ลักษณะของใจ จิต และวิญญาณ


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/
ลักษณะของใจ จิต และวิญญาณ

บรรดาสัตว์และมนุษย์ที่มีชีวิตทั้งหลายหมดทั้งสกลกายนั้น ย่อมประกอบด้วยธรรมชาติ ๒ ส่วนใหญ่ คือ ส่วนที่เป็น ร่างกาย ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่เป็น รูปธรรม กับส่วนที่เป็น ใจ ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็น นามธรรม

เฉพาะส่วนที่เป็นร่างกายนั้น ทุกคนย่อมรู้จักกันดีโดยทั่วไป เพราะสามารถเห็น หรือสัมผัส แตะต้องได้ด้วยตาเนื้อหรือกายหยาบ แต่ส่วนที่เป็นใจนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ หรือไม่อาจสัมผัสแตะต้องด้วยกายหยาบ จึงเข้าใจธรรมชาติส่วนที่เรียกว่า ใจ นี้ได้ไม่ง่ายนัก

ใจ นั้น ประกอบด้วยธรรมชาติ ๔ อย่าง ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ต่างๆ กัน คือ

ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์(๑) เรียกว่า เวทนา
ธรรมชาติที่ทำหน้าที่จดจำ
หรือ รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน เรียกว่า สัญญา
ธรรมชาติที่ทำหน้าที่คิด
หรือที่เรียกว่า จิต นั้น เรียกว่า สังขาร
ธรรมชาติที่ทำหน้าที่รู้
หรือรับรู้อารมณ์ เรียกว่า วิญญาณ

เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ธรรมชาติทั้ง ๔ อย่างนี้เองที่รวมเรียกว่า ใจ และต่างก็ทำหน้าที่ต่างๆ กัน แต่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนแทบจะแยกไม่ออก ธรรมชาติทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็มีชื่อเรียกต่างกันตามหน้าที่ของมัน

************************************************************************
(๑) อารมณ์ หมายถึง เครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ, สิ่งที่จิตยึดเหนี่ยว, สิ่งที่ถูกรู้หรือรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกาย) และ ธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกถึง นึกเห็น หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจ)
************************************************************************

ในญาณกถา ปฏิสัมภิทามรรค ได้กล่าวไว้ว่า

ยํ จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺฑรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ อิทํ จิตฺตํ

แปลความว่า จิต คือ มนะ มานัส หทัย ปัณฑระ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่จิตนั้น

(พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๑. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, ข้อ ๔๑๒. หน้า ๒๘๗.)

และอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ได้อธิบายว่า

พึงทราบวินิจฉัยในตติยจตุกนิเทศ ดังต่อไปนี้. บทว่า จิตฺตํ เป็นมูลบท. บทว่า วิญฺญาณํ เป็นบทขยายความ. บทมีอาทิว่า ยํ จิตฺตํ จิตใจพึงประกอบโดยนัยดังกล่าวแล้วในปีติ. ในบทมีอาทิว่า จิตฺตํ นั้น ชื่อว่า จิตฺตํ เพราะวิจิตรด้วยจิต. ชื่อว่า มโน เพราะกำหนดรู้อารมณ์. บทว่า มานสํ คือ ใจนั่นเอง. ท่านกล่าวธรรมอันสัมปยุตแล้วว่า มานโส ในบทนี้ว่าบ่วงใด มีใจเที่ยวไปในอากาศดังนี้เป็นต้น. พระอรหัต ท่านกล่าวว่า มานสํ ในบทนี้ว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัต ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงทำกาละเสียเล่า.

บทว่า หทยํ คือ จิต. อุระท่านกล่าวว่า หทัย ในบทมีอาทิว่า เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกอกของท่าน. ท่านกล่าวว่า จิต ในบทมีอาทิว่าเห็นจะถากจิตจากจิตด้วยความรู้”. ท่านกล่าวหทยวัตถุในบทว่า ม้าม หทัย. แต่ในที่นี้ จิต ท่านกล่าวว่า หทัย เพราะอรรถกถาว่าอยู่ภายใน. จิตนั้นชื่อว่า ปณฺฑรํ(ขาว) เพราะอรรถว่า บริสุทธิ์ ท่านกล่าวหมายถึง ภวังคจิต. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร แต่จิตนั้นถูกอุปกิเลสทั้งหลายที่จรมาจึงเศร้าหมอง”...

อนึ่ง เพราะจิตมีลักษณะรู้อารมณ์ จึงไม่เป็นกิเลสด้วยความเศร้าหมองโดยสภาวะ เป็นจิตบริสุทธิ์ทีเดียว แต่เมื่อประกอบด้วยอุปกิเลส จิตจึงเศร้าหมอง แม้เพราะเหตุนั้น จึงควรเพื่อกล่าวว่า ปัณฑระ(ขาวผ่อง). อนึ่ง การถือเอา มโน ในบทนี้ว่า มโน มนายตนํ เพื่อแสดงถึงความเป็นอายตนะของใจ. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงแสดงถึงบทว่า มนายตนะ นี้ ว่ามิใช่ชื่อว่ามนายตนะ เพราะเป็นอายตนะของใจ ดุจเทวายตนะ(ที่อยู่ของเทวดา) ที่แท้ใจนั่นแหละเป็นอายตนะ จึงชื่อว่า มนายตนะ. อรรถแห่งอายตนะท่านกล่าวไว้ในหนหลังแล้ว. ชื่อว่า มโน เพราะรู้ ความรู้แจ้ง. ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่า มโน เพราะรู้แจ้งอารมณ์ ดุจตวงด้วยทะนานและดุจทรงชั่งด้วยเครื่องชั่งใหญ่. ชื่อว่า อินฺทฺริยํ เพราะทำประโยชน์ใหญ่ในลักษณะรู้. ใจนั่นแหละเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่า มนินทรีย์. ชื่อว่า วิญญาณํ เพราะอรรถว่ารู้แจ้ง. วิญญาณนั้นเป็นขันธ์ จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์. ท่านกล่าวว่า ขันธ์งอกขึ้น. วิญญาณหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณขันธ์ ด้วยอรรถว่าเป็นกอง...

บทว่า ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่จิตนั้นคือ มโนวิญญาณธาตุอันสมควรแก่สัมปยุตตธรรมมีผัสสะเป็นต้นเหล่านั้น. จริงอยู่ในบทนี้ จิตดวงเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวโดย ๓ ชื่อ คือ ชื่อว่า มโน เพราะอรรถว่า นับ ชื่อว่า วิญญาณ เพราะอรรถว่า รู้แจ้ง ชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นภาวะ หรือเพราะอรรถว่า มิใช่สัตว์

(พระมหานามเถระ, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ภาค ๒ , โรงพิมพ์วิญญาณ, พ.ศ.๒๕๓๔. หน้า ๑๓๕-๑๓๗.)

************************************************************************

จากอรรถาธิบายนี้ หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะประจักษ์ชัดว่า จิต และ วิญญาณ นั้น เป็นธรรมชาติที่ทำหน้าที่ต่างกัน เช่นเดียวกันกับ เวทนา และ สัญญา หากแต่ว่า เมื่อจิตกระทำหน้าที่สัมพันธ์กันกับธรรมชาติใด ก็มีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไปเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเท่านั้นเอง และพึงสังเกตว่า พฤติกรรมของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น ย่อมเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยอัตโนมัติ จึงจะสมบูรณ์ เพราะลำพังแต่จิตอย่างเดียว หาได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จด้วยตนเองไม่

ความข้อนี้จะเห็นได้ชัด เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของธรรมชาติที่น้อมไปหาอารมณ์ในแต่ละขณะ เมื่อ จิต จะน้อมไปสู่อารมณ์ใดก็ตาม ย่อมกระทบกระเทือนถึงธรรมชาติอื่น ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ คือ เวทนา, กระเทือนถึงธรรมชาติที่ทำหน้าที่จดจำหรือรวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน คือ สัญญา, และธรรมชาติที่ทำหน้าที่รู้ หรือรับรู้อารมณ์ ที่เรียกว่า วิญญาณ อีก ๑ ให้ทำหน้าที่พร้อมกันไปในตัวเสร็จ เป็นอัตโนมัติ

ธรรมชาติทั้ง ๔ อย่างนี้อุปมาดั่งข่ายของใยแมงมุม ซึ่งไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของข่ายนั้นให้กระเทือนแล้ว ส่วนอื่นๆ ย่อมได้รับความประทบกระเทือนถึงกันหมดทั้งข่ายนั้น ธรรมชาติที่น้อมไปหาอารมณ์และทำหน้าที่พร้อมกันหมดทั้ง ๔ นี้เองที่มีชื่อเรียกว่า ใจ หรือ มโน

ขณะใดที่จิตน้อมเข้าสู่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง พร้อมด้วยธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจ เป็นสุข หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ เป็นทุกข์ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์นั้น เรียกว่า มนัส กล่าวคือ ถ้าพอใจ หรือเป็นสุขใจ ก็เรียกว่า โสมนัสถ้าไม่พอใจ หรือเป็นทุกข์ใจ ก็เรียกว่า โทมนัสเป็นต้น และธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ในเวลาจิตน้อมเข้าสู่อารมณ์ ซึ่งเรียกว่า มนัสนี้เอง ที่เรียกว่า เวทนา

ส่วน ธรรมชาติที่ทำหน้าที่รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน หรือ จดจำอารมณ์ เมื่อเวลาที่จิตน้อมเข้าสู่อารมณ์นั้น เรียกว่า หทัย หรือ ดวงใจเรียกว่า สัญญา

เฉพาะธรรมชาติที่ทำหน้าที่คิดนั้น เรียกว่า จิต และเพราะจิตทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ จึงเรียกว่า สังขาร

เฉพาะธรรมชาติที่ทำหน้าที่รู้ หรือ รับรู้อารมณ์ ในขณะที่จิตน้อมเข้าสู่อารมณ์นั้น เรียกว่า วิญญาณ

กล่าวโดยย่อ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน แต่เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด เป็นอัตโนมัติ ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ เรียกว่า มนัส หรือ เวทนา , ธรรมชาติที่ทำหน้าที่รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน หรือ จดจำอารมณ์ เรียกว่า หทัย หรือ สัญญา , ธรรมชาติที่ทำหน้าที่คิด เรียกว่า จิต หรือ สังขาร๑ และธรรมชาติที่ทำหน้าที่รู้หรือรับรู้อารมณ์ เรียกว่า วิญญาณอีก ๑ ธรรมชาติทั้ง ๔ อย่างนี้ แม้จะมีหน้าที่ต่างกัน เวลาที่น้อมไปหาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ย่อมทำหน้าที่พร้อมกันหมดทั้ง ๔ จึงรวมเรียกว่า มโน หรือ ใจ นั่นเอง และแม้แต่จะหยุด จะนิ่ง อยู่ในอารมณ์เดียวเพียงใด ก็ย่อมหยุดย่อมนิ่งลงพร้อมกันเพียงนั้น

ใจ
หรือ มโน นี้เป็น นามธรรม ที่ต้องอาศัยรูป และเป็นอายตนะหรือเครื่องเชื่อมต่อ จึงเรียกว่า มนายตนะ เป็นธรรมชาติที่ครองความเป็นใหญ่ในการรู้ จึงเรียกว่า มนินทรีย์ และเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่รับรู้อารมณ์ได้ จึงเรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ แต่ถ้าจะแยกออกเป็นส่วนๆ แล้ว เรียกว่า ขันธ์ มีอยู่ ๔ ส่วน คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์


********************************************************************************************
รวบรวมข้อมูลจาก : หนังสือ "ทางมรรคผลนิพพาน" พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖, รป.ม. (เกียรตินิยมดี) มธ.

 


หมายเลขบันทึก: 215947เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท