ทบทวนเรียนรู้กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหสาขา : การสนทนากลุ่ม (Focus Group) ตอนที่ ๓


"..กระบวนการดังกล่าวนี้ ก็เหมาะสมกับการทำวิจัยในบางเรื่องและบางลักษณะเช่นกัน โดยเฉพาะการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม ขับเคลื่อนชุมชนนักวิชาการที่มีประสบการณ์ทางการปฏิบัติหลากหลายแบบสหสาขา ..."

              การปรับกลวิธีการจัดสนทนากลุ่ม  ให้ผสมผสานการจัดเวทีประชาคม  ขับเคลื่อนพลังชุมชนทางวิชาการ  รวมทั้งพัฒนากลุ่ม  ให้เป็นชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มสหสาขา  ทำอย่างไรได้อีก ? และการสนทนากลุ่ม กับการจัดกระบวนการเวที แตกต่างกันตรงไหน ?

              เคยมีอาจารย์และนักวิจัยตั้งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผมในลักษณะดังกล่าวอยู่เสมอ  เพราะมักจะเห็นผมเลือกทำสนทนากลุ่มกับกระบวนการเวทีของกลุ่มประชาคม  แตกต่างกัน  ทั้งๆที่ดูแล้วน่าจะเหมือนกัน

              ผมตอบว่า  "..ต่างครับ  ต่างมากด้วย  ทั้งมิติกระบวนการทางสังคม  บทบาทของนักวิจัย  และฐานการคิดว่าความรู้คืออะไร ซึ่งลึกลงไปถึง ญาณวิทยา (Epistimology).." คือ...

  • การสนทนากลุ่ม  เป็นเทคนิคซึ่งใช้ประเด็นที่สนใจ เป็นตัวตั้ง เพื่อมุ่งให้กระบวนการสนทนาเป็นกลุ่มเจาะลึกลงไปในรายละเอียด  ได้ข้อมูลที่นักวิจัยและประเด็นการสนทนาเป็นศูนย์กลาง
  • การสนทนากลุ่ม มักต้องสนทนากันไปเป็นลำดับและอยู่ในประเด็นที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ  ข้อมูลและการสนทนาที่อยู่นอกเหนือประเด็นที่ตั้งไว้  รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆที่เกิดขึ้นจริงระหว่างดำเนินการ  นอกจากจะถีอว่าไม่ใช่ประเด็นแล้ว  ยังอาจจัดว่าเป็นการจัดกระบวนการที่ไม่ดี
  • นักวิจัย  มีบทบาทในการกำกับการสนทนา  และเป็นบทบาทนักวิจัยภายนอกที่ค่อนข้างชัดเจน
  • กลุ่มผู้ช่วยนักวิจัย และนักวิจัย กับกลุ่มสนทนา  เกิดการปฏิสัมพันธ์กันโดยจำกัดไปตามประเด็น ไม่เป็นแนวราบ รวมทั้งขาดมิติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในกลุ่มสนทนา  เพราะทุกคนจะมุ่งสนทนากับนักวิจัย
  • ข้อมูลและสิ่งต่างๆ จากการสนทนากลุ่ม  จัดเป็นเพียงข้อมูลของแหล่งความเชี่ยวชาญ  ที่นักวิจัยจะต้องมีบทบาทในการวิเคราะห์  สร้างเป็นความรู้  และสรุปไปตามจุดยืนของนักวิจัย
  • นักวิจัยต้องเป็นจัดวางความเป็นนักวิจัย  รักษาระยะห่าง  และเดินตามแนวการสนทนาอย่างเคร่งครัด
  • จุดมุ่งหมาย คือ การได้ข้อมูลในรายละเอียดเชิงลึก ตามประเด็นที่นักวิจัยต้องการ สำหรับนำไปวิเคราะห์โดยนักวิจัยต่อไป ความรู้และความจริงที่สร้างขึ้นวางอยู่ในกรอบพลังของการวิเคราะห์และตีความในเชิงทฤษฎี ซึ่งจะจำเป็นในการศึกษาในบางลักษณะ

     ส่วนการจัดกระบวนการเวทีของกลุ่มสหสาขานั้น.....

  • มิติความรู้และความจริงที่จะได้  เน้นการวิเคราะห์และยุทธศาสตร์การคิดของเวที  วางอยู่บนกรอบการร่วมสร้างความเป็นจริงจากหลายจุดยืนและหลายเงื่อนไขของการปฏิบัติ  อีกทั้งใช้เป็นฐานชี้นำการปฏิบัติชั่วคราว  คืบหน้าและพัฒนาการไปตามการปฏิบัติในแต่ละบริบท
  • กระบวนการสนทนา มีแบบแผนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มากกว่าจำกัดไปตามประเด็นและลำดับการสนทนาของนักวิจัย  เปิดโอกาสให้สามารถสนทนาข้ามประเด็นไปมา  อีกทั้งนอกประเด็น  หรือเพิ่มประเด็น  เพราะฐานความคิดเชื่อว่า  ทุกคนต่างเป็นปัจจัยป้อนซึ่งกันและกัน
  • นักวิจัย ลดบทบาทความเป็นนักวิจัย เพิ่มบทบาทสู่การเป็นกระบวนกร (Process Facilitator: FAC) 
  • ข้อมูลจากเวที  มีมติการร่วมสร้าง  หรือมีมิติความเป็นสาธารณะของความรู้  ในขณะที่การสนทนากลุ่มซึ่งจำกัดไปตามประเด็น  ยังคงเป็นทรรศนะส่วนบุคคลมากกว่า
  • เทคนิคและวิธีการในการระดมความคิด รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวที  มุ่งความรอบด้าน  ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้แนวราบ และต้องใช้หลากหลายวิธี 
  • ลดบทบาทการตีความเชิงทฤษฎี สู่การสังเคราะห์โดยพัฒนาขึ้นจากจุดยืนร่วมกันกับกลุ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้การสกัดความรู้จากประสบการณ์และการสะท้อนกลับเป็นความรู้จะเพาะตนของทุกคน  เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวมในกระบวนการเวที
  • วิธีคิด เชื่อว่า  ความรู้ การเรียนรู้  และผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือสิ่งที่ทุกคนในกระบวนการได้ปฏิสัมพันธ์และสร้างขึ้นด้วยตนเอง  ส่วนข้อมูลและความรู้ที่เกิดขึ้นโดยนักวิจัย  เป็นอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งเป็นของนักวิจัยเองเช่นกัน

        ผลได้ลองให้นักศึกษาปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยศิลปากรในสาขาเทคโนโลยีการศึกษานี้เช่นกัน ออกแบบการระดมพลังการทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันของปัจเจก เพื่อทำวิจัยวิทยานิพนธ์ทางเทคโน ทว่า  มาเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาวะชุมชน และการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม 

        ผลของกระบวนการวิจัยของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งทำที่ ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ทำให้ อบต ให้ทุนอุดหนุนและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการในขั้นตอนต่างๆของการวิจัย  ดำเนินโครงการพัฒนาสุขภาพในชุมชน ขึ้นเป็นปฏิบัติการจริงในชุมชนไปด้วยได้

         อีกคนหนึ่ง  ขับเคลื่อนเป็นโครงการเครือข่ายเยาวชนและเครือข่ายชุมชน  เชื่อมโยงกับบทบาทของ อบต ตำบลมหาสวัสดิ์  อำเภอพุทธมณฑลได้  ผ่านปฏิบัติการสื่อสารสุขภาพชุมชนทางรายการวิทยุเสียงตามสายของชุมชน

          อีกคนหนึ่ง  หลังจากทำวิจัยวิทยานิพนธ์ซึ่งได้ทุนอุดหนุนจาก สสส ด้วย  ก็ถ่ายเทรูปแบบและองค์ความรู้จากการวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาแนวนี้  ไปสู่การสร้างเครือข่ายเยาวชนด้วยการพัฒนาชุดสื่อการเรียนรู้  ขับเคลื่อนงานอนามัยโนงเรียนครอบคลุมทั้งจังหวัดนครปฐม คือ 127 โรงเรียน  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ซึ่งน้อยแห่งนักในระดับประเทศที่จะสามารถทำได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

       การออกแบบให้ผสมผสานกันผ่านกระบวนการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม  ของการจัดการทางความรู้กับนัวตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา อย่างลงตัว  จึงทำให้นักวิชาการและนักพัฒนาตัวเล็กๆ  มีกำลังสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมได้   ในขณะที่การการทำโดยทั่วไปจะไม่สามารถทำได้ เลยทีเดียว

        อย่างไรก็ตาม  กระบวนการดังกล่าวนี้  ก็เหมาะสมกับการทำวิจัยในบางเรื่องและบางลักษณะเช่นกัน  โดยเฉพาะการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม  ขับเคลื่อนชุมชนนักวิชาการที่มีประสบการณ์ทางการปฏิบัติหลากหลายแบบสหสาขา  ก่อเกิดทั้งองค์ความรู้และพลังกลุ่มก้อน  ซึ่งสะท้อนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์การคิดเป็นกลุ่ม และกระแสความรู้ของกลุ่มผู้นำทางการปฏิบัติ. 

 

หมายเลขบันทึก: 216471เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2008 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท