แนวคิดของผู้นำคนใหม่ การอาชีวศึกษา


สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กร เนื่องจากการเกษียณอายุของเลขาฯ สอศ. โดยเลขาฯ คนใหม่ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ มาก่อน แนวคิดและวิธีการจึงค่อนข้างต่อเนื่องจากเดิม แต่มีเรื่องที่ต้องดำเนินการหลายอย่างซึ่งคั่งค้างมาจากเดิม

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กร  เนื่องจากการเกษียณอายุของเลขาฯ สอศ.  โดยเลขาฯ คนใหม่ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ มาก่อน  แนวคิดและวิธีการจึงค่อนข้างต่อเนื่องจากเดิม  แต่มีเรื่องที่ต้องดำเนินการหลายอย่างซึ่งคั่งค้างมาจากเดิม  แต่โดยสรุปแนวคิดของเลขาธิการคนใหม่ จะมีหลัก ๆ อยู่ 5 เรื่องคือ
1. การจัดทำกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.อาชีวศึกษา
2. การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาตามที่กำหนดใน พรบ.การอาชีวศึกษา
3. การพัฒนาบุคลากรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน พรบ.การอาชีวศึกษา
4. การจัดทำมาตรฐานการอาชีวศึกษา TVQ
5. การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ลองดูรายละเอียดได้ที่

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01edu24021051&sectionid=0107&day=2008-10-02

 

 

เฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการกอศ.คนใหม่

หมายเหตุ - นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" เรื่องนโยบายและทิศทางการผลักดันงานอาชีวศึกษา

"เรื่องที่ผมจะเข้ามาผลักดันคือ

1.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มี พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาฉบับใหม่ประกาศใช้ไปนานแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2551 แต่มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อาทิ การผลักดันกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ระเบียบ ข้อบังคับจำนวน 19 ฉบับ ที่จะต้องเร่งรัด เพราะหลายเรื่องเกินกำหนดเวลาของบทเฉพาะกาล 180 วันแล้ว

2.ผลักดันการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ตามมาตรา 11, 13, 14 ของ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาที่กำหนดให้จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือการรวมสถาบันการศึกษาในสังกัด สอศ.หลายๆ แห่งมาเป็นหนึ่งสถาบันการอาชีวศึกษา หรือแยกออกมาเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาหรือการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งขั้นตอนการจัดตั้งนั้นจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์รายละเอียดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แต่จะจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษากี่แห่งนั้นยังบอกไม่ได้ แต่จะมีการกำหนดเป็นลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ตั้งก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องหารือกับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สอศ. และผู้รู้ ผมตั้งเป้าว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย จากนั้นอาจจะต้องมีการนำร่องดำเนินการก่อนก็ได้

"เวลานี้เรามี พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาที่เปรียบเสมือนกฎหมายแม่อยู่แล้ว ดังนั้น หน้าที่ของผมจะต้องมาทำกฎหมายลูก ซึ่งผมดีใจที่จะได้มาออกแบบบ้าน ดังนั้น จากนี้ต่อไปถ้าผมทำไว้ไม่ดีคนรุ่นต่อไปก็จะมาต่อว่าได้ว่าออกแบบบ้านไว้ไม่ดี ผมจึงต้องมาคิดเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบคอบและคิดให้เหมาะสมกับการจัดอาชีวศึกษาของไทย จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิดออกแบบบ้านด้วย ส่วนการเปิดสอนระดับปริญญาตรีภายหลังจากจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาขึ้นมาแล้วนั้น หลายคนอาจจะมองว่า สอศ.ออกกฎหมายมาก็เพื่อจุดประสงค์หลักให้เปิดสอนระดับปริญญาตรีได้ แต่จริงๆ แล้วต้องการให้การจัดการอาชีวศึกษามีความสมบูรณ์ตามกฎหมายปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น การที่สถาบันการอาชีวศึกษาจะเปิดสอนปริญญาตรีจึงต้องเน้นทางสายวิชาชีพ สายปฏิบัติการ และคนที่จะมาเรียนได้จะต้องเรียนมาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่ควรจะรับนักเรียนจากที่จบสายสามัญ เพื่อให้ได้คนที่ต้องการเรียนสายวิชาชีพจริงๆ

"เรื่องที่ 3. ที่ผมจะผลักดัน คือเรื่องการพัฒนาบุคคลากรอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงการจัดการอาชีวศึกษาสมัยใหม่ โดยจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่บุคลากรฝ่ายสนับสนุนใน สอศ.หรือสถานศึกษา พัฒนาบุคลากรฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยจะทำเรื่องเสนอรัฐบาลให้สนับสนุนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ไปศึกษาต่อ ไปอบรมดูงานในต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะจัดงบประมาณดูงานหรืออบรมกันเอง หากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนจะดีมากกว่าโดยเฉพาะการให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ ซึ่งจะมารองรับการเปิดสอนระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษาในอนาคตด้วย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผมต้องผลักดัน

"4.เรื่องการเร่งรัดจัดทำมาตรฐานการอาชีวศึกษา หรือ TVQ เพื่อจะนำไปกำหนดเป็นฐานสมรรถนะ ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนี้ได้จะต้องมีการจัดทำหลักสูตร ตำราและสื่อการเรียนการสอนร่วมกัน เนื่องจากในปัจจุบันตำราเรียน สื่อการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ไม่เหมือนกัน จะคิดกันมาเอง และไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเรื่องหลักสูตรและตำราของ สอศ. ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมากที่จะต้องเข้ามาดูแล เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จึงต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาการเรียนการสอนทุกๆ 2 ปีเป็นอย่างน้อย รวมทั้งจะต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะผมจะเน้นหลักสูตรด้านเกษตรให้มาก เพราะประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม และในอนาคตการเกษตรจะมีความสำคัญมากกว่าในปัจจุบัน จึงต้องหากลวิธีให้เด็กหันมาเรียนด้านเกษตร ซึ่งจะต้องเร่งส่งเสริมค่านิยมในเรื่องนี้

"เรื่องที่ 5. ผมจะเน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียน หมายความว่าต่อไปหากใครไม่ตั้งใจเรียนด้านอาชีวศึกษาจริงๆ ก็ไม่ควรมาเรียน จะได้ไม่มีปัญหาการออกกลางคัน หรือถูกให้ออกเพราะเกรดไม่ถึง ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียทรัพยากร นอกจากนี้ จะต้องมีการหารือกับทางจังหวัด และภาคเอกชนด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันพยากรณ์ความต้องการของตลาดแรงงานจะได้ผลิตนักศึกษาออกมาตรงตามความต้องการด้วย"

เลขาธิการ กอศ.คนใหม่ฝากทิ้งท้ายไปถึงผู้บริหารสถานศึกษา และข้าราชการครูในสังกัด สอศ.ทุกคนว่า "อยากให้ทุกคนมาช่วยกันพัฒนางานอาชีวศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย"

มติชน 

วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11163 มติชนรายวัน


หน้า 22

หมายเลขบันทึก: 213656เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท