คุณของสัมมาสมาธิ เป็นไปเพื่อการเจริญวิชชาและปัญญา


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

คุณของสัมมาสมาธิ  เป็นไปเพื่อการเจริญวิชชาและปัญญา



               การเจริญสมถภาวนา  อบรมจิตใจให้หยุดนิ่ง  เป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคง  จนปรากฏองค์คุณ คือองค์แห่งฌาน  เป็นฌานจิต  ตั้งแต่  ปฐมฌานขึ้นไป   ถึงทุติยฌาน  ตติยฌาน  และ จตุถฌาน อัน เป็นธรรมเครื่องกำจัดกิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญา  ให้จิตใจผ่องใส  ควรแก่งาน   คือ  การเจริญวิชชา ธรรมเครื่องดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิดทุกข์ทั้งปวง  และการเจริญปัญญาจากการเห็นแจ้ง  รู้แจ้งในพระสัจจธรรมตามที่เป็นจริง  นี้ชื่อว่า  “สัมมาสมาธิ”  หนึ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘


               ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ตรัสถึงคุณของ  “สัมมาสมาธิ”  ที่เป็นไปเพื่อเจริญวิชชาธรรมเครื่องกำจัดอวิชชา  และที่เป็นไปเพื่อเจริญโลกุตตรปัญญา  จากการที่ได้เห็นแจ้งและรู้แจ้งพระอริยสัจทั้ง ๔  ดังต่อไปนี้



               ว่าด้วยวิชชา ๓  


               “ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์  ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว  อย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ  เธอระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอันมาก   คือระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง  สองชาติบ้าง  ฯลฯ  ระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอันมาก  พร้อมทั้งอาการ  พร้อมทั้งอุทเทส  ด้วยประการฉะนี้  เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น  ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านอื่น  ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว   กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม   ฉะนั้น  เขาจะพึงระลึกได้ว่าเราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น  ในบ้านนั้น  เราได้ยืนอย่างนั้น  ได้นั่งอย่างนั้นได้พูดอย่างนั้น  ได้นิ่งอย่างนั้น  ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้น  แม้ในบ้านนั้น  เราก็ได้ยืนอย่างนั้น  ได้นั่งอย่างนั้น  ได้พูดอย่างนั้น  ได้นิ่งอย่างนั้น  ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม   ดังนี้  ฉันใด   ภิกษุก็ฉันนั้นแล  ย่อมระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอันมาก  คือ  ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง  สองชาติบ้าง  ระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอันมาก  พร้อมทั้งอาการ  พร้อมทั้งอุเทสด้วยประการฉะนี้”


               ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลสอ่อน  ควรแก่งาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหว  อย่างนี้   ย่อมน้อมโน้มจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย  (จุตูปปาตญาณ)   เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  กำลังอุบัติ  เลว  ประณีตมีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม  ได้ดี  ตกยาก  ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์  ล่วงจักษุของมนุษย์  ฯลฯ  ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม   เปรียบเหมือนปราสาทหลังหนึ่งตั้งอยู่ที่สี่แยกท่ามกลางพระนคร  บุรุษผู้มีจักษุ  ยืนอยู่บนปราสาทนั้น พึงเห็นหมู่มนุษย์  กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง  กำลังออกจากเรือนบ้าง  กำลังเดินไปบ้าง  กำลังเดินมาบ้าง  กำลังเที่ยวไปบ้าง  ฉันใด  ภิกษุย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ  กำลังอุบัติ เลว  ประณีต  มีผิวพรรณดี  มีผิวพรรณทราม  ได้ดี  ตกยาก  ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์  ฯลฯ  ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม   ฉันนั้น เหมือนกันแล.


               ภิกษุนั้น  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์  ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลสอ่อน  ควรแก่งาน  ตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวอย่างนี้  ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ  เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เหล่านี้อาสวะ  นี้อาสวสมุทัย  นี้อาสวนิโรธ  นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา  เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้  จิตย่อมหลุดพ้น  แม้จากกามาสวะ  แม้จากภวาสะ  แม้จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว   ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว  รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำ  ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี  เปรียบเหมือนห้วงน้ำบนยอดภูเขา มีน้ำใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษ ผู้มีจักษุยืนอยู่ขอบห้วงน้ำนั้น  พึงเห็นหอยกาบ  หอยโข่ง  ก้อนกรวด  กระเบื้อง และฝูงปลา  หยุดอยู่บ้าง  เคลื่อนไปบ้าง  เขามีความดำริว่า  ห้วงน้ำนี้  มีน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว  มีหอยกาบ  หอยโข่ง  ก้อนกรวด  กระเบื้อง  และฝูงปลา  หยุดอยู่บ้าง  เคลื่อนไปบ้าง  ฉันใด  ภิกษุย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  ฯลฯ  รู้ชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่แล้ว  กิจที่ควรทำ  ได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฉันนั้นเหมือนกันแล.”



               นอกจากนี้  ยังตรัสคุณของสัมมาสมาธินี้อีกว่า


               “นตฺถิ  ฌานํ  อปญฺญสฺส.                   ปญฺญา  นตฺถิ  อฌายโต.
               ยมฺหิ ฌานญฺจ  ปญฺญา จ                   ส เว นิพฺพานสนฺติเก

               
               “ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา.  
                ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่งอยู่.
                ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด  
                ผู้นั้นแล  อยู่ในที่ใกล้นิพพาน.”

หมายเลขบันทึก: 215500เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท