งานวิจัย


การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ชื่องานวิจัย                     ผลการประยุกต์ใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์     เพื่อพัฒนาคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทย  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  2  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์  เขต  2

ผู้วิจัย                             นางสาวอุมาพร  พินิจภารการณ์

ปีการศึกษา                     2550

 

บทคัดย่อ

 

                        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  (1) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทย  ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนวิชาภาษาไทย  โดยใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  (2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทยระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนวิชาภาษาไทย  โดยใช้วิธีสอนแบบปกติ   (3) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทย  หลังเรียนของนักเรียนที่เรียนวิชาภาษาไทย  โดยใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์   กับนักเรียนที่เรียนวิชาภาษาไทย  โดยใช้วิธีสอนแบบปกติ

                        ประชากรที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  2  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์  เขต 2  ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2551  จำนวน  96  โรงเรียน  จำนวน  1,764  คน  กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย   มีจำนวน 50 คน   ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย  โดยกลุ่มทดลองเป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองขาม(สันติกาญจน์ราษฎร์บำรุง)   จำนวน    25  คน  ที่เรียนโดยใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  และกลุ่มควบคุม  เป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านศาลาลัย  จำนวน  25  คน  ที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบปกติ  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง  โดยเนื้อหาที่ใช้ในการทดลองเป็นเนื้อหาวิชาภาษาไทย  โดยนำมาจัดทำเป็นแผนการสอนจำนวน  18  แผน  ใช้เวลาในการทดลอง  18  ชั่วโมง  การวิจัยครั้งนี้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาไทย  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ  ค่าเฉลี่ย       ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  สถิติทดสอบที  และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม

                        ผลการวิจัยพบว่า

(1)  ความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทยโดยภาพรวมและในรายด้านทุกด้าน

ได้แก่  ด้านความคิดคล่องตัว ด้านความคิดยืดหยุ่น  ด้านความคิดริเริ่มของนักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

                                (2)  ความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทยโดยภาพรวมและในรายด้านทุกด้าน ได้แก่  ด้านความคิดคล่องตัว  ด้านความคิดยืดหยุ่น  ด้านความคิดริเริ่มของนักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบปกติ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

                                (3)  ความคิดสร้างสรรค์ในวิชาภาษาไทยโดยภาพรวมและรายด้านในด้านความคิดคล่องตัว  ด้านความคิดริเริ่มหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนตามกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สูงกว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ส่วนในด้านความคิดยืดหยุ่นนั้นพบว่าสูงกว่าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

 

หมายเลขบันทึก: 215496เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท