การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๘)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๘)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๘ มาลงต่อนะครับ    ตอนนี้เป็นการบันทึกบทบาทของ “คุณอำนวย” ในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี ในการทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของ “คุณกิจ”


ตอนที่  18   ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างผสมผสาน
        ในการเรียนการสอน  จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเข้าช่วยแทบจะทุกขั้นตอนการเรียนการสอน  ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้  เรียนได้ง่ายและเกิดความสะดวก  หลายกิจกรรมไม่สามารถดำเนินการได้  หากขาดเครื่องมือที่ดีที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นๆ  และเครื่องมือบางอย่างก็นำไปช่วยเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนาน  เกิดความน่าสนใจ  ให้นักเรียนชาวนาได้เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ 
        เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนชาวนามีหลากหลายสิ่ง  เมื่อจัดกลุ่มแล้ว  จึงสามารถแบ่งได้ออกเป็น  2  ประเภท  คือ
          (1)  เครื่องมืออย่างง่าย  
             -  เครื่องเขียน  อันได้แก่  ปากกา  ดินสอ  สี  กระดาษ  สมุดบันทึก  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มี    ความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน 
             -  สวิง  เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับแมลงในแปลงนาข้าว  ในกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องแมลง  ซึ่งนักเรียนชาวนาจะต้องใช้สวิงในการจับแมลงมาสำรวจ  และจะต้องเรียนรู้การใช้สวิงในการจับแมลงอย่างถูกต้องด้วย
          (2)  เครื่องมือที่ซับซ้อน
             -  เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูป  (Hardware  and  Software)  โดยใช้โปรแกรมนำเสนองาน  Microsoft  PowerPoint 
             -  กล้องถ่ายรูประบบดิจิตอล  กล้องถ่ายวิดีโอ  เพื่อใช้สำหรับบันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ  ถ่ายภาพตัวอย่างสิ่งต่างๆเพื่อใช้ในการประกอบการเรียนรู้
        ในสมัยปัจจุบัน  เครื่องมือที่ซับซ้อนจะต้องอาศัยทักษะและความสามารถพิเศษ  ต้องมี      การเรียนรู้และฝึกหัดที่จะใช้งาน  ต้องอาศัยความเข้าใจหลักการในการทำงานของเครื่องมือและเทคโนโลยีนั้น  ได้แก่  การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์  การใช้งานในโปรแกรมสำเร็จ  Microsoft  Power  Point  การใช้งานกล้องถ่ายรูประบบดิจิตอล  ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าการถ่ายภาพจากกล้องถ่ายรูปทั่วไป  แต่ประสิทธิภาพในการใช้งานสูงกว่า  ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่จะต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเหลือให้งานการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรม
        (3)  การสังเกต  ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเก็บข้อมูลเพื่อการเรียนรู้  ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนา  นักเรียนชาวนาจะต้องฝึกอบรมในไร่นา  ต้องรู้จุดที่จะสังเกตจากการปฏิบัติจริง  จะช่วยทำให้เก็บข้อมูลไปคิด  ไปทบทวน  โดยอาศัยการเรียนรู้  บรรยากาศที่  เอื้อหนุน  และระยะเวลา  ประกอบกันเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิด  จึงจะเกิดปัญญา  แล้วนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานต่อไป
        (4)  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งสมาชิกในกลุ่มและเครือข่าย  เพราะเวทีต่างๆที่เปิดโอกาสให้รวมกลุ่มทำกิจกรรม  อย่างเช่น  กิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อน  ทำให้นักเรียนชาวนาได้พบความเป็นกัลยาณมิตรจากเพื่อนๆ  ได้พูดคุยกันตามประสา  ทำให้  “ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว”  ในการพูดคุยนี้  จะมีหลากหลายเรื่องปะปนกันไปในวงสนทนา  ทั้งเรื่องสาระสุขสุกดิบ  การใช้ชีวิต  ครอบครัว  การทำนา  และรวมถึงงานกิจกรรมในโรงเรียนด้วย  แสดงจุดดีจุดด้อย  เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งช่วยเหลือ  เสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหา  เวทีเพื่อนเยี่ยมเพื่อน  เพื่อนจะ  “อวดความดี”  ว่าชุมชนมีความสุขมากแค่ไหนให้เพื่อนฟัง  หากเพื่อนสนใจก็จะขอสูตรเอาไปใช้ในชุมชนของตนบ้าง  เวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและนักเรียนชาวนาชื่นชอบ


                     
  ภาพที่  97  กระดาษกับสี  เป็นเครื่องมืออย่างง่ายสำหรับงานสร้างสรรค์ของศิลปินนักเรียนชาวนา
  ภาพที่  98  สมุดบันทึกกับปากกา  เป็นเครื่องมืออย่างง่าย  นักเรียนชาวนาจะต้องจดบันทึกความคิดความรู้
 

            
  ภาพที่  99  สวิง  เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่ใช้ในการเรียนการสอนเรื่องแมลง
  ภาพที่  100  คอมพิวเตอร์กับโปรแกรมสำเร็จรูป  เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อน
 

           ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” คือ ทักษะในการ “สกัด” ความรู้ ออกมาจากกิจกรรม  ความสำเร็จ  หรือเรื่องเล่าเหตุการณ์ ของการปฏิบัติของ “คุณกิจ”  นำมาบันทึกเป็น ขุมความรู้ สำหรับให้ คุณกิจ นำเอาไปตีความและใช้ใหม่     และสำหรับใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงที่กว้างขึ้น     ทักษะชิ้นนี้ มี ๒ ซ้อน     คือทักษะในการทำเอง  กับทักษะในการเข้าไปหนุนให้ “คุณกิจ” ทำได้ หรือเกิดการเรียนรู้และพัฒนาขึ้นเป็นระยะๆ


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2142เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท