R2R ศิริราช : คุยกับ Cluster Facilitator


ผมเป็นคนโชคดี เมื่อหนุ่มก็ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่รับผิดชอบงานยากๆ    เมื่อแก่ก็มีคนยกย่องให้ทำหน้าที่ โค้ช    ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าผมไปเรียนจากคนคราวลูกคราวหลานมากกว่า    เพราะจริงๆ แล้วความรู้เชิงเทคนิคของผมมันทื่อ เก่า ล้าสมัย ไปนานมากแล้ว    ความรู้ที่พอมีอยู่บ้างมันเป็นความรู้เชิงคุณค่า เชิงการจัดการ    จึงพอจะเอาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับน้องๆ หรือลูกหลาน    ทำนองหมูไปไก่มา    แต่เขากลับยกย่องว่าผมไปเป็น โค้ช    ก็ต้องยอมรับ   แต่ในใจลึกๆ ผมบอกตัวเองว่า ผมไปเป็นลูกศิษย์ ๖ ๘ ส่วน    ไปเป็น โค้ช ๒ ๔ ส่วน

วันที่ ๑ ต.ค. ๕๑ ผมได้รับเชิญไป ลปรร. กับ CF (Cluster Facilitator) ของโครงการ R2R ศิริราช   ในการประชุมวาระพิเศษที่เขาเรียกว่า “Empowerment for Cluster Facilitator : Value, Technique and Success”

  

โดยมีประเด็นของการ ลปรร. ๔ ประเด็น ดังนี้

1.           สิ่งที่คาดหวังในการร่วมมือกับโครงการ R2R

2.           ประสบการณ์ในการสนับสนุนงานประจำสู่งานวิจัยในหน่วยงาน

3.           ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เห็นว่าสำคัญ

4.           สิ่งที่อยากให้โครงการ R2R เน้นหรือพิจารณาเพิ่มเติม

 

จะสังเกตเห็นว่า R2R ของศิริราช มีการจัดรูปแบบของการจัดการอย่างเป็นระบบ   แต่ก็ใช้ระบบที่ไม่เหมือนการจัดการทั่วไป   คือใช้การจัดการแบบ เคออร์ดิค  

การประชุมจัดที่ตึกอานันทราช สถานที่ทำงานเก่าของผมสมัยปี ๒๕๑๑ ๒๕๑๗   แต่ภายในอาคารได้รับการปรับปรุงใหม่หมด ไม่เหลือเค้าเก่าเลย    แต่ในห้องประชุมมีแผ่นหินอ่อนจารึกถึง นพ. สง่า ภู่ตระกูล นักวิจัยธาลัสซีเมีย ที่เป็นผู้ค้นพบฮีโมโกลบินผิดปกติหลายชนิดในประเทศไทย    ท่านเสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่ถึง ๔๐ ด้วยโรคหลอดเลือสมองโป่งและแตก    ทำให้ผมได้มีโอกาสรำลึกถึงวันเก่าๆ และเพื่อน-พี่เก่าๆ

การประชุมเป็นแบบเสวนากัน   เราพบว่า R2R ของศิริราชได้มีวิวัฒนาการ ไปหลากหลายแบบ   แต่ละแบบต่างก็มีจุดแข็งของตนเอง    ผมได้แนะนำ อ. หมออัครินทร์ ให้ส่งเสริมแต่ละแบบให้มีความสำเร็จตามแบบของตน   คือให้ดำรงจุดแข็งของแต่ละแบบเอาไว้    ไม่เข้าไปจัดการให้หันมาเหมือนกัน

  • แบบแรก ด้านสูติ-นรีเวช   มีความร่วมมือแนบแน่นระหว่างพยาบาลกับอาจารย์ คือ อ. นพ. พฤหัส   ทำงานวิจัยด้าน breast feeding และ teen-age pregnancy ดูความต้องการของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์   CF ที่มาเล่าคือคุณสมประสงค์ หัวหน้าหอผู้ป่วย  กับ อ. หมอพฤหัส    เราเห็นภาพการทำงานเป็นเนือเดียวกัน ส่งเสริมกันระหว่างอาจารย์แพทย์กับพยาบาล
  • แบบที่ ๒  ด้านกุมารเวชศาสตร์  มี CF มาเล่า ๓ ท่าน เป็นอาจารย์แพทย์ทั้งหมด คื อ. หมอวิปร   อ. หมอ อนิรุทธ ภัทรากาญจน์   และ อ. หมอบุญชู   มีรูปแบบของการสร้างทีม Bio-Medical Research ของอาจารย์แพทย์    ที่ใช้ clinical data   อ. หมออนิรุทธ มีพยาบาลเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ได้ค่าจ้าง   ไม่ใช่ทีมนักวิจัย เพราะไม่ได้ร่วมคิดโจทย์ ไม่มีส่วนของการตีความหรือวิเคราะห์ข้อมูล  ไม่มีส่วนเขียนรายงาน   
  • แบบที่ ๓  ด้านการพยาบาล   เป็นผลงานของพยาบาลประจำการเพื่อแก้ปัญหาหน้างานที่น่าทึ่งมาก   มี CF มาเล่า ๓ คน คือคุณเสาวณี  คุณเอื้อมพร  และคุณมาลี   เคล็ดลับสำคัญคือการตั้งโจทย์จากฝั่งผู้ป่วย เช่น ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยโรค...ได้ยาครบตามที่หมอสั่ง    เรื่องที่น่าส่งเสริมคือ การตั้งโจทย์วิจัย R2R + CQI ในหน่วยพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีราคาแพง และผู้ป่วยต้องการการดูแลแบบใกล้ชิดเข้มข้น  

 

ผมมองว่า R2R ศิริราชได้เดินมาเข้าสู่ช่วงที่จะ diversify รูปแบบของ R2R ให้สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายของหน่วยงานในศิริราช   และมีความแตกต่างหลากหลายของความต้องการ/ความมุ่งมั่น ในการทำงานวิชาการจากงานประจำ  

ผมได้แนะนำทีม R2R ศิริราชว่า    ต้องระมัดระวัง อย่าให้คนเข้าใจว่ากิจกรรม R2R เป็นของหน่วย R2R   ต้องให้ ownership ของกิจกรรม R2R เป็นของหน่วยดูแลผู้ป่วยเหล่านั้นเอง    หน่วย R2R และ CF เป็นผู้เข้าไปช่วยจุดประกาย ยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ    แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ   

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๕๑

  บรรยากาศในห้องประชุม อีกมุมหนึ่งของห้องประชุม

คำสำคัญ (Tags): #511001#r2r#ศิริราช
หมายเลขบันทึก: 213734เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท