วิธีการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบไม่จำกัดเวลา


การจัดการเรียนการสอนแบบไม่จำกัดเวลาเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางและตอบสนองต่อแนววิธีการสอนของครูในโรงเรียนต่าง ๆ

ในปัจจุบันนี้การจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาในรายวิชาต่าง ๆ มีเวลาน้อยลงมาก เมื่อต้องรวมกับกิจกรรมอย่างอื่น ๆ ที่หลักสูตรต้องการให้เด็กได้มีส่วนร่วม ปัญหาจึงมาตกอยู่ครูผู้สอนในวิชาต่าง ๆ ว่าจะทำอย่างไร จึงจะสามารถสอนตามเนื้อหาที่มีอยู่จำนวนมากให้หมดได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด(ซึ่งดูไปแล้วไม่น่าเป็นไปได้) ในฐานะที่รับผิดชอบสอนเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในโรงเรียน สอนตามหลักสูตรที่โรงเรียนจัดให้ ให้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อชั้น ในขณะที่เนื้อหามีความยาวนับร้อยหน้า

                ผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการหลากหลายเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประยุกต์ บูรณาการ แผนการสอนให้นักเรียนได้ประโยชน์สูงสุดในระยะเวลาที่กำหนด ต้องทำทุกอย่าง แม้กระทั่งการวิจัยในชั้นเรียนถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับนักเรียน ทั้งยังต้องสละเวลาส่วนหนึ่งเพื่อสอบเก็บคะแนนระหว่างภาคเรียน ทั้งจิตพิสัย ทักษะพิสัย และพุทธพิสัย 

เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาที่มีได้ลงตัว ทั้งยังทำให้บรรยากาศในการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดไม่น่าเบื่อ และสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อความรู้ความเข้าใจของนักเรียน จึงต้องมีการเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนแบบที่เป็นอยู่ด้วยการหาทางออกจากข้อจำกัดดังต่อไปนี้

1.ปัญหาด้านเนื้อหาที่ต้องสอน

2.ปัญหาบรรยากาศในการเรียนการสอน

3.ความไม่เหมาะสมของสถานที่ในการเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง

4.ปัญหาผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวัง

                เราจะพบว่าปัญหาทั้ง 4 ข้อนี้เป็นปัญหาที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในการจัดการเรียนการสอนทุกโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะท้าทายความรู้ความสามารถของผู้สอนแล้วยัง มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของเด็กอย่างยิ่ง  เด็กบางส่วนอาจเติบโตมาโดยไม่ได้เข้าใจเนื้อหาเลยแม้แต่น้อยในขณะที่เด็กบางคนกลายเป็นเด็กที่เชี่ยวชาญในเนื้อหาที่เรียน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้สอนจะต้องพยายามหาวิธีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กทุกคนและสอนซ่อมเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีความรู้ความสามารถเสมอกัน

                การจัดการเรียนการสอนแบบไม่จำกัดเวลาจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางและตอบสนองต่อแนววิธีการสอนของครูในโรงเรียนต่าง ๆ

ในปัจจุบันนี้เราจะพบว่าหลักสูตรการเรียนการสอนจะเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้โดยให้ผู้สอนเป็นผู้คอยชี้แนะแนวทาง เฉพาะเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องเดียวครูผู้สอนก็มีความเห็นหลากหลายบางคนยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำ จึงทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่หลักสูตรต้องการ ผู้สอนจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ถ่องแท้

การจัดการเรียนรู้โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้ หมายถึงครูผู้สอนคอยแนะนำวิธีการหาความรู้จากนั้นให้นักเรียนได้ลงมือไปค้นหา ลงมือปฏิบัติ  โดยสามารถนำเอาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็กมาเป็นความรู้ได้ ให้องค์ความรู้เกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง แล้วค่อยมาปรึกษาครูผู้สอนว่า ที่เด็กทำมานั้นไปถูกทางหรือไม่ หรือผิดพลาดประการใดก็ร่วมกันแก้ไข มิใช่ครูเป็นผู้เอาความรู้ไปป้อน แต่สอนให้เด็กรู้จักคิด  รู้จักหาความรู้ หากกล่าวตามภาษาพูดอาจเปรียบได้ว่า แทนที่ครูจะหาปลามาให้เด็กกิน ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีจับปลาแล้วให้ลงมือจับจริง ผลสำฤทธิ์คือเด็กสามารถหาปลา สามารถจับปลากินเองได้ นั่นเอง

ดังนั้นเมื่อให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ครูผู้สอนจึงต้องรู้ธรรมชาติของเด็กว่า เด็กเป็นพวกชอบความสนุกสนาน เบื่อการเรียนแบบนั่งนิ่งกับเนื้อหาน่าเบื่อ ผู้สอนจึงต้องประยุกต์เนื้อหาออกมาเป็นเกมให้เด็กเล่น แนะนำให้เด็กเข้าใจกติกา ด้วยท่าทีกระตือรือร้นให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกอยากร่วมเล่นเกม จากนั้นเวลาที่เหลือให้เด็ก ๆ ลงมือเล่น แล้วค่อยสรุป ด้วยการสอนแบบนี้เราสามารถนำเอาเวลาพักของเด็กมาเป็นเวลาจัดการเรียนการสอนได้ เพราะเด็กใช้เวลาพักในการเล่นเป็นปกติอยู่แล้ว ผู้สอนเพียงนำเอากิจกรรมที่สนุกสนานและได้ความรู้ไปสอนให้เด็กเล่นและคอยสรุปเป็นแนวให้เด็กได้เข้าใจเท่านั้น

เนื้อหาบางบทเป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะพิสัย ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องประเมินเด็ก แต่อาจจะทำแบบฟอร์มกิจกรรมแบบที่ทำร่วมกันได้ในครอบครัว (อธิบายกติกาให้ชัดเจน)แล้วจัดส่งให้เด็กไปทำกิจกรรมที่บ้านโดยให้ผู้ปกครองค่อยให้ความร่วมมือและประเมินผลว่าเด็กทำจริงหรือไม่  ด้วยวิธีการอย่างนี้เด็ก ๆ ก็จะทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว สร้างความอบอุ่นให้ครอบครัวได้ส่วนหนึ่ง (ให้โอกาสส่งผลงานได้จนสิ้นเทอมการศึกษาหรือกำหนดระยะเวลาดูความเหมาะสม)โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในห้องเรียนมาขวางกัน  ครูจึงใช้เวลาไม่มากในการสรุปข้อมูลที่นักเรียนไปทำมาเป็นแนวทางความรู้ให้กับเด็กคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ส่งงาน 

สำหรับการเรียนการสอนย่อมต้องมีเด็กที่ไม่มีความรู้สึกร่วม ครูจึงสามารถใช้เวลาในห้องเรียนสอนเสริมให้กับเด็กที่เป็นปัญหา เช่น ไม่ร่วมกิจกรรม หรือมีความเข้าใจช้า ด้วยการอาศัยความรู้และผลลัพธ์ที่ได้จากเด็กที่เก่ง ส่งงานเร็วและร่วมกิจกรรมได้ดี  ด้วยการทำอย่างนี้ เด็กในชั้นเรียนก็จะได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนไปด้วย  หรืออาจจะให้เด็กที่เข้าใจแล้วช่วยอธิบายแก่เด็กที่ยังไม่เข้าใจ การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ทำให้ครูมีเวลากับเด็กทั้งวัน เพราะเมื่อกิจกรรมไม่จำกัดเวลาเพียงในห้องเรียน นักเรียนจึงต้องกระตือรือร้นมากกว่าปกติในการแสวงหาความรู้  ขณะเดียวกันครูก็ต้องเปิดโอกาสให้เรียนสามารถถามข้อสงสัยหรือขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา

การจัดกิจกรรมกลุ่มและงานส่วนตัว  นักเรียนจะต้องรู้จักบริหารเวลาของตัวเอง(ข้อนี้ครูต้องเน้นย้ำให้เข้าใจก่อนเริ่มการเรียนการสอน) เพราะการบ้านหรือใบงานหรือกิจกรรมหรือเกมที่ให้นั้นส่วนหนึ่งเป็นงานกลุ่มที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบ ในขณะที่ส่วนหนึ่งก็เป็นงานส่วนตัวที่ตนเองต้องทำ เมื่อสรุปก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักแยกแยะงานส่วนตัวกับส่วนรวมได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเด็กสามารถเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง

บางกิจกรรมเด็ก ๆ สามารถใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ไปหาความรู้ได้จากคนข้างบ้านจากคนในชุมชนหรือจากวัด หรือจากคนในครอบครัว หรือจากญาติ

บางกิจกรรมผู้สอนต้องแบ่งระยะเวลาในการส่งผลงานให้ชัดเจน ด้วยการกำหนดระยะเวลาให้แต่ละกิจกรรม เช่นงานนั้นส่งในสัปดาห์  งานนี้ ส่งใน 2 สัปดาห์  งานโน้นส่งใน 1 เดือน  หรือส่งก่อนสิ้นเทอม

ผู้สอนอาจมีแผ่นตารางกำหนดการ  เขียนให้ชัดเจนให้เด็กเข้าใจและสามารถดูได้ตลอด  ร่วมทั้งมีการโชว์บอร์ดคะแนนของผู้ที่ส่งผลงานไปแล้วและได้รับการตรวจจากผู้สอนแล้ว แบบนี้เด็ก ๆ จะรู้สึกกระตือรือร้นเพราะสามารถเห็นคะแนนของตัวเองบนบอร์ดได้ตลอดเวลา เด็กจะรู้ว่าตนเองต้องทำงานเพื่อให้มีคะแนนเหมือนคนอื่น วิธีการนี้ครูผู้สอนเองก็สามารถ ให้คำปรึกษาแก่เด็ก ๆได้ตลอดเวลา เด็ก ๆ จะรู้สึกสนุกกับการทำคะแนน สนุกกับกิจกรรมและการเรียน 

อย่าลืมว่า  ไม่มีใครบอกสักหน่อยว่าการเรียนการสอนแบบเรียนไปเล่นไปทำไม่ได้ ทั้งยังมีงานวิจัยออกมาแล้วว่า   การเรียนด้วยการจัดให้เด็กได้เล่นพร้อมเรียนนั้น   เพิ่มทักษะและพัฒนาสมองของเด็กได้มากกว่าปกติ  วิธีนี้ยังมีการใช้กันในโรงเรียนนานาชาติหลายโรงเรียน

ด้วยวิธีการนี้ปัญหาเรื่อง

1.ปัญหาเรื่องเนื้อหาที่ต้องสอนก็สามารถสอนได้ตามที่ต้องการแบบไม่จำกัดเวลา เพราะผู้สอนมีเวลาสอนและวัดผลสัมฤทธิ์ทั้งภาคการศึกษา สามารถสอนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้แม้ในวันหยุด โดยไม่ต้องสั่งการบ้านน่าเบื่อที่บังคับให้เด็กทำ

2.บรรยากาศในการเรียนการสอนจะเป็นไปด้วยความสนุกสนานและเด็กจะรู้สึกอยากร่วมเพราะแต่ละคาบเรียนครูผู้สอนมีสิ่งใหม่ ๆ มานำเสนอทุกครั้งกระตุ้นให้เด็กจดจ่อรอคอยที่จะได้เข้าเรียน สามารถแก้ปัญหาความน่าเบื่อในการเรียนการสอนไปได้

3.เพราะเด็ก ๆ สามารถหาความรู้ได้จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม ครูจึงเพียงแค่สรุปในชั้นเรียนโดยไม่ต้องเสียเวลาสอนหรือจำลองเหตุการณ์เรียกว่าผู้สอนรู้จักใช้สถานการณ์มาเป็นอุปกรณ์ช่วยสอนได้อย่างเหมาะสม จึงสามารถแก้ปัญหาบรรยากาศแบบห้องเรียนที่มีข้อจำกัดลงไปได้ ด้วยการให้เด็ก ๆ ไปเรียนรู้จากของจริง หรือจากคนที่มีความรู้จริงในสังคม เด็ก ๆ สามารถอธิบาย และบอกต่อได้อย่างชัดเจนเพราะได้ลงมือทำจริง ๆ

อย่างที่เคยใช้คือ  ให้เด็ก ๆ เข้าร่วมในพิธีสำคัญทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ แล้วให้จดรายละเอียดมาว่ามีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำอย่างไร ทำซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่ และสรุปให้เด็กเข้าใจว่าคืออะไรยังไง  แล้วคอยเสริมส่วนที่ขาดไปว่ามีนัยยะแฝงเรื่องอะไร มีจุดประสงค์อะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น ซึ่งก็ได้ผลกว่าการสอนในห้องเรียนมาก

4.ปัญหาผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวัง ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ทำให้ผู้สอนสามารถแก้ไขผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนได้ เช่นเด็กคนไหนอ่อนเรื่องความรู้ก็สามารถช่วยแนะนำให้มากเป็นพิเศษ หรือชี้แจงให้เขาเริ่มสนใจเนื้อหา อาจจะให้ทำผลงานเพิ่มเพื่อซ่อมส่วนที่ได้คะแนนน้อย อาจเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกในด้านที่เขาถนัดโดยครูช่วยเสริมให้ได้ความรู้ตรงกับเนื้อหาที่สอน เพราะเด็กแต่ละคนมีสิ่งที่ดีอยู่ในตัว เพียงแต่ผู้สอนรู้จักดึงออกมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่เท่านั้น วิธีการสอนแบบนี้ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสฝึกฝนตนเองในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งยังสามารถแก้ไขความอ่อนด้อยที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วย และสามารถควบคุมผลสัมฤทธิ์ให้ออกมาตามที่ต้องการได้

ดังที่ได้อธิบายมาจะเห็นว่าการจัดการเรียนการสอนแบบไม่จำกัดเวลานั้นสามารถเกิดขึ้นได้และสามารถตอบสนองต่อหลักสูตรได้ทุกประการ และที่สำคัญที่ผู้สอนต้องตระหนักก็คือการวางแผนการสอนตั้งแต่ต้นเทอมนั้น ต้องชัดเจนและบูรณาการเนื้อหาลงในกิจกรรม ในเกม ในใบงานในกิจกรรม ให้ชัดเจน เรียกได้ว่าวางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

นั่นหมายถึงว่า การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ไม่หนักในห้องเรียนแต่หนักตอนวางแผนของผู้สอน ครูผู้สอนต้องทุ่มเทมันสมองมากกว่าปกติในการวางแผนการสอนให้เหมาะสมกันกับกิจกรรมทั้งภาคเรียน และนั่นหมายถึงอะไร ๆ หลายอย่างที่ผู้สอนต้องตระหนักถึงให้ดี

ไม่มีใครบอกสักหน่อยว่า การที่เด็กนั่งดูทีวีกับครอบครัวประยุกต์เป็นการเรียนรู้ไม่ได้ หรือไม่มีใครบอกสักหน่อยว่า คนข้างบ้านหรือผู้มีอายุในชุมชนจะเป็นแหล่งความรู้แก่เด็ก ๆ ไม่ได้ ทุก ๆ อย่างสามารถประยุกต์มาเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการสอนได้ทั้งหมด วัดหรือสถานที่ต่าง ๆ ก็เป็นแหล่งความรู้แก่เด็ก ๆ ได้  ขอเพียงผู้สอนไม่ลืมว่าเด็ก ๆ ใช้เวลาอยู่ในบ้านอยู่ในสังคมมากกว่าอยู่ในห้องเรียน
           
สำคัญคือผู้สอนรู้จักว่าจะนำเอาสิ่งต่าง ๆ มาช่วยในการสอนยังไงเท่านั้นเอง  อย่าปล่อยให้เวลาสูญเปล่าหากเราสามารถนำเอาเวลาที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการเรียนการสอนของเราได้ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีกับเราแล้วยังเป็นผลดีกับเด็ก ๆ เองด้วย ซึ่งนั่นสำคัญที่สุด

หมายเลขบันทึก: 215855เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท