ในหลวงกับการศึกษาไทย


ในหลวงกับการศึกษาไทย

    ในหลวงกับการศึกษาไทย        

ความหมายและขอบเขตของการศึกษา

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ไว้ดังนี้

"การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว"

จะเห็นว่าการศึกษามีความหมายใน ๒ มิติ คือมิติแรกเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ และมิติที่สองเป็นการพัฒนาบุคคลผู้ศึกษาเองให้มีความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรม ซึ่งทั้งสองมิติแห่งความหมายนี้แยกกันไม่ได้ ตรงกันข้ามจะต้องควบคู่กันไปเพราะเมื่อบุคคลหนึ่งมีความรู้ แต่มีความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรม ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมจะนำไปสู่การใช้ความรู้ในทางที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อทั้งตนเองและส่วนรวมได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งในเรื่องนี้มีความหมายตอนหนึ่งว่า

"ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงประทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องไปในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้น อาจเผาผลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้" (๒๘ มกราคม ๒๕๐๕)

การศึกษาในความหมายนี้สะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่สิ่งที่จบหรือสิ้นสุดในตัวเอง แต่การศึกษาจะต้องนำไปสนองต่อเป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายบางประการ โดยเฉพาะต่อสังคมส่วนรวม (ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป) นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้บุคคลและสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องรวมไปถึงการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้จึงจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาในความหมายที่ครบถ้วน สมดังที่พระราชกระแสที่ว่า

"การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม" (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖)

พระองค์ทรงชี้ถึงปรัชญาการศึกษาที่น่าสนใจยิ่งคือ เมื่อบุคคลหนึ่งมีการศึกษาที่สมบูรณ์ ผลแห่งการมีการศึกษาสมบูรณ์นี้จะกำหนดให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้และสติปัญญาของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่นและสังคมส่วนรวมโดยไม่ต้องมีบุคคลใดมาร้องขอหรือเรียกร้องให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติแต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคมหรือประเทศชาติของผู้มีการศึกษาที่สมบูรณ์เกิดขึ้นแต่ภายในจากจิตสำนึกแห่งสภาวะของการมีความรู้และสติปัญญาสมบูรณ์ โดยไม่ต้องมีสิ่งจูงใจหรือข้อแลกเปลี่ยน เช่นประโยชน์ส่วนบุคคลหรือรางวัลใดๆมาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่มีการศึกษาสมบูรณ์ปฏิบัติหน้าที่อันควรจะกระทำ ดังนั้นการศึกษาสมบูรณ์จึงมีความครบถ้วนในตัวเองทั้งองค์ความรู้และการใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ในความหมายเช่นที่กล่าวนี้การศึกษาจึงมีความหมายในเชิงสร้างสรรค์และเป็นผลดีเท่านั้น ถ้าจะกล่าวในเชิงกลับกันอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบุคคลหรือส่วนรวมนั้นไม่ใช่การศึกษาที่สมบูรณ์ และการศึกษาที่สมบูรณ์นี้เป็นการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้เกิดขึ้นในพสกนิกรและประเทศชาติของพระองค์

การศึกษาที่จะนำไปสู่การศึกษาสมบูรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ว่าต้องประกอบด้วย การศึกษาทางวิชาการและการศึกษาทางธรรม ทั้งนี้เพื่อการศึกษาทางธรรมคอยกำกับการศึกษาทางวิชาการให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องและสนองตอบต่อเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังพระราชดำรัสมีความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

"การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่าง คือการศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง วิชาการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือ ความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีประพฤติปฏิบัติ คนที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา แต่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรม จะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้" (๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๓)

นั่นหมายความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความรู้ ทั้งความรู้ในทางวิชาการและความรู้ในทางธรรม ด้วยความรู้ทั้งสองด้านนี้จะก่อให้เกิด "ปัญญา" ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายความหมายของปัญญาว่า

"ปัญญาแปลอย่างหนึ่งคือ ความรู้ทุกอย่างทั้งที่เล่าเรียนจดจำมา ที่พิจารณาใคร่ครวญคิดเห็นขึ้นมา และที่ได้ฝึกฝนอบรมให้คล่องแคล่วชำนาญขึ้นมา เมื่อมีความรู้ความชัดเจนชำนาญในวิชาต่างๆดังว่า จะยังผลให้เกิดความเฉลียวฉลาดแต่ประการสำคัญนั้นคือความรู้ที่ผนวกกับความเฉลียวฉลาดนั้นจะรวมกันเป็นความสามรถพิเศษขึ้น คือความรู้จริง รู้แจ้งชัด รู้ตลอด ซึ่งจะเป็นผลต่อไปเป็นความรู้เท่าทัน เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็จะเห็นแนวทางและวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นอุปสรรคปัญหา และความเสื่อม ความล้มเหลวทั้งปวงได้ แล้วดำเนินไปตามทางที่ถูกต้องเหมาะสมจนบรรลุความสำเร็จ" (๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๑)

ปัญญาในความหมายนี้ ทรงชี้ว่าเป็นสภาวะแห่งการรู้จริง การรู้แจ้งชัดและการรู้ตลอด ซึ่งสภาวะแห่งการรู้ทั้งสามนี้จะนำไปสู่การรู้เท่าทันและปัญญาในความหมายดังกล่าวนี้จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคและนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดง ถึงความหมายของการศึกษาที่เป็นปัจจัย ก่อให้เกิดความรู้และสภาวะแห่งการรู้จริงและรู้ทุกอย่าง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญาและด้วยปัญญาจะนำไปสู่ความสำเร็จ กล่าวให้ชัดเจนคือ การศึกษา ความรู้และปัญญาเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้ การจะเข้าใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้สมบูรณ์จะต้องเข้าใจทั้งสามเรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน

การศึกษาในความหมายนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่าเป็นเรื่องของทุกคนตั้งแต่เกิดและไมีมีที่สิ้นสุดตลอดชีวิตของคน ทรงแสดงขอบเขตการศึกษาในชีวิตคนกับบรรดา นักศึกษามหาวิทยาลัยไว้ดังนี้

"การศึกษานั้นเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่ว่าเฉพาะในระยะหนึ่ง เป็นหน้าที่โดยตรงในระยะเดียวไม่ใช่อย่างนั้น ตั้งแต่เกิดมาก็ต้องศึกษาเติบโตขึ้นมาก็ต้องศึกษา จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่าอุดมศึกษา อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังศึกษาอยู่ หมายความว่าการศึกษาที่ครบถ้วน ที่อุดม ที่บริบูรณ์ แต่ต่อไปเมื่อออกไปทำหน้าที่การงานก็ต้องศึกษาต่อไปเหมือนกัน มิฉะนั้นคนเราก็อยู่ไม่ได้ แม้จบปริญญาเอกแล้วก็ต้องศึกษาต่อไปตลอด หมายความว่า การศึกษาไม่มีสิ้นสุด" (๒๐ เมษายน ๒๕๒๑)

พระราชดำรัสองค์นี้ชี้ถึงขอบเขตการศึกษาที่ครอบคลุมตลอดชีวิตของบุคคล

หมายเลขบันทึก: 213634เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท