การพัฒนาจริยธรรม


การพัฒนาจริยธรรม

                 ทุกวันนี้ คนไทยและชาวโลกกำลังโหยหา คำว่า "จริยธรรม" ซึ่งกำลังหดหายไปจากสังคมไทย และกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่าในสายตาคนยุคปัจจุบัน แต่ว่าดูเหมือนมีแต่สิ่งนี้แหละที่จะต้องนำมาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาคนไทย ครูเป็นกลจักรที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาจริยธรรมดังกล่าว ให้เกิดให้มีในเด็ก จึงได้หยิบยกเอาแนวลำดับขั้นการพัฒนาจริยธรรมมาย้ำเตือนกันอีกครั้ง ลองดูนะครับ.....................     

                 ลำดับขั้นการพัฒนาจริยธรรม  การดำเนินการสอนจริยธรรมที่ควรจัดเป็นกระบวนการเป็นไปตามลำดับขั้นการพัฒนาจริยธรรมดังนี้  (กรมวิชาการ,  2539,  หน้า  30 31 อ้างอิงจาก Bloom  and  Krathwohl)

                    1.  การรับรู้  (Receiving or attending) เป็นความไวในการรับรู้ของบุคคลเพื่อเก็บเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้

                          1.1  การรู้จัก  เป็นการนึกคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ซึ่งจะอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์

                          1.2  การอยากรับรู้  เป็นความเต็มใจที่จะยอมรับในสิ่งนั้น ๆ

                          1.3  การเลือกรับรู้  เป็นการควบคุมเพื่อแยกความรู้สึกในสิ่งที่ได้รับรู้

                    2.  การตอบสนอง  (Responding)  เป็นการแสดงความเต็มใจที่จะนำตัวเองเข้าไปผูกพันกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

                          2.1  ตอบตามสั่ง  ทำเพราะเชื่อฟัง  แต่มีความรู้สึกต่อต้านเล็กน้อย

                          2.2  เต็มใจตอบ  ทำด้วยความเต็มใจของตัวเอง  มิได้เกรงกลัวใด ๆ

                          2.3  ยินดีตอบ  ทำด้วยความรู้สึกพึงพอใจ  สนุกสนาน

                    3.  การเห็นคุณค่า  (Valuing)  เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อในสิ่งนั้น เพราะมองเห็นคุณค่า แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

                          3.1  ยอมรับคุณค่า  เป็นการเห็นด้วยและยอมรับในความเชื่อของบุคคล

                          3.2  นิยมคุณค่า  เป็นการแสดงถึงความนิยมในคุณค่าด้วยการยกย่องชมเชยในสิ่งที่เขายอมรับ

                          3.3  ปกป้อง  เป็นการแสดงออกถึงการยึดถือในสิ่งนั้น ๆ  และยังปกป้องปฏิเสธที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ยอมรับนั้น ๆ

                    4.  การจัดระบบ  (Organization)    เป็นการนำคุณค่าที่ยอมรับมาจัดระบบว่าคุณค่านั้น ๆ มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

                          4.1  การสร้างความคิดรวบยอดของคุณค่า  เป็นการสร้างค่านิยมในสิ่งที่ตัวเองเห็นคุณค่า

                          4.2  การจัดระบบค่านิยม  เป็นการนำเอาคุณค่าในหลาย ๆ  สิ่งมาจัดระบบ  ซึ่งจะนำไปสู่อุดมการณ์ของบุคคลนั้น ๆ

                    5.  การสร้างลักษณะนิสัย  (characterization  by  a  value  complex)  เป็นการนำเอาระบบคุณค่าที่ยึดถือมาปฏิบัติในลักษณะที่เป็นนิสัยประจำตัว  แบ่งเป็น  2  ระยะ  คือ

                          5.1  ขยายระบบค่านิยม  เป็นการนำระบบคุณค่ามาจัดระบบการแสดงออกในลักษณะที่มีแนวโน้มจะประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับในสถานการณ์อย่างเดียวกัน

                          5.2  สร้างลักษณะนิสัย  เป็นจุดสูงสุดของกระบวนการพัฒนาจริยธรรมเป็นขั้นที่นำทุกสิ่งทุกอย่างมาจัดกระทำเป็นลักษณะนิสัยของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ

หมายเลขบันทึก: 210780เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท