วิญญาณตามทัศนะของพระพุทธศาสนากับลัทธิพราหมณ์ต่างกันอย่างไร


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

วิญญาณตามทัศนะของพระพุทธศาสนากับลัทธิพราหมณ์ต่างกันอย่างไร


ตามทัศนะของลัทธิพระเวทและอุปนิษัท   หมายถึง   อาตมัน   หรืออัตตาเที่ยงแท้  เป็นอมตะ  เป็นส่วนย่อยของพรหม   ปรัชญาพระเวทและอุปนิษัทเชื่อว่า   วิญญาณอาศัยร่างกายอยู่ชั่วระยะหนึ่ง  เมื่อร่างกายแก่และตายลง  วิญญาณก็จะออกจากร่างที่ตายนี้ล่องลอยแสวงหาร่างใหม่  เรียกตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า   “การเกิดใหม่”   ร่างใหม่ที่วิญญาณเข้าอาศัยนั้นอาจจะเป็นร่างคน  สัตว์  ภูตผี  เป็นต้น   การจะไปอาศัยในร่างชนิดใดขึ้นอยู่กับการพิพากษาตัดสินของพระเจ้า  ซึ่งพระองค์จะทรงพิพากษาไปตามผลของกรรมที่ร่างกายเดิมทำไว้   และวิญญาณได้สะสมนำติดตัวมา  หากพิจารณาถึงการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว   ก็อาจกล่าวได้ว่ากฎอันเป็นส่วนสำคัญตามคำสอนของปรัชญาพระเวทและอุปนิษัทคือ   พระเจ้า และผลของกรรม  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของคำสอนของลัทธิเทวนิยมทั่ว ๆ ไป ดังนั้น  คำว่า   “วิญญาณ”  ตามทัศนะของลัทธิเทวนิยมจึงตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ  Soul   or  Spirit    หมายถึง  วิญญาณเป็นอมตะล่องลอย



สำหรับว่า  “วิญญาณ”  ในทัศนะของพุทธศาสนานั้น  มีความหมาย 2  นัยคือวิญญาณในฐานะที่เป็นตัวรู้ หมายถึง จิต  เรียกว่า  “วิญญาณธาตุ”   และวิญญาณในฐานะเป็นส่วนประกอบของจิตเป็นส่วนที่รู้แจ้งหรือรับรู้อารมณ์   เรียกว่า  “วิญญาณขันธ์”  ดังนั้น  วิญญาณ  ตามทัศนะของพุทธศาสนาจึงตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ  Consciousness  ซึ่งหมายเอาความรู้  คือรู้ได้โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5  และใจ  ความรู้ที่เข้ามาทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ มิใช่จะคงอยู่ตลอดไป  เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  เกิดดับอยู่ตลอดเวลา  และเชื่อมโยงกันไปอย่างรวดเร็วจนเราไม่อาจสังเกตเห็นได้   เปรียบเทียบได้กับการเปิด-ปิดสวิตช์ไฟฟ้าอย่างเร็ว  จนเราไม่อาจทราบถึงการสว่างและดับของดวงไฟ   จึงอาจกล่าวได้ว่า   วิญญาณในทัศนะของพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องวิญญาณล่องลอย   ซึ่งศึกษาได้จากคำสอนเรื่องไตรลักษณ์   คืออนิจจัง  ทุกขัง   อนัตตา   อันเป็นกฎธรรมชาติที่เฉียบขาด   ไม่มีสิ่งใดจะดำรงอยู่เหนือกฎทั้ง  3  อย่างนี้ไปได้   แม้แต่เรื่องของวิญญาณก็ตกอยู่ในกฎดังกล่าวนี้   และคำสอนที่ปรากฏให้เราได้ทราบถึงการเกิดและการดับของสรรพสิ่งได้คือ   หลักปฏิจจสมุปบาท  12  หัวข้อ   คำอธิบายในหัวข้อนี้  กล่าวไว้สั้น ๆ  แต่มีความหมายกว้าง และเข้าใจง่ายนั่นคือ



“สิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี   เมื่อสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิด”
“เมื่อสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ  เพราะสิ่งนี้ดับ   สิ่งนี้จึงดับ”




จากข้อความข้างบนนี้   เป็นเครื่องที่ชี้ให้เห็นถึงทัศนะที่ชัดเจนของพุทธศาสนาว่าสรรพสิ่งจะปรากฏขึ้นมาเป็นรูปแบบใด ๆ  มิได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ  แต่จะต้องอาศัยสาเหตุทีทำให้เกิดสาเหตุดังกล่าวก็คือ   เหตุปัจจัยต่าง ๆ   และปัจจัยเหล่านี้ก็จะอิงอาศัยกัน   ต่างก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกัน   เมื่อมีสิ่งนี้  สิ่งนี้จึงมี  เมื่อสิ่งนี้เกิด   สิ่งนี้จึงเกิด   ในทำนองเดียวกัน  การดับไป  การสูญสิ้นไป  การสิ้นไปของสรรพสิ่ง  ก็มิได้เป็นอย่างลอย  ๆ  มันจะต้องเป็นไปตามตัวเหตุปัจจัยต่าง ๆ  นั่นเอง   นั่นคือ   เมื่อสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ  เพราะสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ    หากจะพิจารณาตามหลักชีวิตมนุษย์ก็จะสรุปลงเป็นส่วนสำคัญ  2  ส่วน คือ  ร่างกาย  กับ  จิตใจ  ถ้าพิจารณาตามหลักปฏิจจสมุปบาท  ร่างกายกับจิตใจต่างก็อาศัยกัน   หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดำรงความมีชีวิตอยู่ไม่ได้  มันก็จะต้องดับลง เช่น เดียวกับร่างกาย เพราะหลักคำสอนกล่าวว่า  “เมื่อสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ  เพราะสิ่งนี้ดับ   สิ่งนี้จึงดับ ”   จึงไม่มีวิญญาณที่เป็นอัตตาเที่ยงแท้  และไม่มีวิญญาณที่ล่องลอยในทัศนะของพระพุทธศาสนา  (นิกายหินยาน  หรือเถรวาท)

จัดส่วนประกอบของชีวิต  5  ให้เหลือ  2


ขันธ์ 5
  หรือเรียกว่า  ส่วนประกอบของชีวิต  5 ส่วน  หากจะนำมาแสดงโดยย่อ  ก็สามารถจัดเป็นหมวดหรือเป็นส่วนสำคัญจะแยกได้  2  ส่วนคือ


1. ส่วนที่เป็นรูป   ตามทัศนะทางพุทธศาสนา  รูป  คือ  สิ่งที่จะต้องสูญสลาย  หรือแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัยในที่นี้หมายถึงร่างกายทั้งคุณภาพหรือคุณสมบัติของร่างกายด้วย เช่น  รูปร่าง  สี  กลิ่น  รส และอุณหภูมิ  ซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  หรือบางทีก็รู้ได้ด้วยความคิดประกอบเข้ามา


-->>  ตามทัศนะทางพุทธศาสนา  รูปจึงมิได้หมายเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปร่างเพียงอย่างเดียวแต่หมายรวมไปถึงคุณภาพหรือคุณสมบัติของสิ่งทั้งปวง   ตลอดถึงปรากฏการณ์ของมันด้วย  เช่น การเคลื่อนไหว  การยืดหยุ่นของสิ่งนั้น ๆ  เป็นต้น


ดังนั้น  คำว่า  “ รูป”  ตามที่พุทธศาสนาหมายถึง  จึงมีลักษณะคล้ายกับคำว่า   “สสาร” ในความหมายทางวิทยาศาสตร์  พุทธศาสนากล่าวว่า  รูปกินที่ในอากาศ  คำว่า  “อากาศ”  ในที่นี้ตรงกับคำว่า  “อวกาศ” ในภาษาทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง   อากาศมีลักษณะสำคัญอยู่  4  ลักษณะ


1.  ความว่างที่ปรากฏอยู่ทั่วไปตั้งแต่ความว่างในโลก   รวมถึงความว่างระหว่างดวงดาวในจักรวาล  เรียกว่า  “อัชชฏากาศ”


2.ช่องว่างต่าง ๆ   เช่น  ช่องประตู  ช่องหน้าต่าง  เป็นต้น   “ปริจฉิมนากาศ”


3.  อากาศบัญญัติที่เพิกกสิณออกแล้วของท่านผู้เพ่งกสิณ   การเพ่งกสิณอาจเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์   เช่น  ปฐวีกสิณ  แล้วเพิกถอนวงกลมของกสิณออกจนเหลือแต่ความว่างมีรูปเช่นเดียวกับดวงกสิณนั้น  เรียกว่า  “กสิณคฆาฏิมากาศ”


4.  ช่องว่างระหว่างรูป   เช่น  ช่องว่างภายในห้อง  ช่องว่างในภาชนะต่าง ๆ  ช่องว่างระหว่างเซลล์  ช่องว่างระหว่างปรมาณู   เรียกว่า  “ปริจเฉทากาศ”  ส่วนทางพุทธศาสนา   เรียกว่า  “ปริจเฉทรูป”



ลักษณะสำคัญของรูป


-->>  ตามทัศนะทางพุทธศาสนา   ลักษณะสำคัญของรูปแยกได้  4  ประการ  คือ


1.  อุปจยา  ความเกิดขึ้น  เพราะเหตุปัจจัยต่าง  ๆ  มาประชุมกัน   จะอยู่ในแบบใดก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยนั้น ๆ


2.  สันตติ  ความสืบต่อของรูปนั้น   โดยอาศัยเหตุปัจจัยค้ำจุนอุดหนุน


3.  ชรตา ความทรุดโทรม  คร่ำคร่า   เสื่อม  ร่วงโรยไปตามธรรมดาของรูป  ซึ่งเป็นสังขารอย่างหนึ่ง


4.  อนิจจตา  ความไม่เที่ยง  ความไม่คงที่  ความแปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปไม่หยุดนิ่ง



รูปในอนัตตลักขณสูตร


ในอนัตตลักขณสูตร    พระพุทธเจ้าตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า  “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?”  พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า  “ไม่เที่ยง”  แล้วตรัสถามต่อไปว่า  “สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า?”   ทูลตอบว่า “ เป็นทุกข์”  พระองค์ก็ตรัสเป็นคำถามว่า   “สิ่งใดเป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา   ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นของเรา   เราเป็นนั่น  นั่นเป็นตัวตนของเรา?”  พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า  “ไม่ควร”


-->>  ตามทัศนะทางพุทธศาสนา  รูปที่ว่าเป็นทุกข์นั้น  ก็เพราะถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยนานัปการ  เช่น   ความร้อน  ความเย็น   เป็นต้น   ไม่อาจหยุดนิ่ง   จึงถูกผลักให้แปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวไป  ความไม่เที่ยงกับความทุกข์จึงเดินเคียงคู่กันไปในรูปทั้งปวง


2.  ส่วนที่เป็นนาม   คือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง   ไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง  5  ในที่นี้คำว่า “นาม”  หมายถึง  จิตและส่วนประกอบของชีวิตในส่วนที่เป็นจิตนั้น  เรียกว่า  “นามขันธ์”   มี  4  ส่วน  คือ  เวทนาขันธ์   สัญญาขันธ์    สังสารขันธ์   และวิญญาขันธ์


ในคัมภีร์อภิธรรมกล่าวว่า  นามขันธ์ทั้ง  4  นี้  เกิดขึ้นพร้อมกัน  แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะพบว่า  นามขันธ์ทั้ง  4   นี้  เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน  แต่การเกิดของแต่ละขันธ์นั้นจะเกิดได้ติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว  จนทำให้รู้สึกว่าขันธ์ทั้ง  4  เกิดขึ้นพร้อม ๆ  กัน  การเกิดขึ้นของขันธ์ทั้ง  4  นี้  อาจเรียงลำดับของการเกิดก่อนหลังเป็นกระบวนการได้ดังต่อไปนี้


1. วิญญาณ  เกิดขึ้นเมื่อ ตาเห็นรูป  ก็รู้ว่าเป็นคน(รู้แจ้งอารมณ์)


2. สัญญา  เกิดขึ้นเมื่อ รู้ว่าเป็นคน   จำได้ต่อไปว่า  คนคนนี้ชื่อ  นายแดง   เป็นเจ้าหนี้ของตน  (จำได้  หมายรู้)


3. เวทนา  เกิดขึ้นเมื่อ  จำได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของตนแล้ว  เกิดความรู้สึกไม่สบายใจเป็นทุกขเวทนา  (ในเวทนา 3 )


4. สังขาร  เกิดขึ้นเมื่อ  เกิดความไม่สบายใจขึ้น  ก็คิดหาทางหนีทีไล่ว่าจะทำอย่างไร



จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้น   เราจะพบว่า  บรรดากระบวนการเกิดขึ้นขององค์ประกอบของจิตทั้ง  4  นั้นจะเกิดขึ้นตามลำดับ  นับตั้งแต่วิญญาณ --> สัญญา  --> เวทนา -->  สังขาร  หลังจากนั้น  นามขันธ์แต่ละอย่างก็จะเกิดขึ้นปะปนกัน   (คละกัน)   ไปเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนมาก  


กระบวนการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นธรรมดาของจิต  ไม่ว่าจะเป็นจิตของปุถุชน  หรือจิตของพระอรหันต์  จะต่างกันก็เพียงแต่การทำงานของนามขันธ์เท่านั้นกล่าวคือ   กระบวนการทำงานของนามขันธ์   (จิต)  ของปุถุชน  กระทำโดยมีอวิชชา   ตัณหา   และอุปาทาน  ส่วนกระบวนการทำงานของนามขันธ์   (จิต)   ของพระอรหันต์กระทำโดยปราศจากอวิชชาตัณหา   และอุปาทาน



ขันธ์  5  กับไตรลักษณ์


พุทธพจน์แสดงขันธ์ 5  ที่ต้องตกอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์  อันเป็นกฎเฉียบขาดในธรรมชาติ  โดยตรัสเตือนภิกษุสงฆ์สาวกตอนหนึ่งว่า


“ภิกษุทั้งหลาย  รูป...เวทนา....สัญญา....สังขาร.....วิญญาณ  เป็นอนัตตา  
หากรูป.....เวทนา.....สัญญา.....สังขาร.....วิญญาณ  จักเป็นอัตตา  (ตัวตน)   แล้ว
มันจะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป   ฯลฯ  ในวิญญาณว่า  
“ขอรูป...เวทนา....สัญญา......สังขาร....วิญญาณ  ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
 
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”   แต่เพราะเหตุที่รูป  ฯลฯ    วิญญาณ  เป็นอนัตตา  
ดังนั้น   รูป  ฯลฯ  วิญญาณ  จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ  และใครก็ไม่อาจได้ตามความปรารถนาใน
รูป  ฯลฯ  ในวิญญาณ ว่า  “ขอรูป ....เวทนา....สัญญา.....สังขาร.....วิญญาณ  
ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด   อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย”  


“  ภิกษุทั้งหลาย   เธอทั้งหลายมีความเห็นอย่างไร?”  “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง  
เวทนา....สัญญา .....สังขาร......วิญญาณ  เที่ยงหรือไม่เที่ยง?”  

ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า  “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”


พระพุทธเจ้า  “สิ่งใดไม่เที่ยง   สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?”

ภิกษุทั้งหลาย   “เป็นทุกข์  พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า  
“สิ่งใดไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปร
ปรวนเป็นธรรมดา  ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นของเรา
เราเป็นนั่น  นั่นเป็นตัวตนของเรา?”


ภิกษุทั้งหลาย   “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น  พระเจ้าข้า”

พระพุทธเจ้า  
“ภิกษุทั้งหลาย  เพราะเหตุนั้นแล  รูป...
เวทนา  .....สัญญา.....สังขาร.....วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต  และปัจจุบัน   ทั้งภายในและ ภายนอก   หยาบหรือละเอียดเลวหรือ
ประณีต   ทั้งที่ไกลและที่ใกล้   ทั้งหมดนี้  พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันถูก
ต้อง  ตามที่มันเป็นว่า  “นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา”




ขันธ์  5  กับคุณค่าทางจริยธรรม

ตามวิสัยทั่วไปของมนุษย์   มนุษย์มักจะมีความโน้มเอียงที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอยู่เสมอว่า  ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์มีอยู่ในรูปใดรูปหนึ่ง   ลักษณะอาการของการยึดมั่นถือมั่น  เช่นการยึดเอาจิตเป็นตัวตนบ้าง  (ยึดวิญญาณอมตะและล่องลอย)   การยึดถือว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากแฝงเร้นอยู่ในจิตนั้น   ซึ่งเป็นเจ้าของและตัวการที่คอยควบคุมบังคับบัญชากาย  และจิตอีกชั้นหนึ่งบ้าง  


การแสดงหลักขันธ์    5  นี้  มุ่งให้เห็นว่า  สิ่งที่เราเรียกว่า  “สัตว์”   “บุคคล”  “ตัวตน”  เป็นต้น  เมื่อเราแยกออกไปแล้วก็จะไม่พบคำว่า   สัตว์   บุคคล   ตัวตน  จะพบแต่ส่วนประกอบ 5  ส่วนเท่านั้น   รวมความว่า  ขันธ์ 5  แสดงถึงความเป็นอนัตตา   ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า   ชีวิตเป็นการประชุมเข้า  (รวมกันเข้า)   ของส่วนประกอบต่าง ๆ  หน่วยรวมของส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวตน   ส่วนประกอบแต่ละอย่างก็ไม่ใช่ตัวตน   และสิ่งที่เป็นตัวตนอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านี้ก็ไม่มี   เมื่อเข้าใจได้อย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว   ก็จะสามารถถอนความยึดมั่นในเรื่องตัวตนได้


เมื่อเราพบว่า  ขันธ์   มีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยซึ่งกันและกัน  เราก็จะไม่เกิดความเห็นว่าขาดสูญ  (อุจเฉททิฏฐิ)  และความเห็นผิดว่าเที่ยงแท้  (สัสสตทิฏฐิ)   เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนที่แท้จริงหรือถาวร   และมีอยู่อย่างสัมพันธ์และอาศัยกันและกันเช่นนี้  เราก็จะเข้าใจในหลักธรรมได้อย่างถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 215861เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท