วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง


วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง

                   วิธีการสอนโดยใช้กรณีตัวอย่าง  หมายถึง  วิธีการสอนโดยการจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยการนำเสนอ  กรณี  เรื่องราว  ปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน  นำมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการสอน  แล้วเสนอเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษา  วิเคราะห์  และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยฝึกให้นักเรียนรู้จักการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลและรู้จักตัดสินใจ

                    การสร้างกรณีตัวอย่างขึ้นนั้นครูผู้สอนจะต้องตื่นตัว  กระตือรือร้นต่อข่าวคราวความเคลื่อนไหวรู้จักสังเกตและหากรณีต่าง ๆ ขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์และสามารถปรับปรุงเหตุการณ์เรื่องราวเหล่านั้นให้สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม  ตรงกับวัย  และระดับวุฒิภาวะของผู้เรียนเพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนวิธีการสร้างกรณีตัวอย่างครูสามารถมีแนวทาง  ดังต่อไปนี้  (สมพงษ์  จิตระดับ,  2530  หน้า  83-84) 

                    1.  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือมีส่วนใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม  กรณีตัวอย่างไม่ควรเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองหรือเขียนจากจินตนาการโดยสมมติให้เกิดขึ้นตามความต้องการ การใช้บุคคล  เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมควรจะเป็นจริงด้วย

                    2.  เป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติหรือข้อสรุปไม่ได้  มีประเด็นที่ต้องการใช้ความคิดของบุคคลหลาย ๆ  ฝ่าย  ทางเลือกของความคิดเห็นหรือคำตอบมีหลายแนวทางและเปิดกว้าง  การตัดสินใจกระทำได้หลายทาง  เพื่อจะพิจารณาได้ว่าทางใดเหมาะสมที่สุด  กรณีตัวอย่างที่ไม่มีทางเลือกจะไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้

                    3.  มีสาระน่าสนใจ  สนุกสนาน  แทรกข้อคิดที่เป็นประโยชน์  ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราว  เหตุการณ์ต่าง ๆ  ได้ด้วยตนเอง

                    4.  ให้ข้อมูลต่าง ๆ  อย่างเพียงพอ  ในการกำหนดปัญหาหรือประเด็นในการตัดสินใจ  กรณีตัวอย่างไม่ควรยากเกินไปจนผู้เรียนไม่สามารถหาคำตอบได้  หรือง่ายจนเกินไป  จนผู้เรียนไม่ต้องใช้สติปัญญาในการคิดมากนัก  กรณีตัวอย่างที่ดีควรจะมีการแสดงทางเลือกในการตัดสินใจอย่างเด่นชัด

                    5.  สอดคล้องกับเนื้อหาทางจริยธรรม    เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ของผู้เรียน      ในระดับชั้นประถมศึกษา

                    6.  ปรับเป็นกิจกรรมที่แสดงออกและเคลื่อนไหวได้  กรณีตัวอย่างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ผู้เรียนควรมีส่วนร่วมในการแสดงออก  การรับรู้  และปฏิสัมพันธ์

                    7.  ท้ายสุดของกรณีตัวอย่างจะต้องมีคำถามหรือประเด็นที่ใช้ในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น

                     การเขียนกรณีตัวอย่าง  เพื่อใช้ในเรื่องการเรียนการสอนมีวิธีการดังต่อไปนี้

(สมพงษ์  จิตระดับ,  2530,  หน้า  84-85)

                    1.  กำหนดวัตถุประสงค์ของกรณีตัวอย่าง  เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจตรงกัน  การเขียนวัตถุประสงค์จึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนปฏิบัติอย่างไร  คุณธรรม ที่ศึกษาความคิดรวบยอดของสิ่งที่เรียนรู้

                    2.  การรวบรวมข้อมูล  เหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้น  โดยการสังเกต  สัมภาษณ์ค้นคว้าจากเอกสาร  หนังสือประเภทต่าง ๆ  การเลือกสรรข้อมูลที่จำเป็น  ตรงกับเรื่องราวมีสาระให้ข้อคิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูต้องพิจารณาให้ดี

                    3.  ระบุเหตุการณ์สำคัญ ๆ  ของกรณีตัวอย่างให้ชัดเจน  แบ่งเหตุการณ์และลำดับของเรื่องราวให้ต่อเนื่องไม่สับสนจนผู้เรียนไม่สามารถรู้เค้าโครง  (Outline)  ของเรื่องได้

                    4.  ลงมือเขียนกรณีตัวอย่าง  ภาษาและสำนวนที่ใช้ควรง่าย ๆ  กะทัดรัด  ไม่ยากเกินไปและเร้าใจให้ผู้เรียนติดตามเรื่อง

                    5.  การเขียนไม่ควรเขียนในแนวชี้ช่องทางหรือชักนำให้ผู้เรียนต้องคิดตัดสินใจในแนวที่ครูผู้เขียนต้องการ

                    6.  กำหนดวิธีการแบ่งกลุ่ม  การวิเคราะห์  เวลาที่ใช้ในการอภิปราย  ข้อมูลที่ใช้ประกอบและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดประเด็นปัญหาที่ใช้ในกรณีตัวอย่าง

                    7.  เน้นการวิเคราะห์  การใช้ความคิด  และการเขียนให้มีทางแก้ปัญหาได้หลาย ๆ ทาง

                    8.  ชื่อของบุคคล  สถานที่  เหตุการณ์สำคัญ ๆ  บางครั้งต้องเปลี่ยนแปลงไม่ควรระบุจริงตามที่เกิดขึ้น

                    9.  การจัดทำคู่มือการใช้กรณีตัวอย่าง  วัตถุประสงค์สำคัญในการเขียน  แนวทางการแก้ปัญหา  วิธีการสอน  การเฉลยตัวปัญหา  ประเด็นที่เหมาะสม

                    10.  การเขียนใหม่เพื่อปรับปรุงกรณีตัวอย่าง  ในกรณีที่ข้อมูลเปลี่ยนไป หรือพบว่ายากหรือง่ายเกินไปสำหรับผู้เขียน  ภาษาที่ใช้ไม่เหมาะสม  เหตุการณ์เรื่องราวไม่น่าสนใจ

หมายเลขบันทึก: 210785เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สมประสงค์ ครูอุบล

ขอชื่นชม..คุณครูวิชัยคนเดิม...เยี่ยมมากครับ..เป็นประโยชน์ต่อคุณครูมาก และขอให้เป็นที่พึ่งของคุณครูตลอดไป..จะแวะมาเยี่ยมใหม่นะครับ...

เป็นเรื่องที่ดีมากเลยสำหรับการที่ได้แสดงความคิดเห็นและเป็นเรื่องดีจริงๆที่ทำเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น

ขอแสดงความชื่มชมสำหรับผู้ที่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท