กระบวนการเรียนรู้ของเด็กออทิสติค


เด็กออทิสติค
ความหมายและลักษณะของเด็กออทิสติค ออทิซึมหรือเด็กออทิสติค (Autism หรือ Autistic disorder) คือ เด็กที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการที่เกี่ยวกับสังคม อารมณ์ และการสื่อภาษาอย่างรุนแรง อาจจะมีหรือไม่มีปัญญาอ่อนร่วมอยู่ด้วยก็ได้ ในวัยเด็กเล็ก ออทิซึมจะมีลักษณะเงียบเฉยดูเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต แต่ไม่มีจิตใจและอารมณ์ไม่เรียบร้องอะไรทั้งสิ้น แม้แต่หิวหรือถ่ายปัสสาวะ - อุจจาระออกมาเปียกเลอะเทอะก็ไม่ร้องไห้ แต่อาจร้องเสียงดังอยู่ได้นานหลายชั่วโมง โดยไม่มีสาเหตุ นอนหลับได้เพียงระยะสั้น ๆ หรืออดนอนได้ถึง 2 - 3 วัน โดยไม่มีลักษณะอ่อนเพลีย จะแสดงอาการไม่พอใจ โกรธ โดยกรีดร้องเสียงดัง เมื่อเด็กถูกอุ้ม ป้อนอาหาร อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือแต่งตัวให้เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อได้ดี สามารถนั่ง คลาน ยืนเดินได้ตามวัยเหมือนเด็กปกติ นอกจากพบว่ามีปัญญาอ่อนร่วมด้วยพัฒนาการเหล่านี้จึงจะล่าช้า ลักษณะของเด็กออทิสติค 1. สูญเสียทางปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 1.1 ไม่สามารถแสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เช่น ไม่มีการสบตากับผู้ใด ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า กริยาหรือท่าทางแต่อย่างใด 1.2 ไม่มีความสามารถที่จะผูกพันกับใครเพื่อให้เป็นเพื่อนกันได้ 1.3 ขาดการแสวงหาเพื่อที่จะเล่นสนุกกับใคร ไม่แสดงความสนใจที่จะทำงานร่วมกับใคร ไม่สามารถทำประโยชน์ต่อ ส่วนรวมกับผู้อื่นได้ 1.4 ไม่สามารถติดต่อทางสังคม และการแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมเมื่ออยู่ในสังคม 2. สูญเสียการสื่อภาษาหรือสื่อความหมาย 2.1 มีความล่าช้า หรือไม่มีการพัฒนาในด้านภาษาและการพูด หรือไม่สามารถใช้กริยาท่าทางในการสื่อความหมายกับผู้อื่นได้ 2.2 บางรายที่สามารถพูดได้แล้ว ก็ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจและเหมาะสม 2.3 การพูดจะพูดซ้ำ ๆ ในสิ่งที่ตนเองต้องการพูด และสนใจโดยไม่สนใจว่าจะมีผู้อื่นฟังหรือไม่ 2.4 ไม่สามารถเล่นสมมุติได้ด้วยตนเอง หรือไม่สามารถเล่นลอกเลียนแบบที่เคยพบเห็นในสังคมได้อย่างเหมาะสมตามวัย 3. พฤติกรรมทางอารมณ์ 3.1 มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ อย่างเดียวหรือมากกว่าหนึ่งอย่างก็ได้ มีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่ผิดปกติอย่างเด่นชัด เช่น สนใจมองใบพัดลมที่กำลังหมุนอยู่ได้ทั้งวัน 3.2 ไม่สามารถยืดหยุ่นในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่เคยทำซ้ำ ๆ เป็นประจำได้โดยต้องกระทำตามขั้นตอนเหมือนเดิมทุกครั้ง 3.3 มีการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่นการกระดิกนิ้วมือไปมา การโบกมือไปมา การหมุนมือหรือการหมุนตัวไปรอบ ๆ เป็นต้น 3.4 มีความสนใจเกี่ยวกับส่วนใดส่วนหนึ่งของวัตถุ หรือของเล่นเท่านั้น เช่นถ้ายื่นรถสำหรับเด็กเล่นให้ เด็กจะสนใจหมุนแต่ล้อใดล้อหนึ่งเล่นเท่านั้น จะไม่สนใจเล่นส่วนอื่น ๆ ของรถเลย สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นออทิซึม มีหลักฐานหลายอย่างที่แสดงว่าเป็นความผิดปกติทางสมอง เช่น 1. เด็กออทิสติคร้อยละ 25 - 30 จะมีอาการของโรคลมชัก ในระยะวัยรุ่น ส่วนเด็กปัญญาอ่อนมัก จะมีอาการชักตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี ฉะนั้นถ้าพบว่าเด็กออทิสติคที่มีประวัติชักเมื่อมีไข้สูง ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าของสมอง ( EEG ) ทุกราย ถ้าพบว่ามีความผิดปกติใน คลื่นสมองควรให้ยากันชักทันที 2. เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายอื่น ๆ เช่นเด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นหัดเยอรมันในระยะตั้งครรภ์คลอดออกมา แล้วพบว่ามีสิ่งแทรกซ้อน จากหัดเยอรมัน อาจมีตาบอด หูหนวกหัวใจพิการแต่กำเนิด และมีลักษณะของออทิซึมด้วย 3. มีหลักฐานแสดงว่าเด็กออทิสติคมีส่วนเกี่ยวข้องทางกรรมพันธุ์ เนื่องจากพบออทิสซึมในคู่แฝดจากไข่ใบเดียวกันมากกว่าคู่แฝดที่เกิดจาก ไข่คนละใบ อัตราส่วนของออทิสซึมในพี่น้องท้องเดียวกันพบถึง 1 ใน 50 ส่วน ในเด็กทั่วไปจะพบอัตราส่วน 1 ต่อ 2500 4. พบว่ามารดาของเด็กออทิสติค มีประวัติของอาการแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ และการคลอด มากกว่า 50 % 5. มีความผิดปกติ ของสารบางอย่างที่เป็นตัวนำ ทางระบบประสาทสูงขึ้นมาก เช่น ซีโรโตนิน และ โดปามีน 6. มีความผิดปกติในระบบภูมิต้านทาน ในเด็กออทิสติคระบบภูมิต้านทาน กลับไปทำลายระบบประสาทของตนเอง 7. แพทย์ทางระบบประสาทและพยาธิวิทยาพบว่า สมองของเด็กออทิสติคมีเซลล์ของสมองผิดปกติอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณที่ควบคุมด้านความจำ อารมณ์ และ แรงจูงใจส่วนอีกบริเวณหนึ่งจะควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งลักษณะของเซลล์สมองทั้ง 2 แห่ง จะเป็นเซลล์ที่ยังไม่พัฒนา เทียบได้เท่ากับเซลล์สมองเด็กอายุเพียง 38 อาทิตย์ที่อยู่ในครรภ์มารดา ส่วนปัจจัยทางการเลี้ยงดูนั้นไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่จะเป็นสาเหตุส่งเสริมที่จะทำให้เด็กมีอาการมากขึ้น หรือช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้นได้ ระดับอาการของเด็กออทิสติค เด็กออทิสติคแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย 2. กลุ่มที่มีอาการปานกลาง 3. กลุ่มที่มีอาการมาก การป้องกัน ควรป้องกันเด็กตั้งแต่ในระยะที่อยู่ในครรภ์มารดา มารดาที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ใกล้ชิด คือ สามี ให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ไม่ควรรับประทานยาเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ถ้ามีความไม่สบายใจวิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ปรึกษาแพทย์ และควรฝากครรภ์ตั้งแต่ในระยะต้น การช่วยเหลือ หลักในการช่วยเหลือมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ 7 ประการ คือ 1. การกระตุ้นเด็กออทิสติคอย่างเหมาะสม เพื่อให้พัฒนาการที่หยุดยั้งได้พัฒนาเป็นปกติตามวัย ซึ่งพ่อแม่จะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล และปฏิบัติต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง พ่อแม่ของเด็กจะได้รับการช่วยเหลือเพื่อช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล และยอมรับในความผิดปกติของเด็กด้วย 2. การลดพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กออทิสติคโดยใช้พฤติกรรมบำบัด และกิจกรรมอื่น ๆ ทดแทน 3. กระตุ้นให้เด็กออทิสติคได้เข้ากลุ่มในวัยเดียวกัน เพื่อพัฒนาทางด้านสังคม และอารมณ์ 4. การฝึกให้เด็กพูด และสามารถสื่อความหมายทางภาษาได้ พูดโต้ตอบปฏิบัติตามคำสั่งได้ 5. เด็กออทิสติคที่มีปัญหาทางด้านการนอน มีพฤติกรรมที่อยู่ไม่สุข ว่องไว ไม่อยู่นิ่ง หรือมีปัญหาทางด้านอารมณ์รุนแรง จนพยาบาลไม่สามารถฝึกหรือให้กระทำกิจกรรมต่าง ๆ แพทย์จะเป็นผู้ให้ยาด้วยความระมัดระวัง 6. การฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กออทิสติค โดยการใช้กิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมเข้าจังหวะละครบำบัด ดนตรีบำบัด การออกกำลังกาย ซึ่งนับว่าสำคัญมากสำหรับเด็กออทิสติคซึ่งทางโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ได้รับความ ช่วยเหลือจากมูลนิธิโอสถานุเคราะห์บริจาคสระว่ายน้ำอย่างดีให้เมื่อ พ.ศ. 2531 7. ในเด็กออทิสติคที่มีพฤติกรรมต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว และมีอายุอยู่ในวัยเรียน ควรจัดให้เรียนในห้องเรียนการศึกษาพิเศษของ โรงพยาบาลก่อน ให้เด็กได้มีทักษะทางการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อฝึกความพร้อมเบื้องต้น จึงส่งเรียนร่วมกับเด็กปกติต่อไป เด็กปกติจะเป็นแบบอย่างให้เด็กออทิสติคเป็นอย่างดี
คำสำคัญ (Tags): #เด็กออทิสติค
หมายเลขบันทึก: 209447เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครูแต้ว

อ่านแล้วคิดถึงลูกชายที่เป็นออทิสติก มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง IQ สูง

เสียดายเขาอยู่กับพ่อแม่ได้เพียง 7 ขวบ

คิดถึงทุกลมหายใจ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วได้ความรู้มากเพราะกำลังสอนเด็กออทิสติกอยู่หลายคนอ่านเนิ้อหาแล้วทำให้เข้าใจเด็กออทิสติกมากขึ้น

สวัสดีคะ

ตอนนี้มีเด็กออทิสติคอยู่ในความดูแล1คน กำลังมีปัญหามากเพราะความเขลาของเพื่อนนักเรียนและครูบางคน เด็กจะถูกเพื่อนล้อแล้วแสดงอาการเพื่อนก็จะหัวเราะในอาการนั้น ได้อบรมสั่งสอนและปรามแล้วก็จะไม่ทำต่อหน้า แต่จะไปทำในชั่วโมงของครูอีกคน ครูคนนั้นไม่สามารถห้ามปรามเด็กๆไม่ให้ล้อเลียนได้ก็จะแก้ปัญหาโดยให้เด็กออทิสติคออกไปนอกห้องมานั่งอยู่กับดิฉันแทน ดิฉันเศร้าและหดหู่ใจมากที่ครูด้วยกันไม่ช่วยกันสั่งสอนให้ความเมตตาแก่ผู้ที่ด้อยกว่า กลับมองเห็นว่าเด็กออทิสติคเป็นผู้สร้างปัญหา ความจริงแล้วเด็กออทิสติคคนนี้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ดี มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อยพูดจาไพเราะ ถึงแม้ครูส่วนใหญ่จะเข้าใจแต่ยังมีส่วนเล็กๆที่ยังไม่เข้าใจมีความเขลาและจิตใจคับแคบ ทำให้เด็กคนนี้มีชีวิตในโรงเรียนไม่มีความสุขเท่าที่ควร ทำให้ดิฉันเกิดความเศร้าใจ อยากช่วยแต่ไม่รู้ว่าบทความนี้จะช่วยให้ครูทีไม่เข้าใจจะเข้าใจขึ้นหรือไม่ หรือ จะอ่านหรือไม่ จิตที่เป็นกุศลหายไปไหนหนอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท