื่อง KM ประมาณ ๒๐ นาที    ก็หมดเวลาแล้ว    เพราะเขาเริ่มช้าไปประมาณ ๒๐ นาที    เดิมกะว่าจะให้มีเวลา dialogue ๒๐ – ๒๕ นาที    ผู้จัดยอมให้มีคนถามคำถามได้ ๑ คำถาม    ผศ. สมชาย วิริยะยุทธกร  นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ลุกขึ้นมาถามว่า เริ่มทำ KM อย่างไร    ผมขอให้ ผศ. ดร. ฉัตรเฉลิม เป็นผู้ตอบ    ดร. ฉัตรเฉลิมตอบเชิงหลักการ     ผมมองหน้าผู้ร่วมประชุมก็พอจะเห็นว่างงได้ที่ถ้วนหน้ากัน    จึงสรุปต่อที่ประชุมว่า “KM ไม่ทำ ไม่รู้”  

         ใน PowerPoint สรุป KM    ผมได้แนะนำนักเทคนิคการแพทย์ที่สามารถเป็นวิทยากรจัดฝึกอบรม และเป็นที่ปรึกษา KM ได้ หลายคน ได้แก่ ผศ. ดร. ฉัตรเฉลิม (คณะเทคนิคการแพทย์ มม.),  รศ. มาลินี ธนารุณ (คณบดีคณะสหเวชฯ มน.),  ผศ. ดร. จำนง นพรัตน์,  คุณชวดี นพรัตน์,  ดร. อโณทัย โภคาธิกรณ์,  คุณสุคนธ์ ประดุจกาญจนา,  คุณเพ็ญศิริ ชูส่งแสง   ๕ คนหลังมาจากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มอ.  

         ผมได้ความรู้ในการใช้วีซีดีฉายขึ้นจอ    ว่าต้องใช้เครื่องฉาย LCD ชนิดคุณภาพดี    มิฉะนั้นภาพอาจไม่ชัด  เสียงสะดุด  หรือเสียงชัดบ้างเสียงเบาบ้าง     ต้องมีการทดสอบล่วงหน้า และผู้จัดประชุมต้องพิถีพิถันเรื่องนี้  

วิจารณ์ พานิช
๒๙ มีค. ๔๙
สนามบินอุดร


 

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 21687เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท