ศึกษาพระไตรปิฎก ตามนัยทางประวัติศาสตร์


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ศึกษาพระไตรปิฎก ตามนัยทางประวัติศาสตร์  

ในรอบห้าร้อยปีจำเดิมแต่พุทธกาลจนเริ่มคริสตสมัยฐานะของพระบาลีเป็นปัญหาสำคัญเบื้องต้น  บัดนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า  ภาษาบาลีมิใช่ภาษาของพระพุทธเจ้า  หากเป็นภาษาถิ่นทางตะวันตกของอินเดีย  พระพุทธเจ้าตรัสภาษามคธภาษาใดภาษาหนึ่ง  พระพุทธดำรัสเป็นภาษาเดิมนั้นสูญไปหมดแล้ว


พระบาลีที่เรามีอยู่ขณะนี้  มิได้เก่าแก่ไปกว่าลัทธินิกายอื่น  เช่น  ของนิกายสรรวาสติวาท  ที่มามีผลสำคัญอยู่ในหมู่ฝรั่ง(ชาวตะวันตก) ก็เพราะต้องกับอุปนิสัยเขาเหล่านั้น  ด้วยหนักไปในทางเหตุผล  ในทางศีลธรรมจรรยา  ยิ่งกว่าของลัทธิอื่น  และไม่สู้ให้ความสำคัญแก่การกราบไหว้อ้อนวอน  เทพปกรนัม  และอิทธิปาฏิหาริย์


ความจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า  แต่เดิม  เมื่อสมัยต้นของพระพุทธศาสนาก็มีลัทธินิกายต่างๆ อยู่ถึง ๑๘ นิกายแล้ว  เกือบทุกนิกาย(ถ้าไม่ทุกนิกาย) ต่างก็มีพระคัมภีร์ของตนเอง  และต่างก็อ้างได้ว่าคัมภีร์ของตนมาจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ก็เมื่อคัมภีร์ของฝ่ายนิกายเถรวาทเพียงหนึ่งเดียว  ตกทอดมาถึงเราได้อย่างบริบูรณ์  ไม่บุบสลาย  จะมาว่าพระคัมภีร์นี้เก่าแก่ดีวิเศษกว่าอื่นหาได้ไม่  นอกจากจะว่าเป็นโชคลาภอย่างดีในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น


พวกอิสลามที่บ้าศาสนา  อันยกเข้ามาเผาเอกสารเกี่ยวกับพุทธศาสนา ณ ทางเหนือของอินเดีย  แต่ไปไม่ถึงลังกา  พระคัมภีร์ของพวกอุตรนิกายจึงวินาศไปเกือบสิ้น  เหลือขาดๆ วิ่นๆ อยู่บ้างในหนังสือตัวเขียนภาษาสันสกฤตที่ได้มาจากเนปาลและธิเบต  ส่วนใหญ่ได้มาจากที่แปลไปเป็นภาคภาษาจีนและธิเบต  พระบาลีที่ประเทศอังกฤษยังมีโชคดียิ่งขึ้นอีก  ที่เจ้าพนักงานอังกฤษเห็นความสำคัญ  และสมาคมบาลีปรณ์ได้ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยแปลออกเกือบหมด  สำหรับผู้ที่รู้แต่ภาษาอังกฤษ  นิกายเถรวาทจึงมามีความสำคัญอย่างเกินส่วนอยู่บ้าง

 

วิวัฒนาการอย่างใหญ่หลวงด้านหนึ่งในระยะที่เราพูดถึงก็คือ  ผลงานของนิกายที่สำคัญๆ อีกสองนิกายเป็นอย่างน้อย  คือ  สรรวาสติวาทนิกาย ๑ มหาสังฆิกนิกายอีก ๑  พวกสรรวาสติวาทินได้เป็นนิกายที่มีความสำคัญอยู่ในอินเดียเป็นเวลานาน  ศาสตราจารย์วอลด์ชมิท  และนักปราชญ์เยอรมันคนอื่นๆ ได้ชำระและกำลังจัดพิมพ์พระคัมภีร์ที่สำคัญยิ่งอันมากหลายของฝ่ายนิกายนี้อยู่  ขุดค้นพบอักษรสันสกฤตได้มาจากที่จมทรายอยู่ในตุรกีสถานยังดีอยู่  


ที่สำคัญยิ่งก็คืองานของศาสตราจารย์วอลด์ชมิทเกี่ยวกับมหาปรินิรวาณสูตรซึ่งพรรณนาว่าด้วยเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ใช่แต่ท่านผู้นี้จะจัดพิมพ์พระวินัยปิฎกเป็นภาษาสันสกฤตอย่างดีลงในคอลัมน์ขนานไปกับฉบับภาษาบาลี  ภาษาธิเบต  และภาษาจีนแล้ว  ท่านยังวิจัยสาระต่างๆ อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษอีกด้วย  นับว่าเราเป็นหนี้บุญคุณท่านมากนัก  ท่านแสดงให้เห็นว่าสามในสี่ของพระคัมภีร์ต่างๆ นี้มีหลักต้องกัน  แต่ต่างได้รับการเสริมต่อตามที่ต่างๆ ด้วยกันทั้งนั้น


เราอาจสรุปได้ว่าหลักร่วมกันของคัมภีร์ต่างๆ นี้  เห็นจะมีอายุถอยไปถึง พ.ศ. ๓๔๓  หรืออาจเก่ากว่านั้นก็ได้  เป็นการแน่เหลือเกินว่า  ต่อไปภายหน้า  นักศึกษาจะต้องพึ่งสาระจากคัมภีร์  อันมีค่าของพวกสรรวาสติวาทิน  พอๆ กับที่ต้องพึ่งมาจากพระบาลี

 

พร้อมๆ กันนี้  เราก็ทราบเรื่องราวมากขึ้นเกี่ยวกับมหาสังฆิกนิกาย  ซึ่งผันแปรไปเป็นลัทธิมหายานในกาลต่อมา  เอกสารสำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือพระวินัยของฝ่ายมหาสังฆิกนิกาย  ส่วนมากยังคงเป็นภาษาจีนอยู่  เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙  โฮพิงเกอร์ ได้พิจารณาพระคัมภีร์ต่างๆ แปดฉบับด้วยกัน  ที่ว่าด้วยสังคายนาที่นครไพศาลี  เมื่อ พ.ศ.๑๖๓  แล้วสรุปว่าวินัยของมหาสังฆิกนิกายนั้น  เก่ากว่าของฉบับอื่นๆ หมด  อย่างไม่ต้องสงสัย


ด้วยเหตุฉะนี้  จึงควรที่นักศึกษาผู้ประสงค์จะหาความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาสมัยต้น  จะต้องเอาใจใส่ต่อหลักฐานทั้งจากฝ่ายเถรวาทิน  สรรวาสติวาทิน  และมหาสังฆิก  ดังศาสตราจารย์วอลด์ชมิท  กล่าวว่า  “มักพบได้เสมอว่ามหาปรินิรวาณสูตร(ฉบับสันสกฤต) อาจรักษาของดั้งเดิมไว้ยิ่งกว่าอื่น  อย่างน้อยสุดพระคัมภีร์ฉบับนี้ก็มีคุณค่าเท่ากับฉบับบาลี”  และว่าต่อไปว่า  “ที่มาจากนิกายฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ให้ความสำคัญเท่ากัน  ในการค้นหาของเดิมอันเก่าแก่สุด”


เจ. เจ. โจนส์  ก็เห็นด้วยว่า  เรา  “ต้องเริ่มด้วยถือว่าพระคัมภีร์ทั้งฉบับบาลีและสันสกฤต  รักษาจุดใหญ่ใจความของลัทธิดั้งเดิมไว้ได้  ไม่ว่าพระคัมภีร์จะเป็นภาษาใด  ข้อความในพระคัมภีร์เองส่อให้เรารู้ถึงความเก่าใหม่ของพระคัมภีร์นั้นๆ”  บางครั้งฉบับบาลีจริงแท้แน่กว่า  แต่บางแห่งมหาวสตุก็ใกล้จริงยิ่งกว่า


โฮพิงเกอร์ก็ออกความเห็นคล้ายๆ กันในเรื่องนี้  ดังว่า  “บัดนี้คัมภีร์ภาษาบาลีต้องลงมาเสมอไหล่  กับคัมภีร์อื่นๆ แล้ว  จะสูงส่งอยู่ดังก่อนไม่ได้  ไม่มีคุณค่ายิ่งไปกว่าคัมภีร์ภาษาจีน  ภาษาธิเบต  ลางครั้งยังสู้ภาษาพวกนั้นไม่ได้เสียซ้ำ”

 

 

เราต้องนึกไว้เสมอว่า  การจัดหมวดของพระคัมภีร์และการแบ่งออกเป็นพระไตรปิฎกนั้น  เป็นของเกิดล่ามากกว่าจะตกลงเป็นยุติ  แยกพระอภิธรรมปิฎกออกเป็นหมวดที่สามได้  ก็ต่อสมัยพระเจ้าอโศก  ก่อนนั้นมีแต่พระธรรมและพระวินัย  แบ่งพระธรรมออกเป็น  ๙  หมวด  หรือ  ๑๒ หมวด  แล้วแต่กรณี  (พวกเถรวาทิน  และมหาสังฆิกถือแบบแบ่ง ๙ หมวด นิกายอื่นๆ นอกนั้นถือแบบแบ่ง ๑๒ หมวด)


สิบสองหมวดนั้นแบ่งดังนี้  สูตร ๑  เคยย ๑  ไวยากรณ ๑  คาถา ๑  อุทาน ๑  นิทาน ๑  เวทัลล ๑  อิติวตก ๑  ชาตตก ๑  ไวปุลย ๑  อัพภูตธรรม ๑  อุปเทศ ๑  (พวกเถรวาทินไม่รวม  นิทาน  ไวยปุลย  และอุปเทศ  เข้าไว้)  พระคัมภีร์ที่จัดหมวดดังนี้ไม่มีอีกแล้ว  แต่ยังเห็นรอยวิธีจัดดังว่านี้ได้จากหนังสือ  ขุททกนิกายของนิกายต่างๆ


ยากที่จะทราบว่า  การแบ่งหมวดคัมภีร์ออกเป็น ๙ หมวด และ ๑๒  หมวด  ดังว่านี้  เริ่มเมื่อไรและมีวิธีการเป็นมาอย่างไร  แต่อาจลงมติได้อย่างสมเหตุผลว่าเริ่มก่อนสมัยพระเจ้าอโศก  เพราะมิได้เอ่ยถึงคัมภีร์มาติกา  (อันแปลได้ว่าบทสรุปหรือเลขลำดับ)  อันเป็นคัมภีร์ที่สำคัญ  ซึ่งแปรรูปลักษณะพุทธศาสนาให้กลายมาเป็นดังเช่นทุกวันนี้


เห็นจะเป็นได้ว่าในสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ชั้นหลังได้ยึดถือเอาตัวเลขเป็นหลักสำหรับปฏิบัติธรรม  จึงได้ใช้พระคัมภีร์มาติกาเป็นเกณฑ์นับ  ในหมู่ผู้รู้คิด  ได้ขยายหลักมาติกาออกเป็นพระอภิธรรม  ในหมู่ผู้ถนัดทางในอันเป็นอภิวัทธยได้ขยายออกเป็นปรัชญาปารมิตา

 ****  เท่าที่กล่าวมา  ย่อมส่อให้เห็นภัยของการด่วนสรุป  เหตุผลว่าพระคัมภีร์ที่มีอยู่ถอยหลังกลับไปจนสมัยพุทธกาล  ย่อมจะไม่เป็นการดีพอที่จะยกเอาพระบาลีตรงที่เราพอใจ  มาอ้างว่าเป็น  คำสั่งสอนดั้งเดิม  วิธีการดังนี้นำไปใช้ได้ง่าย  จึงแพร่ไปได้กว้างขวาง  แต่ไม่ให้ผลมั่นคงพอเพียง  วิธีอันแท้จริงที่พึงกระทำได้ก็คือ  ค่อยๆ สืบถอยกลับขึ้นไปทีละขั้น


ก่อนที่เราจะเข้าถึงสมัยพระพุทธเจ้า  เราต้องไปให้พ้นสมัยพระเจ้าอโศกเสียก่อน  ศาสตราจารย์เฟลาวัลเนอร์เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น  ยังกับมีแรงดลใจดุจเรื่องนักสืบ  ให้ชื่อว่า  พระวินัยสมัยแรกเริ่มและสมัยต้นของวรรณคดีในพุทธศาสนา  ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๙  ท่านพิสูจน์ได้เกือบตลอดหมดว่าก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมีคัมภีร์อยู่ปกรณ์หนึ่ง  ชื่อสกันธก  ซึ่งแบ่งหมวดออกเป็นสารัตถะต่างๆ อย่างดีเยี่ยม  ว่าด้วยสิกขาบทและอภิสมาจาร  เป็นการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชีวิตในอาราม  การรับสมาชิกใหม่เข้าสู่หมู่สงฆ์  วิธีปลงอาบัติ  การจำพรรษา  ว่าด้วยจีวร  อาหาร  คิลานะสำหรับภิกษุอาพาธ  ตลอดจนกฏการลงทัณฑ์ผู้ละเมิดวินัย  คัมภีร์สกันธกนี้  เป็นงานนิพนธ์เริ่มแรกของพุทธศาสนา  เท่าที่เราทราบได้อย่างแน่ชัดในปัจจุบันนี้

ได้มีการพยายามใช้หลักทางภาษา  มาตัดสินว่า  พระคัมภีร์ฉบับไหนเป็นแม่บทของเดิม  ถ้ามีคัมภีร์บาลีสันสกฤตต้องกัน  ก็อาจเชื่อได้ว่า  แปลฉบับสันสกฤตออกจากบาลี  หาไม่ก็ต้องฉบับบาลีมาจากสันสกฤต  ศาสตราจารย์ลูเดอร์ทำคุณในเรื่องนี้  ด้วยแสดงให้เห็นว่า  สุดวิสัยที่จะลงความเห็นได้  ว่าใครแปลไปจากใคร  และส่วนมากนั้น  ทั้งสองฉบับต่างก็แปลไปจากภาษามคธีของเดิม  บางครั้งเราอาจจับผิดได้  ถ้าไม่ใช่เพราะผู้แปลคนแรกเข้าใจผิด  ก็เป็นเพราะฉบับเดิมเป็นร้อยกรอง  ผู้แปลเพียรหาคำสันสกฤต หรือบาลีให้ต้องตามบังคับของฉันทลักษณเลยเสียความ  ดังในหนังสือธรรมบท  คาถาที่ ๒๕๙  ฉบับบาลีไม่มีความหมายเลย  ธมฺมํ  กาเยน  ปัสฺสติ  แปลว่า  “เห็นธรรมด้วยกาย”  ฉบับภาษาปรากฤตว่า  ผไษ (จับต้อง)  สันสกฤตว่า  ไว  สปฤเษต  มคธีของเดิมเขาว่า  ผาไส  ซึ่งตรงกับบาลีว่า  ผุสติ  แต่คำนี้ไม่ต้องตามบังคับครุลหุ  ตัวอย่างที่ว่ามานั้นแสดงให้เห็นได้ถึงผลงานด้านนี้  หลักฐานส่วนใหญ่ช่วยทำให้หลักของลูเดอร์มั่นคงขึ้น  แต่ไม่ช่วยให้ทราบยิ่งไปกว่าคัมภีร์ที่มีอยู่นี้แปลมาจากภาษามคธี  บางตอนในพระคัมภีร์อาจถอยไปจนต้นตอที่เป็นภาษาเดิมของมัชฌิมประเทศ  ดังที่เอดเกอตันแสดงไว้ให้เห็นชัด  ในหนังสือ  Buddhist  Hybrid  Sanskrit  Grammar  and  Dictionary  


ที่จริงนั้น  มีการสอนพุทธศาสนาเป็นภาษาถิ่นต่างๆ เป็นอันมากมาแต่สมัยต้นแล้ว  ดังปรากฏอยู่ในคัมภีร์จุลวรรคว่า  พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตให้ปฏิบัติดังนั้นได้


นักปราชญ์ชาวโปล  เช่น  เซ็นต์ ซาเยอร์ ก็ดี  คอนสแตนตินเรกาเม่ย์ ก็ดี  และ แบรี  ลาฟัลก์ ก็ดี  ได้พยายามค้นหาเกี่ยวกับที่พวกเขาเรียกว่า  “พุทธศาสนาสมัยก่อนพระคัมภีร์”  พวกนี้ถือประเพณีพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นเกณฑ์  ด้วยเห็นว่าคติอันใดที่มีอยู่ในพระคัมภีร์  หากไม่ต้องกับมติของท่านผู้เคร่งหลักทฤษฎีในนิกายเถรวาทและสรรวาสติวาท   แต่คติดังกล่าวกลับมาเจริญงอกงามขึ้นทางฝ่ายมหายานแล้ว  เราก็พึงรู้ได้ว่าคตินั้นเก่าแก่ก่อนสมัยมีพระธรรมขึ้นเป็นคัมภีร์  แม้ท่านที่รวบรวมพระคัมภีร์ยังไม่กล้าตัดทิ้งเสีย  ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงมีถ้อยคำอยู่หลายแห่ง  เกี่ยวกับ  บุคคล(คน)  และมีกล่าวถึง  ความรู้สึกเป็นตัวตน  ดังที่ปรากฏอยู่ในศฑธาตุสูตรที่ว่าด้วยนิพพานอันเป็นปรมัตถ์ว่า  “เป็นความรู้สึกอันไม่อาจเห็นได้ไม่สิ้นสุดส่องแสงทั่วไปทุกแห่งหน”


แม้ว่าโดยปกติจะพูดถึงนิพพานอย่างสูงส่งห่างไกลเหลือเกิน  และว่าอธิบายได้แต่ในทางปฏิเสธ  แต่ก็มีบางตอนที่ส่อให้เห็นชัดว่าอธิบายนิพพานไปในทางบอกรับ  ดังเช่นว่า  เป็นสถานที่  (ปท)  หรือไม่ก็  เป็นอยู่  (จะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม  ไม่ใช่เป็นแต่สภาพ)  เป็นนิตย์นิรันดรและเป็นปรมัตถธรรม  และว่าเป็นจิตที่แสงส่องผ่านได้(ปรภาสวร)  เป็นอันถือว่าความหลุดพ้นนั้น  คือทำจิตให้บริสุทธิ์ทีละขั้นจนในที่สุดขึ้นถึงยอด  เป็นการรวมเข้าในธรรม (ธรรมธาตุ)  จากนั้น  จะไม่ถอยหลังลงอีก (อจยุต)


นี่เป็นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ในการนำมาวิเคราะห์พระไตรปิฎกของนิกายดั้งเดิมเริ่มต้นหลังพุทธปรินิพพานช่วงห้าร้อยปี  ดังจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเพียรในการสืบค้นมากทีเดียว  เราชาวพุทธผู้มีใจใฝ่ในธรรมย่อมสมควรวางอุเบกขาแล้วทำใจให้กลางค่อยๆ ศึกษาและสืบค้นร่องรอยไปทีละขั้นเป็นลำดับไป  เพราะพระคัมภีร์ไม่ว่าในฝ่ายเถรวาทิน  สรรวาสติวาทิน  และมหาสังฆิกซึ่งเป็นนิกายเก่าแก่ในช่วงหลังพุทธกาลห้าร้อยปีเท่าเทียมกัน ฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาให้รอบด้าน  อย่าเพิ่งด่วนสรุปด้วยเหตุผลส่วนตนใด ๆ ........




สำหรับคัมภีร์อื่นๆ เราต้องคอยเพียรเปรียบเทียบของแต่ละนิกายดู  ที่เราทราบเกี่ยวกับ  นิกายทั้งสิบแปด  นั้นเป็นการรู้อย่างไม่เรียบร้อยดีนัก  จนกระทั่ง  พ.ศ. ๒๔๙๘  เมื่อ  อา. บาโร  จัดระเบียบความรู้ให้เราในหนังสือชื่อ  นิกายต่างๆ ในพุทธศาสนาฝ่ายหิ่นยาน  ตั้งแต่นี้ไป  ผู้รักรู้จะขาดหนังสือนี้เสียมิได้เลย  ท่านผู้นั้นได้เปรียบเทียบเอกสารจากนิกายต่างๆ เช่น  เทียบพระคัมภีร์ของนิกายเถรวาทจากลังกา  กับพระคัมภีร์ของนิกายสรรวาสติวาทจากตุรกีสถาน  ถ้าพบถ้อยคำในพระคัมภีร์ทั้งสองตรงกัน  แม้คัมภีร์หนึ่งจะเป็นภาษาบาลี  อีกคัมภีร์หนึ่งเป็นภาษาสันสกฤต  แต่ก็ตรงกันคำต่อคำ  ***เช่นนี้แล้วก็เป็นอันลงความเห็นได้ว่าข้อความตอนนั้นเก่าก่อนสองนิกายนี้แตกกัน***  เมื่อสมัยพระเจ้าอโศก  ถ้าความต่างกัน  และไม่มีหลักฐานมาส่อให้เห็นเป็นอื่น  ก็คะเนได้ว่าตรงนั้นเติมขึ้นทีหลังรัชสมัยพระเจ้าอโศก  


ในปัจจุบัน  ได้มีการทำงานด้านนี้มากขึ้น  แต่ยังไม่อาจตราลงให้เป็นหลักเกณฑ์ได้  วิธีการดังนี้ไม่ช่วยให้เราข้ามพ้น  พ.ศ. ๒๐๓  ไปได้  เพราะพระสูตรของฝ่ายมหาสังฆิกนิกายหายไปหมด  ดับเบิลยู.  พาโชว์  เทียบดูพระปาฏิโมกข์ของสิบนิกาย  แล้วแสดงมติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘  ว่าทุกนิกายมีสิกขาบทพ้องกันเป็นส่วนมาก  ส่อให้เห็นว่าพระปาฏิโมกข์นั้นรับนับถือสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ศตวรรษแรก  จำเดิมแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้านิพพาน

จากงานแปลหนังสือของคุณ ส. ศิวลักษณ

หมายเลขบันทึก: 215851เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องการคำแนะนำ เกี่ยวกับคาถาธรรมบท ที่มานอกพระไตรปิฏก มีข้อสังเกตุอย่างไรครับ

เพราะเมื่อเทียบอรรถกถาแล้วยังงงอยู่เลย ขอข้อมูลด่วนครับ

สาธุ

วันอาสาฬหบูชา

วันอาทิตย์ที่ ๑๘กรกฎาคมถึงวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

ขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชนสาธยายพระไตรปิฎก

กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธนิมิตเมตตา ปางปฐมเทศนา

ภาพพระพุทธรูปปางปรินิพพานเท่าของจริง

เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

วัดใหม่ยายแป้น เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

วันอาทิตย์ที่ ๑๘กรกฎาคมถึงวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

เวลา ๐๘.๐๐ น.พร้อมกันที่วิหารพระไตรปิฎก

เวลา๐๘.๓๐ น.อัญเชิญพระไตรปิฎกทักษิณาวัตรที่พระอุโบสถ

เวลา ๐๙.๐๙ น.ประธานจุด เทียน-ธูป

เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล

พระครูปลัดรัตนวัฒน์( เจ้าอาวาส) ให้ศีล

จุดเทียนบูชาพระไตรปิฎก

เริ่มสาธยายพระไตรปิฎก ตลอดไตรมาส(พรรษา ๓ เดือน)

วันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

เวลา ๑๙.๐๐ น.หยุดการสาธยายพระไตรปิฎก เจริญสมาธิและถวายเป็นพระราชกุศล

ชมพระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ ๕ พม่า,ศรีลังกา,ล้านนา ,รัฐฉาน ,เขมร,จีน คัมภีร์โบราณและ

รถเมล์ปอพ.๑๐,๕๖,๕๗,๗๙,๑๕๗,๑๗๕,๔๐,๕๔๒.๘๐,๕๐๙,๒๘,๑๗๑ลงที่สี่แยกบางขุนนนท์(รถเมล์สาย๕๗,๗๙ผ่านหน้าวัด )

ติดต่อสอบถามได้ที่ พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ ผศ.ดร.D.Litt(ไม่รับเงินบริจาค)www.narongsak.org

โทร. ๐๒-๔๓๕-๗๕๕๕ ๐๘๙-๙๖๓-๔๕๐๕

การสาธยายพระไตรปิฎกจึงเสมือนได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ ธรรมและวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ดีแล้วธรรมเหล่านั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ”

รศ.๑๑๒(พ.ศ.๒๔๓๖)พระไตปิฎกซึ่งมีคุณค่าสูงยิ่ง ชุดหายากพิมพ์ครั้งแรกของโลก สมัยรัชกาลที่ ๕ ส่งไปทั่วโลก ๒๖๐ สถาบันด้วยอานิสงส์ เราสามารถคงความเป็นเอกราชหลุดพ้นจากอำนาจยึดครองอธิปไตยจากจักรวรรดินิยมตะวันตกในเวลานั้นได้

อานิสงส์การสาธยายพระไตรปิฎก

๑.พระไตรปิฎกเป็นตาวิเศษอันยิ่งบุคคลใดสาธยายพระไตรปิฎกแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทำให้เป็นสัมมาทิฎฐิ นำไปสู่ความสำเร็จและเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล คือตั้งแต่โสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและอรหันต์เข้าสู่นิพพาน

๒.พระไตรปิฎกเป็นหูที่วิเศษอันยิ่งฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สอนให้บุคคลนั้นดำรงชีวิตด้วยความถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฎฐิ อย่างน้อยไม่ทำบาปทำแต่กุศล ได้ฟังแต่สิ่งที่เป็นมงคล การพูดก็ดี สุขภาพจิตก็ดี มีจิตใจที่ผ่องใส เมื่อจิตใจผ่องใสความคิดก็ดีความจำก็ดีขึ้นมีสติไม่ทำให้เกิดอกุศลหน้าตาผ่องใสเป็นต้น(พระไตรปิฎกเล่มที่๔)

๓.พระไตรปิฎกเป็นจมูกที่วิเศษอันยิ่ง กลิ่นหอมที่ว่าหอมแม้จะลอยตามลมไปได้ ๑,๐๐๐ โยชน์ แต่ไม่สามารถที่จะทวนลมได้ แต่กลิ่นของความดี กุศลนั้นสามารถจะทวนลมและกระจายออกไปได้ทุกทิศ จะเป็นมีจมูกที่ได้กลิ่นของกุศลที่กระจอนไปทุกทิศ และไม่หลงติดอยู่กับกลิ่นหอมอย่างอื่น(พระไตรปิฎกเล่ม๙และ๑๖)

๔.พระไตรปิฎกเป็นลิ้นที่วิเศษอันยิ่ง ลิ้นคนเราแม้จะจำรสต่าง ๆ ได้ ไม่ช้าก็ลืมมีความสุขชั่วคราวทำให้คนขาดสติ แต่ลิ้นที่ลิ้มรสของพระธรรมนั้น ไม่มีความอิ่มในรสของพระธรรม เมื่อคนเราได้รับลิ้มรสของพระธรรมแล้ว จะทำให้ร่างกายผ่องใสทั้งภายในและภายนอกและจะช่วยรักษาโรคได้ทุกชนิด(พระไตรปิฎกเล่ม๙และ๑๖)

๕.พระไตรปิฎกเป็นกายที่วิเศษอันยิ่ง เมื่อบุคคลได้สาธยายแล้วทำให้มีสภาพที่ผ่องใสทั้งภายในและภายนอก มีกายที่เบาไม่เชื่องช้าเลือดลมในตัวเราที่เรียกว่าธาตุ๔นั้นก็สมบูรณ์ทำให้มีอายุยิ่งยืนนานสามารถหายจากโรคที่เกิดแต่กรรมได้

๖.พระไตรปิฎก เป็นใจที่วิเศษอันยิ่ง ใจดี ใจผ่องใส ใจเป็นหัวหน้า เมื่อใจเบิกบาน จิตใจเป็นกุศลก็สามารถเข้าถึงความเป็น โสดาบันสกทาคามีอนาคามีและพระอรหันต์ในที่สุด(พระไตรปิฎกเล่ม๙และ๑๖)

๗.พระไตรปิฎกเป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษอันยิ่ง สามารถที่จะสอนให้เรารู้ว่าอะไรเป็นกุศลอะไรเป็นอกุศล เมื่อรู้อย่างนี้แล้วสอนให้เรานำเอาหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติอันเป็นทางที่มีความสำเร็จในชีวิตนำทางไปเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน(พระไตรปิฎกเล่ม ๙)

๘.พระไตรปิฎก เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษอันยิ่ง พ่อแม่ไม่ได้หวังค่าตอบแทนจากลูกฉันใด พระไตรปิฎกเป็นผู้ที่สอนให้เรารู้ทุกอย่างที่เรายังไม่เคยรู้ นำทางให้เราเข้าถึงความเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ แล้วแต่ทางดำเนินชีวิตอันทำให้ถึงจุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน(พระไตรปิฎกเล่ม๑๒และ๑๔)

๙.พระไตรปิฎกเป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษอันยิ่ง เมื่อบุคคลได้สาธยายก็จะมีแต่มิตรนำทางไปสู่ที่ดีนำชีวิตไปสู่ความสุขทั้งตัวเอง ครอบครัวและสังคมที่ดีนำทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งในทุกสถานในกาลทุกเมื่อ(พระไตรปิฎกเล่มที่๓๖)

๑๐.สมัยพระพุทธเจ้าชื่อว่ากัสสปะ พระสงฆ์สาธยายอภิธรรมในถ้ำ ค้างคาว ๕๐๐ ตัวได้ฟังเมื่อถึงคราวตายแล้วไปจุติที่ชั้นดาวดึงส์ชาติสุดท้ายมาเกิดเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตรและเป็นอรหันต์เป็นที่สุด

๑๑.การสาธยายพระไตรปิฎกที่ว่า “กรรมเก่าไม่มีใครลบล้างได้ กรรมปัจจุบันจะช่วยได้ จงจำไว้ กรรมที่ทำด้วยเจตนาไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมมีผลต่อผู้กระทำทั้งสิ้น ไม่มีพรหมเทพองค์ใดจะช่วยลบล้างกรรมนั้นได้ เธอจงช่วยตนเอง ด้วยการสวดมนต์ ภาวนาแผ่เมตตาผลแห่งบุญอันเป็นกรรมปัจจุบันจะช่วยเธอได้”ตอนหนึ่งที่กล่าวกับนางโรหิณี

๑๒.การสาธยายหรือการสวดมนต์ ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่จิตของตนและประโยชน์แก่จิตอื่น และสามารถที่จะทำให้ผู้ที่สวดมนต์สาธยายมีความสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อันพึงจะเกิดขึ้นในครั้งนี้

ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯผู้เป็นพ่อของแผ่นดินที่ให้อาศัยแก่เราและวงศ์ตระกูลได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขและเจริญก้าวหน้าตลอดมาขอธรรมของพระศาสดาเป็นประดุจดังธรรมโอสถทิพย์ที่จะช่วยคลายทุกข์ให้ประชาชนคนไทยได้รู้รักสามัคคีเฉกเช่นพี่น้องร่วมอุทรอันไม่พึงทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยกาย วาจา ใจ ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายเป็นผู้มั่นคงและถึงพร้อมด้วยความดี เพื่อแผ่นดินไทยอยู่อย่างผาสุกตลอดกาลและนาน เทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท